ครูตา พนารัตน์ กุลกำพล ต้นแบบครูผู้ให้อย่างแท้จริง

ครู คือ พ่อแม่คนที่สองของเด็ก ประโยคนี้ที่คุ้นเคย อาชีพครู เปรียบได้กับเรือจ้างลำหนึ่ง ทำหน้าที่ส่งลูกศิษย์ทุกคนให้ถึงฝั่ง แต่จะมีครูสักกี่คนที่ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ อุทิศชีวิตของตัวเองในฐานะ “ครู” ให้กับเด็กด้วยความรักและความปรารถนาดี ครูที่ไม่ได้มีหน้าที่สอนแค่หนังสือ แต่เป็นครูที่ให้ทาง ชี้นำให้เด็กไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข และไม่ใช่แค่เด็กนักเรียนที่ได้รับสิ่งเหล่านี้เท่านั้น ยังหมายถึงครอบครัวของนักเรียนด้วยที่ได้รับความปรารถนาดีนั้นจากครูด้วยเช่นกัน

เชื่อเสมอว่า เด็กจะเติบโตขึ้นไปอย่างมีคุณภาพได้ รากฐานที่สำคัญนอกเหนือจากการถูกอบรมเลี้ยงดูจากพ่อแม่ และครอบครัวแล้ว ครู และ โรงเรียน เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กเติบโตไปเป็นคนที่มีคุณภาพ

วันครูปีนี้ เพื่อเชิดชูครูผู้ให้ เราพาไปพบกับครูผู้มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่ ครูที่ไม่ได้สอนหนังสือแค่ในชั้นเรียน แต่ยังทำเพื่อครอบครัวและชุมชนของเด็กอีกด้วย หลายคนอาจสงสัยว่า ทุกวันนี้ยังมีครูแบบนี้ให้ได้เจออีกเหรอ เชื่อว่า ถ้าใครที่อ่านบทความนี้ จะได้เจอครู ผู้มีหัวใจแห่งการให้คนนี้ กับ ครูตา หรือ คุณครูพนารัตน์ กุลกำพล ครูประจำโรงเรียนอนุบาลวัดพิชัยสงคราม จ.สมุทรปราการ

ธงเด็กดี จดหมายสื่อรัก เลิกเหล้าวันพระ จุดเริ่มต้นการทำงานลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพในโรงเรียน…

ครูตาเล่าใหัฟังว่า เริ่มต้นทำงานกิจกรรมส่งเสริมการลดปัจจัยเสี่ยงในโรงเรียนตั้งแต่ปี 2559 กิจกรรมแรกที่เริ่มทำจริง ๆ จัง เรื่องการลด ละ เลิกปัจจัยเสี่ยง ชื่อว่า ธงเด็กดี ถ้าห้องเรียนไหนมีเด็กที่ประพฤติตัวดี ก็จะเอาธงนี้ไปติดไว้ที่หน้าห้อง แล้วหลังจากนั้นก็ไปเชิญชวนครูท่านอื่น ๆ ให้ไปชวนพ่อแม่ของเด็ก ๆ เลิกเหล้าในช่วงวันพระก่อน ช่วงแรกก็ยังไม่ได้เสียงตอบรับที่ดีเท่าที่ควร พอปีถัดไปก็ทำเรื่องจดหมายสื่อรัก โดยการที่ให้น้องชั้นประถม เขียนจดหมายให้กำลังใจพี่ชั้นมัธยม ในการสอบ O-Net โดยการจับบัดดี้กัน ผลปรากฎว่า กิจกรรมนี้ช่วยสานสัมพันธ์พี่น้อง ทำให้เด็กที่มีวัยแตกต่างกัน มีความรักเคารพซึ่งกันและกัน เป็นการสานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพี่น้อง 

“กอด” ให้ความรัก ก่อนให้ความรู้ ฉบับครูตา

ครูตาเล่าให้ฟังถึงวิธีการสอนที่ทำให้เด็ก ๆ สนใจการเรียนและกิจกรรม ว่า “…เราต้องฟังเด็กให้มาก พี่จะใช้การกอด ให้กำลังใจ ชื่นชมเขา แล้วเด็กจะรู้สึกปลอดภัย แล้วพี่ทำแบบนั้นจริง ๆ ทำตั้งแต่อยู่โรงเรียนเดิม พี่จะทำทุกตอนเช้าก่อนเข้าห้องเรียน เป็นการส่งพลังงานที่ดีใหักับเด็กในทุก ๆ วัน และถ้าเด็กทำผิด พี่จะไม่ดุ ไม่ด่า แต่จะถามด้วยเหตุผลว่า ทำไมหนูถึงแกล้งเพื่อน ทำไม่ถึงไม่ทำการบ้าน ทำไมถึงไม่มาโรงเรียน  ต้องมีเหตุผลบอกครูได้ พี่จะใช้เหตุและผลสอนเด็ก ๆ 

พี่สอน ป.1/5 ซึ่งจะเป็นห้องกลาง ๆ ด้วยความที่โรงเรียนอนุบาลวัดพิชัยสงครามเน้นผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูง เวลาที่มีการวัดผลออกมา ปรากฎว่า เด็กนักเรียนในชั้นเรียนที่พี่สอน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงกว่าห้องระดับต้น ๆ ทุกวิชา เป็นความภูมิใจของพี่ที่เด็ก ๆ พัฒนาตัวเองและสามารถทำได้ และพี่รู้สึกได้เลยว่า เด็ก ถ้าเราให้ความรักกับเขา เขาก็ให้ความรักตอบกลับเรามา เวลาที่เราชวนเขาทำกิจกรรมอะไร เขาก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี…”

“นิทาน” สื่อรัก ให้ความรู้ ลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพฉบับนักเรียน

ครูตาบอกว่า “…พี่จะสอนเด็กผ่านการเล่านิทาน หลังจากกอดให้กำลังใจแล้ว พี่ก็จะเล่านิทานให้เด็กฟัง เด็ก ๆ ก็จะซึมซับ พี่ทำนิทานส่งให้กับ สคล​. โดยใช้การลด  ละ เลิก แอลออฮอล์เป็นตัวเล่าเรื่อง ไอเดียการแต่งนิทานก็มาจากเด็ก ๆ  นี่แหละค่ะ การทำนิทานของพี่ จะมีความยากง่ายตามระดับชั้น พี่ทำหนังสือนิทานตั้งแต่อนุบาล 3 จนถึง ป. 1 และ  ป.2  เพื่อให้ได้เรียนอย่างต่อเนื่อง  และใช้ภาษาที่เด็ก ๆ เข้าใจง่าย พอเขาอ่านแล้วก็จะเข้าใจถึงเนื้อหาที่ต้องการสื่อ นิทานก็จะมีความเข้มข้นของเนื้อหาตามความเข้าใจของเด็กแต่ละชั้นเรียน…”

แน่นอนว่าการทำกิจกรรมรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มีความท้าทายและอุปสรรคมากมายที่ต้องเจอ แต่ครูตา ก็ไม่เคยละทิ้งความตั้งใจนี้แม้แต่ครั้งเดียว

ครูตาเล่าถึงอุปสรรคที่เจอให้ฟังว่า “…จุดแรกที่เจอมีเด็กคนหนึ่ง มีผลการเรียนดีมาก แล้วเขาก็มาเล่าให้ฟังว่า พ่อหนูสูบบุหรี่ หนูไม่อยากให้พ่อสูบบุหรี่เลย หนูขอพ่อว่า หนูจะสอบให้ได้ที่หนึ่ง แล้วพ่อต้องเลิกบุหรี่ แล้วเขาก็สอบได้ที่หนึ่งจริง ๆ แต่พ่อก็ยังสูบบุหรี่อยู่ พี่ก็เลยไปคุยกับแม่เขา แม่ก็บอกว่า พยายามอยู่ค่ะคุณครู หลังจากเราติดตามไปเรื่อย ๆ ปรากฏว่าผลตอบรับไม่ค่อยดี เหมือนเขาไม่พอใจที่เราไปก้าวก่ายชีวิตครอบครัวเขา เรื่องเหล้า และบุหรี่ เป็นอะไรที่เซนซิทีฟมาก พี่ก็เสียใจนะ เพราะที่ทำไปพี่ไม่ได้อะไรเลย แค่อยากให้ลูกศิษย์ของพี่มีความสุข มันเป็นจุดที่พี่ต้องหาวิธีการที่นุ่มนวลในการที่จะเชิญชวนให้ผู้ปกครองเข้ามาร่วมการลด ละ เลิกปัจจัยเสี่ยงนี้ และพี่จะทำโดยไม่คาดหวัง…”

มีอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ครูตาได้แชร์ใหัฟัง และทำให้เห็นถึงความพยายามที่ครูคนหนึ่ง ต้องการทำเพื่อให้ลูกศิษย์มีความสุข ครูตาเล่าต่อว่า “…อีกหนึ่งปัญหาที่เจอคือการไม่เห็นด้วยจากผู้บริหารโรงเรียน เพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่เกิดผลยาก และไม่เชื่อว่าพ่อแม่ของเด็กจะเลิกได้ ณ ตอนนั้นที่เจอปัญหาพี่ก็ยังทำของพี่ต่อไปเรื่อย ๆ วันหนึ่งโรงเรียนมีการจัดกิจกรรมวันแม่แห่งชาติ แล้วโรงเรียนจะหาแม่ดีเด่นแค่คนเดียว พี่ก็เลยมองว่า เราน่าจะมีรางวัลสำหรับแม่ ผู้ปกครอง ที่ไม่สูบ ไม่ดื่ม ด้วยก็ดีนะ พี่เลยสำรวจข้อมูล และขอทาง ผอ. ว่า ขอแม่ที่มีคุณสมบัติไม่สูบ ไม่ดื่มนี้ เป็นแม่ดีเด่นด้วยได้ไหม หนูขอทำตรงนี้ แล้วหนูจะส่งเรื่องไปที่ สคล.  ซึ่ง ผอ. ท่านก็อนุญาต แต่ไม่มีทุนให้พี่เลยนะ ในขณะที่แม่ดีเด่นของโรงเรียนมีงบประมาณให้ 

หลังจากที่ขอความร่วมมือมาที่  สคล. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากพี่ซะ ผู้รับผิดชอบโครงการ ให้เป็นเกียรติบัติเชิดชูแม่ดีเด่น ที่ออกโดย สสส. มาให้เลย พี่มองว่า มันเป็นความภาคภูมิใจ ทาง สคล. ก็ส่งเกียรติบัตรมาให้เป็นไฟล์ แล้วพี่ก็ทำเอง พิมพ์เอง งานนี้พี่ทำคนเดียว ไม่ได้มีใครมาร่วมกับพี่ แล้วก็ทำสำเร็จมาได้  

ช่วงโควิดที่ผ่านมาพี่ก็เชิญชวนผู้ปกครองทางไลน์กรุ๊ป ผ่านทางซูม ให้ลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ลดการแพร่เชื้อจากโควิด-19 พอเข้ามาปีที่สองก็มีโอกาสได้จัดกิจกรรมวันเด็กวิถีใหม่ ไร้อบายมุขที่โรงเรียนอนุบาลวัดพิชัยสงคราม ซึ่งจัดที่เป็นที่แรก และจัดต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน…”

ฟังมาถึงตรงนี้สัมผัสได้เลยว่า ครูตา ไม่เคยละทิ้งความพยายาม ท้อได้ แต่ไม่เคยถอย และผลจากการที่ครูตาไม่เคยละทิ้งพยายามที่ส่งเสริมการลดปัจจัยเสี่ยงในโรงเรียนให้เกิดขึ้น ผลจากความพยายามนั้นส่งผลให้โรงเรียนได้รับรางวัลโรงเรียนคำพ่อสอนต้นแบบรุ่นที่ 2 ซึ่งเป็นผลที่มาจากการตั้งใจทำงานลดปัจจัยเสี่ยงของครูตาตั้งแต่เริ่มต้น

ครูตาพูดด้วยความภาคภูมิใจว่า “…มาถึงจุดนี้ พี่ขอบคุณตัวเองที่ไม่เคยละทิ้งความพยายาม ไม่เคยละทิ้งความฝัน ฝันที่อยากจะให้นักเรียนทุกคนของพี่มีความสุข ฝันที่อยากให้เด็ก ๆ เติบโตไปเป็นคนที่มีคุณภาพของสังคม โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข และก็ยังทำต่อไป จนกว่าจะทำไม่ไหว…”

จากใจครูผู้ให้…

“…ในฐานะครูคนหนึ่ง ก็อยากให้นักเรียนทุกคน เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขทุกประเภท เราไม่มีทางรู้ว่าโตขึ้นเขาจะเป็นอย่างไร แต่ ณ วันนี้ เด็กที่อยู่ในการดูแลของเรา พี่มีความเชื่อว่า ถ้าเราสอนแต่สิ่งดี ๆ ให้ความรัก ให้ความรู้ ปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีใหักับเด็ก  ๆ  พี่เชื่อว่าเขาจะซึมซับกับสิ่งที่ครูมอบให้ ทำให้เขารู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงที่จะมาทำลายชีวิตของเขา และไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่ดีเหล่านั้น…”

ครูตา คือครูต้นแบบ ตัวแทนของครูผู้ให้อย่างแท้จริง 

นักสื่อสารสุขภาวะดิจิทัล และ Data Journalism