เรื่อง : ศุภกิตติ์ คุณา
กล่าวถึง “ช้าง” สัตว์หรือสิ่งมีชีวิตสี่เท้าขนาดใหญ่ ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดี หากย้อนความทรงจำของผู้อ่านกลับไปสมัยเป็นเด็ก เชื่อว่าหลายคนก็คงรู้จัก “เพลงช้าง” และเคยได้ยินได้ฟังได้ร้องกันมาบ้าง โดยเนื้อเพลงมีอยู่ว่า “… ช้าง ช้าง ช้าง หนูรู้จักช้างหรือเปล่า ช้างมันตัวโตไม่เบา จมูกมันยาวเรียกว่างวง สองเขี้ยวข้างงวงเรียกว่างา มีหูมีตาหางยาว …” ซึ่งมีผู้ประพันธ์คือ คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ประจำปี พ.ศ. 2530 เป็นเพลงร้องสำหรับเด็กให้แก่รายการ “วิทยุโรงเรียน” เป็นบทเรียนในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้นักเรียนรู้จักและทราซึ้งในเพลงไทยโดยใช้ทำนองเพลงเก่าคือ เพลงพม่าเขว หลังจากนั้นก็มีการปรับเปลี่ยนเนื้อร้องจากท่อน หนูรู้จักช้างหรือเปล่า จนกลายมาเป็น น้องเคยเห็นช้างหรือเปล่า เพื่อให้เกิดความลื่นไหลของเพลงมากขึ้น
ช้าง ช้าง ช้าง
น้องเคยเห็นช้างหรือเปล่า
เป็นเพลงที่มีเนื้อหาชวนตั้งคำถามว่า เรานั้นเคยเห็นช้างหรือเปล่า? หลายคนมีประสบการณ์ที่เจอช้างแตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่มักจะเจอที่สวนสัตว์ ปางช้าง หรือฟาร์มเลี้ยงช้าง แล้วช้างที่เราเห็นนั้นเป็นช้างไทยหรือไม่ ผู้เขียนจึงชวนผู้อ่านทุกท่านมาทำความรู้จักกับช้างไทยให้มากขึ้น สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับช้างไทยว่า ช้างไทยที่เราพบเห็นหรือเรียกว่าช้างไทยนั้น จริงๆแล้วคือ ช้างเอเชีย สายพันธุ์อินเดีย (Elephas maximus indicus) ซึ่งช้างอินเดีย ยังพบในอีกหลายๆประเทศด้วยกัน (อินเดีย บังกลาเทศ ภูฐาน เนปาล เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม จีน มาเลเซีย และไทย) ในประเทศไทยนั้นเรียกสายพันธุ์นี้ ว่า “ช้างไทย” และได้มีการจำแนกลักษณะช้าง ตัวผู้และตัวเมียออก โดยหลักๆจะดูจากงา และเพศ ซึ่งสามารถจำแนกได้ตามนี้ ช้างสีดอ คือ ช้างเพศผู้ ที่ไม่มีงา ช้างพลาย คือ ช้างเพศผู้ ที่มีงา และช้างพัง คือ ช้างเพศเมีย
นอกจากงาและเพศแล้วยังสามารถสังเกตได้จากจุดอื่นๆได้อีก เช่น ส่วนหัว ตัวผู้จะใหญ่กว่าตัวเมีย และมีฐานงวงนูนโป่งกว่าตัวเมีย ส่วนหลังและบั้นท้ายของช้างเมื่อสังเกตจากด้านข้าง ช่วงบั้นท้ายของตัวผู้จะค่อยๆโค้งลาดลง ในขณะที่ของตัวเมียจะหักตรงลงมา ถัดมาคือ ถุงหุ้มอวัยวะเพศ โดยถุงหุ้มอวัยวะเพศของตัวผู้จะเรียวแหลมลงมา และวางตัวขนานกับท้อง บางครั้งจะเห็นอวัยวะเพศออกมาจากช่องท้องด้วย, ต่างจากตัวเมียถุงหุ้มอวัยวะเพศจะยาวลู่ลงมาในแนวดิ่งที่บริเวณขาหลัง เต้านมของช้างตัวเมียจะมีเต้านมระหว่างขาคู่หน้า เต้านม จะเต่งนูนขึ้นจนสังเกตเห็นได้ชัด
ธรรมชาติของช้าง
จากข้อมูล นายสัตวแพทย์ ดร.สิทธิเดช มหาสาวังกุล ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสัตวแพทย์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ระบุว่า ช้างไทยจัดอยู่ในชนิดพันธุ์ย่อยอินเดีย ช้างเป็นสัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยที่ช้างเป็นสัตว์กินพืช และเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่มีวิวัฒนาการยาวนาน 55-60 ล้านปี ในประเทศไทยเคยมีผู้ค้นพบกรามช้างโบราณในบริเวณเหมืองลิกไนต์ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง กรามที่พบฝังอยู่ใต้ดินลึกมาก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้คำณวนแล้วว่ากรามช้างที่พบมีอายุไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นปี
ช้างป่า เป็นสัตว์ที่มีนิสัยชอบอยู่รวมตัวกันเป็นฝูง หรือที่เรียกว่า “โขลง” โขลงหนึ่ง ๆ อาจจะประกอบด้วยช้าง 5-10 ตัว หรือบางครั้งอาจจะมากถึง 20 ตัว โดยโขลงนี้จะประกอบด้วยช้างผู้นำที่เป็นตัวเมีย ซึ่งมักเป็นช้างตัวใหญ่ที่มีอายุเยอะและมีประสบการณ์ที่มากพอสมควรในการนำทางและดูแลฝูง โดยจะเรียกช้างผู้นำนี้ว่า “จ่าโขลง” หรือ “แม่แปรก” (อ่านว่า แม่ปะแหรก) ซึ่งเป็นตัวแทนอันน่าเคารพและมีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้กับโขลงทั้งหมด โดยมักจะมีช้างตัวเมียที่เป็นลูกหรือหลานของช้างแม่แปรกประกอบโขลงอีกด้วย
นอกจากนี้ในโขลงยังมีช้างตัวผู้ที่ยังไม่ได้เติบโตเต็มวัย เมื่อช้างตัวผู้โตเต็มวัยแล้ว มันจะถูกช้างตัวเมียขับออกจากฝูง เพื่อให้มีโอกาสไปหากินเองหรือรวมตัวกับช้างตัวผู้วัยรุ่นอื่นๆ วิธีนี้ถือเป็นกลไกป้องกันการผสมพันธุ์ระหว่างเครือญาติของช้างป่า ซึ่งทำให้พันธุกรรมของพวกมันมีความหลากหลายและทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น
และที่น่าสนใจ คือการเรียกลักษณนามของช้าง นอกจากการนับจำนวนช้างที่อยู่รวมกันเป็นฝูงว่าโขลงแล้ว ในกรณีของช้างป่า เราจะนับจำนวนช้างแต่ละตัวโดยใช้ลักษณนามของช้างป่าเป็น “ตัว” แต่ในกรณีของช้างที่ถูกเลี้ยง เราจะนับว่าช้าง “เชือก” นอกจากนี้ถ้าหากนำช้างมาขึ้นระวาง การนำมาเข้าทำเนียบหรือเข้าประจำการ ลักษณนามของช้างที่ขึ้นระวางจะใช้คำว่า “ช้าง”
ช้างชอบอยู่ในที่อากาศเย็น ไม่ชอบแสงแดดจัด จึงชอบอยู่ตามป่าละเมาะที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ และมีแหล่งน้ำธรรมชาติ ช้างมีความสามารถในการว่ายน้ำได้ถึงแม้น้ำจะลึกจนมิดตัว แต่ก็สามารถใช้งวงชูขึ้นมาหายใจได้
ช้างจะนอนในเวลากลางคืนช่วงที่ดึกสงัด โดยมีอาการหาวนอน และกรนได้เหมือนคน ช้างจะนอนในช่วงระหว่าง 23:00 น. ถึง 03:00 น. โดยใช้เวลานอนประมาณ 3-4 ชั่วโมง ช้างสามารถล้มตัวลงนอนได้เหมือนกับสัตว์อื่น แต่ถ้าหากช้างที่ระวังตัวจากอันตรายต่างๆ ก็จะใช้วิธียืนหลับ เนื่องจากว่าช้างมีความระแวงว่าเมื่อช้างล้มลงนอนแล้ว หากมีอันตรายใดๆ จะไม่สามารถลุกขึ้นได้ทันท่วงที โดยเฉพาะในตอนกลางวันช้างจะแสดงอาการยืนหลับได้บ้าง หากพบว่าช้างยืนหลับในตอนกลางวันบ่อยๆ แสดงว่าช้างอาจไม่ได้นอนหลับอย่างเต็มที่ในตอนกลางคืน หรืออีกประการหนึงคือช้างนั้นป่วย
บทบาท
ความสำคัญของช้างไทย
เดิมทีช้างก็เหมือนสัตว์ป่าทั้งหลาย อาศัยอยู่ในป่าเป็นโขลง มนุษย์เมื่อมีความฉลาดก็มองเห็นลู่ทางว่าสามารถนำสัตว์ป่าชนิดนี้มาฝึกและใช้ประโยชน์ได้ เช่น บรรทุกของ ลากไม้ ไถนา สงคราม เป็นต้น จึงหาวิธีนำช้างป่ามาฝึกเป็นช้างเลี้ยง มนุษย์รู้จักวิธีนำช้างป่ามาฝึกมาหลายพันปีแล้ว ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะประสูติเสียอีก เพราะในสมัยพุทธกาลเอง ก็มีการพูดถึงช้างเลี้ยงมาก่อนหน้านั้นแล้ว กษัตริย์ไทย พม่า และอินเดียในสมัยโบราณยังทรงนิยมใช้ช้างเป็นราชพาหนะในการทำสงครามอีกด้วย พระมหากษัตริย์ไทยที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับการใช้ช้างเป็นราชพาหนะในการสงครามคือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ทรงชนช้างและมีชัยเหนือพระมหาอุปราชา ส่วนสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงมีช้างเผือกมากที่สุดในสมัยอยุธยาจนได้รับพระสมญานามว่า “พระเจ้าช้างเผือก”
ช้างนับว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติของเราเป็นอย่างมาก ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยทีเดียว ผู้อ่านหลายท่านคงจะทราบมาบ้างแล้วว่า สมัยก่อนที่เราจะใช้ธงไตรรงค์นั้น เราก็เคยใช้ธงแดงมีรูปช้างสีขาวอยู่ตรงกลางเป็นธงชาติไทยมาก่อน แม้กระทั่งปัจจุบันนี้ธงราชนาวีไทยก็ยังใช้ธงไตรรงค์มีรูปช้างอยู่กลางผืนธงเป็นสัญลักษณ์อยู่ และเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2515 ช้างงานขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ก็ได้มีบทบาทช่วยสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยในการแสดงถวายต้อนรับพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ที่ 2 แห่งอังกฤษและพระราชสวามี ที่วนอุทยานน้ำตกแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อข่าวการรับเสด็จไปถึงไหน ชื่อเสียงของช้างไทย ก็ขจรขจายไปถึงนั่น ยิ่งเป็นข่าวของราชินีอันยิ่งใหญ่ของอังกฤษด้วยแล้ว ข่าวนั้นก็ย่อมแพร่ไปมั่วทุกมุมโลกทีเดียว
13 มีนาคม วันช้างไทย
วันช้างไทย ริเริ่มจากคณะอนุกรรมการประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานงาน องค์การภาครัฐและเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ช้างไทยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเล็งเห็นว่าหากมีการสถาปนาวันช้างไทยขึ้น จะช่วยให้ประชาชนคนไทย หันมาสนใจช้าง รักช้าง หวงแหนช้าง ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลืออนุรักษ์ช้างมากขึ้น
คณะอนุกรรมการฯ จึงได้พิจารณาหาวันที่เหมาะสม ซึ่งครั้งแรกได้พิจารณาเอาวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทำยุทธหัตถี มีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา แต่วันดังกล่าวถูกใช้เป็นวันกองทัพไทยไปแล้ว จึงได้พิจารณาวันอื่น และเห็นว่าวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการคัดเลือกสัตว์ประจำชาติ มีมติให้ช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยนั้นมีความเหมาะสม จึงได้นำเสนอมติตามลำดับขั้นเข้าสู่คณะรัฐมนตรี โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกทางหนึ่ง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 เห็นชอบให้ วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เป็น วันช้างไทย และได้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 ลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2541 ในสมัยรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย
ผลจากการที่ประเทศไทยมีวันช้างไทยเกิดขึ้น นับเป็นการยกย่องให้เกียรติว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญอีกครั้ง นอกเหนือจากเกียรติที่ช้างเคยได้รับในอดีต ไม่ว่าจะเป็นช้างเผือกในธงชาติ หรือช้างเผือกที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ หรือสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์
ประเพณีกับงานช้างไทย
ช้างไทยถือว่ามีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดพีกรรมและประเพณีความเชื่อของคนกับช้างมาอย่างยาวนานในหลายพื้นที่ เช่น ประเพณีบวชนาคช้าง ประเพณีแห่เทียนพรรษาและตักบาตรบนหลังช้าง ซึ่งเป็นประเพณีพื้นบ้านอันขึ้นชื่อของจังหวัดสุรินทร์, ประเพณีแห่ช้างบวชนาคไทยพวน จังหวัดสุโขทัย, ประเพณีแห่ช้างผ้าชุมชนเมาะหลวง จังหวัดลำปาง, ประเพณีสู่ขวัญช้างบ้านแม่ฮะ จังหวัดเชียงใหม่, ช้างไถนาบ้านนาเกียน จังหวัดเชียงใหม่ และมีอีกหลายประเพณีเกี่ยวกับช้างที่ไม่ได้กล่าวถึง
จังหวัดสุรินทร์ เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในนาม “เมืองช้าง” ดินแดนคชสารที่ตั้งอยู่ภาคอีสานตอนใต้ โดดเด่นด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีรากฐานที่มีทั้งกลุ่มคนเลี้ยงช้างที่เรียกว่า “ชาวกูย” หรือ “กวย” มีความชำนาญในการจับช้างตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษที่ใช้ภูมิปัญญาทางวิชาคชศาสตร์ในการจับช้างเผือก ซึ่งมีต้นกำเนิดจากกรุงศรีอยุธยา โดยมีการนำช้างเผือกนี้มาร่วมงานน้อมเกล้าฯ และถวายคืนสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 ตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษ, โดยได้รับการโปรดเกล้าฯให้เป็นพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง และได้รับมอบหมายที่จะปกครองเมืองสุรินทร์ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2302 เป็นต้นมา ทำให้จังหวัดสุรินทร์ เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีความเกี่ยวข้องกับวิถีคนกับช้างมาอย่างยาวนาน มีวิถีความผูกพันระหว่างคนกับช้าง ตั้งแต่เกิดจนตาย
“ศูนย์คชศึกษา” หรือ “หมู่บ้านช้าง” อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ถือเป็นศูนย์รวมของสมาชิกชุมชนคนเลี้ยงโดยรอบและหมู่บ้านอื่นๆ ในจังหวัดสุรินทร์ บริเวณภายในมีศูนย์คชศึกษาที่มีอาคารพิพิธภัณฑ์และสถานที่แสดงเรื่องราวความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับช้าง นอกจากนี้ผู้ที่สนใจหรือนักท่องเที่ยวยังสามารถเข้าชมการแสดงทักษะพิเศษของช้างและร่วมสนุกกับกิจกรรมทางวิชาการที่เชื่อมโยงกับช้างและสิ่งแวดล้อม โดยศูนย์คชศึกษาแห่งนี้จึงเป็นศูนย์ที่สำคัญในการสนับสนุนการท่องเที่ยวท้องถิ่นและการศึกษาทางวัฒนธรรมในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
งานช้างและกาชาดสุรินทร์ เป็นอีกหนึ่งงานเทศกาลที่เกี่ยวข้องกับช้างที่ขึ้นชื่อระดับประเทศ โดยข้อมูลจาก MGR Online รายงานว่า งานช้างครั้งแรก จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2503 เนื่องในโอกาสฉลองที่ว่าการอำเภอใหม่ และจัดเป็นงานประจำปีของอำเภอท่าตูม ณ บริเวณสนามบินเก่า (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงเรียนท่าตูมประชาเสริมวิทย์) ซึ่งมี นายวินัย สุวรรณกาศ เป็นนายอำเภอในขณะนั้น ในงานมีการแสดงขบวนแห่ช้าง การแสดงการคล้องช้าง การแข่งขันช้างวิ่งเร็ว ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าก็ได้ร่วมมือกับภาคีในการเฝ้าระวังเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงในงานช้างสุรินทร์ โดยใช้ชื่อว่า “มหัศจรรย์งานช้างสร้างสุขปลอดเหล้า ปลอดภัย ไร้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เพื่อให้งานประเพณีอันงดงามของชาวสุรินทร์ไร้แอลกอฮอล์ แบบ 100 %
สถานการณ์ช้างในประเทศไทย
จากรายงานของ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประมาณการว่า สถานการณ์ช้างป่าในประเทศไทย มีจำนวนประชากรช้างป่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 93 แห่งทั่วประเทศ ในปี พ.ศ.2566 มีช้างป่าจำนวน 4,013-4,422 ตัว ปัญหาหลักที่พบตอนนี้ คือปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่า ซึ่งมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นทุกปี จากรายงานของ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช ในปี พ.ศ. 2566 พบคนเสียชีวิตจากช้างป่า จำนวน 21 ราย และได้รับบาดเจ็บจากช้างป่าจำนวน 29 ราย และช้างป่าล้ม (ตาย) จากความขัดแย้งนี้จำนวน 24 ตัว ซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งปัญหาช้างออกนอกพื้นที่นี้พบได้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 70 แห่ง จาก 93 แห่ง (75%) ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มป่าตะวันออก
โดยปัญหาที่เกิดขึ้น คือ การที่ช้างออกนอกพื้นที่มากินอาหาร พืชไร่ อ้อย ข้าว ผลไม้ ของชาวบ้าน โดยอาจมาจากช้างติดใจดลิ่นและรสชาติของอาหารเป็นหลัก การสำรวจ ความอยากรู้อยากเห็น การถูกรบกวนภายในป่าจากการลักลอบตัดไม้ภายใน มีผู้บุกรุกมากจากการขยายตัวทางการเกษตร การเลี้ยงปศุสัตว์ในพื้นที่ป่า ทำให้ช้างออกมานอกเขตป่าอนุรักษ์มาอยู่ในพื้นที่ป่ากันชน หรือ ป่าชุมชนแล้วไม่ยอมกลับ นอกจากนี้ช้างบางครั้งอาจมีการทำร้ายคน ซึ่งเป็นชาวบ้านหรือเจ้าหน้าที่ ที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ
กรมอุทยานฯ ได้จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาช้างแห่งชาติ 2567-2571 โดยมีการทำงานเป็นระยะสั้น กลาง ยาว และมีการแบ่งเป็นด้านต่างๆ ดังนี้
ด้านบุคลากร มีการการสร้างระบบเครือข่ายและพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการทำงาน ทั้งชุดเฝ้าระวังช้าง ชุดผลักดันช้าง ชุดเคลื่อนย้ายช้างป่า พร้อมกับการจัดทำคู่มือที่เป็นประโยชน์ในการทำงาน
ด้านพื้นที่ จะได้มีการวางแผนการจัดการพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยช้างป่า ปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ การจัดพื้นที่จัดการและรองรับช้างป่าที่สร้างปัญหาและเกิดการพลัดหลงในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย และมีการยกระดับมาตรการเฝ้าระวังในพื้นที่โดยการสำรวจเขตแนว และจัดตั้งระบบแจ้งเตือนในพื้นที่เมื่อมีช้างออกนอกพื้นที่
ด้านชุมชน ได้มีการเยียวยาผู้ได้ผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่าอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม รวมทั้งการให้ความรู้และตระหนักรู้แกชุมชนในพื้นที่ การส่งเสริม ฝึกอบรม อาชีพทางเลือกให้กับชุมชน
ด้านการวิจัย พัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยี จะได้พัฒนาการติดตามสถานการณ์แบบ real time พัฒนารูปแบบการผลักดันช้างที่เหมาะสม พัฒนาระบบการแจ้งเตือน พัฒนาระบบกรีดยางอัตโนมัติ การติดตามพฤติกรรมช้างป่าทั้งในและนอกพื้นที่อนุรักษ์ การควบคุมประชากรช้างป่า ศึกษาข้อมูลความขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
ด้านความร่วมมือและบูรณาการความร่วมมือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย โดยมีการจัดตั่งคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้างป่า คณะกรรมการระดับท้องถิ่นเพื่อผลักดันงานและแก้ไขปัญหา การประชาสัมพันธ์ การจัดประชุมสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน
การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับช้างป่า และการทำงานร่วมกันตามแผนนี้เป็นสิ่งจำเป็นและต้องทำอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะได้ผลช้าหรือไม่ชัดเจนก็คงต้องทำต่อไป เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือการอยู่ร่วมกันได้ระหว่างคนและช้างป่า
และสถานการณ์ช้างเลี้ยง จำนวนช้างเลี้ยงในประเทศไทยมีจำนวนคงที่จนถึงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ประมาณ 3,800-4,000 เชือก ด้วยเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ไปทั่วโลก ทำให้สถานการณ์ธุรกิจการท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับช้างลดลง ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อ เจ้าของปางช้าง เจ้าของช้าง ควาญช้าง รวมทั้งตัวช้างเอง เมื่อผ่านไป 2-3 ปี สถานการณ์เริ่มดีขึ้น โดยปัจจุบันการท่องเที่ยวปางช้างกลับมามากถึง 80% ในช่วงไฮซีซั่น เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่จำนวนช้างยังไม่ได้เพิ่มมากนัก เนื่องจาก ปางช้างหลายแห่งยังไม่มั่นใจในสถาณการณ์ COVID-19 ประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ดีมาก จึงชะลอการผสมพันธุ์ช้าง ซึ่งต้องมีการวางแผนล่วงหน้า
ด้านกฎระเบียบของช้างเลี้ยง ได้มีการออกประกาศ มาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ. 6413-2563) เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสาหรับปางช้าง (Good Animal Practices for Elephant Facility) จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือ อีกนัยหนึ่ง คือ มาตรฐานปางช้างนั่นเอง โดยเป็นมาตรฐานภาคบังคับเพื่อปรับปรุงการปฏิบัติ ในการจัดการควบคุมดูแลและเลี้ยงช้างให้ถูกต้องและเหมาะสม เป็นไปตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ รวมทั้งเป็นการยกระดับมาตรฐานปางช้างไทย นั่นคือ โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 19 สิงหาคม 2567 นี้ ปางช้างและสถานที่เลี้ยงช้างทุกแห่งในประเทศไทยต้องเข้าการตรวจรับกับมาตรฐานนี้ โดยปัจจุบันมีสถานที่เลี้ยงช้างที่ผ่านมาตรฐานนี้เพียง 3 แห่ง จากสถานที่เลี้ยงช้างจำนวน 200 กว่าแห่งทั่วประเทศ และ ใช่ช่วงวันที่ 26-29 มีนาคม 2567 นี้ ทางสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และ กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกันจัด ฝึกอบรมหลักสูตรสัตวแพทย์ผู้ควบคุมปางช้าง และมาตรฐานฟาร์มสัตว์เลี้ยงสำหรับผู้ประกอบการ (ปางช้าง) เพื่อให้ปางช้างทั่วประเทศเข้ามาตรฐานการจัดการปางช้างและการดูแลช้าง
เป็นที่รู้กันว่าช้างจะมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับควาญช้างเป็นหลัก การมีมาตรฐาน ใบอนุญาต และการยกระดับวิชาชีพของควาญช้าง จะช่วยพัฒนาการเลี้ยงช้างไปได้อีกไกล ทางสถาบันคชบาลแห่งชาติ และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้จัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ อาชีพควาญช้าง โดย โดยแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ตามความรู้ ความสามารถ และ ประสบการณ์ นั่นคือ
- ควาญช้างระดับ 2 สามารถดูแลสุขอนามัย จัดการอาหาร และ ที่อยู่อาศัย ให้ช้างได้
- ควาญช้างระดับ 3 สามารถประเมินพฤติกรรม ควบคุมและใช้อุปกรณ์ควบคุมช้างให้ทำตามคำสั่งได้ และ เตรียมช้างก่อนให้บริการได้
- ควาญช้างระดับ 4 สามารถฝึก ควบคุมช้าง สังเกต ประเมิน และให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น พาช้างนำเที่ยว ให้ข้อมูลและดูแลนักท่องเที่ยวได้
- ควาญช้างระดับ 5 สามารถเข้าใจในภูมิปัญญาของควาญช้างท้องถิ่น สามารถใช้สมุไพร และ สามารถทำอุปกรณ์ที่ใช้กับช้างได้
สำหรับในด้านกฎหมายพระราชบัญญัติช้าง ได้รับฟังความคิดเห็นสาธารณะไปแล้ว เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ปัจจุบันสำนักกฎหมาย กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังจัดทำร่างพระราชบัญญัติช้าง เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ซึ่งยังไม่มีกำหนดที่แน่นอนว่าจะเสร็จเมื่อใด
สำหรับกิจกรรมในวันช้างไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี ส่วนวันช้างโลก (World Elephant Day) จะตรงกับวันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนได้มีการจัดกิจกรรมพิเศษมากมาย อาทิเช่น การจัดขันโตกให้ช้าง หรือการจัดพิธีกรรมต่างๆเกี่ยวกับช้าง เพื่อให้ประชาชนและเยาวชนได้เข้าใจและช่วยกันส่งเสริม และอนุรักษ์ช้างที่เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง และตระหนักว่าเราควรจะอนุรักษ์ ถือเป็นอีกวันที่เราเองนั้นได้ให้ความสำคัญตระหนักถึงศักยภาพของช้างไทย
ข้อมูลอ้างอิง
- ธงช้างเผือก กองโบราณคดี, กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
- สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
- เรื่องเล่าขาน มหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์, MRG Online Source: https://mgronline.com/travel/detail/9550000138307
- ความรู้ทั่วไปเรื่องช้างไทย, นายสัตวแพทย์ ดร.สิทธิเดช มหาสาวังกุล ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสัตวแพทย์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
- Elephant Nature Park, Thipsuda Masith
- ประกาศ มาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ. 6413-2563) เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสาหรับปางช้าง (Good Animal Practices for Elephant Facility) จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/196/T_0025.PDF
- มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ อาชีพควาญช้าง โดยสถาบันคชบาลแห่งชาติ และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) https://tpqi-net.tpqi.go.th/qualifications/4239