หมอรอน ใจกันทา-บทบาทการทำงานเมืองแม่ฮ่องสอนสุขภาวะ

เรื่องและภาพโดย : ศุภกิตติ์ คุณา
(สัมภาษณ์ เมษายน 2566)

ดินแดน “เมืองสามหมอก” เป็นฉายานามของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยภูเขาสูงและมีความสลับซับซ้อน สภาพอากาศจึงค่อนข้างมีหมอกปกคลุมทั้งปี ได้แก่ หมอกน้ำค้าง หมอกควันไฟป่า และหมอกฝน อีกทั้งการเดินทางไปยังจังหวัดแม่ฮ่องสอน ค่อนข้างที่จะใช้เวลาพอสมควร และในบางพื้นที่ก็ไปถึงอย่างยากลำบาก

จังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้นมีชายแดนติดต่อกับประเทศเมียนมาร์ ประชากรส่วนใหญ่สืบเชื้อสายจากไทยใหญ่ ลักษณะศิลปะวัฒนธรรมและประเพณี จึงได้รับอิทธิพลจากไทยใหญ่ในรัฐฉานของสาธารณะรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า

การทำงานด้านสุขภาวะของเมืองแม่ฮ่องสอนนั้น แน่นอนว่า มีความหลากหลาย และไม่ง่ายนักสำหรับคนทำงานในพื้นที่ โดยในปี 2562 ศูนย์ประสานงานการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญา จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้จัดเวทีสานพลังสร้างแม่ฮ่องสอนเมืองสุขภาวะ สู่การบรรลุเป้าหมายร่วม “ชุมชน อยู่ดี มีสุข รองรับสังคมสูงวัย” ซึ่งมีการรายงานสถานการณ์การขับเคลื่อนงานแม่ฮ่องสอน เมืองสุขภาวะ กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน

รอน ใจกันทา หรือ หมอรอน หนึ่งในเครือข่ายภาคประชาสังคม ที่เริ่มต้นการทำงานในเมืองแม่ฮ่องสอนด้วยการรับราชการ ทำงานด้านสุขภาพที่โรงพยาบาลปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จากการทำงานในพื้นที่นี้ หมอรอนได้พบเจอปัญหาและวิกฤติที่เกิดขึ้นในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่หลากหลายประเด็น ตั้งแต่เบาจนถึงหนัก โดยหมอรอนทำงานเกี่ยวกับสุขภาพเป็นเรื่องหลัก แต่ว่าก็ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่เป็นปัญหาวิกฤติของจังหวัดนี้อีกมากมาย เช่น เรื่องความยากจน การเดินทาง การศึกษา การรับบริการ ที่ดิน ที่ทำกิน ปัญหาชายแดน และหมอกควัน เป็นต้น

หมอรอน ทำงานกับเครือข่ายองค์กรงดเหล้า หรือ สคล. มาแล้วอย่างยาวนาน ในมุมมองประชาคมงดเหล้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงมองเห็นว่าการทำงานเพื่อส่งเสริมสุขภาพนั้น ไม่เพียงพอต่อความต้องการในการแก้ปัญหาในพื้นที่ ด้วยสภาพพื้นที่ภูมิประเทศก็ส่งผลต่อระยะเวลาที่ใช้ในการทำงาน แต่เทคโนโลยีที่เข้ามาก็มีบทบาทช่วยให้การทำงานในปัจจุบันให้ง่ายและลดการใช้เวลาได้มากขึ้น

การทำงานของหมอรอนในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีต้นทุนเดิมที่ทำงานกับภาคีเครือข่าย เรื่องวัฒนธรรมและประเพณี นอกจากนี้ยังทำงานเรื่องความยากจนและการศึกษาในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยกลุ่มเป้าหมายการทำงานจะเน้นไปที่ชุมชนและเด็กเยาวชน ซึ่งเป็นเรื่องหมอรอนมีพื้นฐานและเชี่ยวชาญจากประสบการณ์การทำงานที่โรงพยาบาลปาย โดยมีงานที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนเป็นหน้าที่รับผิดชอบหลัก

นอกจากนี้การทำงานที่ผ่านมามีโอกาสได้พบกับเด็กและเยาวชนมากมาย มีโอกาสได้เจอปัญหาเกี่ยวกับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเด็กดื่ม เด็กกินเหล้า เด็กสูบ เด็กใช้ยา เด็กท้อง เด็กเรียนไม่จบ หลังจากที่เกษียณงานออกมาจากหน้าที่หลักตรงนั้นแล้ว ก็ยังอยากจะทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน เป็นหลักซึ่งเป็นต้นทุนที่มีอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว

ธรรมนูญชุมชน
ที่ชาวบ้านต้องการ

การทำงานจังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้น วิถีการทำงานของพี่หมอรอน จะทำงานเฉพาะในพื้นที่ที่พร้อมเป็นส่วนใหญ่ หมายความว่าชุมชนอยากจะทำ ซึ่งไม่ใช่เราไปบังคับให้เขาทำ เช่น การขับเคลื่อนธรรมนูญชุมชนเกี่ยวกับการงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

หมอรอนเล่าถึงประสบการณ์การทำงานเรื่องของประเด็นแก้ไขปัญหาเรื่องของเหล้าในชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ลีซูในจังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้น จุดเริ่มต้นแรกเริ่มมากจากที่ อ.ปางมะผ้า โดยการขับเคลื่อนในพื้นที่ของ กำนันสมบูรณ์ แช่จาง ซึ่งเป็นผู้นำชุมชนที่ อ.ปางมะผ้า โดยทำงานเรื่องของการแก้ไขปัญหาการดื่มในชุมชนในงานศพ งานกินวอ จนสำเร็จ จากนั้นก็ขยายผลไปยังบ้านใหม่สหสัมพันธ์ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งผู้นำชุมชนได้ไปดูงานและพบเจอกำนันสมบูรณ์ โดยได้มีการคุยแลกเปลี่ยนกัน และหมอรอนคือผู้ที่มีบทบาทในการเจรจาพูดคุย

หลังจากที่ได้เจรจาพูดคุยกันมา ที่หมู่บ้านใหม่สหสัมพันธ์ได้ติดต่อกลับมา ถือว่าเป็นโอกาสดีและชาวบ้านเปิดชาวบ้านเปิดรับ ผู้นำเปิดรับ ก็เลยได้เข้าไปคุยกับผู้นำคุยกับชาวบ้าน ปรากฏว่ารอบนี้ราบรื่นมาก ชาวบ้านไม่ได้รู้สึกอึดอัดหรือขัดขวาง กลับกลายเป็นการสนับสนุนด้วยดี โดยชุมชนและชาวบ้านมองว่า การที่มีเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มันเป็นเป็นจุดที่ทำให้เกิดประเด็นปัญหามากมาย เรื่องแรก คือ เรื่องหนี้สินหลังจากที่เสร็จงาน ดังนั้นหลังจากที่มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกระบวนการ และผู้นำชุมชนก็มีโอกาสได้ไปศึกษาข้อมูลดูงานมาแล้วนั้น ก็ชวนกันสร้างมติชุมชน

ในส่วนบทบาทของหมอรอนเองนั้น เข้ามาช่วยสนับสนุนในเรื่องของเอกสารของการทำขั้นตอนกระบวนการ หากจะประกาศเป็นมาตรการชุมชน ก็จะต้องพูดคุยและมีมติชุมชนก่อน มีการยกมือเห็นชอบ หากไปในทิศทางเดียวกันก็สามารถเลือกได้ว่าอยากทำเป็นประกาศมาตรการ หรือประกาศเป็นธรรมนูญ แต่ชาวบ้านเลือกเอาเป็นธรรมนูญ ซึ่งธรรมนูญถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นการยอมรับของทางกฎหมายด้วย เพราะว่าถ้าประกาศเป็นธรรมนูญชุมชน ก็จะมีกฎหมายที่เขาเรียกว่าเป็น พรบ.สุขภาพแห่งชาติปี 2550 สนับสนุนอยู่

ราวๆปี 2562-2563 ชาวบ้านเริ่มประกาศธรรมนูญชุมชนของตัวเองขึ้นมา ถือเป็นหมู่บ้านแรกในอำเภอปาย โดยมีนายสังคม คัดเชียงแสน ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายอำเภอปาย เป็นประธานในการเปิดงานเปิดธรรมนูญชุมชนของหมู่บ้าน เวลาผ่านมาถึงตอนนี้ การดำเนินกิจกรรมกิจการของธรรมนูญชุมชนหมู่บ้านก็ยังยังดำเนินการต่อไปได้

แม้ว่าในช่วงหลังจากปัญหาเรื่องโควิด-19 ก็มีประเด็นเรื่องของการขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจเข้ามา เหมือนเป็นสิ่งกระตุ้น เป็นสิ่งที่ทำให้ชาวบ้านพยายามที่จะหารายได้ตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็มีเรื่องเหล้า เรื่องเบียร์ เรื่องของการค้าขาย เรื่องธุรกิจ เข้ามาเป็นตัวเลือก แต่ว่าชาวบ้านและชุมชนเองก็ยังรักษารักษาคำมั่นสัญญาไว้

ทำงานท่องเที่ยวชุมชน
ปลอดเหล้า ปลอดภัย

ในส่วนของงานท่องเที่ยวนั้น “หมู่บ้านแพมบก” อำเภอปาย เป็นภาคีของการทำงานพื้นที่แม่ฮ่องสอน เป็นหมู่บ้านนโยบายบ้านเล็กในป่าใหญ่พระราชินี รัชกาลที่ 9 ซึ่งมีนโยบายเข้ามาช่วยเหลือผลักดัน ทำให้หมู่บ้านเป็นหมู่บ้านพื้นที่ที่มีการทำกิน การเกษตรปลอดสารพิษ

บ้านแพมบก มีทรัพยากรธรรมชาติเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นตัวพื้นที่ของหมู่บ้าน มีการสร้าง สะพานโขกู้โส่ หรือเป็น “สะพานบุญ” ขึ้นมาเป็นจุดท่องเที่ยว ชื่อสะพานเป็นภาษาไทใหญ่ โข หรือ ขัว หมายถึงสะพาน และ กู้โส่ หมายถึงกุศล ชาวบ้านเชื่อว่า การสร้างสะพานเป็นการต่ออายุของคนในครอบครัว ให้ยืนยาวออกไป และนอกจากนี้บ้านแพมบกยังมีน้ำตกแพมบก มีจุดชมวิวที่เรียกว่าดอยธง มีจุดชมวิวที่ขึ้นไปข้างบนจะมองเห็นอำเภอปาย แบบ 360 องศา

หมอรอน มีโอกาสได้เข้าไปพูดคุยการทำงานกับผู้นำชุมชนในระยะหนึ่ง แต่ยังไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก และก็มี สคล. เข้ามาผลักดันต่อ ให้มีการทำงานในเรื่องของกิจกรรมการท่องเที่ยวปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เป็นจุดที่ทำให้ชุมชนมีโอกาสในการก้าวเข้าไปสู่ในเรื่องของทางการท่องเที่ยวที่มีรูปแบบที่ดีขึ้น โดยการจัดการของชุมชน และมีภาคีองค์กรที่ทำงานด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเข้ามาสนับสนุนในพื้นที่เช่นกัน

เจเจ บุญอนัน เหล่อโพ และ เอ็ม อัจฉรีย์ หมื่นบุญตัน เป็นคนรุ่นใหม่ที่อยู่บ้านแพมบก บทบาทหลักที่เจเจสนใจคือเรื่องเกษตรปลอดภัย Young Smart Farmer ทำเรื่องการท่องเที่ยว ทำเรื่องอาหารท้องถิ่น เช่น น้ำพริกคั่วทราย ถือว่าเป็นอาหารขึ้นชื่อในท้องถิ่นนี้

ถ้าทำในเรื่องของงานท่องเที่ยวชุมชนกับ สคล. พื้นที่เป้าหมายที่ทำอยู่ในตอนนี้ ก็มีบ้านแพมบก บ้านห้วยปูแกง บ้านผาบ่องและบ้านห้วยเดื่อ ส่วนพื้นที่อื่นๆ ก็มีโครงการ CBT ของวิทยาลัยชุมชน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่เข้ามาให้การสนับสนุนภายใต้งบประมาณของรัฐบาลบางส่วน จากงบของภาคเอกชน บางส่วนด้วยเช่นกัน

แม่ฮ่องสอนกับความท้าทาย
ของการทำงาน

การทำงานในพื้นที่แม่ฮ่องสอน ส่วนหนึ่งก็สนุก และเป็นงานที่ท้าทายมาก เพราะว่าการทำงานเรื่องของการรณรงค์งดเหล้า หรือการลดเหล้า มันเป็นงานกิจกรรมที่สวนกระแสการดื่มกินของชาวบ้าน และสำหรับผู้ประกอบการถือว่าเป็นอาชีพที่ต้องค้าขาย ส่วนชาวบ้านเองก็จะมองว่าเป็นความสุข เป็นความสนุกสนาน

แต่ตัวเราเองทำงานด้านนี้ จะเข้าไปบอกว่า อย่ากินนะ ไม่ควรนะ เลิกดื่มนะ มันเป็นการไปพูดในสิ่งที่เขากำลังมีความสุขอยู่กับสิ่งนั้น ถ้าเป็นงานด้านอื่นอาจจะใช้พลังประมาณ 50% ของร่างกาย แต่ถ้างานลักษณะที่เรากำลังทำอยู่นั้น ใช้พลังมากกว่า 75% หรืออาจจะยังไม่พอ หรืออาจจะต้องใช้พลังงานไปเกินร้อย

การทำงานในพื้นที่แม่ฮ่องสอนนั้น ซึ่งหากเป็นคนทำงานที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน ใส่ใจในพื้นที่ หรือไม่เคยลงชุมชนจริงๆ จะไม่เข้าใจบริบทของพื้นที่และสิ่งแวดล้อม เราต้องเข้าใจธรรมชาติของคน เข้าใจธรรมชาติของป่า เข้าใจธรรมชาติของวิถีชีวิตวัฒนธรรมของเขา การทำงานจะต้องเปิดใจคุยกับชาวบ้านหรือแม้แต่คนทำงานเพื่อทำความเข้าใจกันก่อน และหลังจากนั้นบทบาทหน้าที่ของตัวเองและเพื่อนร่วมงานก็จะตามมา

มองการทำงานไปต่อ
อนาคตข้างหน้า

การมีส่วนร่วมของของภาคีเครือข่ายกับชุมชนของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ มองว่าการที่จะเดินไปต่อข้างหน้าอาจจะต้องปรับในเรื่องของนโยบายการทำงาน การบูรณาการงาน การปรับความคิด การที่จะทำงานไปต่อข้างหน้านั้นคิดว่าจะต้องใช้แนวทางแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area Based) เป็นหลัก ใช้ความสัมพันธ์ การติดต่อของพื้นที่เป็นหลัก โดยไม่ฉาบฉวย

และการที่จะลงมาทำงานในพื้นที่ส่วนไหน ก็ต้องมีความสอดคล้องว่า พื้นที่นั้นเหมาะสมกับการทำงานอย่างไร พื้นที่นั้นจะทำงานเกี่ยวกับประเด็นอะไรบ้าง สิ่งเหล่านี้เองหากเราสามารถที่จะปรับวิธีการทำงานเป็นไปตามลักษณะแบบนี้ได้ ก็น่าจะทำให้งานและคนทำงาน มีความรู้และมีความก้าวหน้า มีการพัฒนาได้เร็วขึ้น

จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่เป็นพื้นที่เขตพิเศษ และมีเอกลักษณ์เฉพาะทางของพื้นที่มากมาย เช่น ประเพณีปอยส่างลอง งานกินวอของชาติพันธุ์ เป็นต้น แต่จังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้น ก็ไม่มีประเพณีวัฒนธรรมเหมือนพื้นที่อื่นๆ ดังเช่น การแข่งเรือปลอดเหล้าหรือกิจกรรมทางประเพณีและวัฒนธรรมที่หลายๆจังหวัดจัดขึ้น

ยกตัวอย่าง ประเพณีปอยส่างลองของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ถือว่าเป็นประเพณีที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด การที่เข้าไปทำงานปลอดเหล้าในประเพณีนี้ คือต้องไปพูดคุยกับเจ้าของงานหรือผู้จัดงาน ซึ่ง ณ ตอนนี้ประกาศได้เลยว่า ปอยส่างลองของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในขบวนแห่จะไม่มีการดื่ม ไม่มีการถือกระป๋องเครื่องดื่มแม้แต่กระป๋องเดียว

ถ้าหากจะให้งานปลอดทั้งหมดทุกขั้นตอน ต้องย้อนกลับไปถึงขั้นตอนกระบวนการเจรจาเจ้าของงานในบ้านที่จัดงานว่า ในครัวบ้าน ไม่มีด้วยได้ไหม เอางานของคุณเป็นงานสีขาวจริงๆได้ไหม ซึ่งมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่เราจะต้องค่อยๆพูดจากับคนในพื้นที่

บางครั้งสิ่งที่พบเจอ เจ้าของงานก็ไม่อยากเลี้ยง แต่ว่าคนที่ไปร่วมงานอยากกิน อยากดื่ม เพราะเขามองว่า ถือเป็นงานที่ต้องฉลอง บางพื้นที่ก็ไม่สามารถเข้าไปแตะประเด็นเรื่องนี้แบบลึกๆ ได้

โดยประสบการณ์ทำงานในพื้นที่ ส่วนตัวของหมอรอน มองว่าทำงานกับชุมชน ต้องมีความเข้าใจในเรื่องบริบทพื้นที่ ความเข้าใจในเรื่องขอชุมชนอย่างจริงๆ เข้าใจวิถีวัฒนธรรมภูมิปัญญาชาวบ้านและวิถีชีวิตของเขา เราเอง ในคนทำงาน เป็นเพียงกลไกให้ตัวพื้นที่เองเป็นคนสะท้อนและมีความอยากที่จะทำ แล้วจึงสนับสนุน ไม่จำเป็นที่จะต้องไปตั้งเงื่อนไขให้กับพื้นที่มาก ซึ่งมองว่ามันไม่ใช่ เพราะว่า

“ชุมชนเป็นของเขา
ชุมชนไม่ใช่เป็นของเรา”

สามารถติดตามชมเพิ่มเติมในรูปแบบ VDO
หรือดาวน์โหลด PDF คลิกที่นี่

นักสื่อสารสุขภาวะดิจิทัล และ Data Journalism