ตรุษจีน-วันเฉลิมฉลองฤดูใบไม้ผลิและความสุขใหม่

วันตรุษจีน หรือ วันขึ้นปีใหม่ของจีน (Chinese New Year) เปรียบเสมือนมหกรรมเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวจีน เทศกาลนี้สืบทอดมายาวนานนับพันปี แม้จะไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด แต่เชื่อกันว่ามีรากฐานมาตั้งแต่โบราณ

จุดเริ่มต้นของตรุษจีนมีความเกี่ยวข้องกับฤดูใบไม้ผลิ เป็นการเฉลิมฉลองหลังจากผ่านพ้นฤดูหนาวอันโหดร้าย ที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้ เมื่อฤดูใบไม้ผลิมาถึง ก็เปรียบเสมือนการเริ่มต้นใหม่ เป็นช่วงเวลาแห่งความหวังและความอุดมสมบูรณ์ ในส่วนของประเพณีตรุษจีนจะเต็มไปด้วยสีสันและประเพณีอันงดงาม ผู้คนจะทำความสะอาดบ้าน เตรียมอาหารมื้อพิเศษ ขนมไหว้ และซองอั่งเปา เพื่อมอบให้แก่ญาติผู้ใหญ่และเด็กๆ ทั้งนี้ตรุษจีน จึงเป็นช่วงเวลาแห่งการพบปะสังสรรค์ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เป็นการขอพรจากเทพเจ้าเพื่อความสุข ความสำเร็จ และความเจริญรุ่งเรือง

เรามักจะได้ยินประโยคอวยพรกันในวันตรุษจีนมากที่สุดอย่าง “ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ (新正如意 新年发财)” ข้อมูลจากวิภา จิรภาไพศาล เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม ระบุว่า เป็นการออกเสียงตามภาษาแต้จิ๋ว แปลว่า “เดือนอ้ายสมปรารถนา ปีใหม่เจริญด้วยทรัพย์สิน” หรือบางคนจะพูดแค่ “ซินเจี่ยยู่อี่-เดือนอ้ายสมปรารถนา” ก็ใช้ได้ นั่นเป็นเหตุที่ทำไมในเทศกาลตรุษจีน ใครๆ จึงอวยพรกันว่า “ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้” ตามธรรมเนียม เมื่อได้รับคำอวยพรแล้ว ต้องอวยพรกลับไป หรือจะต้องตอบกลับว่า “ตั่งตั๊ง-เช่นเดียวกัน” ที่เป็นการพูดย่อๆ เพื่อบอกผู้ที่อวยพรให้ว่า “ให้พรนี้สัมฤทธิ์ผลกับคุณ เช่นเดียวกัน” จะตอบว่า “ขอบคุณ” เหมือนเวลามีใครทำอะไรให้ไม่ได้ คนอวยพรจะตำหนิในใจได้

ในประเทศไทยชาวไทยเชื้อสายจีน มีบทบาทสำคัญในสังคมมายาวนาน ประเพณีตรุษจีนจึงได้รับการสืบทอดและผสมผสานกับวัฒนธรรมไทย “ย่านเยาวราช” เป็นย่านเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่รู้จักกันมานาน ซึ่งเป็นย่านการค้าของชุมชนชาวจีนที่ได้รับความนิยมมากจากทั้งคนไทยและคนจีนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ โดยการเฉลิมฉลองวันตรุษจีน ซึ่งโดยตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมา จะมีการเฉลิมฉลองตรุษจีนยาวนานถึง 15 วัน โดยในประเทศไทยจะมี 3 วันสำคัญ คือ วันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว

  • วันจ่ายตรุษจีน จะตรงกับวันก่อนสิ้นปี ชาวไทยเชื้อสายจีนจะออกไปจับจ่ายซื้อเครื่องเซ่นไหว้ รวมถึง ซื้ออาหาร ผลไม้ เพื่อเตรียมสำหรับพิธีการไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษ ในปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งวันจ่ายก็มีความหมายทางตรงก็คือ ออกไปจ่ายซื้อของ
  • วันไหว้ตรุษจีน จะแบ่งเป็นช่วงเวลา คือในตอนเช้ามืด จะเริ่มพิธีการไหว้ “ไป๊เล่าเอี๊ยะ” ซึ่งเป็นการไหว้เทพเจ้าต่าง  มีเครื่องประกอบการไหว้ คือ เนื้อสัตว์สามอย่าง ได้แก่ หมู เป็ด และไก่ อาจะเพิ่มตับ และปลาก็จะเป็นเนื้อสัตว์ห้า อย่าง ร่วมกับเหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง ช่วงสาย จะทำพิธีการไหว้  เป็นการไหว้ “ไป๊เป้บ๊อ” หรือการไหว้บรรพบุรุษ พ่อแม่ หรือญาติพี่น้องที่ล่วงลับ โดยใช้อาหารคาวหวาน หรือจะทำตามสิ่งที่ผู้ล่วงลับชอบรับประทาน รวมถึงมีการเผากระดาษเงินกระดาษทอง เพื่อเป็นการอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ ซึ่งในการไหว้ครั้งนี้จะใช้เวลาไม่เกินเที่ยง และในช่วงบ่าย จะทำพิธีการไหว้ “ไป๊ฮ้อเฮียตี๋” เป็นการไหว้ผีพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยใช้ ขนมเข่ง ขนมเทียน เผือกเชื่อมน้ำตาล เป็นเครื่องไหว้ และเผากระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมทั้งมีการจุดประทัดเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย
  • วันเที่ยว หรือ “วันขึ้นปีใหม่” ตามปฏิทินจันทรคติจีน ตรงกับวันที่ 1 เดือน 1 เป็นวันที่มีการทำกิจกรรมที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาในวันนี้คือ การขอพรและไหว้ผู้ใหญ่ ไปเที่ยว หรือกินอาหารร่วมกับคนในครอบครัว และเป็นวันที่มีสิริมงคล ให้งดการทำบาป และแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สดใส  โดยเฉพาะสีแดง ซึ่งเป็นสีมงคล

อั่งเปา คือ ซองสีแดง คำว่า “อั่ง” ในภาษาจีนแปลว่า สีแดง ซึ่งเป็นสีแทนสัญลักษณ์ความเป็นมงคล ความมีชีวิตชีวา ความโชคดีของชาวจีน เป็นสีประจำชาติ เราจะเห็นว่าในเทศกาลต่างๆ ชาวจีนจะนิยมใช้สีแดงกัน ส่วนคำว่า “เปา” ในภาษาจีนแปลว่า ของหรือกระเป๋า จึงเป็นที่มาของคำว่า อั่งเปา ซึ่งเป็นชื่อเรียกของสิ่งของมงคลที่นิยมให้ตามเทศกาลต่างๆ ของจีนที่มีความหมายถึงซองแดงนั่นเอง

แต๊ะเอีย หมายถึงเงินหรือของที่อยู่ภายในซอง คำว่า “แต๊ะ” ในภาษาจีนแปลว่า ทับ หรือกด และ “เอีย” ในภาษาจีนแปลว่า เอว เมื่อรวมกันจะแปลว่าของที่ถูกกดหรือทับเอว ในสมัยก่อนเหรียญของชาวจีนนั้นเป็นวงกลม ที่มีรูตรงกลาง เวลาเก็บก็มักจะร้อยด้วยเชือกแล้วเอาคาดเอวเอาไว้เวลาพกไว้กับตัว ดังนั้นแล้ว แต๊ะเอียหมายถึงเงินหรือของที่อยู่ด้านในซอง

ตรุษจีนไชน่าทาวน์ เยาวราช ถือเป็นอีก Landmark สำคัญของเทศกาลตรุษจีนในประเทศไทย โดยเฉพาะคนเมืองกรุง ด้วยเหตุผลผู้เขียนเองที่ต้องการค้นคว้า “ภูมิหลังของตรุษจีนเยาวราช” จึงเป็นที่มาของการค้นคว้าแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งจากบทคัดย่อข้อมูลเรื่อง เทศกาลตรุษจีนเยาวราช : ภูมิหลังและพัฒนาการ โดย แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย และ ฤทธิชัย เตชะมหัทธนันท์ ระบุว่าพัฒนาการของเทศกาลตรุษจีนเยาวราช ของสังคมไทย ในหลายบริบท ทั้งการเมือง เศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม ซึ่งแต่ละบริบทมีความสัมพันธ์กันอย่าง ใกล้ชิด เฉพาะในงานวิจัยนี้เน้นศึกษาตั้งแต่ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นเพราะเกี่ยวข้องกับความเป็นชุมชนจีนสำเพ็งยุคสร้างกรุงเทพฯ ที่ต่อเนื่องมาถึงย่านเยาวราชอันก่อรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้เยาวราชเป็นย่านการค้าที่สำคัญที่สุดและสะท้อนความมีตัวตนของชาวจีนที่เด่นชัดทั้งที่เป็นวิถีชีวิต คติความเชื่อ ศิลปะ ประเพณี หรือลักษณะทางกายภาพไม่ว่าตึกรามบ้านช่อง แผ่นป้ายโฆษณาภาษาจีน ตลอดสองฝั่งถนน

เยาวราชจึงได้รับการเรียกขานอีกชื่อหนึ่งว่าไชน่าทาวน์เมืองไทย จากบันทึกใน เอกสารสมัยรัชกาลที่ 5 กล่าวถึง บรรยากาศเทศกาลตรุษจีนที่มีความคึกคักอยู่ไม่น้อย แต่หลังสิ้นสุด สงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าสู่ช่วงสงครามเย็น เทศกาลตรุษจีนในย่านเยาวราชจึงดำเนินไปอย่างเงียบๆ ในหมู่ครอบครัวและเครือญาติ เพราะไม่ประสงค์จัดงานให้โดดเด่นจนเป็นที่เพ่งเล็งของเจ้าหน้าที่ บ้านเมือง จนในช่วงทศวรรษที่ 2530 เป็นต้นมา

รัฐบาลเริ่มมีนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยว ประชาคมเยาวราชและหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร จึงดําริที่จะจัดเทศกาลตรุษจีนเยาวราชเพื่อช่วย กระตุ้นเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมี ส่วนทำให้เทศกาลตรุษจีนเยาวราชมีชื่อเสียงอย่างมีคุณค่าในระดับนานาชาติ ที่น่าสนใจคือเกิดการ สร้างสรรค์แบบแผนการจัดเทศกาลตรุษจีนที่ไม่เหมือนที่ใดในโลก ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2530 จนถึง ปัจจุบัน

นอกจากเยาวราชที่กรุงเทพแล้ว วันตรุษจีนต่างจังหวัดก็คึกคักไม่แพ้กัน อย่างจังหวัดนครสวรรค์ เป็นอีกจังหวัดที่มีชื่อเสียงลือนามเรื่องการสืบสานงานประเพณี แห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ ซึ่งเป็นการแสดง สิงโตหรือมังกร ในเทศกาลตรุษจีนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีการแสดงมังกรของคณะ “มังกรทอง นครสวรรค์” ที่เป็นคณะแรกในประเทศไทย มีอายุยาวนานกว่า 60 ปี

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนสุขภาพ (สสส.) แนะนำหลัก 4 ล. “เลือก ล้าง เลี่ยง ลด” สุขภาพดีรับเทศกาลตรุษจีน คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยยึดหลัก 4 ล. ลดเสี่ยง เลี่ยงมลพิษวันตรุษจีน

  1. ลดเวลาจุดธูป ดับให้เร็วขึ้น ฝุ่นเข้าร่างกาย สวมหน้ากากอนามัยป้องกัน
  2. เลือกธูปสั้น จะเกิดควันน้อยกว่าธูปยาว กระดาษเงินกระดาษทองมีฉลาก วิธีใช้ คำเตือนครบถ้วน
  3. เลี่ยงจุดธูป เผากระดาษในที่อากาศไม่ถ่ายเท เลี่ยงจุดธูปใกล้อาหาร ป้องกันขี้เถ้าลงอาหาร น้ำดื่ม
  4. ล้างใบหน้า และมือเมื่อเสร็จพิธี เก็บกวาดก้านธูป ขี้เถ้าไม่ให้ฟุ้งกระจาย
  1. ห้ามสระผมหรือตัดผม เนื่องจากคำว่า “ผม” พ้องเสียงและพ้องรูปกับคำว่า “มั่งคั่ง” ดังนั้น การสระหรือตัดผมในวันตรุษจีน มีความหมายว่า การนำความมั่งคั่งออกไป
  2. ห้ามพูดคำหยาบและทะเลาะ คนจีนจะงดพูดคำหยาบและสิ่งที่ไม่ดี รวมถึงพูดเรื่องความตายหรือผี เพราะเชื่อว่า และจะนำความโชคร้ายมาให้ทั้งปี
  3. ห้ามกินโจ๊กและเนื้อสัตว์ ในสมัยก่อนคนจนมักจะกินโจ๊กในตอนเช้า ดังนั้น การกินโจ๊กในตอนเช้าของวันตรุษจีน เหมือนกับการขัดขวางความร่ำรวย ขัดลาภ ขัดโชคจึงไม่ควรกินโจ๊กในเช้าของวันตรุษจีน ตลอดจนรวมถึงไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยเนื่องจากเชื่อว่า เทพเจ้าที่ลงมาในตอนเช้าของวันตรุษจีนนั้นจะกินแต่มังสวิรัติ
  4. ห้ามซักผ้าในวันตรุษจีน คนจีนเชื่อว่า เทพเจ้าแห่งน้ำ เกิดในวันตรุษจีน ดังนั้น การซักผ้าในวันตรุษจีนเปรียบเสมือนการลบหลู่ท่าน
  5. ห้ามใส่ชุดขาวดำ เสื้อผ้าที่เป็นสีขาวดำ เป็นสัญลักษณ์ของความตาย ดังนั้นการใส่เสื้อผ้าสีขาวดำ หมายถึง ลางร้าย โดยคนจีนจะนิยมใส่เสื้อผ้าสีแดง เพราะเชื่อว่า สีแดง คือ สีแห่งความโชคดี
  6. ห้ามให้ยืมเงิน คนจีนเชื่อว่า การยืมเงินในวันนี้ จะทำให้ทั้งปีมีคนเข้ามาขอยืมเงินตลอด และถ้าใครที่ติดเงินใคร ควรที่จะคืนเงินก่อนวันตรุษจีน เพราะเชื่อว่า จะมีหนี้สินตลอดปี
  7. ห้ามทำของแตก เพราะเชื่อว่า เป็นลางร้ายถึงครอบครัวจะแตกแยก หรือมีคนเสียชีวิตในครอบครัว หากทำของแตกโดยไม่ได้ตั้งใจ มีวิธีการแก้เคล็ดโดยการพูดว่า “luo di ka hua” ที่แปลว่า ดอกไม้จะเบ่งบานเมื่อตกลงสู่พื้น
  8. ห้ามซื้อรองเท้าใหม่ คนจีนจะไม่ซื้อรองเท้าใหม่ในเดือนแรกของวันตรุษจีน เพราะคำว่า รองเท้า ในภาษาจีนออกเสียงว่า Hai มีเสียงคล้ายกับการถอนหายใจ จึงเชื่อว่า เป็น “สัญญาณของการเริ่มต้นปีที่ไม่ดี”
  9. ห้ามร้องไห้ คนจีนเชื่อว่า จะทำให้พบกับเรื่องไม่ดี และเสียใจทั้งปี
  10. ห้ามใช้ของมีคม ชาวจีนเชื่อว่า การใช้ของมีคมตัดสิ่งของ คือ การตัดโชคดีไปด้วย
  11. ห้ามเข้าไปในห้องนอนคนอื่น คนจีนเชื่อการเข้าห้องนอนผู้อื่นในวันตรุษจีน ถือเป็นโชคร้าย

  1. ไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ และไหว้ผีไม่มีญาติ หรือเรียกว่า “วันซาจั๊บ”  ในตอนเช้า จะมีการไหว้เจ้า และไหว้บรรพบุรุษ ส่วนตอนเที่ยงจะไหว้ผีไม่มีญาติ ซึ่งของไหว้ ได้แก่ อาหารคาว เป็ด ไก่ หมู อาหารหวาน (ถ้วยฟู ขนมสาลี่ ขนมเทียน) และผลไม้ เช่น ส้ม สาลี่ กล้วย ซึ่งปริมาณของขึ้นอยู่กับฐานะของผู้ไหว้ ซึ่งส่วนมากนิยมจัดเป็นชุดละ 3 หรือ 5 อย่าง  และต้องจุดขี้ไต้ 2 ชิ้น  ซึ่งเมื่อไหว้เสร็จ ต้องจุดประทัด และนำข้าวสารมาผสมกับเกลือโปรยบริเสณบ้าน เพื่อขับไล่สิ่งที่ไม่ดีออกไป
  2. รวมญาติกินเกี๊ยว เป็นวันนัดรวมญาติ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของครอบครัว โดยทุกคนจะทานเกี๊ยวด้วยกันในวันไหว้ ซึ่งเป็นมื้อสุดท้ายก่อนขึ้นปีใหม่ของชาวจีน และทาน เกี๊ยว เพราะรูปร่างของเกี๊ยวมีลักษณะเหมือน “เงิน” ของจีน จึงมีความหมายว่า ขอให้มีเงินทองมาก
  3. กินเจมื้อเช้า คือ มื้อแรกของปี ในวันตรุษจีน คนจีนถือธรรมเนียมกินเจเป็นอาหารมื้อแรกของปี เพราะเชื่อว่าจะได้บุญเหมือนกับกินเจตลอดทั้งปี
  4. ทำพิธีรับ “ไฉ่ สิ่ง เอี้ยะ” คือ เทพเจ้าแห่งโชคลาภและเป็นเทพพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งชาวจีนนิยม จึงมักจะทำพิธี รับเทพซึ่งเปรียบได้กับรับโชคลาภใน ในช่วงหลังเที่ยงคืนของวันซาจั๊บ (วันไหว้)
  5. ห้ามกวาดบ้าน ในวันตรุษจีน หรือวันขึ้นปีใหม่ของจีน  ชาวจีนจะไม่กวาดบ้าน เพราะเชื่อว่า กวาดบ้านในวันปีใหม่ เป็นการกวาดเอาสิ่งที่เป็นมงคลทิ้งไป แต่จะทำความสะอาดบ้านก่อนวันปีใหม่ของจีน
  6. ติดตุ๊ยเลี้ยง หรือ คำอวยพรปีใหม่ คนจีนและเชื้อสายจีน จะติดกระดาษสีแดง ซึ่งเขียนคำอวยพรปีใหม่ด้วยตัวอักษรสีทอง เป็นภาษาจีน 7 ตัวอักษร โดยจะติดที่ 2 ข้างประตูบ้าน และ  1 แผ่น สำหรับติดทางขวางตรงกลางทางเข้า-ออก แผ่นนี้จะต้องเขียนคำว่า “ชุก ยิบ เผ่ง อัง” มีความหมายว่า เข้า-ออกโดยปลอดภัย นอกจากนี้ ชาวจีนนิยมติดภาพเด็กผู้หญิง-เด็กผู้ชาย “หนี่อ่วย” ซึ่งถือเป็นภาพมงคลของจีน ที่บริเวณหน้าบ้าน
  7. สวมใส่เสื้อผ้าใหม่สีสันสดใส โดบเฉพาะสีแดง เป็นสีสิริมงคลแก่ชีวิต ชาวจีนนิยมใส่เสื้อผ้าใหม่ สีสันสดใส เพราะเชื่อว่าทำให้มีแต่สิ่งดีๆ เข้ามา
  8. ส้ม 4 ผล อวยพรผู้ใหญ่ ตามธรรมเนียมที่ต้องปฏิบัติในวันชิวอิก หรือวันปีใหม่ของจีน คือ ครอบครัวจะนำส้ม 4 ผล ไปกราบขอพรผู้ใหญ่ ซึ่งผู้ใหญ่จะเตรียมเมล็ดแตงโมย้อมสีแดงไว้ 1 พาน รวมถึงลูกสมอจีนรอรับแขก และเมื่อมีครอบครัวนำส้ม 4 ผล ผู้ใหญ่จะรับส้มมา 2 ผล โดยจะนำส้มในบ้าน และอีก 2 ลูก วางคืนให้กับแขก 2 ผล
  9. รับอั่งเปา ในวันตรุษจีน จะได้รับซองแดง (ใส่เงินขวัญถุง) จากผู้ใหญ่ เพื่อให้โชคดีตลอดทั้งปี โดยก่อนจะรับซองแดง และต้องกล่าว “ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้” เพื่ออวยพรผู้ใหญ่ด้วย
  10. ไหว้เจ้าเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ในวันตรุษจีน ต้องมีการไหว้ไหว้บรรพบุรุษ เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วย และที่สำคัญก็ยังต้องไหว้เจ้าเพื่อขอให้เทพเจ้าช่วยอวยพรให้ชีวิตมีแต่ความสุข ความเจริญ

อ้างอิงและสืบค้นเพิ่มเติมจาก

  • วิภา จิรภาไพศาล., https://www.silpa-mag.com/culture/article_126806
  • เทศกาลตรุษจีนเยาวราช : ภูมิหลังและพัฒนาการ., แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย และ ฤทธิชัย เตชะมหัทธนันท์ https://has.hcu.ac.th/jspui/bitstream/123456789/1152/1/Sangaroon.pdf
  • 10 ข้อควรปฏิบัติในวันตรุษจีน., https://www.thaipbs.or.th/news/content/145714

#ตรุษจีน #chinesenewyear #ฤดูใบไม้ผลิ #วันขึ้นปีใหม่จีน

นักสื่อสารสุขภาวะดิจิทัล