ด้วยค่านิยมเรื่องการจัดงานบวชในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก ก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยง เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การมีมหรสพ ดนตรีฉลอง มีรถแห่เสียงดัง กระตุ้นการดื่มเคริองดื่มแอลกอฮอล์ เต้นยั่วยุ ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท ความรุนแรงฆ่ากันตายในงานบวช สร้างความเดือดร้อนวายต่อชุมชน ระหว่างชุมชน และสังคม มีค่าใช้จ่ายมหาศาลในการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ด้วยค่านิยมที่แสดงถึงฐานะทางสังคมของเจ้าภาพ เกิดปัญหาหนี้สิน ส่งผลให้เกิดภาพลบต่อเจ้าภาพที่จัดงานแบบเรียบง่าย ที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยกลับถูกมองว่ายากจน ซึ่งถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงพระพุทธศาสนาของชาวพุทธในระยะยาว และส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมอันดีงามของการบวชในสังคมไทย
การนี้เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาสังฆะเพื่อสังคม ภาคใต้ตอนล่าง พร้อมภาคีเครือข่าย อย่างสำนักงานกองทุนสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) มูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม และหน่วยงานองค์กรระดับทัองถิ่น ได้มองเห็นปัญหานี้ร่วมกัน และได้มีการร่วมกันเสนอตัวเพื่อเข้าร่วมโครงการขยายผลการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะงานบวชสร้างสุข กับมูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม ได้เปิดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนและออกแบบโครงการร่วมกัน
จนเมื่อวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้เกิดเวที การประชุมคณะทำงานภาคีเครือข่ายหลักที่เกี่ยวข้องและสร้างข้อตกลง (MOU) ระดับพื้นที่เพื่อประกาศเป็นนโยบายสาธารณะ พื้นที่จังหวัดตรัง จังหวัดสตูล และจังหวัดพัทลุง ณ วัดห้วยยอด ต.ห้วยยอด อ.ห้วยยอด จ.ตรัง มีพระครูวิริยกิจโสภิต เจ้าคณะอำเภอห้วยยอด เจ้าอาวาสวัดน้ำพราย จ.ตรัง เป็นประธาน โดยการสนับสนุนเวทีของสำนักงานกองทุนสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และมูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้ร่วมกันลดปัจจัยเสี่ยง สร้างปัจจัยเสริมให้เกิดขึ้นเป็นสังคมสุขภาวะ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ซึ่งถือเป็นโอกาสในการจัดงานบวชแบบเรียบง่ายตามพระธรรมวินัย ป้องกันการติดเชื้อ หลีกเลี่ยงเป็นคลัสเตอร์งานบวชด้วย และเป็นการเอื้ออำนวยให้ลูกหลานชาวพุทธได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาได้ง่ายยิ่งขึ้นตาม แก่นแท้ของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง จัดงานบวชสร้างสุขแบบ “บวชวิถีใหม่ ยึดพระธรรมวินัย ห่างไกลอบายมุข ชุมชนอุ่นใจ เรียบง่าย ประหยัด ปลอดภัย ไกลโควิด”
โดยการลงนามร่วมกันครั้งนี้มี พระครูศาสนกิจจาทร ประธานงานบวชสร้างสุขพื้นที่จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง, ว่าที่ร้อยตรี ปกรณ์ แก้วมี นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ ตัวแทนวัฒนธรรมจังหวัดตรัง, นางไพรัช วัฒนกุล เครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดตรัง, นายดิษณุลักษณ์ ไพฑูรย์ ตัวแทนมูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม และพระสมุห์กฎษดา ขนฺติกโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดห้วยยอด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลง พร้อมคณะสงฆ์ ทายกทายิกา ที่เข้าร่วมประชุม เป็นสักขีพยาน ภายในข้อตกลงได้กำหนดแนวปฏิบัติร่วมกัน ดังนี้
ข้อ ๑ ให้มีการส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันการขับเคลื่อนงานบวชสร้างสุข “บวชวิถีใหม่ ยึดพระธรรมวินัย ห่างไกลอบายมุข ชุมชนอุ่นใจ เรียบง่าย ประหยัด ปลอดภัย ไกลโควิด” ให้มีผลเป็นรูปธรรมเกิดงานบวชสร้างสุขปลอดเหล้า ต้นแบบในพื้นที่จังหวัดตรัง สตูล และพัทลุง
ข้อ ๒ ร่วมกันรณรงค์ ส่งเสริม และสร้างการสื่อสารให้ประชาชนได้รับรู้ และเข้าใจในการขับเคลื่อนงานบวชสร้างสุข “บวชวิถีใหม่ ยึดพระธรรมวินัย ห่างไกลอบายมุข ชุมชนอุ่นใจ เรียบง่าย ประหยัด ปลอดภัย ไกล โควิด ” ในวงกว้าง
ข้อ ๓ ร่วมกันส่งเสริม และสนับสนุนให้ทุกวัดในพื้นที่จังหวัดตรัง สตูล และพัทลุง เป็นวัดเขตปลอดเหล้า บุหรี่ พนัน ตามกฎหมายโดยยึดหลักพุทธรรม
ข้อ ๔ ร่วมกันจัดหา บุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือ งบประมาณ ให้เพียงพอต่อการขับเคลื่อนนโยบายโครงการฯ หรือกิจกรรมงานบวชสร้างสุข
ข้อ ๕ ให้ความร่วมมือในงานวิจัย งานวิซาการ หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวกับงานบวชสร้างสุข อย่างเต็มที่ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดงานบชสร้างสุขอย่างแท้จริง ทุกองค์กรประกอบด้วย ตัวแทน คณะสงฆ์, ศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนา, สำนักงานวัฒนธรรมประจำจังหวัด , สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล), มูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม และวัดที่เข้าร่วมโครงการ
ด้านพระครูวินัยธรอธิษฐ์ สุวฑฺโฒ (สุขพานิช), ดร. นักวิชาการโครงการฯ ได้กล่าวในที่ประชุมว่า ในบริบทของการจัดงานบวชในภาคใต้ตอนล่างที่สัมผัสมา ด้วยที่ภาคใต้ตอนล่างนั้นถือว่ามีเศรษฐกิจที่ดีพอสมควร ฐานะทางสังคมของคนส่วนใหญ่จึงค่อนข้างสูงไปด้วย ฉะนั้นการจัดงานต่าง ๆ ค่อนข้างที่จะเอิกเกริกใหญ่โต ไม่ว่าจะเป็น งานบวช งานแต่ง หรืองานอะไรก็แล้วแต่แต่ภาคใต้ถือว่ายังดี ว่ามีเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์น้อยในงานบวช การจัดแดงดนตรีฉลองในงานก็ค่อนข้าง Soft กว่าภาคอื่น ๆที่มีคอนเสิร์ตใหญ่โต มีขบวนรถแห่ เครื่องเสียง เสียงดัง ฉะนั้น การจัดโครงการครั้งนี้ เราก็จะถือโอกาสใช้เครื่องมือเพื่อเก็บข้อมูลในเชิงวิชาการหรือวิจัย เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการจัดงานบวชของภาคใต้ตอนล่างว่าในบริบทของการบวชที่นี้ มีสิ่งที่ดีงามอย่างไร และสิ่งที่ไม่ดีงามอย่าง ให้ได้เห็นประจักษ์ชัดไปทั่วทั้งประเทศ ว่าควรที่จะจัดแบบไหนดี
พระสมุห์กฎษดา ขนฺติกโร ได้กล่าวถึงเรื่องของกระบวนการในการเคลื่อนงานได้อย่างน่าสนใจว่า
“กระผมมองว่า หัวใจสำคัญของกระบวนการโครงการบวชสร้างสุข มันอยู่ที่ว่าเราสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งการวางแผนการกำหนดกติกา ที่จะให้เขาปฏิบัติตามหรือเห็นพ้องด้วยในการบวช ในรูปแบบการบวชสร้างสุข มันจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อว่า เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชนได้ เพราะว่ามันจะสามารถเอากฎระเบียบมาใช้กับชุมชนได้ หากแต่ถ้าเราไม่ได้มีสัมพันธภาพที่ดีกับเขา มันก็จะทำให้การขับเคลื่อนการทำงานมันยาก ถ้าจะทำให้โครงการบวชสร้างสุขประสบความสำเร็จ วัดจะต้องกลับมาตั้งต้นที่การทำงานกับชุมชนก่อนอยู่กับชุมชนก่อนให้เขารู้สึกไว้วางใจเรา แล้วก็วันหนึ่งที่เราบอกว่าอะไรที่มันเป็นประโยชน์กับเขาและควรจะทำ แล้วเขาเห็นว่ามันจำเป็นจริงๆ ที่มันจะเกิดจากการกระทำของพระจริง มันก็ง่ายที่จะนำเสนอโครงการ ง่ายต่อการรณรงค์ แต่ถ้าวันหนึ่งที่เรารู้สึกว่าเราไม่ได้คุ้นชินกับชุมชนเลย เราจะทำโครงการหรือเราไปรับโครงการมา แล้วนำมาทำโดยที่ชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ไปทำให้เขารู้สึกว่าเราเอาภาระให้เขามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานของเรา มันก็จะไม่รับการตอบรับ ฉะนั้น การจะสร้างความสำเร็จให้มันเกิดขึ้นระยะยาว การสร้างสัมพันธภาพกับชุมชนเป็นเรื่องสำคัญ”