วันเด็กแห่งชาติ ภาพความฝันในอนาคตยุคปัญญาประดิษฐ์ (AI)

ผู้อ่านหลายท่านในวันนี้ คงคุ้นเคยกับบรรยากาศในช่วงวันเด็กเป็นอย่างดี และหนึ่งในนั้นก็คือ ความฝันในวัยเด็ก คงทราบกันอยู่แล้วว่าวันเด็กแห่งชาตินั้น ตรงกับวันเสาร์ ในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปี แต่สิ่งหนึ่งที่จะพลาดไม่ได้เลยก็คือคำขวัญจากนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น ที่จะประกาศการให้คำขวัญวันเด็กทุกปีว่ามีความหมายในปีนั้นอย่างไร นอกจากนี้ถือเป็นโอกาสที่ลองมาทบทวนความฝันในวัยเด็กของแต่ละคนไปพร้อมกันในบทความนี้

วันเด็กแห่งชาติ
กับการจัดงานครั้งแรก
ของประเทศไทย

หากเริ่มต้นการจัดงานวันเด็กในประเทศไทยครั้งแรกนั้น ไม่ได้จัดในเดือนมกราคมเหมือนในปัจจุบัน จากข้อมูลกรมประชาสัมพันธ์ระบุว่า ปี พ.ศ. 2498 อันเป็นปีที่ทั่วโลกเริ่มจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ตามความเห็นคล้อยตามกับองค์การสหประชาชาติที่นำปัญหาเรื่องเด็กมาร่างเป็นปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของเด็ก ประเทศไทยจึงได้รับข้อเสนอของ นายวี เอ็ม กุลกานี ผู้แทนองค์กรสมาพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศ ผ่านมาทางกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย ว่า ประเทศไทยควรจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของเด็กให้มากขึ้น ดังที่นานาประเทศกำลังทำอยู่

ในขณะนั้นสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณา ในที่สุดที่ประชุมได้เห็นชอบนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 ได้มีมติคณะรัฐมนตรีรับหลักการ ให้จัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้น โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการรับไปดำเนินการ ส่วนของค่าใช้จ่ายในการจัดงานนั้น ได้อนุมัติเงินจากกองสลากกินแบ่งรัฐบาลมาดำเนินการ

ทำให้วันเด็กจัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อ วันจันทร์ ที่ 3 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2498 ตามคำแนะนำของ นายวี.เอ็ม. กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ โดยให้ประชาชนเล็งเห็นความสำคัญของเด็ก และเพื่อกระตุ้นให้เด็ก ได้ตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติในอนาคต และจากนั้นเป็นต้นมา ทางราชการก็ได้กำหนดวันจันทร์ในสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันเด็กแห่งชาติ

วันเด็กแห่งชาติ ถูกจัดวันจันทร์ในสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคมติดต่อกันมาทุกปี จนถึงปี พ.ศ. 2507 ที่ประชุมคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติในปีนั้น มีความเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรที่จะเสนอเปลี่ยนวันจัดงานวันเด็กแห่งชาติใหม่ เพื่อความเหมาะสม ด้วยเหตุผลว่า ในเดือนช่วงตุลาคม สภาพอากาศในประเทศไทยยังอยู่ในฤดูฝน มีฝนตกมาก เด็กไม่สะดวกในการมาร่วมงาน ประการต่อมาก็คือ วันจันทร์เป็นวันปฏิบัติงานของผู้ปกครอง จึงไม่สามารถพาเด็กของตนไปร่วมงานได้ ตลอดจนทำให้การจราจรก็ติดขัดได้

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติเสนอ ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 ประกาศเปลี่ยนงานฉลองวันเด็กแห่งชาติจากวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม มาเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ปี พ.ศ. 2507 (เดิมที่ต้องจัดในเดือนตุลาคม พ.ศ.2507) ไม่มีงานวันเด็กแห่งชาติด้วยการประกาศเปลี่ยนได้เลยวันมาแล้ว อีกทั้งการที่กำหนดให้วันเด็กต้องจัดในช่วงต้นปี มีความหมายว่า ทุกภาคส่วนของประเทศจะต้องให้ความสำคัญกับเด็กเป็นอันดับแรกๆ

งานวันเด็กแห่งชาติจึงได้เริ่มจัดขึ้นมาใหม่อีกครั้งในวันเสาร์สัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคม พ.ศ. 2508 โดยมีคำขวัญวันเด็กในปีนั้นว่า “เด็กจะเจริญต้องรักเรียนเพียรทำดี” ซึ่งเป็นคำขวัญของจอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น และงานวันเด็กแห่งชาติก็ถูกจัดในวันเสาร์สัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

วัตถุประสงค์ของการจัดงาน
วันเด็กแห่งชาติ

งานวันเด็กแห่งชาติสำหรับประเทศไทย ได้เริ่มจัดอย่างเป็นทางการอีกครั้งในปี พ.ศ.2508 โดยจัดในวันเสาร์สัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคม จากนั้นจัดติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 60 ปีแล้ว มีวัตถุประสงค์ คือ

  1. เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก ให้ผู้ใหญ่สนใจในการเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนเด็กและช่วยเหลือสงเคราะห์เด็กมากขึ้น
  2. เพื่อให้เด็กและเยาวชนยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
  3. เพื่อให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตนและอยู่ในระเบียบวินัยอันดี
  4. เพื่อเผยแพร่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของเด็ก

นอกจากนี้ วันเด็กแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2564 ถือเป็นอีกปี ที่งานวันเด็กถูกงดการจัดและเลื่อนออกไป จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งไม่ได้มีแค่เฉพาะงานวันเด็กเพียงงานเดียว รวมถึงการจัดงานอื่นๆที่มีการรวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก ตามประกาศจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เช่นกัน ซึ่ง ณ ขณะนั้นมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ให้คำขวัญในปี พ.ศ. 2564 ไว้ว่า “เด็กไทยวิถีใหม่ รวมไทยสร้างชาติ ด้วยภักดีมีคุณธรรม”

คำขวัญวันเด็ก
กับสถานการณ์ตามยุคสมัย

สำหรับคำขวัญวันเด็ก มีขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2499 สมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้ให้คำขวัญไว้ว่า “จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม” และหลังจากนั้นคำขวัญวันเด็กถูกว่างเว้นไปถึง 2 ปี (พ.ศ. 2500-2501)

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ให้คุณค่าความสำคัญของเด็ก จึงมอบคำขวัญให้เป็นข้อคติเตือนใจสำหรับเด็กปีละ 1 คำขวัญ (ก่อนถึงวันเด็กแห่งชาติ) นายกรัฐมนตรีสมัยต่อมาจึงได้ถือเป็นธรรมเนียมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

“มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์
เคารพความแตกต่าง
ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย”

นายเศรษฐา ทวีสิน
นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน
ได้มอบคำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2567

หากย้อนกลับไปดูคำขวัญของแต่ละปีย้อนหลังนั้น คำขวัญวันเด็กในความคิดเห็นผู้เขียน ถือว่าเป็นมุมมองของการสะท้อนสถานการณ์ ซ่อนแฝงว่าต้องแก้ปัญหาและแนวทางอนาคต ในช่วงนั้นๆ ซึ่งมีการปลูกฝังและสร้างค่านิยมให้เด็กๆ ตามรูปแบบและสไตล์ของผู้นำประเทศในสมัยนั้นๆ เช่น คำขวัญปี พ.ศ. 2540 “รู้คุณค่าวัฒนธรรมไทย ตั้งใจใฝ่ศึกษา ไม่พึ่งพายาเสพติด”

เด็กและเยาวชน ถือว่าเป็นบุคคลที่เติบโตเป็นอนาคตของชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่ละยุคสมัยจึงมีความชัดเจน ผ่านคำขวัญ ที่จะไม่ให้มีการยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข เนื่องจากถือเป็นวันและเวลาที่เด็กๆ ควรได้รับสิทธิและโอกาสในการแสดงออกตนเอง ให้พูดคุยและแสดงความคิดเห็นของตนอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ความสำคัญของการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นสุขและเปิดกว้างต่อทุกๆ ความแตกต่างจึงได้รับการเน้นเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และเติบโตไปด้วยความเป็นตัวของตนเอง

ว่าแต่ผู้อ่านเอง ลองนึกตามว่า ยังจำคำขวัญวันเด็กของปีไหนได้อยู่บ้าง?

การเปลี่ยนผ่านความฝัน
ในวัยเด็กถึงอนาคต

การจัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ ถือว่าเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้น ของความฝันที่มาของอาชีพในยุคปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้เด็กเข้าเยี่ยมชมสำนักงานต่างๆของหน่วยงานภาครัฐ ศูนย์การเรียนรู้ การเปิดให้เข้าชมอุทยานแห่งชาติ ห้องผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ หรือตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล หรือชมการแสดงเครื่องบิน ซึ่งแน่นอนว่าผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่เคนใฝ่ฝันอยากเป็นนักบิน และเข้าไปสัมผัสของจริง แต่หากยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป วัยเด็กของใครหลายๆคน ที่เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ในทุกวันนี้ อาจจะไม่เป็นไปอย่างที่คิดไว้ และสำหรับอีกหลายคนก็ยังแน่วแน่ความฝันนั้นมาจนถึงปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบันที่รวดเร็วและหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและนโยบายของรัฐบาล การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการจัดงานวันเด็ก ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชน

เทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ มากมาย เช่น อินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย AI หรือปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของเด็กและเยาวชน ส่งผลให้เด็กและเยาวชนมีความต้องการและความสนใจที่เปลี่ยนไป การจัดงานวันเด็กจึงควรมีความทันสมัยและสอดคล้องกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้และสนุกสนานไปกับกิจกรรมต่าง ๆ

การเปลี่ยนผ่านของชุดบริหารรัฐบาล หรือแม้แต่นักการเมืองที่เป็นคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน เชื่อว่าส่วนมากต้องเคยผ่านวันเด็กมาเช่นกัน ในแต่ละสมัยรัฐบาล ก็จะมีนโยบายที่แตกต่างกันไปและนโยบายเหล่านี้อาจส่งผลต่อการจัดงานวันเด็ก เช่น นโยบายของรัฐบาลในยุคนี้มีความสอดคล้องกับการส่งเสริมพัฒนาและรูปแบบการจัดงานวันเด็ก เข้ากับยุคสมัยที่เป็นอยู่ตอนนี้หรือไม่ หรือแม้แต่หากย้อนกลับไปมองถึงเรื่องเทคโนโลยี หรืออาชีพใหม่ๆที่เกิดขึ้นมาในปัจจุบันนั้น การจัดงานวันเด็กควรมีการพัฒนาอย่างไร เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของเด็กและเยาวชนในยุคปัจจุบัน รวมถึงการต่อยอดความฝันและอาชีพของเด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต

โอกาสในการส่งเสริม
พัฒนาการของเด็ก
ในประเทศไทย

หากการจัดกิจกรรมวันเด็กนั้น เป็นโอกาสสำคัญสำหรับภาครัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ จะสามารถส่งเสริมพัฒนาการของเด็กไทยในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการส่งเสริมพัฒนาการด้านการศึกษาและอาชีพ โอกาสในการส่งเสริมพัฒนาการด้านสุขภาพและสุขภาวะ โอกาสในการส่งเสริมพัฒนาการด้านความปลอดภัย การส่งเสริมพัฒนาการด้านสิทธิและหน้าที่ รวมถึงการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของเด็กจากการกระทำที่ละเมิด โอกาสต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กไทยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต

ปัญญาประดิษฐ์ (AI)
กับวิถีชีวิตและอาชีพในฝัน
ของวัยเด็ก

ในยุคปัจจุบัน เมื่อปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น เห็นได้จากการใช้ AI ในหลากหลายด้าน เช่น การแพทย์ การศึกษา การผลิต การตลาด และบริการต่างๆ ส่งผลให้วิถีชีวิตและอาชีพในฝันของเด็กๆ เปลี่ยนแปลงไป เห็นได้จากการใช้ AI ในอุปกรณ์ต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ที่ใช้ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูล แปลภาษา เล่นเกม และเรียนรู้สิ่งต่างๆ เด็กๆ จึงสามารถเข้าถึงข้อมูลและเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้น

นอกจากนี้ AI ยังเข้ามามีบทบาทในกิจกรรมต่างๆ ของเด็กๆ เช่น การใช้ AI ในการศึกษาเพื่อช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การใช้ AI ในเกมเพื่อช่วยให้เด็กๆ สนุกสนานและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน การใช้ AI ในการดูแลสุขภาพเพื่อช่วยให้เด็กๆ มีสุขภาพที่แข็งแรง

หากอาชีพในฝันในวัยเด็ก อาชีพบางประเภทที่ถูกแทนด้วย AI และในขณะเดียวกันอาชีพบางประเภทกลับมีความต้องการเพิ่มขึ้น อาชีพในฝันของเด็กๆ จึงมีความหลากหลายมากขึ้น โดยอาชีพในฝันของเด็กในยุค AI มักเป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี AI โดยตรง เช่น นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล วิศวกรปัญญาประดิษฐ์ นักออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้งาน นักการตลาดดิจิทัล นักพัฒนาเกม เป็นต้น นอกจากอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี AI โดยตรงแล้ว อาชีพในฝันของเด็กในยุค AI ยังมีอาชีพอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น นักบินอากาศยานไร้คนขับ ผู้ควบคุมรถไฟไร้คนขับ ผู้จัดการสุขภาวะ นักสร้างสรรค์คอนเทนต์ ล้วนแต่เป็นอาชีพที่เกิดขึ้นมาใหม่ ซึ่งในวัยเด็กนั้นไม่ได้มีอาชีพเหล่านี้ให้เลือกเลย หรือในอนาคตเราคงได้เห็นเครื่องบินไร้คนขับมาจัดบินแสดงโชว์ ซึงหากใกล้เคียงสุดในตอนนี้ก็คงเป็นโดรนหรืออากาศยานไร้คนขับนั่นเอง

การสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ สำหรับเด็ก เป็นอีกพื้นที่ที่ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้และเติบโตอย่างรอบด้านในกิจกรรมวันเด็ก ไม่ได้ลดความสำคัญไปน้อยกว่า AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ในขณะเดียวกันพื้นที่สร้างสรรค์ยังส่งผลให้วิถีชีวิตและอาชีพในฝันของเด็กๆ ทำกิจกรรมหรือเป็นพื้นที่สามารถจำลองการแสดงออกต่างๆให้กับเด็ก การได้มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงอบายมุขต่างๆและการสร้างสรรค์ให้ตอบโจทย์ยุคสมัย ที่น่าดึงดูดใจสำหรับเด็ก มีการตอบสนองความสนใจและความสามารถของเด็ก เพื่อให้เด็กไทยมีโอกาสได้เรียนรู้และเติบโตอย่างมีคุณภาพ

สำหรับผู้ปกครองและชุมชนเองก็มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก ผู้ปกครองสามารถสนับสนุนให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชน เช่น กิจกรรมศิลปะ กิจกรรมดนตรี และกิจกรรมกีฬา ชุมชนสามารถจัดตั้งพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก เช่น ลานกีฬา สวนสาธารณะ และห้องสมุดชุมชน

นอกจากนี้วันเด็กแห่งชาติในประเทศไทยแล้ว สหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น “วันเด็กสากล” (Universal Children’s Day) ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1954 เนื่องจากเป็นวันที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติลงมติรับรองปฏิญญาสิทธิเด็กในปี ศ.ศ. 1959 และลงมติรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กในปี ค.ศ. 1989 เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิด้านการมีส่วนร่วมของเด็ก และปรับปรุงสวัสดิภาพของเด็กทั่วโลก

ขอให้มีความสุขในวันเด็ก
และเติบโตอย่างมีคุณภาพครับ


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  • สำนักงานคณะกรรมการเด็กและเยาวชนแห่งชาติ. (2544). นโยบายเยาวชนแห่งชาติและแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนระยะยาว พ.ศ.2545- 2554. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการเด็กและเยาวชนแห่งชาติ
  • ย้อนอดีต ชมภาพชุดงาน “วันเด็กแห่งชาติ” สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม https://www.silpa-mag.com/old-photos-tell-the-historical-story/article_25829
  • ภาพประกอบหนังสือวันเด็ก Siambook.net

นักสื่อสารสุขภาวะดิจิทัล และ Data Journalism