ท่องเที่ยวปลอดภัย วัฒนธรรมสร้างสุขกับวิถีชุมชนหนองสองห้อง

เยือนถิ่นสมุทรสาคร พาผู้อ่านทุกท่านไปท่องเที่ยววิถีชุมชนปลอดเหล้าปลอดภัย จังหวัดสมุทรสาคร พากันลงไปที่ชุมชนหนองสองห้อง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ว่าแล้วก็ไปรู้จักชุมชนนี้กันต่อครับ ชุมชนหนองสองห้องเป็น 1 ใน 10 หมู่บ้านของตำบลหนองสองห้อง อยู่ในเขตการปกครองของเทศบาลตำบลหลักห้า อำเภอบ้านแพ้ว จากข้อมูลของเทศบาลตำบลหลักห้า (พ.ศ. 2562) ระบุว่า ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีทั้งการทำสวน ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ แบ่งออกเป็นการทำไร่และทำสวน ได้แก่ ปลูกข้าว ทำสวนมะม่วง สวนลำไย สวนกล้วย สวนชมพู่ สวนมะละกอ สวนองุ่น สวนฝรั่ง สวนพริก สวนพุทรา สวนมะพร้าว สวนแก้วมังกร และปลูกพืชล้มลุก ร้อยละ 40 ส่วนการเลี้ยงสัตว์ เช่น กุ้งกุลาดำ กุ้งขาว ปลาสลิด ปลานิล ปลากะพง ร้อยละ 40 นอกจากนี้คือการทำอาชีพรับจ้างทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม ร้อยละ 20

ป้าสายพิน ปุจฉาการ หรือเราเรียกกันว่า ป้าพิน เป็นคณะทำงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เริ่มต้นจากมาการเป็นคณะทำงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดสมุทรสาคร ขับเคลื่อนงานงดเหล้ามาสู่การทำงานท่องเที่ยววิถีชุมชนปลอดเหล้า ปลอดภัย

เริ่มแรกการทำงานของป้าพินนั้น มาจากการทำงานที่เริ่มต้นไปเชิญชวนคนในชุมชนในอำเภอบ้านแพ้ว ให้ลด ละ เลิก เหล้า ในช่วงเข้าพรรษาก่อน และทำมาต่อเนื่องจากงดเหล้าก็เป็นคนหัวใจหิน คนหัวใจเหล็ก และคนหัวใจเพชรตามลำดับ โดยเฉพาะที่ชุมชนหนองสองห้อง ป้าพินเล่าว่า ตอนที่ทำงานขับเคลื่อนงดเหล้า ได้ไปจัดตั้งให้เป็นชุมชนคนหัวใจเพชร มีการทำงานแบบหนุนเสริมและให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษามาโดยตลอด จนเกิดการขยายผลมาสู่การสร้างอาชีพของคนหัวใจเพชร ซึ่งจากอาชีพเดิมที่ทำกันอยู่ในพื้นที่ ส่วนมากจะเป็นอาชีพทำสวน และมีสินค้าท้องถิ่นอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าที่นี่จะทำในนามของกลุ่มคนหัวใจเพชร

สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ในชุมชนหนองสองห้อง เริ่มมีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาไม่ขาดสาย และสินค้าของที่นี่ยังนำไปเข้าร่วมออกบูธจำหน่ายกับกิจกรรมที่เกี่ยวกับงานของเครือข่ายงดเหล้า ซึ่งทำให้คนได้รู้จักสินค้าของชุมชนหนองสองห้องเพิ่มมากขึ้น สินค้าขึ้นชื่อหรือผลิตภัณฑ์ของชุมชนหนองสองห้อง ถ้าพูดถึงอำเภอบ้านแพ้ว หลายคนคงรู้จักสินค้าขึ้นชื่อ ที่เป็นสินค้าทางเกษตรกรรมอย่าง “มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว” ซึ่งในขณะหนึ่งทางชมรมคนหัวใจเพชร เคยไปร่วมจัดกิจกรรมลด ละ เลิก เหล้า ที่วัดยานนาวา พระอารามหลวง ชมรมคนหัวใจเพชรชุมชนหนองสองห้องก็จะเอามะพร้าวน้ำหอมไปวางจำหน่ายด้วย

“มะพร้าวบ้านแพ้ว”
สินค้า GI บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ชนิดแรกของจังหวัดสมุทรสาคร เป็นมะพร้าวพันธุ์ต้นเตี้ย มีลักษณะผลกลมรี ก้นเป็นจีบ 3 จีบ เปลือกสีเขียว เนื้อมีความเหนียวนุ่ม น้ำมะพร้าวมีรสหวานและกลิ่นหอมคล้ายใบเตย ถือว่าเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศ นอกจากมะพร้าวและก็ยังมีลำไย ซึ่งเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ตัวใหม่ของจังหวัดสมุทรสาคร นั่นก็คือ “ลำไยพวงทอง บ้านแพ้ว

ถ้าพูดถึงลำไย ส่วนมากเราก็จะนึกถึงผลไม้ทางภาคเหนือกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบัน ลำไยพวงทองบ้านแพ้ว ถือเป็นลำไยที่ได้รับ GI คือ สินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ลำไยพวงทองบ้านแพ้ว ตามข้อมูลคือ ลำไย สายพันธุ์พวงทอง (Banphaeo Phuang Thong Longan และ/หรือ Lamyai Phuang. Thong Banphaeo) มีแหล่งกำเนิดมาจากภาคเหนือ ซึ่งในภาคเหนือไม่นิยมปลูก และมีเกษตรกรบ้านแพ้วนำมาปลูก พบว่ามีผิวเปลือกเรียบสีน้ำตาลอ่อน ผลค่อนข้างเบี้ยวเมล็ดขนาดเล็ก เนื้อหนา แห้ง ไม่แฉะ เนื้อใสจนเห็นเมล็ด มีรสชาติกรอบหวาน ซึ่งแตกต่างจากผลผลิตที่พบในท่างภาคเหนือ พบมากที่อำเภอบ้านแพ้ว และอำเภอกระทุ่มแบน

นอกจากสินค้าที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แล้ว สินค้าที่นอกเหนือจากนี้ที่ชมรมคนหัวใจเพชรชุมชนหนองสองห้อง ได้ยึดถืออาชีพเดิมกันมาอยู่แล้ว ก็จะมีสินค้าทางเกษตรกรรม ได้แก่ กล้วยไข่ ฝรั่ง มะม่วง ซึ่งสินค้าเกษตรในชุมชนหนองสองห้อง

พื้นที่ของชุมชนหนองสองห้อง เป็นพื้นที่ทำเกษตรกรรมมาแต่เดิม ส่วนใหญ่อาชีพของคนที่นี่จึงเป็นการทำเกษตร และเป็นเจ้าของพื้นที่เอง เรียกได้ว่า ปลูกเอง ทำเอง ขายเอง ป้าพิน ได้เล่าขยายความของการปลูกเองของที่นี่และยกตัวอย่างคือ วิถีเกษตรกรรมของแต่ละครอบครัว ก็จะมีขนาดพื้นที่แปลงหลากหลายกันไป โดยเฉลี่ยแต่ละครอบครัวไม่ต่ำกว่า 5 ไร่ ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่แล้วจะปลูกมะพร้าวน้ำหอม และเมื่อถึงกระบวนการเก็บเกี่ยว ก็จะมีกระบวนการในการเก็บเกี่ยวโดย มีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ คนที่มารับซื้อก็จะมาตัดเอง ซึ่งก็จะใช้ภูมิปัญญาและข้อมูลทางวิชาการกับประสบการณ์ ว่า ถ้าสังเกตดูจากภายนอก ก็สามารถรู้ได้เลยว่า มะพร้าวสมามารถตัดได้ ถือว่า มะพร้าวบ้านแพ้ว เป็นสินค้าทางการเกษตรที่มีชื่อเสียง และขายดี สร้างรายได้อันดับต้นๆให้คนในพื้นที่ ซึ่งอาชีพเหล่านี้สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องและครอบครัวได้

เมื่อวัยรุ่นบ้านแพ้ว
สนใจเรื่องเกษตร
และท่องเที่ยวชุมชน

กลุ่มคนรุ่นใหม่ในพื้นที่กลับมาทำเกษตรกรรมนั้น ก็มีจะพบเป็นบางพื้นที่จะเห็นว่า กลุ่มวัยรุ่นบ้านแพ้ว ที่ผันตัวเองกลับมาทำอาชีพเหล่านี้ก็จะทำในส่วนของอื่นๆที่ไม่ใช่เพียงเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว โดยมีการทำเรื่องการท่องเที่ยวเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การล่องเรือล่องเรือคลองดำเนินสะดวก และการศึกษาประวัติศาสตร์ในชุมชน

ป้าพิน ยกตัวอย่างจากเคสตัวเอง ที่เป็นคนสมุทรสาครตั้งแต่กำเนิด สถานที่มีชื่อเสียงต่างๆ เช่น ศาลพันท้ายนรสิงห์ กว่าจะได้ไปก็อายุเยอะแล้ว ช่วงนั้นก็ได้ไปเรียน ทำงาน นอกพื้นที่ จนถึงช่วงหนึ่งก็ได้กลับมาใช้ชีวิตอยู่กับชุมชน มีอาชีพ มีครอบครัว แล้วก็ยังไม่เคยไปศาลพันท้ายนรสิงห์ จึงมีความคิดว่า อยากให้ลูกหลาน ได้มีโอกาสเรียนรู้ ศึกษาประวัติศาสตร์ในพื้นที่ด้วย นอกจากการเที่ยวชมสวนมะพร้าวแล้ว จึงเริ่มต้นออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวรอบๆแบบ On day trip ด้วย

การเข้ามาของ “เส้นทางท่องเที่ยววิถีชุมชน ปลอดเหล้าปลอดภัย” ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ป้าพินเล่าว่า เริ่มต้นจากคุณวิญญู ศรีศุภโชค ได้นำนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผ่านการงานท่องเที่ยวปลอดภัย วัฒนธรรมสร้างสุขมา แวะที่ชุมชนหนองสองห้อง แล้วก็ไปต่อสถานที่ใกล้ แบบวันเดียวจบ ได้แวะเที่ยวชมสวนลำไย ซึ่งลำไยกำลังออกผลผลิตพอดี โดยสิ่งที่นักท่องเที่ยวต่างชาติสนใจมากที่สุด คือ “มะพร้าว” โดยสนใจวิธีการกว่าจะได้กินใน 1 ลูกนั้น มีกระบวนการอย่างไรบ้าง ซึ่งมีขั้นตอน และต้องใช้เวลารอ นอกจากนี้ก็จะมีอาหารท้องถิ่นในชุมชน

อาหารจากชุมชน
แต่! ผัดกระเพรา
เมนูยอดฮิตที่ฝรั่งสนใจ

ที่ชุมชนหนองสองห้อง ถือว่าเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เป็นพ่อครัวแม่ครัวทำการปรุงเมนูผัดกระเพรากันเองอย่างสนุกสนาน และก็สามารถกินได้จากที่เราปรุงกันเอง ซึ่งทำให้มีความน่าสนใจและชื่นชอบ แต่ก็ยังมีเมนูอื่นๆ ถ้าอยากจะทำหรือชอบเมนูอะไรก็หามาปรุงได้ นอกจากนี้ยังมีสินค้าชุมชนที่เป็นผลิตจากเกษตรกรรม นำมาแปรรูป วุ้นลำไย วุ้นกะทิ วุ้นกะทิแป้งเปล่า และเมื่อฤดูกาลของกล้วยไข่ ก็จะมีกล้วยไข่แปรรูป

หากการประยุกต์ทางด้านอาหารแบบฟิวชั่น ทั้งรสชาดและวัตถุดิบจากท้องถิ่น ทั้งอาหารหวานและอาหารคาว ที่นี่ก็มี แกงเขียวหวานกล้วยไข่ อีกเมนูก็คือ แกงเขียวหวานกุ้งใส่ลำไย ทำเอาหิวและอยากลิ้มลองเมนูที่นี่สักครั้ง

จากชุมชนถึงคน
ที่จะเป็นหัวใจเพชร

“ป้าพิน” เท้าความการขับเคลื่อนงานในจังหวัดสมุทรสาคร สิ่งที่ได้สัมผัสกับคนที่มีอาการจากสุรา ทำให้เราได้เข้าใจชีวิต เริ่มแรกของเขาอาจจะพลาดไป ที่นี่มีเคสถึงแบบว่าไปดื่มจนแบบหัวราน้ำ จนกระทั่งได้ทำโครงการงดเหล้า และขับเคลื่อนงานในชุมชนกับภาคีที่เกี่ยวข้อง เสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมหลายคนก็ลองเข้าร่วมโครงการ และลองปรับตัว พบว่าผู้เข้าร่วมสามารถที่จะมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ปัญหาที่พบนั้นมีมากมาย เงินทองไม่มีเ มากันหัวลาน้ำ ครอบครัวแตกแยก ยกตัวอย่างลุงยอม (นายพยอม รักษา) คนหัวใจเพชรชุมชนหนองสองห้อง ตอนนี้ก็สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากที่ต้องนำเงินไปซื้อสุรา เริ่มเก็บเงินมาปลูกบ้านและใช้ชีวิตแบบพอเพียง

หลังจากนั้นลุงยอมก็ไปชักชวนคนอื่นๆเข้ามาทำกิจกรรมกับเครือข่ายงดเหล้าจังหวัดสมุทรสาคร ทางเครือข่ายก็ประคับประคอง  ค่อยๆปรับพฤติกรรม และติดตามผล ไม่ได้ทิ้งหรือปล่อยให้ไปใช้ชีวิตเอง ซึ่งหากไม่ติดตามผล ผู้เข้าร่วมอาจจะหันกลับไปดื่มอีก ซึ่งการติดตามผล ก็เหมือนการไปเยี่ยม ทำให้เขามีกำลังใจที่จะลด ละ เลิก เหล้าต่อ และประเมินอาการของแต่ละคนเป็นรายๆไป และเมื่อเข้าสู่กระบวนการคนหัวใจเพชรแล้ว ก็จะขยายผลมาสู่การสร้างอาชีพของคนหัวใจเพชรตามที่ได้กล่าวถึงในบทความข้างต้น

ถึงแม้ว่าการทำงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งจังหวัดสมุทรสาครเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม มีการแพร่ระบาดที่รุนแรง คณะทำงานจังหวัดสมุทรสาครก็มีวิธีกี่ปรับลงพื้นที่เท่าที่จำเป็น ใช้เครื่องมือสื่อสารกันมากขึ้น แม้หลายคนจะไม่ถนัดเรื่องเทคโนโลยีก็ตาม ก็ยังให้คนรุ่นใหม่ที่เข้าใจการใช้งาน อย่าง ลูกหลาน เข้ามาช่วยเรื่องการประชุมผ่านโปรแกรม ZOOM หรือใช้เทคโนโลยีที่ไม่ยุ่งยากมากนักในการทำงาน เช่น วีดีโอคอล เพื่อไม่ให้งานชะงัก แม้จะเดินได้ช้าแต่จะไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ทำให้เครื่องมือในการทำงานของชุมชนคนสู้เหล้าและชมรมคนหัวใจเพชรในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กลายเป็นเครื่องมือหลักในการทำงาน

นอกจากในส่วนของชุมชนหนองสองห้อง อำเภอบ้านแพ้วแล้ว ในส่วนของพื้นที่อื่นๆของสมุทรสาคร ก็มีการเชื่อมโยงชุมชนอื่น เชิญชวนการทำงานกัน โดยเฉพาะอำเภอเมือง และทางฝั่งโซนทะเล ก็จะมีสินค้าชุมชนเป็นกะปิ นอกจากนี้สมุทรสาครยังมีนาเกลือที่ขึ้นชื่อ หลายภาคส่วนของของจังหวัดและทางภาคี ก็มีการสนันสนุนการอนุรักษ์อาชีพทำนาเกลือไว้ให้เป็นที่เรียนรู้กับคนทั้งในจังหวัด และผู้ที่สนใจ รวมถึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้การทำนาเกลือ ที่สามารถสร้างเส้นทางท่องเที่ยวได้

นักสื่อสารสุขภาวะดิจิทัล