เรื่องและภาพโดย ศุภกิตติ์ คุณา
หากพูดถึง “ประเพณีการแข่งเรือ” หรือเทศกาลแข่งเรือยาว เป็นวิถีชีวิตความผูกพันแห่งสายน้ำ และความเป็นอยู่ของชาวไทยในชนบท ถิ่นที่อยู่อาศัยใกล้แม่น้ำ ประเพณีแข่งเรือนั้น ปัจจุบันในประเทศไทยสามารถรับชมได้ตามชุมชนลุ่มน้ำของไทย ในบางพื้นที่จัดให้มีการแข่งขันการแข่งเรือจนกลายเป็นประเพณีสืบทอดกันมาแต่ยาวนาน
ขึ้นเหนือไปที่เมืองน่าน ประเพณีการแข่งเรือชาวเมืองน่านนั้น สภาวัฒนธรรมจังหวัดน่าน ได้ระบุว่า การแข่งเรือของจังหวัดน่านมีความผูกพันกับ “พญานาค” โดยมีความเชื่อที่ว่า พญานาคจะปกป้องคุ้มครองโบราณสถาน วัดวาอารามและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพสักการะ จึงขุดเรือยาวและตกแต่งหัวเรือและหางเรือตลอดจนลำเรือให้มีลักษณะคล้ายพญานาค ปีไหนมีภาวะฝนแล้ว ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล บรรพบุรุษชาวน่านก็จะนำเรือแข่งไปพายแข่งกัน ซึ่งเปรียบเสมือนกับพญานาคกำลังเล่นน้ำ เพื่อขอฝนและก็เป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง เพราะว่าหลังจากนั้นฝนก็ตกลงมาจริงๆ
ประเพณีแข่งเรือหัวพญานาคที่จังหวัดน่าน จะจัดขึ้นกันหลายอำเภอ แต่ที่จังหวัดน่านมีเอกลักษณ์ที่แต่งต่างกับพื้นที่อื่นคือ เรือที่นำมาแข่งขันนั้นเป็นเรือลักษณะเป็นหัวพญานาค หรือเรียกว่า “หัวโอ้” เป็นโอกาสอันดีที่ทางพวกเราได้ลงพื้นที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นหนึ่งในสนามแข่งเรือที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดน่าน
แข่งเรือเมืองน่าน มีประวัติมาตั้งแต่เมื่อไหร่?
อาจารย์สง่า อินยา ปัจจุบันเป็นอุปนายกสมาคมเรือแข่งจังหวัดน่าน และรองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดน่าน ได้เล่าความเป็นมาให้กับพวกเราว่า จากการที่สืบค้นตามผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งหลายท่าน ก็บอกว่า ตั้งแต่ท่านเกิดมา ท่านก็เห็นการแข่งเรืออย่างนี้มาตลอด ดังนั้นจึงไม่สามารถทราบแน่ชัดว่าได้ว่า การแข่งเรือเมืองน่านเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไร ก็ไม่ปรากฏหลักฐานบอกไว้ จากการบันทึกในประวัติศาสตร์เมืองน่าน จากหลักฐานการบันทึกเขียนไว้ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 5 ท่านย้ายเมืองจากเมืองปัว เมืองวรนคร ไปสู่เมืองน่านในปีนั้น พ.ศ.1902 พระยาการเมือง เจ้าเมืองวรนคร เมืองปัว ได้ใช้เรืออพยพขนย้ายผู้คนล่องมาตามลำน้ำน่านเพื่อสร้างเมืองใหม่ที่เมืองภูเพียง แช่แห้ง มาจากแม่น้ำน่าน ก็เลยเกิดว่าน่าจะต้องมีเรือแข่งกันขึ้นมา ทุกคนก็เลยมองไปที่เรือแข่งสร้างเรือแข่งขึ้นมา
ภาพจาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน
ถ้าจากเอกสารอ้างอิงประวัติศาสตร์ที่ได้กล่าวถึง “นครน่าน” ซึ่งเป็นเมืองนครรัฐที่เมืองต่างๆ เข้ามาสวามิภักดิ์ถึง 57 เมือง โดยมีเจ้าผู้ครองนครสืบราชวงศ์ติดต่อกันถึง 64 พระองค์ นับตั้งแต่ราชวงศ์ภูคาเป็นปฐมสันตติวงศ์จนถึงราชวงศ์เติ๋นมหาวงศ์ ต้นตระกูล ณ น่าน เป็นราชวงศ์สุดท้าย ไม่เป็นที่ปรากฏแน่ชัดว่า เป็นเจ้าผู้ครองนครพระองค์ใด มีรับสั่งให้บรรดาเสนาอำมาตย์ทหารข้าราชบริพารไปตัดต้นตะเคียนที่ป่าขุนห้วยสมุน ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำที่อยู่ห่างจากอำเภอเมืองน่าน ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 30 กิโลเมตร ซึ่งเป็นต้นตะเคียนที่มีขนาดใหญ่มาก ว่ากันว่าถึงขนาดตอของต้นตะเคียนนั้น สามารถวางโก๊ะข้าว (สำรับข้าวสำหรับคนเหนือ) ได้ถึง 100 โก๊ะ ขุดรากตัดแล้ว ประชาชนต่างก็ช่วยกันชักลากออกมาจากป่า
จากนั้นก็ลากเอาไม้ดังกล่าวนั้น ล่องมาเรื่อยๆจนถึงแม่น้ำน่านระยะทาง 30 กิโลเมตร เกิดเป็นรอยลากเป็นร่องน้ำขึ้นมา คือ แม่น้ำสมุน ในอำเภอเมืองน่านปัจจุบันนี้ และนำไม้ตะเคียน 1 ต้นมาขุด ได้ 2 ลำ ตกแต่งเป็นเรือแข่งเมืองน่าน ตั้งชื่อว่า “เรือท้ายหล้า-ตาตอง” คำว่า ท้ายหล้า หมายถึง เรือที่ท้ายเรือยังทำไม่เสร็จ ตาตอง หมายถึง เรือที่มีตาทำด้วยทองเหลืองหรืออีกความหมายหนึ่ง คือมีตาของไม้ที่นำมาขุดเรือเป็นสีทองเหลือง เจ้าผู้ครองนครน่าน เลยประกาศให้เป็นรูปแบบของเรือเมืองน่าน โดยมีหัวเป็นพญานาค และหางเป็นหงส์ ตั้งแต่นั้นเป็นมาคนเมืองน่านก็สร้างเรือ เป็นแบบเรือแข่ง โดยปรากฏเป็นหลักฐานได้บันทึกไว้ตามฝาผนังวัดต่าง เช่น วัดภูมินทร์
การจัดแข่งเรือประเพณีจังหวัดน่าน ปรากฏหลักฐานอ้างอิงได้ ตั้งแต่ พ.ศ.2460 เมื่อครั้งสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตฯ เสด็จตรวจราชการเมืองน่าน เจ้าผู้ครองนครน่านพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้านายฝ่ายเหนือและข้าราชการประจำเมืองจัดให้มีการแข่งขันเรือประเพณีให้ทอดพระเนตร เจ้ามหาพรหมสุรธาดาเจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย เมื่อดำรงตำแหน่งเจ้าอุปราชพร้อมด้วยเจ้านายฝ่ายเหนือได้ลงไปฟ้อนในเรือลำที่ชนะเลิศด้วย หลังจากนั้นผู้ปกครองน่านในยุคต่อๆ มาได้สืบสานประเพณีการแข่งเรือนี้ซึ่งมีวิวัฒนาการและมีผู้มีส่วนร่วมสนับสนุนและเพิ่มความสำคัญของการแข่งขันจนเป็นประเพณียิ่งใหญ่และเป็นเทศกาลสำคัญระดับชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณและพระกรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมวงศานุวงศ์ พระราชทานถ้วยรางวัลการแข่งขันทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ เรือใหญ่ เรือกลาง และเรือเล็ก นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาวจังหวัดน่านอย่างยิ่ง
ประเภทการแข่งเรือที่เมืองน่าน
ในสมัยก่อนการแข่งเรือนั้น มีประเภทเรือเล็ก ที่นั่งไม่เกิน 30 ฝีพาย, เรือกลาง 40 ฝีพายและเรือใหญ่ไม่เกิน 55 ฝีพาย โดยมีการปรับไปตามยุคสมัย เมื่อทุกคนอยากต้องการเอาชนะ ทำให้พื้นที่ของตัวเรือมีการปรับหัวเรือเล็กลงและน้ำหนักเบา จึงเกิดปัญหาขึ้น ทำให้ผู้ใหญ่ไม่ยอมไปนั่งแข่งเรือ หากไปนั่งแข่งเรือก็จะแพ้เด็ก และสู้เด็กไม่ไหว เพราะเด็กนั้นมีการฝึกซ้อม 2-3 เดือน ที่สนามแข่งเรือ อ.ท่าวังผา เลยสร้างขึ้นมาอีกสนาม คือ เรือเล็กเอกลักษณ์น่าน คือนั่ง 30 ฝีพาย แต่เอาเฉพาะผู้ใหญ่ที่อายุ 45 ปี ขึ้นไป มาแข่งกัน ปรากฏว่าเป็นที่ชื่นชอบ ชาวบ้านดูกันเต็มสองฝั่ง เพราะว่าเป็นเฉพาะผู้ใหญ่แข่งกัน ลูกหลานที่อยู่ทางกรุงเทพฯก็จะกลับบ้านเพื่อมาดู ส่วนลูกหลานอยู่แถวนี้ก็พากันมาดูมาดูพ่อแม่เข้าแข่งขัน กลายเป็นสถานที่ที่รวมคนได้มากที่สุดอีกสนาม แล้วก็เขาชื่นชมก็เพราะตรงนี้ล่ะครับเพราะว่าตรงนี้ต่อไปน่าจะเอาผู้ใหญ่ที่อายุ 45 ปีนี้มาแข่งกันโดยไม่มีเด็ก
ส่วนการแข่งขันของเด็กนั้น ก็มีแนวทางประเภทเด็ก เราก็มีประเภทผู้สูงวัยอายุ 45 ปีขึ้นไป ก็เลยกลายเป็นเรื่องเอกลักษณ์น่าน เรือโบราณ เรือเร็ว ถ้าหากไม่คุมเรื่องหัวเรือ ไม่มีควบคุม หรือกำหนดเอกลักษณ์ของเรือ ก็เรียกว่า เรือโอเพ่น ก็คือเอาตามความอิสระ ส่วนการแข่งขันเรือหัวพญานาค ก็จะมีเอกลักษณ์ที่บังคับเกี่ยวกับเรือ หัวเรือจะต้องใหญ่เท่าไหร่ ขนาดไหนบ้าง ลำเรือต้องเป็นลักษณะแบบนี้ ส่วนเรือโบราณจะต้องเป็นตามลักษณะที่กำหนดขึ้นมา ก็เลยทำให้เรือที่เป็นโบราณกลับหวนฟื้นคืนมา ส่วนเรือหัวเล็กที่ไม่ใช่เอกลักษณ์ก็เลยจะค่อยๆหายไป
เรือแข่งเมืองน่าน อายุร่วม 200 ปี
ประวัติศาสตร์ที่ยาวนานร่วม 200 กว่าปี สิ่งที่เห็นชัดเจน ณ ตอนนี้ อาจารย์สง่า อินยา เล่าต่อเรื่องราวเรือที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด ปัจจุบันยังทำการแข่งขันได้อันดับ 1 คือ “เรือเสือเฒ่าท่าล้อ” บ้านท่าล้อ อำเภอภูเพียง (ปี 2566) อายุ 207 ปี ซึ่งยังสามารถใช้แข่งได้ ถัดมาอันดับ 2 คือ “เสือเฒ่าบุญเรือง” บ้านบุญเรือง อำเภอเวียงสา เป็นเรือที่มีอายุเก่าแก่ของจังหวัดน่าน ปัจจุบัน (ปี 2566) มีอายุ 186 ปี เรือลำนี้ขุดเมื่อปี พ.ศ.2380 โดยพระอธิการธนะวงค์ หรือครูบาธนะวงค์ เจ้าอาวาสวัดบุญเรือง (หรือวัดห้วยบงในสมัยนั้น) ขุดด้วยไม้ตะเคียนทองที่บริเวณป่าขุนแม่น้ำมวบ บ้านน้ำมวบ อ.เวียงสา เดิมชื่อ “เจ้าแม่บัวเขียว”, “บัวเรียว”, “บัวลอย” เป็นเรือที่สวยงามและมีความเร็วจนหาคู่แข่งได้ยากในสมัยนั้น เรือที่เก่าแก่อันดับ 3 คือ “เรือคำแดงเทวี (นางดู่งาม)” บ้านนาเตา อำเภอท่าวังผา เรือคำแดงเทวี เป็นเรือไม้ประดู่อยู่ที่บ้านนาเตา อำเภอท่าวังผา อายุ 176 ปี และถัดมาอันดับ 4 คือ “เรือแม่คำปิ๋ว” บ้านนาหนุน อายุ 140 ปี และเรือเล็กเอกลักษณ์น่าน “เรือนางพญาคำปิ๋ว” บ้านดอนแก้ว อำเภอท่าวังผา อายุ 97 ปี
พญานาค กับความเชื่อประเพณีแข่งเรือจังหวัดน่าน
เมื่อ “พญานาค” เป็นตัวแทนของความชุ่มชื้นเป็นตัวแทนของความชุ่มเย็น เป็นผู้บันดาลให้ฝนตก ให้น้ำ เมื่อชาวไร่ชาวนาไม่มีน้ำทำเกษตรกรรมไม่มีฝนฟ้าคะนองหรือไม่มีน้ำทำนา ก็จะเอาเรือลงไปเล่นน้ำเอาไปแข่งกันเหมือนกับว่าขอฝนมันเป็นที่อัศจรรย์ ถ้าเอาลงเรือแข่งกันเมื่อไหร่ ฝนจะตกลงมา เล่ากันว่าที่จังหวัดน่านหากต้องการฝนแล้วเอาพญานาคไปเล่นน้ำแล้ว ฝนก็จะตกลงมาจริงๆ อย่างเช่นการแข่งเรือทุกวันนี้ก็จะมีฝนตกลงมาด้วย ถ้าต้องการน้ำฝนตกแล้วก็ต้องใช้เรือหัวพญานาคลงแข่งขัน หากหัวเรือเป็นหัวอย่างอื่น จะไม่ให้เข้าร่วมแข่งขัน ฉะนั้นจึงต้องเป็นหัวพญานาคเพียงอย่างเดียว
การแข่งเรือหัวพญานาค โดยเฉพาะที่อำเภอท่าวังผา ไม่มีใครทราบเหมือนกันว่าเริ่มต้นการแข่งขันครั้งแรกเมื่อไหร่ จนถึงปี พ.ศ.2518 ต้องหยุดการแข่งขันไป เพราะว่าการแข่งขันได้สร้างปัญหาทำให้คนแตกแยกกัน จึงมีการหยุดแข่งขันไปหยุดไปประมาณ 7 ปี และต่อมาในปี พ.ศ. 2525 นายอำเภอ กำนันผู้ใหญ่บ้าน ได้ช่วยกันฟื้นฟูประเพณีการแข่งเรือหัวพญานาคขึ้นมาใหม่ และนำเอากติกาของกรมพลศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มาเป็นกติกาหลัก มีการถ่ายทำวีดีโอในการตัดสินหน้าเส้นชัย ลดการเกิดปัญหา และเป็นสิ่งที่ดี จากนั้นไม่มีปัญหาเกิดขึ้นเลยกลายเป็นวัฒนธรรมเป็นประเพณีที่ดีงามทำการแข่งเรือเรียกว่า “ประเพณีแข่งเรือพญานาคจังหวัดน่าน“
ในยุคสมัยนี้ อาจารย์สง่าให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับเราว่า การใช้คำว่า การแข่งเรือพญานาคจังหวัดน่าน ในสถานที่ต่างๆจะต่อเติมท้ายชื่องานด้วยชื่อพื้นที่นั้น เช่น การแข่งเรือพญานาค อำเภอท่าวังผา เป็นต้น นักท่องเที่ยวเริ่มให้ความนิยทเข้ามาชมประเพณีแข่งเรือหัวพญานาคมากขึ้นเรื่อยๆ
“คนน่านภูมิใจ๋ แข่งเฮือยิ่งใหญ่ บ่มีเหล้าเบียร์”
ประเพณีแข่งเรือที่จังหวัดน่าน จึงเป็นที่ชื่นชมของชาวจังหวัดน่าน และเป็นที่ชื่นชมของบุคคลทั่วไปว่า ไม่มีกิจกรรมใดที่จะยิ่งใหญ่กว่าการแข่งเรือและมีคนมารวมตัวกันมากกว่าการแข่งกีฬาชนิดอื่น ดังนั้นจึงเป็นที่ภาคภูมิใจในการแข่งเรือเมืองน่าน และกลายเป็นการแข่งเรือปลอดเหล้า ซึ่งไม่มีใครเชื่อว่าแข่งเรือจะต้องไม่กินเหล้า แต่ที่เมืองน่านสามารถทำให้เห็นแล้วว่าเป็นการแข่งเรือปลอดเหล้า ดั่งงานที่สนามแข่งขัน อ.ท่าวังผา เรียกว่า การแข่งเรือปลอดเหล้า เข้าหาพระธรรม สนามแข่งเรือแห่งนี้ ก็จะมีพระสงฆ์มาอนุโมทนาสาธุด้วย
การแข่งเรือปลอดเหล้า ที่ จ.น่าน เห็นความชัดเจนเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างในพื้นที่ สมัยก่อนถ้ามีประเพณีแข่งเรือ โรงพยาบาลน่าน และโรงพยาบาลท่าวังผา จะต้องรวบรวมหมอ รวบรวมพยาบาลเต็มอัตราศึก เพราะจะเกิดการทะเลาะวิวาท ชกต่อยกัน และเกิดอุบัติเหตุ หามเข้าโรงพยาบาลกันตลอดเลย หลักจากที่ การแข่งเรือปลอดเหล้าแทบจะไม่ต้องเตรียมอะไร หากถามว่ามันมีการปลอดเหล้าจริงไหม ปัจจุบันต้องบอกได้เลยว่า ถึงไม่มีโครงการปลอดเหล้า ประเพณีแข่งเรือที่นี่ก็แข่งขันกันแบบไม่มีเหล้ากันได้ กลายเป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของจังหวัดน่านในการแข่งเรือปลอดเหล้า ซึ่งเป็นที่มาของว่า “คนน่านภูมิใจ๋แข่งเฮือยิ่งใหญ่บ่มีเหล้าเบียร์” ซึ่งหมายถึง คนจังหวัดน่านภาคภูมิใจ งานประเพณีแข่งเรือที่ยิ่งใหญ่ ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
Reference
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน, คลังข้อมูลภาพเก่า https://www.finearts.go.th
- อาจารย์ราเชนทร์ กาบคำ นายกสมาคมเรือแข่งจังหวัดน่าน
- บทสัมภาษณ์ อาจารย์สง่า อินยา อุปนายกสมาคมเรือแข่งจังหวัดน่าน โดย ศุภกิตติ์ คุณา, แข่งเรือเอกลักษณ์หัวพญานาค อ.ท่าวังผา พ.ศ.2563
- สภาวัฒนธรรมจังหวัดน่าน, ประเพณีท้องถิ่น