ฤดูกาลกินเจ ประเพณีถือศีลกินผัก สุขได้บุญ สุขภาพดี

เรื่องโดย ศุภกิตติ์ คุณา

ย่างเข้าเดือน 9 ของทุกๆปี เรามักจะเริ่มเห็นร้านค้าปักธงสีเหลืองไปทั่ว ซึ่งหมายถึงเป็นช่วงเวลาที่ชาวไทยเชื้อสายจีนและชาวพุทธบางกลุ่ม นิยมถือศีลกินเจ ที่ปวารนาตนจะงดอาหารที่มีเนื้อสัตว์ พร้อมทั้งถือศีลทำบุญทำทาน เพื่อเป็นการชำระทั้งร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์ โดยทั่วไปจะตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 (ตามปฏิทินจันทรคติ)

หลากหลายตำนานเรื่องเล่ากินเจ

“การกินเจ” มีมาตั้งแต่บรรพกาล ที่มาของเทศกาลกินเจนั้นมีหลายตำนานเล่าสืบต่อกันมา แต่ตำนานที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุด คือ ตามตำนานเล่าว่า เมื่อเล่าจื๊อ ศาสดาแห่งลัทธิเต๋าเกิดขึ้นได้ถือพรตของลัทธิเต๋าแต่นั้นมา เมื่อก่อนนั้น การกินเจไม่มีการกำหนดว่าจะกินกันเมื่อไร แต่ถือเอาความสะดวกของผู้กิน จะกินวันไหน เดือนไหนก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ผู้คนนิยมกินเจในช่วงไว้ทุกข์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการปฎิบัติตนในทางที่ดีงาม เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วย

ต่อมาเมื่อเกิดกบฏไท้เผ้ง ซึ่งชาวจีนได้รวมตัวกันเพื่อต่อต้านและหวังกอบกู้แผ่นดินจากพวกแมนจู ผู้ก่อการกบฏ ถูกจับประหารชีวิต ยังความโศกเศร้าเสียใจให้กับชาวจีน จึงร่วมกันปฎิบัติธรรม โดยกินเจและถือศีล เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ถูกประหารชีวิต การกินเจจึงถูกกำหนดให้เป็นเทศกาลตั้งแต่นั้นมา เมื่อถึงเทศกาลกินเจ ชาวจีนจะนุ่งขาวห่มขาว รักษาศีลประพฤติตนอยู่ในศีลรวมถึงการงดกินเนื้อสัตว์ งดสิ่งอุบายมุข งดเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ นุ่งขาว ห่มขาว สำหรับช่วงเทศกาลนี้ควรแยกอุปกรณ์ทำครัว ถ้วย ซ้อน จานชาม ไม่ให้ปะปนกับอาหารเครื่องดื่มที่ทำจากเนื้อสัตว์ นมแพะ นมวัว เพื่อเป็นการชำระร่างกายให้อยู่ในการถือศีลกินเจอย่างเต็มตัว

เมื่อการกินเจ ได้ถูกกำหนดเป็นเทศกาลขึ้น และมีกำหนดถึง 9 วัน ตั้งแต่ วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 (ตามปฏิทินจันทรคติ) สำหรับปี พ.ศ. 2566 เทศกาลกินเจจะเริ่มต้นในวันที่ 15 ตุลาคม และสิ้นสุดในวันที่ 23 ตุลาคม เทศกาลกินเจในประเทศไทยมีการจัดงานขยายใหญ่ขึ้นทุกที จนกลายเป็นงานที่ใหญ่และสำคัญอีกอย่างหนึ่งของชาวจีน

ความหมายของธงเจ เหลืองแดง

ตัวอักษรภาษาจีน อ่านว่า “ไจ” หรือ “เจ” หมายถึง “ของไม่มีคาว” ตัวอักษรสีแดง หมายถึง ความเป็นสิริมงคลในชีวิต พื้นหลังสีเหลือง หมายถึง สีของพุทธศาสนา หรือผู้ทรงศีล ธงเจจึงเป็นสัญลักษณ์ของการกินเจ และเป็นเครื่องยืนยันย้ำเตือนพุทธศาสนิกชนให้หันมาเตรียมตัวร่วมเทศกาลกินเจด้วยกัน

ประเพณีถือศีลกินผัก ของลูกหลานจีนฮกเกี้ยน ที่ภูเก็ต

ที่จังหวัดภูเก็ต เป็นอีกพื้นที่คนไทยเชื้อสายจีนที่พักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก มีประวัติศาสตร์ตำนานขึ้นชื่อในเรื่องของการจัดงานเทศกาลกินเจของประเทศไทย โดยที่นี่เรียกเทศกาลกินเจว่า “ประเพณีถือศีลกินผัก” หรือที่ชาวบ้านเรียก เจี๊ยะฉ่าย(食菜) มีตำนานเล่าว่าเป็นของลัทธิเต๋า นับถือบูชาเทวดาเทพเจ้าวีระบุรุษ นอกจากนี้ประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ยังได้รับประกาศจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เรื่อง การขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ.2561 ประเภทรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญา ทางวัฒนธรรม ลักษณะมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม ด้านการปฏิบัติ ทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล โดยภายในงานก็จะมีพิธีอิ้วเก้ง (แห่พระ), พิธีโก้ยห่าน (การสะเดาะห์เคราะห์), พิธีโก้ยโห้ย (ลุยไฟ) และพิธีส่งองค์กิ้วอ๋องไต่เต่ หรือส่งพระในคืนวันสุดท้ายของประเพณี

นอกจากภูเก็ตแล้ว เทศกาลกินเจยังมีหลายพื้นที่ที่จัดประเพณีกินเจตามท้องที่ ได้แก่ เยาวราช กรุงเทพฯ, สงขลา, พังงา, ตรัง, ระนอง, สุราษฎร์ธานี, เชียงใหม่

ทำไมต้องล้างท้องก่อนกินเจ

การล้างท้องก่อนกินเจนั้นเป็นการเตรียมร่างกายให้พร้อม เพื่อให้ร่างกายชำระล้างเนื้อสัตว์และอาหารคาวต่างๆ ที่ตกค้างอยู่ในร่างกาย โดยส่วนมากจะนิยมงดเว้นเนื้อสัตว์ ผัก และอาหารต้องห้ามทุกชนิด โดยส่วนใหญ่จะเริ่มล้างท้องกันก่อนช่วงกินเจประมาณ 1-2 วัน เมื่อรวมวันล้างท้องไปด้วย จะเป็นการกินเจทั้งหมด 10 วัน เพื่อชะล้างเนื้อสัตว์ หรืออาหารคาว ควรค่อยๆปรับเมนูอาหาร เพื่อให้ร่างกายได้ปรับสภาพ ก่อนที่จะให้มีความสมดุลและความพร้อมก่อนเริ่มกินเจ

การกินเจมีเหตุผลหลายประการ

ฤดูกาลกินเจ ยังถือโอกาสเป็นการกินเพื่อสุขภาพ การรับประทานอาหารเจมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ เช่น ช่วยควบคุมน้ำหนัก การรับประทานอาหารเจที่มีใยอาหารสูงช่วยให้รู้สึกอิ่มนานขึ้น จึงช่วยลดการรับประทานอาหารมากเกินไปและช่วยควบคุมน้ำหนัก ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ การรับประทานอาหารเจที่มีไขมันต่ำและคอเลสเตอรอลต่ำ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ บางรายช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น การรับประทานอาหารเจที่มีไฟเบอร์สูงช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังกิจเจเพื่อเมตตากรุณาต่อสรรพชีวิต การกินเจเป็นการละเว้นการกินเนื้อสัตว์ ซึ่งถือเป็นการแสดงความเมตตากรุณาต่อสรรพชีวิตอื่นๆ บนโลกใบนี้ การกินเจ จึงเป็นการฝึกฝนจิตใจให้สงบ ละเว้นความชั่วร้าย และทำความดี เพื่อสิ่งแวดล้อม การกินเจช่วยลดการทำลายสิ่งแวดล้อมจากการเลี้ยงสัตว์ และเหตุผลอื่นๆ ในการกินเจ เช่น การปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนา การส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น ในปัจจุบันการกินเจในประเทศไทย มีจุดมุ่งหมายหลากหลาย เช่น เพื่อชำระล้างจิตใจและร่างกาย เพื่อเสริมสร้างสุขภาพ เพื่อรักษาศีล และเพื่อส่งเสริมความเข้าใจระหว่างศาสนา

การปฏิบัติตนในช่วงเทศกาลกินเจ ตลอด 9 วัน 9 คืน

เทศกาลกินเจเป็นเทศกาลที่ชาวจีนและคนไทยเชื้อสายจีนถือศีลกินอาหารเจเป็นเวลา 9 วัน 9 คืน เพื่อเป็นการชำระล้างจิตใจ เสริมสร้างบุญบารมี และแผ่เมตตาต่อสรรพสัตว์ การปฏิบัติตนในช่วงเทศกาลกินเจ ตลอด 9 วัน 9 คืน มีดังนี้

  • การรับประทานอาหาร ในช่วงเทศกาลกินเจ ผู้ถือศีลต้องงดเว้นเนื้อสัตว์ทุกชนิด รวมถึงอาหารทะเล นม เนย ไข่ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทุกชนิด นอกจากนี้ยังต้องงดอาหารรสจัด ทั้งอาหารเผ็ด หวานจัด เปรี้ยวจัด และเค็มจัด รวมถึงผักหรือเครื่องเทศที่มีกลิ่นแรง เช่น ผักชี กระเทียม หัวหอม กุยช่าย ใบยาสูบ เป็นต้น
  • การประพฤติตน ในช่วงเทศกาลกินเจ ผู้ถือศีลต้องประพฤติตนด้วยความสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน งดเว้นการพูดจาหยาบคาย หลีกเลี่ยงการดูหรือฟังสิ่งที่ไม่เหมาะสม งดเว้นการพนัน การดื่มสุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงงดเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
  • การทำบุญ ในช่วงเทศกาลกินเจ ผู้ถือศีลนิยมทำบุญด้วยการบริจาคทาน ไหว้พระ สวดมนต์ เวียนเทียน ปล่อยนกปล่อยปลา ถือศีล 8 หรือ 10 และร่วมทำบุญกับทางวัดหรือองค์กรการกุศลต่างๆ

นอกจากนี้ ยังมีการปฏิบัติตนอื่นๆ ที่ผู้ถือศีลอาจปฏิบัติเพิ่มเติมตามความศรัทธา เช่น การนุ่งขาวห่มขาว การแยกภาชนะสำหรับอาหารเจ การงดใช้เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนผสมจากสัตว์ เป็นต้น

การปฏิบัติตนในช่วงเทศกาลกินเจ ถือเป็นการส่งเสริมให้เกิดความเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์ และเป็นการส่งเสริมให้เกิดการตระหนักถึงความสำคัญของการกินเจ ในฐานะที่เป็นวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับหลักธรรมทางศาสนาและหลักจริยธรรมที่ดีงาม


Reference:

  • นิตยสารศิลปวัฒนธรรม https://www.silpa-mag.com/news/article_115003
  • เทศกาลกินเจ, ห้องสมุดประชาชนอำเภอท่าตะโก

นักสื่อสารสุขภาวะดิจิทัล และ Data Journalism