วราภรณ์ผ้าทอ กับศิลปะประยุกต์ผ้าทอร่วมสมัยเมืองน่าน

ขึ้นเหนือไปยังเมืองล้านนาตะวันออก ที่หลายคนมาแล้วประทับใจกับบรรยากาศและวิถีชีวิตผู้คนในท้องถิ่น ที่อู้ภาษากำเมืองอย่าง “เมืองน่าน” หรือชื่อเดิม “นันทบุรีศรีนครน่าน” เล่ากันว่า เป็นเมืองที่ถูกโอบล้อมไว้ด้วยขุนเขาผีปันน้ำและขุนเขาหลวงพระบาง เป็นเมืองประวัติศาสตร์เมืองหนึ่ง ซึ่งในอดีตเป็นนครรัฐขนาดเล็ก ริมแม่น้ำน่าน

นอกจากนี้เรื่องราวของผ้าทอพื้นเมืองของน่านนั้นมีความสวยงามและมีตำนานมาอย่างยาวนาน ข้อมูลจากกรมหม่อนไหมระบุว่า “ผ้าทอที่น่านมีทั้งผ้าที่ทอขึ้นโดยชาวพื้นเมืองของเมืองน่านดั้งเดิม และผ้าทอพื้นเมืองที่มาจากแหล่งอื่น สืบเนื่องมาจากความสัมพันธ์ทางการเมือง และการอพยพโยกย้ายถิ่นของผู้คนภายหลังการสงครามจากหัวเมืองชายพระราชอาณาเขต เข้ามาเป็นไพร่พลเมืองของเมืองน่าน ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 10-25 กลุ่มชนเผ่าที่สำคัญได้แก่ ไทลื้อ และชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ ผ้าพื้นเมืองน่านดั้งเดิม ได้แก่ ผ้าพื้น ผ้าขาวม้า ถุงย่าม (ลายขาวดำ) ผ้าห่ม (ผ้าตาแสง หรือ ผ้าตาโก้ง) ผ้าลายคาดก่านแบบน่าน ผ้าพื้นเมือง จากแหล่งอื่น เช่น ผ้าตีนจกจากเมืองพิชัย ซิ่นม่าน ซิ่นเชียงแสนจากเชียงตุง ผ้าลายลื้อจากเมืองเงิน เมืองคง เมืองฮุน เมืองล้า และสิบสองปันนา ผ้าไหมซิ่นลาวจากเมืองหลวงพระบางและเวียงจันทร์ ซิ่นก่านคอควาย และซิ่นตามะนาวจากแพร่ ซิ่นลายขวางจากเมืองเชียงใหม่ เป็นต้น”

ศิลปะประยุกต์ “ซิ่นปล้องหนานบัวผัน และซิ่นม่านหนานบัวผัน”

หนึ่งในอาชีพเสริม หลังจากที่เว้นว่างจากการทำนาของผู้หญิงน่านในสมัยก่อนนั้น ส่วนใหญ่คือการทอผ้า ด้วยยุคเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยที่เกิดขึ้นในเมืองน่าน การที่ทอผ้าเพียงอย่างเดียวไม่อาจสร้างรายได้ที่เหมาะสมให้แก่กลุ่มทอผ้าในบางแห่งได้ จึงเกิดแนวคิดที่จะพัฒนาลายผ้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้ช่างทอผ้ามีรายได้เพิ่ม ซึ่งนำไปสู่แรงบันดาลใจในการถอดแบบลายและสีผ้า จากภาพวาดฝาผนังวัดภูมินทร์ แล้วนำไปขอยื่นจดลิขสิทธ์และได้รับหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ เป็น “ประเภทงานศิลปกรรม ประเภทศิลปะประยุกต์  เมื่อปี พ.ศ.2555” โดยใช้ชื่อว่า “ซิ่นปล้องหนานบัวผัน และซิ่นม่านหนานบัวผัน” ทั้งนี้เพื่อให้เกียรติแก่หนานบัวผัน ศิลปินชาวไทลื้อ ผู้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์

สืบทอดวัฒนธรรมการทอผ้า
และความร่วมสมัยผ่านวราภรณ์ผ้าทอ

ร้านวราภรณ์ผ้าทอ ก่อตั้งโดยป้าสมพิศ เทพศิริ โดยเปิดร้านจำหน่ายผ้าตั้งแต่ พ.ศ.2527 โดยชาวบ้านได้นำผ้าทอมาฝากขาย ประกอบกับชาวบ้านได้รับสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมพัฒนาชุมชน ที่ให้การสนับสนุนอุปกรณ์ในการทำผ้า เช่น กี่ทอผ้าและเส้นฝ้าย ทำให้ชาวบ้านมีการร่วมกลุ่มกันและนำผ้ามาฝากขายที่ร้านวราภรณ์ผ้าทอเพิ่มมากขึ้น

ด้วยความตั้งใจของป้าสมพิศที่อยากให้ช่างทอผ้าในชุมชนมีรายได้ที่สามารถดูแลตนเองได้ รวมถึงเพื่อให้ช่างทอผ้ามีงานทำอย่างต่อเนื่อง และเพื่อสืบทอดวัฒนธรรมการทอผ้าของชุมชน ป้าสมพิศจึงร่วมกับกลุ่มทอผ้าแกะลายผ้าซิ่นจากภาพวาดฝาผนังวัดภูมินทร์จนเป็นซิ่นปล้องหนานบัวผัน และซิ่นม่านหนานบัวผัน ซึ่งเป็นลายทอมือแบบดั้งเดิม โดยใช้ฝ้ายทอเป็นเส้นยืนและเส้นพุ่ง ย้อมสีธรรมชาติด้วยสีแดง จนทำให้ลายผ้านี้ได้รับความนิยมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

ร้านวราภรณ์ผ้าทอ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ในการผลิตผ้าทอเมืองน่าน โดยมีการสาธิตตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ หรือตั้งแต่การส่งเสริมการปลูกฝ้ายให้แก่คนในชุมชน การออกแบบลายผ้า การทอผ้า และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง

ส่งต่อความคิดสร้างสรรค์ผ่านผ้าทอ

ร้านวราภรณ์ผ้าทอ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ในการผลิตผ้าทอเมืองน่าน โดยมีการสาธิตตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ หรือตั้งแต่การส่งเสริมการปลูกฝ้ายให้แก่คนในชุมชน การออกแบบลายผ้า การทอผ้า และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง

ความตั้งใจทำเพื่อชุมชนของป้าสมพิศ เทพศิริ ผสมกับการใช้ความคิดสร้างสร้างสรรค์ในการรังสรรค์ผ้าทอใหม่ๆ ที่สะท้อนเอกลักษณ์ของจังหวัดน่าน ทำให้ซิ่นปล้องหนานบัวผัน และซิ่นม่านหนานบัวผัน ได้กลายเป็นสินค้าที่สะท้อนถึง ความคิดสร้างสรรค์ ความรัก ความสามัคคีและความเข้มแข็งของคนในชุมชน อันนำไปสู่รายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของช่างทอ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนาจังหวัดในเรื่อง “เมืองแห่งความสุขและสร้างสรรค์” ร้านวราภรณ์ผ้าทอจึงเป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยเติมเต็มความสุขให้แก่สังคม แม้จะเป็นร้านเล็กๆ จากกลุ่มคนเล็กๆ แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เมืองน่านเป็นเมืองแห่งความสุขและสร้างสรรค์

เอกลักษณ์ผ้าทอเมืองน่านนั้น มีตำนานเอกลักษณ์ของลวดลายต้นฉบับที่หออัตลักษณ์นครน่านได้รวบรวมและเผยแพร่ รวมถึงแหล่งผลิตและจำหน่ายในจังหวัดน่านที่หลากหลาย หากไม่นับรวมคุณค่าเอกลักษณ์ผ้าที่มีชื่อเสียงและช่างฝีมือดังท่านอื่นๆของจังหวัดน่านที่มีอยู่แล้วนั้น การพัฒนาลายผ้าศิลปะประยุกต์จากการถอดแบบภาพวาดฝาผนังวัดภูมินทร์ ที่ชื่อ “ซิ่นปล้องหนานบัวผัน และซิ่นม่านหนานบัวผัน” เป็นอีกหนึ่งความคิดสร้างสรรค์ที่มีความร่วมสมัยของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอเมืองน่าน

เรื่องโดย : ยงยุทธ ยอดจารย์
เรียบเรียงโดย : Dan Theertham


แหล่งอ้างอิงข้อมูล

  • ตัวตน หนานบัวผัน ศิลปินที่เชื่อว่าวาด “ปู่ม่าน-ย่าม่าน” ภาพ “กระซิบรัก” วัดภูมินทร์, นิตยสารศิลปวัฒนธรรมออนไลน์. 2566, https://www.silpa-mag.com/art/article_64782
  • ระบบสารสนเทศศูนย์อนุรักษ์ผ้าไหม, สำนักอนุรักษ์และตรวจสอบมาตรฐานหม่อนไหม กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, https://qsds.go.th/silkcotton/k_27.php
  • ซิ่นน่าน. ศูนย์น่านศึกษา หออัตลักษณ์นครน่าน, https://identitynan.com/archives/803
  • บทสัมภาษณ์ สมพิศ เทพศิริ. ตุลาคม 2566

นักสื่อสารสุขภาวะดิจิทัล และ Data Journalism