เรื่อง : ศุภกิตติ์ คุณา ภาพ : SDN Futsal No L
ในวงการฟุตซอล เฮดโค้ชมากประสบการณ์ที่ก้าวผ่านบทพิสูจน์ตัวเองในต่างแดน หนึ่งในคีย์แมนสำคัญในการวางระบบโครงสร้างพัฒนาฟุตซอลให้กับประเทศเมียนมาในปัจจุบัน จากจุดเริ่มต้นที่ชื่นชอบฟุตบอลในวัยเด็ก และความพยายาม ความมุ่งมั่น ทำให้เฮดโค้ชท่านนี้ พาลูกทีมคว้าเหรียญรางวัลมากมาย อีกทั้งยังเป็นวิทยากรให้กับสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย หรือ AFC พาไปรู้จักอาจารย์บุญเลิศ เจริญวงศ์ กว่าจะผ่านมาถึงวันนี้นั้นต้องฝ่าฟันอะไรมาบ้าง
ย้อนกลับไปในถิ่นแดนอีสานใต้ในวัยเด็ก อาจารย์บุญเลิศ เจริญวงศ์ เล่าเรื่องราวของตัวเอง โดยพื้นเพเป็นคนอำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี หลังจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ย้อนกลับไปปี พ.ศ.2500 เดินทางเข้ามาเสี่ยงโชคในเมืองหลวง ออกจากอุบลราชธานีมุ่งตรงสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อจะมาต่อยอดความฝันของตัวเองให้ได้ ในวัยเด็กของอาจารย์บุญเลิศชอบเรื่องของฟุตบอล มีไอดอลเป็นครูพละ ซึ่งครูเป็นนักเตะของจังหวัดอุบลราชธานี ก็คือ อาจารย์สมบูรณ์ แก้วมณี ซึ่งเป็นคนที่จุดประกาย และอยากเป็นเหมือนท่าน
แต่เส้นทางลูกหนังที่วาดฝันไว้ในวัยเด็กไม่ได้สวยงามมากนัก จึงมีบางช่วงต้องรับจ้างทำงาน หารายได้เลี้ยงตัวเองโดยไม่มีข้อแม้ และได้สมัครเรียน กศน. ควบคู่ไปกับการทำงาน พร้อมกับเล่นฟุตบอลไปด้วย
แรงบันดาลใจในการเริ่มต้นเป็นโค้ชฟุตซอลของอาจารย์บุญเลิศคืออะไร
“เป้าหมายแรก คือ การมีเป้าหมายเป็นผู้เล่นทีมชาติไทย เรามาจากเด็กต่างจังหวัด ก็อยากออกทีวี แต่ก็ไปไม่ถึงฝัน เนื่องจากตอนอายุ 27 ปี เล่นฟุตบอลและได้รับบาดเจ็บ จึงเป็นที่แน่นอนแล้วว่าตัวเองนั้นคงไปไม่ถึงฝันแน่นอน”
อาจารย์บุญเลิศ เจริญวงศ์ เล่าเส้นทางเริ่มต้นต่อด้วยการเดินทางไปคัดตัวทีมนักเรียนไทย ปี พ.ศ.2530 มีอาจารย์ชาญวิทย์ ผลชีวิน เป็นเฮดโค้ชตอนนั้น ที่เปิดคัดนักเตะทั่วประเทศ โดยมีชื่อติดโผรายชื่อ 25 คนสุดท้าย ประกาศผ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งตอนนั้นดีใจมาก คิดว่ายังไงเราก็ต้องมีโอกาสที่ติดแน่นเอา 22 คน แต่สุดท้ายก็ อกหักโดนตัดออก 3 คนสุดท้าย เสียใจพอสมควร แต่ก็มาตั้งใจฝึกซ้อม ในตำแหน่งผู้เล่นฟุตบอล แต่ในช่วงทดสอบฝีเท้าผลงานก็ได้ไปเล่นให้สโมสรโอสถสภา ซึ่งเป็นรายการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ง. (ถ้วย ง.) คือเป็นฟุตบอลฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานระดับชั้นที่ 4 ของประเทศไทย ตอนนั้นมีอาจารย์ยรรยง ณ หนองคาย เป็นผู้ควบคุมทีม
และเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อายุ 27 ปี เกิดอาการบาดเจ็บ รักษาไม่หาย ซึ่งตอนนั้นการผ่าตัด ยังไม่มีเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัยเหมือนปัจจุบัน จึงทำให้เป็นจุดเปลี่ยน หันมาเอาดีเส้นทางโค้ช จุดเริ่มต้นในตอนนั้นของการเป็นโค้ช ต้องกล่าวขอบคุณอาจารย์จรุงศักดิ์ รักชาติไทย อดีตโค้ชทีมชาติ โดยท่านให้แนวทางว่า การที่จะเป็นโค้ชที่ดีหรือผู้ฝึกสอนที่ดีได้ จะต้องไปเรียนด้านผู้ฝึกสอนกีฬา (โค้ช) เพิ่ม จึงได้มีโอกาสเข้ามาเรียนเกี่ยวกับผู้ฝึกสอนกีฬากับกรมพละศึกษา เริ่มเข้าเรียนอบรมโค้ชคอร์สเรียนแรกกับอาจารย์ชาญวิทย์ ผลชีวิน และอาจารย์สำเริง ไชยยงค์ เป็นคอร์สที่ได้ใบประกาศฟุตบอลใบแรกที่เป็นของกรมพลศึกษา
เส้นทางสู่การทำงานวงการฟุตซอลอาชีพ
เส้นทางเริ่มต้นจากฟุตซอลระดับนักเรียน ได้เข้าไปคุมทีมแบบเต็มตัวกับทีมฟุตซอลโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ กรุงเทพฯ หลังจากนั้นก็ไปสร้างชื่อเสียงกับโรงเรียนพรตพิทยพยัต ย่านลาดกระบัง ซึ่งในขณะนั้นถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง และได้ทำโครงการช้างเผือกให้กับโรงเรียนราชวินิตบางเขน ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในการแข่งขัน ‘ควิก จูเนียร์ ฟุตซอลแชมเปี้ยนชิพ’ ได้สำเร็จ ฝีมือที่ไม่ธรรมดาของอาจารย์บุญเลิศ ปี พ.ศ.2548 ได้รับโอกาสเข้ามาทำงานทีมฟุตซอลหญิงทีมชาติไทยในตำแหน่งผู้ช่วยโค้ช และเฮดโค้ชทีมชาติ สามารถคว้าเหรียญรางวัลให้ทัพนักกีฬาไทยมาหลายรายการ
ด้วยความที่ฝีมือของอาจารย์บุญเลิศไปเข้าตาเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา จึงได้รับความไว้วางใจจากทางสมาคมฟุตบอลเมียนมาดึงตัวไปทำงานเป็นประธานเทคนิค ปัจจุบัน (พ.ศ.2567) รับหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติเมียนมา ทำหน้าที่ตั้งแต่การวางโครงสร้างต่างๆ พร้อมช่วยวางระบบทีมชาติทุกชุดตั้งแต่ระดับเยาวชนจนถึงชุดใหญ่
นอกจากเรื่องของผลงานทางกีฬาฟุตซอลในบทบาทหัวหน้าผู้ฝึกสอน หรือ โค้ช อาจารย์บุญเลิศ ยังเป็นวิทยากรกีฬาฟุตซอลของกรมพลศึกษา วิทยากรฟุตซอลของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย วิทยากรฟุตซอล AFC Level 3 สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (AFC) อีกทั้งยังเป็นวิทยากรหลักในการอบรม “โค้ชผู้สร้างแรงบันดาลใจ สานฝันสู่ความเป็นจริง” THE COACH ที่จัดโดยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมพลศึกษา
ปรัชญาของการทำงานที่อาจารย์บุญเลิศยึดมาโดยตลอด คือ การอดทนทำงานหนักทำให้เราไม่อดตายแน่นอน ทำให้เราประสบความสำเร็จ เวลาจะทำอะไรแล้วตัวของอาจารย์บุญเลิศบอกว่า ก็ต้องทำเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะเรื่องกีฬาฟุตซอล เรียกได้ว่าแทบจะเอาชีวิตทุ่มให้เลยก็ว่าได้ เพราะว่า “ฟุตซอลก็เหมือนชีวิตผมนั่นแหละ”
มีการรับมือกับความท้าทายในกีฬาฟุตซอลอย่างไร?
ในการทำกีฬาฟุตซอล เรื่องความท้าทายและความกดดันที่เจอมา อย่างแรก คือการที่ทำงานกับกลุ่มเยาวชน ซึ่งได้แก่ ระดับมัธยม ระดับมหาวิทยาลัย และสโมสร จะมีความกดดันที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะองค์ประกอบเรื่องงบประมาณการจัดการ ส่วนความท้าทายต่อมาคือ เราต้องพานักกีฬาไปสู่เป้าหมายที่เขามาฝากชีวิตไว้กับเราให้ได้ และความท้าทายอีกอย่างก็คือเรื่ององค์ประกอบภายนอกที่มาจากสื่อ จากผู้บริหาร และจากความคาดหวังของผู้ปกครอง โดยไม่มีเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เป็นความกดดันหลัก ก็จะเฉลี่ยน้ำหนักความท้าทายกันไป
ส่วนความท้าทายของทีมชาติ ต้องบอกได้เลยว่ามีแน่นอนอยู่แล้วร้อยเปอร์เซ็นต์ ในปี พ.ศ.2548 ตอนที่ได้รับโอกาสให้มาเป็นผู้ช่วยโค้ชและเฮดโค้ชฟุตซอลหญิงทีมชาติไทย ด้วยคำว่าประเทศไทยสมัยก่อนในระดับอาเซียน ก็ต้องคือแชมป์เท่านั้น ความท้าทายเริ่มกดดันมากขึ้น ทั้งฐานเสียงความคาดหวังจากแฟนคลับในประเทศไทย และเป็นทีมที่ขึ้นชื่อว่าเป็นทีมชาติไทยก็กดดันตัวเอง และความท้าทายอีกอย่างก็คือ สื่อ แต่เราก็มองในด้านดีของสื่อเหมือนเป็นกระจกสะท้อนส่องในตัวเรา ทำให้เราทำงานด้วยความรอบครอบ และให้เราสร้างความมุ่งมั่นในการทำหน้าที่
เทคนิคหรือวิธีการรับมือของอาจารย์บุญเลิศ ถ้าพูดในเชิงของสายมู ก็จะเป็นเรื่องของศีลธรรม ทำให้ให้มีสมาธิ มีสติ เพื่อที่จะมุ่งมั่นกับงาน และลดการเกิดอารมณ์รุนแรง
มีหลักการอะไร? ในการฝึกสอนนักกีฬา ที่ทำให้เกิดการพัฒนา
อย่างแรกคือ Insight ก็คือ เราต้องรู้ข้อมูลเชิงลึกของกีฬาประเภทนั้นๆ จริงจังในสิ่งที่ทำ ก็จะประสบความสำเร็จ คำว่าเชิงลึก ในที่นี้ คือการที่รู้เขารู้เรา ต้องไปรู้เขาให้ได้ พอรู้เขาแล้ว เราต้องเหนือกว่าเขาให้ได้ เหนือกว่าเรื่องของคุณภาพต่างๆต้องทำให้ได้ หรือการที่มีข้อจำกัดก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่เราต้องพยายามทำให้เต็มที่มากที่สุด ต้องให้รู้จริงกับสิ่งที่เราทำให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นคู่ต่อสู้หรือทีมเราเอง รวมถึงรายละเอียดของนักกีฬา รายละเอียดผู้ฝึกสอน และภาพรวมทั้งหมดตั้งแต่พื้นขึ้นไปสู่จนจุดสูงสุด ทุกอย่างเป็นองค์ประกอบที่จะไปสู่ความสำเร็จ ไม่มีฟันเฟืองในฝันหนึ่ง ทุกคนจะมีคนสำคัญหมดเลย ประการต่อมาคือ การฝึกซ้อมต้องซ้อมมากกว่าการแข่งขัน หรือ Training over committed คือ การฝึกซ้อมต้องเหนือกว่าการแข่งขัน จะทำให้เราได้เปรียบของสถานการณ์ที่หนักกว่าทำให้มีการรับมือตรงนี้ได้ดีกว่าที่ซ้อมมาน้อย
การคุมทีมในประเทศกับทีมชาติเมียนมา มีความแตกต่างและได้ประสบการณ์อะไรบ้าง?
ข้อแตกต่างระหว่างการไปทำงานเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติเมียนมาที่พบเจอ เรื่องแรกคือเรื่องของบุคลากรนักกีฬา ตอนที่ได้เข้าไปทำทีมพบว่า วงการฟุตซอลเมียนมาไม่มีความเคลื่อนไหว นักกีฬาของเขาไม่ได้เล่นฟุตซอลมาประมาณ 2-3 ปี อาจจะสืบเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ในตอนนั้น ที่ไม่มีการแข่งขันการแข่งขันลีกฟุตซอลเหมือนอย่างประเทศไทย จึงทำให้ไม่มีความเคลื่อนไหว และเกิดการพักซ้อมของกีฬาฟุตซอล นักกีฬาก็จะเล่นบอลแบบ 5 คนบนหญ้าเทียมมากกว่า ที่เมียนมาไม่มีการแข่งขันฟุตซอลลีก ทำให้ต้องมาเริ่มต้นทำงานใหม่ทั้งหมด อีกทั้งบุคลากรที่รับผิดชอบของเมียนมายังขาดทักษะและประสบการณ์ เรียกได้ว่า สถานการณ์ฟุตซอลในเมียนมาเริ่มต้นจากศูนย์ หรือติดลบเลยก็ว่าได้ ถ้าเปรียบเทียบกับฟุตซอลไทยในเรื่องของคุณภาพของนักกีฬา ถือว่ามีความห่างกันพอสมควร เพราะทีมชาติไทยถือว่าอยู่ในระดับโลกแล้ว แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่เรานำไปทำงานกับทีมชาติเมียนมา ก็คือ Speed Strong Quality เป็นรูปแบบการทำทีมที่ต้องมีความเร็ว มีความแข็งแรง และมีคุณภาพ
การใช้ชีวิตในบทบาทเฮดโค้ชฟุตซอล ในทีมชาติเมียนมาเป็นอย่างไรบ้าง?
การเข้าไปทำงานเป็นเฮดโค้ชของทีมชาติเมียน เกิดจากการที่เราเป็นวิทยากรของ AFC และก็มีพี่เพื่อนที่เป็นวิทยากร AFC ด้วยกัน แนะนำให้เราไปก็เลยตัดสินใจไป เริ่มแรกเขายังไม่ได้เชื่อมั่นในตัวเราเท่าไหร่ เพราะเรายังไม่มีดีกรีพอสมควร แต่ที่เราได้ไปต่อตรงนี้ พอทำงานไปได้สักระยะหนึ่ง เขาก็ถึงจะเริ่มมีความเชื่อมั่นในเรื่องของการทำงานของเรา และล่าสุดคือการไปสร้างประวัติศาสตร์ของประเทศเมียนมา พาฟุตซอลเมียนมาร์ คว้าอันดับ 4 ซีเกมส์ 2021 และ อันดับ 4 ฟุตซอลอาเซียนในรุ่น 18 ปี และสามารถพาทีมชาติเมียนมาผ่านรอบสุดท้าย รอบสองของฟุตซอลชิงแชมป์เอเชียที่ประเทศไทย จากสิ่งที่ก่อนหน้านี้เขาไม่ได้เชื่อมั่นในแนวทาง โดยเฉพาะสื่อต่างๆและของสังคมฟุตซอลในประเทศเมียนมา ก็ไม่ได้มีความเชื่อมั่นมากนัก ซึ่งก็ไม่ผิดที่จะคิดแบบนั้น ผลงานเป็นตัวพิสูจน์ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง และเริ่มได้รับการตอบรับจากสื่อมากขึ้น และจากสโมสร จากแฟนคลับที่สามารถพัฒนาได้มากกว่านี้
อาจารย์มีคำแนะนำอะไร สำหรับผู้ที่อยากเริ่มต้นเป็นโค้ชวงการฟุตซอล
ส่วนมากคนที่เข้ามาเป็นโค้ชนั้น มักจะเริ่มต้นจากเป็นครู และสิ่งที่ผมพูดกับคนที่เรียนกับผมในแต่ละคอร์สที่ผมไปเป็นวิทยากร ผมพูดว่า “ก่อนที่จะเป็นครูได้นั้น ตัวเราเองต้องเรียนให้รู้ก่อนจะเป็นครูผู้สอน” และ ที่พูดบ่อยอีกเรื่องหนึ่งก็คือ อย่าเป็นโค้ชแบบหนูทดลองยา หมายความว่า การที่จะเอาข้อมูลหรือแนวทางต่างๆที่ไม่สามารถพัฒนาเด็กได้ แล้วเอามาลองกับเด็กหรือนักกีฬา ตัวนี้ก็คือผมก็ต้องบอกว่าอย่าเป็นโค้ชหนูลองยา
สิ่งสำคัญโดยพื้นฐานของการเป็นโค้ชนั้น ถ้านักกีฬาเป็นเยาวชน หรือว่าจะเล่นกีฬาอะไรก็แล้วแต่ เรื่อง “เทคนิค” เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ให้โฟกัสเรื่องเทคนิคก่อน เพราะว่าการเข้าใจเทคนิคเป็นทักษะพื้นฐานของนักกีฬาที่ต้องเรียนรู้และฝึกปฏิบัติ รวมถึงทักษะการเคลื่อนไหวของแต่ละประเภทกีฬาพื้นฐานที่ดี สามารถเคลื่อนไหวหรือปฏิบัติทักษะได้อย่างถูกวิธี และในเมื่อมีความเข้าใจเทคนิคในกีฬาแล้ว การเล่นกีฬาแบบแทคติกจึงตามมา จึงจำเป็นต้องเข้าใจเรื่องเทคนิคให้ดีก่อนถึงจะไปเล่นแทคติก ผมเองในวิทยากรก็จะเป็นคนตั้งคำถามตัวนี้ให้กับโค้ชทั่วไปให้ตอบเรื่องเทคนิคก่อนที่จะไปเน้นแทคติกต่างๆหรือระบบต่างๆก็ให้เทคนิคดีก่อน และในกีฬาฟุตซอลนั้น ก็ต้องเข้าใจ มีจุดสนใจในเทคนิคเกมรับและเกมรับเกมรุกตลอดเวลา
การเป็นโค้ชฟุตซอล ต้องเคยเล่นกีฬามาก่อนหรือไม่?
ถ้ามองจากตัวผมเองนั้นต้องบอกก่อนว่า ผมไม่เคยเล่นฟุตซอล แต่เล่นฟุตบอลก่อนที่จะเป็นโค้ชกีฬาฟุตซอล มีหลายท่านที่ประสบความสำเร็จในการเป็นโค้ชก็เล่นกีฬาประเภทนั้นไม่ได้ก็มี แต่เขาสามารถที่จะวางแผนการเรียนรู้ มีความชื่นชอบกีฬาแต่เล่นไม่เป็น มีความครีเอทและสามารถที่จะมาเรียนรู้กระบวนการต่างๆ จากการอบรม หรือคอร์สเรียนจากหน่วยงานกีฬา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ยกตัวอย่าง หากมาอบรมหรือเข้าคอร์สที่ผมเป็นวิทยากร ก็จะเน้นเรื่องของการใช้เครื่องมือให้เป็น ซึ่งเป็นทักษะของโค้ช โค้ชบางคนไม่ได้เก่งเรื่องของการเป็นนักเตะ แต่ก็สามารถมีเครื่องมือในการทำงานที่จะเป็นโค้ชที่ดีได้
หากเป็นนักเตะหรือนักกีฬาอยู่แล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่ดีด้วย เพราะว่าได้ทั้งเครื่องมือไปใช้ และมีประสบการณ์ แล้วนำทั้งเครื่องมือและประสบการณ์มาทำงานรวมกัน ทำให้การที่จะพัฒนาตัวเองในการเป็นผู้ฝึกสอนก็จะเป็นสิ่งที่เพิ่มพูนขึ้นไปได้ดีขึ้น
การอบรม “โค้ชผู้สร้างแรงบันดาลใจ” สามารถพัฒนาโค้ชรุ่นใหม่อย่างไร
ต้องเท้าความว่า ก่อนหน้านี้กรมพลศึกษาก็ได้มีหลักสูตรหรือโครงการพัฒนาผู้ฝึกสอน (โค้ช) ต่างๆมากมาย และผมก็ได้ติดตามผลความคืบหน้าของพัฒนาของหลักสูตร พบว่ามีการพัฒนาของโค้ชหลังจากเข้าหลักสูตรมีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะที่ผมได้รับการตอบรับจากโค้ชที่เคยรับการอบรมกับผม แล้วนำองค์ความรู้แล้วไปถ่ายทอดและไปแข่งขันในเวทีต่างๆ ที่เห็นชัดเจนเป็นสัมฤทธิ์ผลหรือมีการได้แชมป์จากการแข่งขัน ก็จะทักมาหาผม ทักขอบคุณ จากสิ่งที่เขาได้รับจากการอบรม
และสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นจากการพัฒนา คือ เราเห็นโค้ชหรือบุคลากรจากส่วนภูมิภาค ความสามารถของโค้ชและนักกีฬา มีความสามารถที่ใกล้เคียงกับส่วนกลางมากขึ้น ซึ่งแต่เดิมนั้นเอาจจะมีความแตกต่างกันในระหว่างภูมิภาค ทั้งโอกาสและองค์ความรู้ใหม่ เลยทำให้ผมรู้สึกว่าโครงการอบรม “โค้ชผู้สร้างแรงบันดาลใจ สานฝันสู่ความเป็นจริง” หรือแม้แต่การแข่งขันรายการ SDN Futsal No-L ตอบโจทย์กับรายการนี้ที่สามารถเปิดโอกาสให้โค้ช หรือผู้ฝึกสอนในระดับภูมิภาค หรือสังกัดหน่วยงานเล็กๆ เข้ามาอบรมพัฒนาศักยภาพ ซึ่งหนึ่งในเป้าหมาย คือกลุ่มโค้ชระดับภูธร ภูมิภาค ที่เมื่อจบโครงการนี้สามารถกระจายไปยังรอบนอก และให้โอกาสโค้ชที่ไม่เคยมีโอกาสได้เข้ามา โดยเฉพาะปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น เรื่องงบประมาณ ค่าใช้จ่ายในการอบรม ที่ได้รับสนับสนุนจากเครือข่ายองค์กรงดเหล้า เล็งเห็นความสำคัญที่จัดโครงการนี้ให้โค้ชรอบนอกหรือโค้ชภูมิภาคที่ไม่มีโอกาส ได้เข้ามารับองค์ความรู้ของฟุตซอล ที่เป็นแนวทางที่ผมได้เอาประสบการณ์และแนวทางมาจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (AFC) หรือแม้แต่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) และสหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป (UEFA) โดยผมนำเอามาประยุกต์ในหลักสูตรนี้ เพื่อให้กับผู้ที่เข้าร่วมอบรมได้รู้ศาสตร์ของฟุตซอลให้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของ AFC ที่เขาให้แนวทางหรือให้เครื่องมือมาใช้ หรือเป็นสกิลทักษะของโค้ช ที่จะเอาเครื่องมือตัวนี้ไปต่อยอดกับตัวเองได้ ต้องขอบคุณสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) รวมถึงกรมพลศึกษาที่สนับสนุนให้เกิดโครงการหรือหลักสูตรที่เป็นประโยชน์สำหรับโค้ชในภูมิภาค
อาจารย์มีเป้าหมายอย่างไรกับเส้นทางฟุตซอลในอนาคต
แน่นอนในเรื่องเป้าหมายของผมนั้น ตั้งแต่เริ่มต้นออกจากบ้านมาหาเป้าหมายคือการที่ต้องเป็นนักกีฬาทีมชาติ ก็ผิดหวังไป แต่ยังมีความโชคดี ได้มาเป็นโค้ชระดับทีมชาติ และการเป็นวิทยากรของ AFC การออกไปเป็นโค้ชในต่างประเทศ ซึ่งเหล่านี้บรรลุเป้าหมายนี้แล้ว แต่ก็ยังมีเป้าหมายสำคัญที่ยังต้องไปต่อ คือ เรายังพยายามที่อยากจะเป็นโค้ชไปร่วมการแข่งขัน FIFA World Cup (ฟีฟ่าเวิลด์คัพ) หรือฟุตบอลระดับโลกให้ได้ เพราะว่า AFC รอบสุดท้ายก็ผ่านมาแล้ว เหลือเพียงอย่างเดียว คือเป็นโค้ชเข้าร่วมการแข่งขันฟีฟ่าเวิลด์คัพ
ผมมีความสุขที่ได้ทำงานกีฬาฟุตซอล มีความสุขกับการทำฟุตซอลทีมชาติ หรือแม้ว่าเรื่องของการเป็นวิทยากร หรือการเป็นคลินิก ให้คำปรึกษาต่างๆเพราะนี่คือสิ่งที่ผมมีความสุขกับชีวิตของผม ผมได้ทำงานเลี้ยงชีพกับสิ่งที่ผมรัก ผมจึงอยากทำในสิ่งที่รักไปให้ถึงเป้าหมายขั้นสูงสุดให้ได้
ฝากถึงฐานแฟนวงการกีฬาฟุตซอล ในฐานะคนที่ชีวิตนี้อยู่กับสังคมวงการฟุตซอลของไทยและเอเชีย อยากให้ฐานแฟนคลับหรือผู้สนับสนุน เข้ามาช่วยกันพัฒนาวงการฟุตซอลในประเทศไทยให้มีมาตรฐานสูงขึ้นกว่าเดิม ให้เกิดเป็นกีฬาอาชีพให้มากขึ้น และสามารถให้เยาวชน ให้โค้ชต่อยอดไปสู่อาชีพได้ ก็คาดหวังว่าในอนาคตกีฬาฟุตซอลจะได้รับความนิยมเหมือนฟุตบอล สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างก็คือ “ฟุตซอล ก็คือ ฟุตบอล” นั่นเอง โดยเฉพาะอย่างประเทศบราซิล ก็มีจุดเริ่มต้นจากการเล่นฟุตซอล และพัฒนาเป็นนักฟุตบอล ดังนั้นก็อยากให้เยาวชนไทย เริ่มต้นที่ฟุตซอลก่อนที่จะไปต่อฟุตบอล เหมือนแนวทางของประเทศบราซิลครับ