เรื่องและภาพโดย : ศุภกิตติ์ คุณา
ภาพประกอบโดย : L no more
(สัมภาษณ์ เมษายน 2566)
ผลสำเร็จของงานศพปลอดเหล้าที่ขยายผลไปทั่วประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เริ่มต้นมาจากงานวิจัยเชิงปฏิบัติการณ์ของสถาบันแสนผะหญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยที่ลงไปเก็บข้อมูลร่วมกับชาวบ้านในชุมชน ทำให้เห็นตัวเลขหนี้สินที่น่าตกใจ นั่นคือ หนี้สินที่เกิดจากงานศพ
จากการจัดการหนี้สิน
สู่ “งานศพปลอดเหล้า”
ซึ่งพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของงานศพมาจากค่าเหล้าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท ซึ่งขึ้นอยู่กับฐานะของเจ้าภาพ แต่ส่วนใหญ่จะใช้วิธีกู้เงินนอกระบบเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงาน และก่อให้เกิดหนี้สินตามมา ทำให้คนส่วนใหญ่ในเวลานั้น มักใช้คำว่า “ให้คนตาย ขายคนเป็น”
การทำงานด้านสุขภาวะอันยาวนานในเมืองลำปางของพ่อหนานชาญ เป็นบุคคลที่เข้ามาทำงานกับเครือข่ายองค์กรงดเหล้าตั้งแต่ในยุคเริ่มต้นเลยก็ว่าได้ ความท้าทายของการทำงาน “งดเหล้าในงานศพ” จากจุดเริ่มต้นในพื้นที่อำเภอสปราบ จังหวัดลำปาง มีกระบวนการและความเป็นมาอย่างไร และกว่าจะมาเป็น “งานศพปลอดเหล้า” ถึงวันนี้ได้ เราจึงชวนพ่อหนานชาญ อุทธิยะ มาคุยเรื่องนี้กันต่อ
ทำความรู้จักกับ พ่อหนานชาญ อุทธิยะ ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดลำปาง และสถาบันแสนผะหญา ปัจจุบันขับเคลื่อนงานเกี่ยวกับประเด็นงานศพปลอดเหล้าเป็นงานหลัก และประเด็นงานบุญประเพณีปลอดเหล้าเป็นประเด็นรองมา
เริ่มต้นการทำงาน
จากสถาบันแสนผะหญา
สถาบันแสนผะหญา เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของชาวบ้านที่แสวงหาทางออกและทางรอดให้กับตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคมบนความเชื่อมั่นและศรัทธา โดยใช้องค์ความรู้ผ่านประสบการณ์การทำงานบนวิถีของการปฏิบัติลองผิดลองถูก โดยยึดความอยู่รอดของตนเองและครอบครัวเป็นเดิมพัน มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับโอกาสและระยะเวลาในการดำรงชีวิตบนโลกใบนี้ ซึ่งรวมแล้วเรียกว่า ภูมิปัญญาบนหลักคิดและความเชื่อมั่นดังกล่าว โดยการประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ “สุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา” วันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2550 โรงแรมริชมอนด์ แคราย จ.นนทบุรี, หน้า 103. ระบุว่า สถาบันแสนผะหญา ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ภายใต้เครื่องมืองานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่มุ่งเน้นการสร้างแรงระเบิดจากภายในบนกระบวนการมีส่วนร่วมตั้งแต่การค้นหาปัญหา ความต้องการบนเงื่อนไขความอยากคิดอยากทำของเจ้าของปัญหาเอง ตั้งแต่การขึ้นโจทย์ การพัฒนาโจทย์ให้ชัดเจน การเก็บข้อมูล รวบรวมข้อมูล การใช้เครื่องมือ การวิเคราะห์ข้อมูล การกำหนดกิจกรรมเพื่อตอบโจทย์ทุกขั้นตอน ได้กำหนดบทบาทให้ชาวบ้านและชุมชนเป็น (พระเอก) และพี่เลี้ยงเป็นเพียงคนอำนวยความสะดวกและหนุนเสริมเท่านั้น การเกาะเกี่ยวการทำงานร่วมกันของสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เกิดขึ้นบนความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ผ่านสถาบันแสนผะหญาจังหวัดลำปาง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.)
พ่อหนานชาญ บอกว่าเริ่มแรกของการทำงานจริงๆ ไม่ได้เริ่มจากงานงดเหล้าเลยทีเดียว ในปี พ.ศ.2543 ได้รับทุนการสนับสนุนของ สกว. มาทำวิจัยท้องถิ่นประเด็นเรื่องการจัดการหนี้สิน โดยในตัวของพ่อหนานชาญเองในตอนนั้นก็ถือว่าเป็นคนที่ดื่มเหล้า และดำรงตำแหน่งนักการเมืองท้องถิ่น เป็นประธานบริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยความที่เป็นการหาเสียงและเชื่อมงาน ก็มักจะใช้เหล้าเป็นเครื่องมืออยู่วงวนแบบนี้ได้สักพัก
นอกจากเรื่องเหล้าแล้ว มีประเด็นเรื่องหนี้สิน ที่ส่งผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนและต้องแก้ไข มาจากเหตุการณ์ที่ในหมู่บ้านมีชายคนหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกค้าธนาคาร ได้รับจดหมายเตือนแจ้งหนี้ ถึงขั้นจบชีวิตตัวเองลง เลยเป็นปัญหาที่ชุมชนยกขึ้นมาหาทางออกในเรื่องนี้ โดยขอทุนวิจัยจาก สกว. มาทำงานเรื่องหนี้สิน และมีเครื่องมือวิจัยที่เอามาใช้ คือ เรื่องของบัญชีครัวเรือน ที่ต้องจดบันทึกทุกอย่างที่จ่ายออกไป จากข้อมูลของเครื่องมือพบว่า หนึ่งในเงื่อนไขของการก่อเกิดหนี้สิน คือ สินค้าที่ไม่มีความจำเป็น หรือสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เหล้า เบียร์ และบุหรี่
หลังจากที่ได้ข้อมูลของปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดหนี้สินแล้ว ก็จะนำไปสู่การปฏิบัติเป็นลำดับต่อไป โดยหากนำไปบังคับใช้ให้คนอื่นปฏิบัติอาจจะไม่ได้ข้อมูลที่ดีหรือกลายไปเป็นบังคับคนอื่น คิดว่าการทดสอบและปฏิบัติกับตนเองน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดจึงนำมาปฏิบัติใช้กับครอบครัวของตนเอง เมื่อปฏิบัติไปตามกระบวนการขั้นตอน ก็พบว่า บัญชีครัวเรือนของตนเอง มีเรื่องเหล้าเป็นรายจ่ายหลัก ซึ่งตอนนั้นยังดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่น เวลาไปพื้นที่ก็มักจะนำเหล้าติดตัวลงพื้นที่ไปด้วย หากจะให้รายจ่ายเรื่องเหล่านี้ลดลงก็จะต้องปฏิบัติกับตนเองก่อน
สำหรับทุนวิจัยที่ได้รับมาทำโครงการ เริ่มต้นตอนปี 2543 ตอนนั้นตัวพ่อหนานชาญเองก็คิดว่าอยากจะเลิกเหล้าเหมือนกัน เพราะตอนสมัยหนุ่มๆจีบภรรยา ก็จะเมาตลอด จนภรรยาเคยว่ากล่าวให้ว่า “ถ้าจะเลิกเหล้าเลิกกับแม่(ภรรยา) ก่อนดีกว่า” พอเจอประโยคนี้ก็สะดุด และทำให้คิดได้เรื่องเลิกเหล้า จึงตัดสินใจเอาวันที่ 22 กรกฎาคม 2544 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของภรรยา จึงตัดสินใจเข้าไปบอกภรรยาว่าจะเลิกเหล้าเพื่อเป็นของขวัญวันเกิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ภรรยาขอให้เลิกมาโดยตลอด หลังจากที่เลิกเหล้าแล้วชีวิตก็ดีขึ้น ลดรายจ่ายไปได้เยอะ และมีสติคิดรอบด้านมากขึ้น
ขับเคลื่อนงาน
กับเครือข่ายงดเหล้า
ได้มีโอกาสพบเจอคุณสาคร กระจาย ซึ่งตอนนั้นคุณสาครได้ทำงานเกี่ยวกับการรณรงค์งดเหล้าอยู่แล้ว ซึ่งตรงกับสิ่งที่พ่อหนานชาญกำลังทำงานอยู่ในเรื่องของเหล้า ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในเรื่องหนี้สิน และเรื่องเศรษฐกิจ มีคนเป็นหนี้มากขึ้น รายจ่ายก็เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นตัวทำลายสุขภาพ และในมิติทางสังคมก็จะถูกตีตราเป็นขี้เหล้าขาดความน่าเชื่อถือ และมิติทางด้านวัฒนธรรมมักจะแสดงออกในทางที่ผิดเพี้ยนจากคนปกติทั่วไป
โดยเข้ามาขับเคลื่อนงานเข้าพรรษากับคุณสาคร โดยนำเอาข้อมูลเรื่องงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นมาแลกเปลี่ยนกัน เนื่องจากมีปัจจัยเรื่องหนี้สิน และเรื่องสุขภาพเข้ามาทำงาน ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา หลังจากนั้นคุณสาครก็มีบทบาทในหน้าที่การงานด้านอื่นๆมากขึ้น และในช่วงประมาณปี 2557-2558 ได้นำเอาความรู้จากงานวิจัยท้องถิ่นของเครือข่ายที่ทำสำเร็จของคุณอิ่นแก้ว เรือนปานันท์ โดยนำเอากระบวนการของงานวิจัยไปจัดทำแก้ไขจัดระเบียบสังคม ด้วยการงดเหล้าในงานศพ ที่หมู่บ้านดง ตำบลนายาง อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง ตอนนั้นคิดว่า ถ้างานศพของคนลำปางไม่มีเหล้า ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี
จากการศึกษาผลจากการดำเนินนโยบายงานศพปลอดเหล้าในจังหวัดลำปาง “งานศพปลอดเหล้า” เริ่มดำเนินการครั้งแรกในจังหวัดลำปาง ในปี พ.ศ. 2551 โดยทำการเปรียบเทียบการดำเนินการขับเคลื่อนระหว่างพื้นที่ที่ดำเนินการแล้วประสบความสำเร็จ พื้นที่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการและพื้นที่ที่ยังไม่มีการดำเนินอย่างเป็นทางการ สำหรับวิธีการศึกษานั้น ใช้การวิจัยเชิงปริมาณ เป็นการสำรวจภาคตัดขวางเชิงพรรณนา เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามแบบมีโครงสร้างในประชาชนทั่วไปจำนวน 1,445 ตัวอย่าง เพื่อประเมินความเข้าใจ ทัศนคติและการสนับสนุนของประชาชนที่มีต่อนโยบายงานศพปลอดเหล้าในจังหวัดลำปาง
สำหรับการวิจัยเชิงคุณภาพ เป็นการสัมภาษณ์เชิงลึก จากเจ้าภาพงานศพจำนวน 12 คน เพื่อนำเสนอรายละเอียดของการจัดงานศพแบบปลอดเหล้าในงานศพ รวมถึงมุมมองเกี่ยวกับผลที่ได้รับจากการมีนโยบายศพปลอดเหล้า โดยผลการศึกษา พบว่า หลังจากมีการรณรงค์ให้มีงานศพปลอดเหล้าและขยายพื้นที่ จนผลักดันไปสู่การเป็นนโยบายระดับจังหวัด พบว่าประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ดำเนินการและประสบความสำเร็จนั้น เคยเข้าร่วมงานศพที่มีการเลี้ยงเหล้า (ร้อยละ 26.7) น้อยกว่าประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการและพื้นที่ที่ยังไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นทางการ
นอกจากนี้สัดส่วนของผู้ที่มีประสบการณ์ในการดื่มเหล้าในงานศพที่มีการเลี้ยงเหล้าในพื้นที่ที่ดำเนินการและประสบความสำเร็จมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 26 (6.8/26.7) ซึ่งค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการและพื้นที่ที่ยังไม่มีการดำเนินอย่างเป็นทางการ (ร้อยละ 37 และ 41 ตามลำดับ)
สำหรับเจ้าภาพงานศพในพื้นที่ที่ดำเนินการแล้วประสบความสำเร็จ ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ในพื้นที่ไม่มีการจัดหาหรือเลี้ยงเหล้าภายในงานศพ ซึ่งเป็นไปตามกฎเกณฑ์และข้อตกลงของชุมชน ซึ่งเป็นการช่วยประหยัดเงินให้กับเจ้าภาพอย่างมาก ขณะที่เจ้าภาพที่อยู่ในพื้นที่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการและพื้นที่ที่ยังไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นทางการยังมีการจัดหาและเลี้ยงเหล้าขาวแก่แขกที่มาเข้าร่วมงานศพ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและพบเห็นการเมาแล้วทะเลาะวิวาท สร้างความวุ่นวายในงานศพ
นอกจากนี้ในพื้นที่ดังกล่าวถ้าไม่มีการเลี้ยงเหล้าในงานศพจะพบว่าคนที่มาร่วมงานมีจำนวนน้อยลง เนื่องจากคนในชุมชนยังมีความเชื่อว่า การเลี้ยงเหล้าในงานศพเป็นประเพณีอย่างหนึ่ง ดังนั้น การศึกษานี้จึงมีข้อเสนอแนะว่า การดำเนินการงานศพปลอดเหล้าจำเป็นจะต้องทำเป็นข้อตกลงของชุมชนและสังคม ซึ่งเป็นการช่วยสนับสนุนให้เจ้าภาพในงานศพสามารถจัดงานศพแบบปลอดเหล้าได้
การขยายผล “ต้นแบบ”
งานศพปลอดเหล้า
ในปี พ.ศ.2547 มีโอกาสได้พบเจอคุณพิมพ์มณี เมฆพายัพ มีความสนใจในประเด็นเรื่องของการงดเหล้าในงานศพ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความน่าสนใจ น่าจะเป็นนวัตกรรมสำหรับคนลำปาง ที่เห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาต่างๆในงานศพ จากนั้นก็นำไปขยายผลต่อ
สำหรับการขยายงานนั้นได้วางไว้ 3 ขั้นตอน ขั้นตอนที่หนึ่ง เป็นการขยายจากระดับหมู่บ้านเป็นระดับตำบล ซึ่งทำในพื้นที่บ้านดง ตำบลนายาง อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง โดยอาศัยกลไกการทำงานในพื้นที่ โดยมีกำนันโรจน์ อุดกันทา เป็นคนริเริ่มขยายนำเอาประเด็นงานศพปลอดเหล้า เข้าสู่การขยายผลระดับตำบล ก็มีคุณพิมพ์มณี เมฆพายัพ เข้ามาช่วยยกร่างโครงการ
จากนั้นพ่อหนานชาญก็เดินทางเข้าไปที่กรุงเทพมหานคร นำโครงการงดเหล้าในงานศพไปนำเสนอต่อ นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม หลังจากนำเสนอเสร็จ ก็เดินทางไปยังสถานีขนส่งหมอชิตเพื่อจะขึ้นรถกลับจังหวัดลำปาง ก็ได้รับการติดต่อมาว่า โครงการงานศพปลอดเหล้า ได้รับการสนับสนุนเพื่อขับเคลื่อนงานต่อไปข้างหน้า
จากการขยายผลจากระดับตำบล ซึ่งมีตำบลนายางเป็นตำบลต้นแบบ ขยายผลไปในอำเภอสบปราบ โดยมี 4 ตำบลที่เข้าร่วม โดยสมัยนั้นท่านวิศิษฐ์ ซึ่งเป็นปลัดอำเภอ และนายศรีโรจน์ นิมมานพัชรินทร์ นายอำเภอสบปราบ มีความเห็นชอบของโครงการ จึงเข้ามาร่วมทำงานด้วยกันนำไปขับเคลื่อนระดับอำเภอ จนสามารถประกาศเป็น “อำเภองดเหล้าในงานศพ” ได้ และหลังจากนั้นก็ทำการขยายผลไปยังระดับจังหวัด ซึ่งเป็นการทำทั้งจังหวัดลำปาง โดยมีนายสามารถ ลอยฟ้า ซึ่งตอนนั้นดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เข้ามาขับเคลื่อนในระดับจังหวัด จนสามารถประกาศอำเภองาว เป็นอำเภองดเหล้าในงานศพเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งอำเภอ ได้อีก
กระแสตื่นตัว
ของงานศพปลอดเหล้า
จากจุดเริ่มต้น งานศพปลอดเหล้า หรืองดเหล้าในงานศพ ของจังหวัดลำปาง ได้รับกระแสนิยมการขยายผลทำต่อในพื้นที่อื่นๆไปทั่วประเทศ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็นำเอาประเด็นนี้ไปขับเคลื่อนต่อ ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง หากนับมูลค่าของความสูญเสียในการเลี้ยงเหล้าในงานศพน่าจะมูลค่ามหาศาล ซึ่งถ้ากรณีศึกษาค่าใช้จ่ายจากบ้านดง ตำบลนายาง ในงานศพปลอดเหล้า จากที่มีค่าใช้จ่ายรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 300,000 บาท ก็ลดเหลือไม่ค่าใช้จ่ายในหลักหมื่นบาท
ผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดเจนในช่วงระยะหลังจากที่ทำสำเร็จ จากสมัยก่อนคนที่มาร่วมงานศพ จะพูดต่อกันว่า การจัดงานศพนั้น เจ้าภาพจะต้องหาเงินมาเพิ่ม บางรายก็ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท บางรายสูงถึง 30,000 บาท ซึ่งสมัยปัจจุบันก็จะพูดต่อกันว่า เงินเหลือเท่าไหร่ โดยเงินมาจากการร่วมทำบุญ เงินที่มาจากการเป็นสมาชิกฌาปนกิจ บางรายสามารถนำเงินที่เหลือไปซื้อรถไถนาได้ ซึ่งรถไถนาก็มูลค่าหลายหมื่นบาท ถือว่าเป็นการสร้างความเป็นอยู่ของชีวิตให้ดีขึ้นไปด้วย
การเปลี่ยนแปลง
ในจังหวัดลำปาง
ถือว่ามีการพูดถึงเรื่องนี้อย่างกว้างขวางทั้งจังหวัดลำปาง โดยเฉพาะอำเภอรอบนอกแทบจะทุกอำเภอ มีการพูดถึงงานศพปลอดเหล้าอย่างเข้มข้น
ในช่วงระยะ 2-3 ปีแรก ที่ทำงานศพปลอดเหล้า บนโต๊ะอาหารรับแขกสมัยนั้นไม่แตกต่างจากโต๊ะอาหารที่เลี้ยงแขกในงานแต่งงานเลยก็ว่าได้ จะมีการจัดเลี้ยงบนโต๊ะ ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามปกติ หลังจากที่เข้าไปขับเคลื่อนงานศพปลอดเหล้าแล้ว และมีกระแสความสนใจในเรื่องนี้ ทำให้บนโต๊ะอาหารที่เลี้ยงแขกในงานศพ แทบจะไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนโต๊ะอาหาร ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ว่ามีความร่วมมือมากน้อยแค่ไหน และมีพื้นที่ที่งดเลี้ยงเหล้าในงานศพ 2 อำเภอ คือ อำเภอสบปราบ และอำเภองาว จะไม่มีการจัดเลี้ยงเหล้าบนโต๊ะอาหาร
สำหรับวิธีการประเมินงานศพปลอดเหล้าของชุมชน ก็มีการจัดการเองโดยใช้ผู้นำชุมชนของแต่ละหมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการ โดยอยู่คนละตำบลที่จัดงานมาประเมิน หรือประเมินแบบไขว้ ก็คือ ใช้ผู้นำจากตำบลอื่นมาประเมินจะเห็นผลลัพธ์ได้ดีกว่าที่ต้องประเมินเอง จากนั้นก็จะประกาศเป็นตำบลงดเหล้าในงานศพ
ที่อำเภองาว จังหวัดลำปาง ใช้วิธีการทำงานแบบสมัครใจ ไม่ได้บังคับ การทำงานประเด็นงดเหล้าในงานศพ ของอำเภองาวนั้น เป็นการจัดทำเวทีประชาคม ซึ่งมีทั้งเด็กและเยาวชน เข้ามาร่วมเวทีฯ และมีการรับสมัคร เพื่อจะเข้าไปติดป้ายว่า บ้านหลังนี้เข้าร่วมโครงการงานศพปลอดเหล้า
ป้ายที่ติดในงานศพ ก็สามารถบ่งบอกได้ว่า งานศพนี้ไม่เลี้ยงเหล้า แต่ชุมชนก็ยังเปิดโอกาสให้กับคนที่ไม่เข้าร่วมโครงการ เมื่อเริ่มเห็นประโยชน์จากคนที่เข้าร่วมโครงการ หลังจากนั้นก็จะทยอยมาสมัครเข้าร่วมโครงการ ประมาณร้อยละ 60-70
ปัญหาจากการทำงานที่พบเจอจะเป็นพื้นที่ชุมชนเมือง เนื่องจากไม่สามารถทำเวทีประชาคมได้ รวมถึงความเป็นครัวเรือนแบบปัจเจก ที่ไม่มีส่วนร่วม ไม่มาประชุม ซึ่งพบกลุ่มเหล่านี้มากที่สุดในชุมชนที่เป็นเมือง
ปัจจุบันนี้ก็ยังมีการเลี้ยงเหล้าในบางพื้นที่ และเป็นเรื่องที่น่ายินดี ถึงแม้ว่าระยะเวลาที่ผ่านมาอันยาวนาน บางพื้นที่ก็รักษา งานศพปลอดเหล้า ไว้อย่างเหนียวแน่น และยังมีพื้นที่ทำงานศพปลอดเหล้าเป็นรูปธรรมได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ครอบคลุมทั้งหมด แต่พ่อหนานชาญเองก็มั่นใจว่าเราเองได้ลดการดื่มการกินเหล้าในงานศพไว้ได้มากมายสำหรับการทำงานในพื้นที่จังหวัดลำปาง
ทิศทาง
การขับเคลื่อนงานในอนาคต
สำหรับการทำงานต่อจากนี้ พ่อหนานชาญได้เล่าให้เคเคฟังว่า เมื่อสังคมเป็นพลวัตร เข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ด้วยสถานการณ์แบบนี้ จึงต้องปรับวิธีการทำงานตามการเปลี่ยนแปลง ยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็ว เราอาจจะต้องมุ่งเน้นไปสร้างตัวตนให้ชัดเจนขึ้น คือ การจัดตั้งชมรมคนลดละเลิกเหล้าแต่ละอำเภอ นอกจากการทำงานที่เกี่ยวกับบุญประเพณีแล้ว ก็มีงานที่เกี่ยวกับวิถีของชุมชน ซึ่งเรื่องเหล้าไม่ใช่เป็นเรื่องของคนหัวใจหินและคนหัวใจเพชรเพียงอย่างเดียว ยังต้องขยายเครือข่ายเพิ่ม ที่มีทั้งครู พระสงฆ์ หมออนามัย ซึ่งเป็นองค์กรหลักด้านสุขภาพ เข้ามาหนุนเสริมให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้
นอกจากนี้ยังมีการทำควบคู่เรื่องเหล้า คือเรื่องของสวัสดิการจากป่าชุมชน การทำเรื่องฟื้นฟูป่าชุมชน เป็นสวัสดิการของคนเลิกเหล้า ที่จะให้คนเลิกเหล้า หรือคนอื่นๆ เข้ามาใช้งานในพื้นที่ป่าชุมชน เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากป่าทั้งทางตรงและทางอ้อมของการดำเนินชีวิต นอกจากนี้แล้วยังเป็นการชะลอการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนได้
พ่อหนานชาญมองประเด็นเรื่องเหล้าหลังจากนี้ เรื่องเหล้าจะไม่ใช่เป็นเรื่องปกติของชุมชน แต่เป็นตัวทำลายส่งผลเรื่องเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม สำหรับพื้นที่การทำงานของพ่อหนานชาญทุกพื้นที่ก็มองว่าจะกลายเป็นชุมชนสุขภาวะ ปลอดเหล้า มีอาชีพ มีงานทำ มีรายได้ และอยู่อย่างมีความสุข