อ.รัศมี จินดามัย เส้นทางประสบการณ์ผู้ตัดสินนานาชาติ

เรื่อง : ศุภกิตติ์ คุณา

เมื่อพูดถึงการแข่งขันกีฬา หนึ่งในส่วนสำคัญของบทบาทของผู้ตัดสินก็เป็นส่วนสำคัญที่ไม่ควรละเลย บทบาทนี้ไม่ได้เป็นเพียงคนที่สังเกตและตัดสินใจในเรื่องของกฎกติกา แต่เป็นผู้ที่ต้องรักษาความยุติธรรมและความเท่าเทียมในการแข่งขัน ผู้ตัดสินกีฬาจึงถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการแข่งขันกีฬาในทุกระดับ ตั้งแต่การแข่งขันในชุมชนท้องถิ่นไปจนถึงการแข่งขันระดับโลก หน้าที่ของผู้ตัดสินไม่เพียงแต่ต้องตัดสินใจในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสนาม แต่ยังต้องรักษาความยุติธรรมและความเป็นระเบียบในเกม ผู้ตัดสินเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในกฎกติกาของกีฬาแต่ละประเภทอย่างละเอียดลึกซึ้ง พร้อมทั้งต้องมีความสามารถในการตัดสินใจอย่างรวดเร็วและแม่นยำภายใต้แรงกดดันสูง บทบาทของผู้ตัดสินจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายและสำคัญอย่างยิ่งในการแข่งขันกีฬา ทั้งนี้ ผู้ตัดสินยังมีหน้าที่รับผิดชอบในการส่งเสริมคุณธรรมและการเล่นอย่างยุติธรรม (Fair Play) ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการรักษาความน่าเชื่อถือและความสนุกสนานของกีฬาทุกประเภท

กีฬาฟุตบอล และกีฬาฟุตซอลในประเทศไทย เริ่มได้รับความสนใจจากเหล่าแฟนคลับมากขึ้น และแน่นอนอารมณ์ร้อนแรงของการเชียร์ฟุตบอลก็มาจากการที่ทีมที่เชียร์นั้น ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการถูกตัดสิน บทบาทของผู้ตัดสินในกีฬาจึงเป็นบทบาทที่มีความสำคัญและมีผลกระทบอย่างมากต่อการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันในระดับใดก็ตาม การเป็นผู้ตัดสินกีฬาที่ดี มีผลต่อการพัฒนาวงการผู้ตัดสิน และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของวงการกีฬา แล้วอะไรคือการตัดสินที่ดี และถูกยอมรับในระดับนานาชาติ เพื่อให้ผู้ตัดสินคนไทยมีมาตรฐานและยุติธรรม

การแข่งขันกีฬาฟุตซอล SDN Futsal No-L ในรุ่นอายุ U15 เป็นอีกหนึ่งรายการแข่งขันในระดับประเทศ ที่มีการคัดเลือกนักกีฬาจากทั่วประเทศ จัดโดยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมพลศึกษา ที่ต้องการให้เกิดการพัฒนาวงการฟุตซอล ทั้งนักเตะที่เป็นเยาวชน ผู้ฝึกสอน (โค้ช) และผู้ตัดสินรุ่นใหม่ให้มีบทบาทในระดับนานาชาติต่อไป

ผู้ตัดสินกีฬาระดับนานาชาติ มากประสบการณ์อย่าง อาจารย์รัศมี จินดามัย จากกรมพลศึกษา ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ตัดสินที่เข้ามาร่วมตัดสินกีฬาฟุตซอล รายการ SDN Futsal No-L และเชื่อว่าหลายๆท่านก็คงอยากเป็นผู้ตัดสินกีฬาแบบอย่างอาจารย์รัศมี ซึ่งบทความนี้ จะมาเล่าเรื่องราวเส้นทางของการเป็นผู้ตัดสินกีฬาของอาจารย์รัศมี จินดามัย ให้ผู้อ่านและผู้ตัดสินรุ่นใหม่หลายๆท่านได้มีแรงบันดาลใจกันต่อไป

อาจารย์รัศมี จินดามัย ภูมิลำเนาเป็นคนจังหวัดมหาสารคาม เล่าเรื่องราวเส้นทางของการเป็นผู้ตัดสินให้ฟังว่า ในช่วงปี พ.ศ.2520 ได้มาเป็นบรรจุเป็นข้าราชการกรมพลศึกษา และได้ดำรงตำแหน่งการเป็นผู้ตัดสินกีฬา สังกัดกรมพละศึกษา ในระดับพื้นฐาน และเป็นผู้ตัดสินอยู่กรมพลศึกษาได้หลายปี ทางสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ได้ทำการเปิดสอบเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งสอบได้เป็นรุ่นที่ 7 ของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย

จากนั้นก็เลื่อนระดับของผู้ตัดสินขึ้นไปกระทั่งปี ค.ศ.1990 ได้เป็นผู้ตัดสินของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) และการเป็นผู้ตัดสินระดับนานาชาตินั้น จะมีข้อกำหนด คือ หากอายุ 45 ปี จะต้องปลดเกษียณ ก็อยู่ตามวาระและปลดเกษียณ เมื่อปี ค.ศ.1999 และหลังจากนั้น ก็ได้รับการแต่งตั้งจาก FIFA และสหพันธ์แห่งเอเชีย ให้เป็นประเมินผลผู้ตัดสินนานาชาติ (AFF/AFC/FIFA)  แต่ก็มีข้อจำกัดการเป็นผู้ประเมินผลผู้ตัดสินนานาชาติ ที่จะต้องเกษียณอายุ 60 ปี โดยอาจารย์รัศมี เป็นรุ่นที่ 2 ที่เกษียณอายุครบ 60 ปี ตามวาระ

และการเดินทางเส้นทางสายฟุตซอลนั้น เคยทำหน้าที่เป็นประธานเทคนิคกีฬาฟุตซอลในการจัดการแข่งขันในประเทศไทย ซึ่งเป็นงานระดับโลก จำนวน 2 ครั้ง นอกจากนี้ยังเป็นประธานผู้ตัดสินของสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย และเป็นประธานผู้ตัดสินของกรมพละ มาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อเส้นทางผู้ตัดสิน
ไม่ได้เริ่มต้นจากการตัดสิน

หากย้อนไปในวัยเด็กของอาจารย์รัศมี เล่าให้ฟังว่า ในชีวิตตอนนั้นชอบฟุตบอลมาก จึงมาเป็นนักกีฬาฟุตบอล ผ่านการเล่นมาทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นรายการล่ารางวัลในลีกต่างๆ และมีความใฝ่ฝันอยากเป็น นักฟุตบอลทีมชาติ ตามปะสาเด็กต่างจังหวัด ซึ่งโอกาสตอนนั้น การที่จะสามารถติดตามข่าวสารมีข้อจำกัดที่มีเพียงช่องทางวิทยุเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันที่มีหลากหลายช่องทาง ความใฝ่ฝันที่อยากเป็นนักฟุตบอลทีมชาติไทย แต่ด้วยความเป็นเด็กต่างจังหวัดนั้น ก็มีข้อจำกัด ทั้งค่าใช้จ่ายที่สูง ในการเดินทางเข้าไปเมืองหลวง ทำให้โอกาสที่จะเข้ามาในกรุงเทพยิ่งน้อยมาก

แต่ความชอบฟุตบอลก็นำการมาเป็นผู้ตัดสินกีฬา โดยเฉพาะความชอบในเรื่องของการแข่งขันกีฬาฟุตบอล โดยในขณะนั้นไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะต้องเป็นผู้ตัดสิน ด้วยความบังเอิญที่อาจจะมีข้อจำกัดและข้อจำเป็นในช่วงหนึ่ง การที่เล่นฟุตบอลในช่วงระยะหนึ่ง ตัวเราเองก็ต้องหมดอายุขัย หมายถึงพละกำลังตามอายุที่มากขึ้น และการที่เป็นนักกีฬาจะต้องพิสูจน์ตัวเองตลอดเวลา

อาจารย์รัศมีเล่าให้ฟังว่า ตอนที่เล่นฟุตบอลให้กับสโมสรฟุตบอลทหารบก เล่นในรายการ ถ้วย ข. (ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ข. หรือชื่อเดิม ถ้วยน้อย เป็นการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานระดับชั้นที่ 2 ของประเทศไทย) ปรากฏว่า ตัวเราเองนั้นต้องซ้อมมากกว่าเด็ก แต่เล่นได้ไม่ถึงครึ่ง ก็หมดเรี่ยวแรง ก็เลยต้องพิจารณาตัวเองว่า เราจะต้องไปอย่างไรต่อไป ทั้งที่เป็นกีฬาที่เราเองชอบ คือ กีฬาฟุตบอล เล่นเกมรับเราต้องพลิกตัวเอง ในขณะที่ตอนนั้นเอง ก็เป็นผู้ตัดสินกีฬาฟุตบอลของสมาคม แต่ว่าช่วงนั้นไม่ได้เอาดีทางด้านการตัดสิน ไม่ได้มีเป้าหมายการมาเป็นผู้ตัดสิน โดยยังอยากจะมุ่งที่อยากติดธงในนักกีฬาฟุตบอลให้ได้ แต่สุดท้าย ก็แพ้ภัยตัวเอง เลยต้องพลิกชีวิตตัวเองมาเป็นผู้สินฟุตบอล ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา จึงกลายมาเป็นตำนานเรื่องราวของ ‘เปาหมี’ รัศมี จินดามัย อดีตผู้ตัดสินฟีฟ่า ชายเชิ้ตดำในตำนาน ที่หลายคนรู้จัก

ระเบียบวินัย
การตัดสินฟุตซอล

พูดถึงระเบียบวินัยของการแข่งขันรายการฟุตซอลนั้น โดยเฉพาะการแข่งขันรายการ SDN Futsal No-L ที่จัดร่วมกับภาคีรวมถึงกรมพลศึกษา เรียกได้ว่า มันเป็น MOTTO หรือเป็นที่จดจำสำหรับฝ่ายจัดการแข่งขันต้องการให้เกิดขึ้นโดยเฉพาะเรื่องของมิตรภาพ เรื่องของความมีน้ำใจนักกีฬา การให้อภัยทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในบริเวณพื้นที่และในการแข่งขัน

การเป็นนักกีฬาจากพื้นฐานไปสู่นักกีฬาอาชีพนั้น อาจารย์รัศมีมองว่า จะต้องปลูกฝังเรื่องของมิตรภาพ เรื่องของความมีน้ำใจนักกีฬา โดยเฉพาะการที่เราทำงานในด้านฝ่ายการตัดสิน เราจะต้องพยายามบังคับหรือทำให้นักกีฬาเหล่านี้ อยู่ในกรอบและกติกาให้ได้ เป็นนักกีฬาที่ดีในอนาคตให้ได้ เพราะมีความเชื่อมั่นว่า นักกีฬาที่ได้รับการปลูกฝังในสิ่งที่ถูกต้อง คือ เล่นตามกติกา ผู้ตัดสินก็จะตัดสินตามกติกา นักกีฬาเหล่านี้ก็จะขยับขึ้นเป็นกำลังหลักของประเทศชาติต่อไป

ฉะนั้นเมื่อเราทำในสิ่งที่ถูกต้อง คำว่า “สปิริต” เป็นสิ่งที่นักกีฬาจะต้องแสดงออกเองโดยไม่มีใครบังคับ แต่ก็พยายามหาวิธีการที่หลากหลาย เพื่อที่จะให้น้องนักกีฬา ซึ่งเป็นเยาวชน แสดงออกด้วยความบริสุทธิ์ใจ คือมีความอยากจะทำเอง

การแข่งขันกีฬาเมื่อมีการแข่งขันทุกสิ่งทุกอย่างก็คือเป็นเกมการแข่งขัน แต่ขณะที่มีเกมการแข่งขันอยู่นั้น ตัวเราเองก็จะต้องเสริมเติมในสิ่งที่ถูกต้องแนวความคิดที่ถูกต้อง เช่น การไม่ทำร้ายคู่ต่อสู้ การเล่นต้องเล่นแบบ Fair charge-Fair play จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้กับน้องๆ และสำคัญที่สุด คือ การที่น้องนักกีฬาจะได้รับการตัดสินที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องนั้น ก็มาจากกลุ่มของผู้ตัดสินที่ทำหน้าที่ตรงนั้นด้วย

การเป็นผู้ตัดสินที่ดี

จากประสบการณ์ผู้ตัดสินของอาจารย์รัศมี เมื่อพูดถึงคุณสมบัติผู้ตัดสินที่ดีนั้น ข้อสำคัญอันดับแรกต้องมีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ อันดับสองจะต้องให้ความยุติธรรมกับทุกทีม คำว่า “ยุติธรรม” ในที่นี้เราอาจจะมองว่ามันเป็นตัวหนังสือ แต่ในมุมของกีฬามันเป็นการแสดงออกของผู้ตัดสิน คือ การทำหน้าที่ โดยเราจะทำอย่างไรให้ทั้งสองทีมยอมรับในเรื่องของการตัดสินให้ได้ ซึ่งนั่นหมายความว่า ถ้าการตัดสินทีม A มีลักษณะการตัดสินในแบบนี้ และทีม B ก็ต้องกระทำการตัดสินเหมือนกันกับทีม A โดยไม่มีความลำเอียงหรือให้ประโยชน์กับทีมใดทีมหนึ่งถึงจะชอบหรือไม่ชอบในอคติส่วนตัวก็ตาม ซึ่งตัวอย่างนี้ เรียกว่า ยุติธรรม ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เพราะความหมาย คำว่า ยุติธรรม ในภาษากีฬานั้นไม่สามารถใช้การชั่งด้วยตาชั่งได้ จะต้องตัดสินด้วยสายตาจากกมากมองเห็น แต่การตัดสินนั้น ผู้ตัดสินก็จะต้องใช้กติกาเป็นแนวปฏิบัติที่เป็นสากล ดังนั้นการเป็นผู้ตัดสินที่ดี จึงต้องมีสิ่งเหล่านี้ประกอบกัน

นอกจากกติกา ความซื่อสัตย์และความยุติธรรมแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดในปัจจุบันของผู้ตัดสิน ต้องมีสมรรถภาพของร่างกายที่แข็งแรง สมรรถภาพต้องดีและพร้อมสำหรับการลงไปเป็นผู้ตัดสิน ต้องสามารถเคลื่อนที่ตัวเองไปควบคุมในพื้นที่ ที่คิดว่าจะเกิดปัญหาได้ ฉะนั้นผู้ตัดสินในยุคปัจจุบัน ถ้าเราสังเกตเห็น ผู้ตัดสินจะมีความฟิตและมีความยุติธรรม ซึ่งจะอยู่ในลักษณะคุณสมบัติที่ดีพร้อมกัน ไม่มีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งโดดเด่น

ผู้ตัดสินมีคุณธรรม
จริยธรรม
ปลอดอบายมุข

“จริงๆอยากจะบอกอย่างนี้นะครับว่า เมื่อในอดีตตัวผมเอง เคยผ่านเรื่องเหล่านี้มาหมดแล้ว ทุกวันนี้สามารถพูดได้อย่างเต็มปาก หากย้อนในอดีตที่ยังทำหน้าที่อยู่ อาจจะไม่กล้าให้สัมภาษณ์ ทุกวันนี้มั่นใจ 100% ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการพนันในชีวิต ไม่เคยแตะเลยนะครับ”

สิ่งที่อาจารย์รัศมีเอ่ยประโยคนี้ขึ้นมา ไม่ได้มองว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี แต่ว่าเป็นสิ่งที่ตัวเองนั้นไม่ชอบแล้ว ในปัจจุบันเองก็ไม่มีเรื่องอบายมุขเหล่านี้ในตัวเองแล้ว เฉกเช่นเดียวกันในวงการผู้ตัดสิน ในฐานะที่เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในด้านนี้มาก่อน หรือยังได้รับเชิญไปให้ความรู้ มีเรื่องอะไรบ้าง ที่เราสามารถบอกกับน้องคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเรื่องคุณสมบัติของการเป็นผู้ตัดสินที่ดี และเรื่องอบายมุข เรื่องดื่มเรื่องเสพ มีการรณรงค์ ขอความร่วมมือลดละและหลีกเลี่ยง ตอนนี้รับประกันได้เลยว่า เรื่องการพนัน ผู้ตัดสินสังกัดกรมพละ 100% ไม่มีการเข้าไปยุ่งเกี่ยว

เราในฐานะเป็นผู้นำองค์กร ก็พยายามให้มากที่สุดเท่าที่จะไม่ให้น้องๆ ยุ่งเกี่ยว และก็ต้องยอมรับความเป็นจริง เมื่อในอดีตนั้น ตัวเราเองใครกล่าวพูดเตือน ก็ไม่ฟัง เพราะเคยมีความเชื่อมั่นว่า ถ้าได้ลองแล้ว จะสามารถวิ่งได้มีพละกำลัง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่แบบความเชื่อนั้นเลย จนกระทั่งพออายุมากขึ้น ก็จะสามารถเข้าใจและบอกได้เต็มปากได้เลยว่า จริงๆไม่ใช่แบบนั้นเลย เราทำเป็นตัวอย่างให้เขาดู ถ้าคุณหยุดอบายมุขตรงนี้ อนาคตเนี่ยคุณจะมีอายุที่ยืนยาวนานขึ้นครับ

ผู้ตัดสิน
แบ่งเป็นกี่ระดับ

สำหรับผู้ตัดสินสังกัดกรมพลศึกษา อาจารย์รัศมีให้ข้อมูลว่า ทางสังกัดกรมพละเราไม่ได้แบ่งเป็น License หากในประเทศไทยซึ่งคำว่า License ในสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ๆจะเรียกว่า ระดับชั้น จากประสบการณ์ที่ดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานคณะกรรมการผู้ตัดสินในช่วงยุคก่อน การเป็นผู้ตัดสินของสมาคม จะเรียกเป็น “ระดับชั้น” โดยการที่ได้เป็นผู้ตัดสินครั้งแรกจะเป็นผู้ตัดสินระดับ 3 จากระดับสาม ก็จะสอบขึ้นผู้ตัดสินระดับ 2 และสอบขึ้นผู้ตัดสินระดับ 1 หรือที่เราจะเห็นการตัดสินฟุตบอลระดับไทยลีก 1 โดยแต่ละระดับก็จะมีความเข้มข้นของการตัดสิน มีคะแนนการปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด และก็ไต่ขึ้นเป็นผู้ตัดสินระดับนานาชาติ (FIFA) และขั้นสูงหรือเรียกว่า ELITE (ตามลำดับ)

แต่สำหรับผู้ตัดสินสังกัดกรมพลศึกษานั้น จะมีระดับเดียว โดยแบ่งแบ่งตามเกณฑ์ขีดความสามารถ ผู้ตัดสินสังกัดกรมพละ ดูจากประสบการณ์ เช่น ผู้ตัดสินที่มีประสบการณ์ตัดสินมาจำนวนหลายปี มีทักษะในเรื่องการตัดสินที่โดดเด่น ซึ่งผู้ตัดสินที่มากประสบการณ์ก็จะถูกคัดเลือกไว้สำหรับรายการสำคัญ ซึ่งมีกจะเป็นรายการแข่งขันที่มีการชิงถ้วยพระราชทาน ที่ต้องใช้ผู้ตัดสินที่มีประสบการณ์และมีความสามารถในการตัดสินที่โดดเด่น

ประสบการณ์
และความเชี่ยวชาญ

คำว่าประสบการณ์ ในการเข้ามาเป็นผู้ตัดสินสังกัดของกรมพลศึกษา จะแบ่งเป็นรุ่นอายุ ตัวอย่างเช่น รุ่นอายุ 12 ปี (U12), รุ่นอายุ 14 ปี (U14), รุ่นอายุ 16 ปี (U16), รุ่นอายุ 18 ปี (U18) และมีรายการที่ใหญ่ คือ รายการแข่งขันของเขตการศึกษา ซึ่งไม่ได้นับรวมรายการต่างๆ ที่องค์กรข้างนอกหรือภาคเอกชนที่มาขอผู้ตัดสินจากกรมพละไปทำหน้าที่ ในที่นี้จะกล่าวถึงระดับที่กรมพลศึกษาเป็นผู้จัดขึ้น ฉะนั้นผู้ตัดสินที่เข้ามาทำงานกับกรมพละ จะเริ่มต้นตั้งแต่การตัดสินในรุ่นอายุ 12 ปี จากนั้นก็มีการประเมินผู้ตัดสินคนนั้นๆว่า จากเกณฑ์การตัดสิน เป็นอย่างไรบ้าง การตัดสินเป็นอย่างไร จากนั้นถ้าการตัดสินจากอายุ 12 ปี ผ่าน ก็จะถูกเลื่อนระดับขึ้นมาเป็นรุ่นอายุ 14 ปี รุ่นอายุ 16 ปี และรุ่นอายุ 18 ปี ตามลำดับ จากนั้นผู้ตัดสินที่มีขีดความสามารถที่โดดเด่นหรือมีทักษะที่ยอดเยี่ยมในการตัดสินตามคุณสมบัติผู้ตัดสินที่ดีที่ได้กล่าวไปข้างต้น ก็จะถูกคัดเลือกไปตัดสินการแข่งขันรายการเขตการศึกษา ซึ่งมีปีละหนึ่งครั้ง ถือว่าเป็นรายการสำหรับผู้ตัดสินตัวท็อปของสังกัดกรมพลศึกษาก็ว่าได้ หรือในบางโอกาสในปีนั้นมีสองรายการ อย่างรายการแข่งขันฟุตซอลนักเรียนระดับเอเชีย ซึ่งกรมพลศึกษาก็ได้จัดขึ้นเป็น สองครั้งแล้ว ก็ถือเป็นโอกาสของผู้ตัดสินที่ถูกคัดเลือกจากคุณสมบัติผู้ตัดสินที่มีประสบการณ์เหล่านี้ไปร่วมทำหน้าที่นี้

การจัดการแข่งขัน
ดุเดือดและความรุนแรง

จากประสบการณ์ของความเดือดในเกม ความวุ่นวายที่อาจารย์รัศมีเจอมา ล้วนแต่หลากหลาย โดยเฉพาะเรื่องของความเดือดในเกม อารมณ์ร้อน หรือมีการปะทะกันในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นกีฬาชนิดต่างๆ วิธีการจัดการลดความรุนแรงลงนั้น เราต้องเข้าใจและยอมรับเสมอว่า เมื่อมีเกมการแข่งขันเกิดขึ้น คำว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้น มีหลายรูปแบบ บ้างก็เกิดจากการใช้ทักษะ อาจจะใช้ในเรื่องของการได้เปรียบในเรื่องของบอดี้ร่างกายเข้าปะทะ แต่เรามีเกณฑ์ในการตัดสินในการ Challenge (ท้าดวล) ถ้าเล่นแบบ Fair Charge หมายความว่า ไม่ทำร้ายคู่ต่อสู้ ผู้ตัดสินยังอนุญาตให้แข่งขันต่อ แต่ถ้าเมื่อไหร่มีการใช้ความรุนแรงกับคู่ต่อสู้ ก็ต้องตัดสิน ฉะนั้นในการแข่งขันนั้นถ้าเราเป็นผู้ตัดสิน ในมุมมองนี้ ถ้าเราจะต้องประเมินดูหรือเราอ่านเกมนั้น ว่าโอกาสของนักกีฬาที่เริ่มจะใช้ความรุนแรง เราจะต้องทำการหยุดการกระทำนั้นก่อน โดยวิธีการขั้นตอนแรก ใช้วิธีการตักเตือน ขั้นตอนที่สอง คือเหตุการณ์ที่รุนแรงมากขึ้น มีการตักเตือนไปแล้ว มีการกระทำความรุนแรงซ้ำ นอกเหนือเหนือกติกา ก็สามารถใช้ใบเหลืองหรือแม้กระต้องลงโทษด้วยใบแดง นี่คือขบวนการขั้นตอน และสำคัญที่สุด โดยเฉพาะในรายการการแข่งขัน SDN Futsal No-L นี้นะครับเรามีขบวนการในเรื่องของการนำคะแนน Fair Play เข้ามาใช้ควบคุมให้การแข่งขันนั้นลดความรุนแรงลงให้ได้ เพราะนี่คือสิ่งที่เราต้องการไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น หรือแม้กระทั่งกรมพลศึกษาเองก็ใช้คะแนน Fair Play เช่นเดียวกัน ฉะนั้นเมื่อมีคะแนน Fair Play เข้ามาเกี่ยวข้อง นักกีฬาหรือผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องบังคับตัวเองโดยปริยายเพื่อไม่ให้เสียเปรียบในการคิดคะแนน Fair Play ในการแข่งขันนัดต่อไปหรือนำไปคิดคะแนนเมื่อแต้มเท่ากัน

Fair Play หรือ คะแนนแฟร์เพลย์ คือ คะแนนที่เป็นความประพฤติของคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาในสนามนักกีฬาสำรอง หรือเจ้าหน้าที่ โค้ช ของเกมการแข่งขัน เมื่อบุคคลเหล่านี้ทำผิดกติกา ผู้ตัดสินจะลงโทษด้วยใบเหลือง ซึ่งเมื่อได้รับใบเหลือง นั่นก็หมายความว่า ลบหนึ่งคะแนน หรือใบเหลือง 2 ใบในเกม ก็จะเป็นใบแดง เท่ากับลบ 3 คะแนน หรือใบเหลืองใบแดงโดยตรง ลบ 5 คะแนน และใบแดงโดยตรง แบบไม่มีใบเหลือง ลบ 4 คะแนน ซึ่งคะแนนเหล่านี้ จะถูกรวบรวมมาคิดในตอนที่จะ Qualify (การคัดเลือกคุณสมบัติที่ดี) หรือมีการพิจารณารางวัลต่างๆสำหรับรายการนั้นๆ

ปัญหาในการตัดสิน
ที่พบบ่อย

ปัญหาเรื่องการตัดสิน ที่พบเจอปัญหาหลัก ก็คือ เรื่องการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเกมการแข่งขัน ซึ่งความรุนแรงนั้นอยู่ที่การบริหารจัดการที่ดีของผู้ตัดสิน มันเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้ง ทำให้นักกีฬาจะรู้จักเรียนรู้โดยธรรมชาติ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ผู้ตัดสินอนุญาต ให้มีการเล่นนอกกติกา ซึ่งเป็นที่แน่นอน ในมุมผู้ที่ถูกกระทำ ต้องการเอาคืนอย่างแน่นอน พอเกิดเหตุการณ์การเอาคืน ทำให้มีความลำบากใจในการตัดสินเพิ่มขึ้น และสำหรับผู้ตัดสิน ถ้าลงโทษ ก็จะถูกย้อนกลับไปตั้งข้อสังเกตจากเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ครั้งแรกทำไมไม่ลงโทษ แล้วทำไมต้องมาลงโทษเขา อาจจะทำให้เกิดเป็นการโต้เถียงกันระหว่างผู้ตัดสินกับนักกีฬาผู้ที่ถูกกระทำ

ฉะนั้นวิธีการแก้ไขปัญหาในเรื่องของการตัดสิน คือ ทำอย่างไรผู้ตัดสินจะต้องดูทุกเหตุการณ์ แต่ละเหตุการณ์เกิดอะไรขึ้นบ้าง ที่เราในฐานะผู้ตัดสิน สามารถตักเตือนได้ อะไรบ้างที่ไม่สามารถจะตักเตือนได้ ก็สามารถลงโทษด้วยใบเหลืองหรือการกระทำที่นักกีฬาที่ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุทำร้ายคุณสู่ต้องลงโทษด้วยใบแดง

โทษของการที่นักกีฬาได้รับใบแดง มันมีอยู่สองกรณีที่เห็นกันทั่วไปในการแข่งขันฟุตบอล ฟุตซอล หลักๆคือการ Serious Foul Play เป็นการกระทำผิดกติกาการเล่นอย่างรุนแรง คำว่า Serious Foul Play (อ่านว่า ซีเรียสฟาวเพลย์) ก็คือเล่นทั้งบอลทั้งคน ที่ภาษาที่เราเข้าใจง่ายๆ แต่ใช้ความรุนแรงมากขึ้น ทำร้ายผู้ต่อสู้ โดยปกติในระเบียบการแข่งขันจะมีการลงโทษแค่หนึ่งครั้ง แต่ถ้าเป็นประพฤติผิดอย่างร้ายแรง หรือ Violent conduct football ในปัจจุบัน คือการทำร้ายคู่ต่อสู้โดยที่ไม่มีเหตุผลเลย เช่น แข่งกันกันอยู่ดีๆ ก็ไปซัดคู่แข่งเข้าเปรี้ยง หรืออาจจะทำร้ายส่วนไหนก็แล้วแต่ตั้งแต่สองเกมขึ้นไป หรือตลอดทัวร์นาเมนท์แล้วแต่เหตุการณ์ที่นักกีฬาคนนั้นกระทำด้วย

การจัดการตัดสิน
ให้คลี่คลาย

โดยปกติแล้วการตัดสินฟุตซอลจะใช้ 4 คน คือผู้ตัดสินที่หนึ่งและผู้ตัดสินที่สอง ที่จะต้องทำหน้าที่การตัดสินการแข่งขันในสนาม และมีผู้ตัดสินที่สาม มีหน้าที่คอยดูควบคุมในเขตเทคนิคว่า มีการเปลี่ยนตัวถูกต้องหรือไม่ ไม่มีการละเมิดกติกา หรือมีการอบอุ่นร่างกายเกินจำนวนที่ระเบียบการแข่งขันกำหนด ส่วนคนที่สี่ คือ Time keepers มีหน้าที่รักษาเวลา เวลาแข่งขันหรือเวลาที่นักกีฬาโดนใบแดง จะต้องจับเวลากี่นาที หรือการขอเวลานอก เพราะฉะนั้นผู้ตัดสินทุกคนมีหน้าที่หมด นอกจากนี้ยังมี Gold line เข้ามาเกี่ยวข้องอีกสองคน ฉะนั้นเหตุการณ์ต่างๆภายในสนามการแข่งขัน บุคคลกลุ่มนี้จะมีหน้าที่อีกหน้าที่ก็คือช่วยพยายามอย่าให้ปัญหาตรงนี้เกิดขึ้น และจะต้องมีการบริหารจัดการ เช่น เกิดปัญหาในจุดตรงที่หนึ่ง และต่อเนื่องจุดที่สองในเวลาเดียวกัน เราเห็นเริ่มมีปัญหา ฉะนั้นผู้ตัดสินที่อยู่บริเวณใกล้เคียง จะเข้ามาบริหารจัดการทันที จะมาป้องกัน แยกไม่ให้นักกีฬาปะทะกัน หรือพยายามทำให้นักกีฬาสงบได้เร็วที่สุด

แต่ถ้าเป็นการแข่งขันที่เป็นรอบลึก รอบชิง รอบที่มีความสำคัญมากๆ จะใช้นวัตกรรมโกลไลน์ (Goal-line) เข้ามาเกี่ยวข้องในการตัดสิน โดยโกลไลน์ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็จะวิ่งอยู่ระหว่างเส้นประตู โดยสำคัญที่สุดและเป็นปัญหาโลกแตกที่พบเจอบ่อย คือ ลูกบอลเข้าแล้วออกอย่างฉับพลัน เหตุการณ์เหล่านี้จำเป็นต้องนำนวัตกรรมโกลไลน์มาใช้ ฉะนั้นผู้ตัดสิน หรือผู้ช่วยผู้ตัดสิน ที่อยู่ตรงจุดนี้ จะต้องตัดสินให้ได้ว่าลูกบอลเข้าทั้งลูกหรือไม่ หรือว่ายังไม่เข้าทั้งลูก ฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการใช้นวัตกรรมโกลไลน์ จะไม่ได้รับการประท้วงจากทีมที่กังขาว่าลูกนี้เข้าหรือไม่เข้า ส่วนมากจะใช้สำหรับรอบรองชนะเลิศและรอบชิงชนะเลิศ รวมแล้วในการแข่งขันจะใช้ผู้ตัดสินจำนวนทั้งหมด 6 คน แต่อย่างไรก็ตามที่สำคัญในสำหรับคู่ชิงชนะเลิศ ก็จะต้องมีผู้ตัดสินสำรองไว้อีกหนึ่งคนเพื่อทำหน้าที่ช่วยบริหารจัดการ

อาจารย์อธิบายโกลไลน์มันถ้ามันช่วยแก้ปัญหาได้ยังไงบ้าง

จากข้างต้นในกรณีปัญหา เรื่องเข้าไม่เข้าประตู ลูกบอลคลุมเครือและเป็นปัญหาโลกแตก ปัญหานี้หากเกิดขึ้นในระดับนานาชาติ จะใช้เรื่องของนวัตกรรมและเครื่องมือเทคโนโลยีเข้ามาจัดการ แต่หากในประเทศไทยเอง และโดยเฉพาะสังกัดกรมพลศึกษา ก็มีข้อจำกัดรวมถึงเรื่องงบประมาณที่ต้องใช้มหาศาล ทำให้ทางเราเองติดในข้อจำกัดเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องใช้คนเข้ามาแทน

นวัตกรรมโกลไลน์ (Goal-line) ช่วยในเรื่องของการตัดสินกีฬาปัญหาของลูกฟุตบอลหรือฟุตซอล เข้าประตูหรือไม่เข้าประตู หรือเข้านิดหน่อย ถ้าเข้าเยอะ คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าเข้าไม่เข้าแบบเห็นแย้งสองสามฝ่าย ทั้งกองเชียร์หรือคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ไม่ได้อยู่เหตุการณ์ ทำให้ไม่สามารถยืนยันได้ หากการแข่งขันรายการนั้น มีการใช้ Goal-line จะยืนยันได้ว่าลูกนี้เป็นประตูหรือไม่เป็นประตู ในการใช้คนจะมีสัญญาณบอกไว้ โดยหากเป็นประตู จะยกมือขึ้น ถ้าผู้ตัดสินมองเห็นเข้า ผู้ตัดสินก็จะชี้เป็นประตู ถือว่าช่วยในการจัดการปัญหาได้ในระดับหนึ่ง  

ความท้าทาย
ของการตัดสินคืออะไร

“การแข่งขันเนี่ยมันท้าทายทุกระดับ ฉะนั้นความท้าทายของผู้ตัดสิน ก็คือเราจะทำอย่างไรให้เขายอมรับการทำหน้าที่ของเราให้ได้ หมายความว่า การนำกติกาไปใช้ให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากที่สุด”

ความท้าทายของการตัดสิน คือ การที่มันเกิดปัญหาขึ้น โดยนักกีฬาหรือโค้ช หรือคนดู ไม่ยอมรับในระเบียบการแข่งขัน จึงเกิดเป็นประเด็น มีคนหรือผู้ตัดสินที่ไม่เข้าใจกติกาที่แท้จริง เพราะนักกีฬาไปแข่งหลายๆพื้นที่ แล้วการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตัดสินในแต่ละรายการในพื้นที่นั้น เราไม่แน่ใจว่า เขานำกติกาที่ถูกต้องมาตัดสินนักกีฬาหรือไม่ หรือว่าเกิดความคลาดเคลื่อนในกติกาการตัดสินบ้าง และสถานการณ์ในการแข่งขัน มันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

สิ่งสำคัญที่สุด พอเกิดการตัดสินคาดเคลื่อน ไม่ถูกต้องตามแนวปฏิบัติหรือกติกา แล้วนักกีฬาได้ประโยชน์ ทำให้ความจำของนักกีฬาคนนั้นจะรับรู้จากสถานการณ์นั้นว่า การตัดสินแบบนี้แล้วถูก ซึ่งในความจริงอาจจะผิดกติกาก็ได้ และเมื่อนักกีฬาคนนั้น เข้ามาแข่งขันในทัวร์นาเมนท์ที่มีผู้ตัดสินที่เป็นมาตรฐาน แน่นอนครับการขัดแย้งกันระหว่างความรู้สึกหรือความจำของนักกีฬาตรงนั้นกับการทำหน้าที่ถูกต้อง มันเกิดการขัดแย้งแน่นอน

เทคนิคการตัดสิน

ผู้ตัดสินทุกคนนั้นล้วนย่อมได้รับการฝึกฝนเรียนรู้กติกามาเป็นอย่างดี แต่มีสิ่งสำคัญ คือ เทคนิคการตัดสิน ซึ่งเป็นจุดแข็งจุดเด่นเลยก็ว่าได้ ผู้ตัดสินของสังกัดกรมพลศึกษา จะมีผู้ที่มีประสบการณ์ ผ่านรายการผู้ตัดสินฟุตซอลระดับนานาชาติ อย่างการเป็นหัวหน้าผู้ตัดสินในทุกแมตช์ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่หลังการตัดสินเสร็จสิ้น ในช่วงเย็นก็จะมีเรื่องของการ Analysis (อะนาไลซิส) คือ การเอาปัญหาต่างๆที่มันเกิดขึ้นนำมาวิเคราะห์ นำมาแก้ไขทุกวัน ทำทุกวัน ทำให้ผู้ตัดสินสังกัดกรมพลศึกษา สามารถสลับสับเปลี่ยนกันทำหน้าที่ได้  เช่น วันนี้เกิดปัญหาตรงนี้ เราก็มาแก้ไข หาวิธีการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการที่เรามีผู้ตัดสินที่มีประสบการณ์ ในที่นี้อาจจะใช้คำว่า พี่สู่น้อง ทุกคนก็มาแชร์ประสบการณ์ หรือผู้ตัดสินบางคนมีประสบการณ์จากข้างนอกมา เราก็นำเข้ามานำมาพูดคุยกัน มาถกปัญหากันว่า เคสนี้เราควรจะแก้ไขอย่างไร อะไรคือกติกาที่มันบ่งบอกในเคสนี้ ในส่วนของอาจารย์รัศมีเองก็ถือเป็นพี่ มีหน้าที่ดูแลโดยภาพรวมทั้งหมด คือ การให้ความรู้ให้ประสบการณ์ เทคนิคต่างๆในสิ่งที่เรามีกับน้องผู้ตัดสิน นอกจากนี้ยังสนับสนุนกำลังใจ ให้ความมั่นใจในสิ่งที่น้องผู้ตัดสินทำ

การสร้างความน่าเชื่อถือ
ของผู้ตัดสิน

ผู้ตัดสินและความน่าเชื่อถือนั้นการวางตัวก็คือสิ่งสำคัญ จะต้องวางตัวเป็นกลาง แล้วคำว่าเป็นกลางคืออะไร? ถามกลับไปว่า นักกีฬารู้จักผู้ตัดสินไหม โค้ชรู้จักผู้ตัดสินไหม ต่างก็รู้จักกันทั้งนั้น แต่คำว่ารู้จักนั้น เราควรจะทักทายกันประมาณไหน ไม่ใช้ความใกล้ชิด แล้วทำให้ความรู้สึกทีมอีกทีมนึงที่เขามองอยู่ เช่น สนิทสนมกันมากเกินไป เข้าไปพูดคุยกันจนแบบรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลตอนที่เราไปทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินในสนาม แล้วถ้าเกิดความผิดพลาดจริงๆ ก็จะถูกมองว่าเป็นความผิดพลาดโดยตั้งใจ ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญในการวางตัว จะทำอย่างไรให้ความน่าเชื่อถือมันเกิดขึ้น เราจะต้องไม่ไปหยอกล้อหรือพูดจาด้วยภาษาดอกไม้ ใช้การสื่อสารกับทุกคนด้วยภาษาที่เป็นกลาง ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องอยู่ในบริบทที่ผู้ตัดสินควรจะทำและวางตัว

บทบาทในการพัฒนาสังคมผู้ตัดสินกีฬา
คนกับเทคโนโลยี
พัฒนาทักษะในยุคการเปลี่ยนแปลง

การตัดสินที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาตัดสิน อย่าง VAR มักจะใช้ในระดับนานาชาติ หรือรายการสำคัญของลีกในประเทศ ซึ่งมีความแม่นยำสูง แต่ก็อย่างที่เคยกล่าวไว้ข้างต้นว่า ด้วยงบประมาณที่จำกัด และทำให้ขาดโอกาสในการใช้งานเทคโนโลยีระดับสูง เราอาจจะไม่ได้ไปถึงระดับนั้น หากการใช้เทคโนโลยี ก็จะใช้ในเรื่องของการสื่อสารเป็นหลัก ซึ่งการสื่อสารของผู้ตัดสินนั้นสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของหูฟังที่นำมาใช้อยู่ เพราะว่าเป็นการลงทุนที่ไม่สูงมากมายนัก สามารถการสื่อสารสิ่งสำคัญในการตัดสินระหว่างผู้ตัดสินที่หนึ่งกับผู้ตัดสินที่สอง ซึ่งการตัดสินจะต้องไปทิศทางเดียวกัน เทคโนโลยีการสื่อสารจึงสำคัญ

การตัดสินด้วยคน ในบางครั้งการยืนอยู่ของผู้ตัดสินตำแหน่งต่างๆในสนามแข่งขัน ผู้ตัดสินบางคน สามารถมองเห็น บางคนมองไม่เห็น เพราะเนื่องจากตำแหน่งมันจะสลับกัน แล้วตำแหน่งต่างๆและสนามมันเล็ก โอกาสปะทะกันหรือมุมมองที่ผู้ตัดสินคนใดคนนึงจะมองไม่เห็นหรือแม้กระทั่งคนที่อยู่ใกล้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมองเห็นทุกเหตุการณ์ เพราะบางทีมุมมองการอยู่ไกลก็จริง แต่มันเป็นไลน์เดียวกัน เส้นตรงเดียวกันก็ไม่สามารถเห็น แต่อีกคนซึ่งอาจจะอยู่ไกลสักนิดนึง แต่มุมมองกว้างกว่าเขาก็สามารถมองเห็นได้ชัดเจน เขาสามารถสื่อสารไปยังบุคคลที่เขาไม่เห็นให้เป็นคำตอบเดียวกัน และที่สำคัญที่สุดคือการตัดสินในสนามจะต้องมี หนึ่ง คำตอบเท่านั้น ถ้าเมื่อไหร่ สอง คำตอบก็นั่นหมายความว่าคุณตัดสินไม่ตรงกัน เห็นด้วยกับการที่ใช้เทคโนโลยีระดับที่สูงๆ แต่ก็อาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณ

การร้องเรียนผลการตัดสิน
ภายหลัง

โดยในปัจจุบันมีถ่ายทอดสด และสามารถรับชมย้อนหลัง มีการร้องเรียนภายหลังโดยจากการนำคลิปถ่ายทอดสด ทางอาจารย์รัศมีมีความเห็นอย่างไร

อาจารย์รัศมีก็เอ่ยว่า เป็นคำถามที่ดี การตัดสินโดยระเบียบการแข่งขันแล้ว การตัดสินของผู้ตัดสินในสนามแข่งขัน ถือว่าสิ้นสุด แต่อย่างไรก็ตามเมื่อทีมบางทีมที่เขาอาจจะเสียผลประโยชน์ในตรงนั้น ตามกติกาแล้วเมื่อการเริ่มต้นเล่น หลังจากที่เกิดปัญหาตรงนี้และเล่นไปแล้ว ทุกอย่างจบเป็นศูนย์ ฉะนั้นการทำหนังสือร้องเรียนเพื่อต้องการพิจารณาลงโทษผู้ตัดสินเหมือนกับบางองค์กร สำหรับสังกัดกรมพลศึกษา อาจจะไม่ได้ทำในลักษณะนั้น โดยงานของกรมพลศึกษาเป็นการส่งเสริมมากกว่าและการตัดสินถือว่าสิ้นสุดในสนาม ส่วนเรื่องของข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นหรือข้อผิดพลาด ทางสังกัดกรมพลศึกษาน้อมรับและพร้อมที่จะทำมาปรับปรุง สำหรับผู้ตัดสิน สังกัดกรมพลศึกษา ไม่ใช่ผู้ตัดสินที่เก่งที่สุด แต่เป็นผู้ตัดสินที่สะอาดที่สุด เพราะเป็นผู้ตัดสินที่ไม่มีอคติกับทีม ไม่มีผมประโยชน์ที่ต้องไปแบกรับ การตัดสินทุกอย่างว่าไปตามเนื้อผ้า เห็นอย่างไร ก็ตัดสินอย่างนั้น

นอกจากรายการแข่งขัน SDN Futsal No-L แล้ว ผลผลิตจากผู้ตัดสินทั้งหมดที่ทางกรมพลศึกษาเป็นภาคีร่วมจัดงาน และนำผู้ตัดสินที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกและฝึกฝน ถือเป็นผลผลิตทั้งหมดที่กรมพลศึกษาได้ให้ความสำคัญกับรายการแข่งขัน SDN Futsal No-L ซึ่งเข้าสู่ปีที่ 2 (ปี 2566) ของการแข่งขันระดับภูมิภาคและระดับประเทศ รางวัลชิงถ้วยพระราชทาน ตัวผมเอง(อาจารย์รัศมี) ก็มีความภาคภูมิใจมาก แล้วผู้ตัดสิน สังกัดกรมพลศึกษาหลายคนก็รอโอกาสและเวลานี้ เป็นอีกรายการแข่งขันที่ทำให้ผู้ตัดสิน สังกัดกรมพลศึกษา เป็นที่รู้จักทั่วประเทศมากขึ้น

ถ้าเราอยู่ในบทบาทของประธานเทคนิค หรือเป็นคนที่ดูแลภาพรวมทั้งหมด สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือเราจะต้องศึกษาถึงวิทยาการใหม่ แนวปฏิบัติใหม่ กติกาที่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะสิ่งเหล่านี้มันถูกปรับเปลี่ยนในโลกยุคปัจจุบัน เราไม่สามารถจะบอกว่า สมัยโน้นเขาทำอย่างโน้นและสมัยนี้ต้องทำอย่างนี้ ฉะนั้นเราต้องเตรียมพร้อมและทันสมัยที่สุด การแข่งขันที่ทันสมัยพร้อมกับการตัดสินที่ทันสมัย สิ่งสำคัญที่เราจะต้องทำคือการปรับตัวเองให้เข้ากับยุคสมัย กติกาสากลแบบใหม่ ไม่ยึดอัตตา ถึงแม้อดีตเราจะเป็นผู้ตัดสินระดับโน้นระดับนี้ก็ตาม แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เรานำสิ่งใหม่ๆมาใช้ ในสังคมผู้ตัดสินเองหรือวงการกีฬา โดยปกติแล้วก็รู้จักชื่อเสียงของเราอยู่แล้ว เขาก็จะเพิ่มความเคารพ ความนับถือเรามากขึ้น

ทุกครั้งที่เคยร่วมงานกับ สสส. และ สคล. ในฐานะที่ผมดูแลผู้ตัดสิน สังกัดกรมพลศึกษา เรามีการถอดบทเรียนทุกครั้ง อะไรที่เป็นประเด็นหรือเป็นข้อปัญหาที่เราต้องแก้ไข เราจะใช้เวทีตรงนี้ช่วยกันปรับ และเป็นรายการที่ให้โอกาสสำหรับผู้ตัดสิน สังกัดกรมพลศึกษา เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่อยากจะทำให้รายการแข่งขัน SDN Futsal No-L เป็นรายการ เป็นเวทีของน้องผู้ตัดสินที่ได้แสดงออกถึงความสามารถ ทักษะไปทั่วประเทศ และยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจอยากเป็นผู้ตัดสิน หรืออาชีพการเป็นผู้ตัดสินที่เป็นบุคคลภายนอกเข้ามาสมัคร ซึ่งกรมพลศึกษาไม่ได้มีเพียงผู้ตัดสินเฉพาะกีฬาฟุตซอล ฟุตบอล ยังมีอีกหลายกีฬาที่ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเป็นผู้ตัดสินมืออาชีพ สามารถเข้าติดต่อดูข้อมูลจากเว็บไซต์ กรมพลศึกษา

สุดท้าย ไม่มีอะไรนอกจาก ความภาคภูมิใจ ที่ได้นำบุคลากรที่มีความสามารถ และผู้ตัดสิน สังกัดกรมพลศึกษา ได้ร่วมงานในเรื่องฝ่ายการตัดสินในรายการแข่งขันครั้งนี้ เราเองก็รับฟังข้อเสนอแนะ ปรับปรุง เพื่อการพัฒนาของเราไปข้างหน้า อะไรที่เป็นความบกพร่อง หรือสิ่งที่เราทำแล้วยังไม่สู่ความเป็นมาตรฐาน เราพยายามจะปรับตัวให้ได้มากที่สุดนะครับ

“เรามีความสุขมากที่เราได้ทำงานตรงนี้
เราทำให้เต็มที่เท่าที่เรามีศักยภาพเพียงพอ
ที่จะทำให้รายการนี้ยิ่งใหญ่ตลอดไปครับ”

นักสื่อสารสุขภาวะดิจิทัล และ Data Journalism