ชาคริต จินะคำปัน จากขี้เหล้าหลวงสู่คนหัวใจเพชร

เรื่องและภาพ : ศุภกิตติ์ คุณา

กว่าจะผ่านประสบการณ์ “ขี้เหล้าหลวง” มาได้นั้นไม่ง่ายนัก สำหรับชีวิตของชาคริต จินะคำปัน ผู้พลิกชีวิตตัวเองจากการดื่มเหล้าอย่างหนัก จนถูกขนานนามว่า ขี้เหล้าหลวง ซึ่งในภาคเหนือมักจะเรียกสำหรับคนที่มีอาการติดเหล้าอย่างหนักไปจนถึงเรื้อรัง ดื่มเหล้าเมาแบบหัวราน้ำทุกวัน

พาลงพื้นที่ย่านชุมชน หมู่บ้านเกาะกลาง ตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดริมแม่น้ำปิง ที่ชาคริต จินะคำปัน อาศัยอยู่กับแม่และน้องชายในบ้านหลังใหม่ ซึ่งมาจากน้ำพักน้ำแรงของตนเองและน้องชาย ที่ร่วมกันสร้างหลังจากเลิกเหล้ามาแล้วกว่า 9 ปี

ปัจจุบัน (สิงหาคม พ.ศ.2567) ชาคริต จินะคำปัน หมดวาระการดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านเกาะกลางแล้ว และได้ทำงานกับหน่วยงานที่เทศบาลตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเขียงใหม่ ซึ่งเป็นเขตปกครองพื้นที่บ้านของชาคริต ซึ่งหากวันนั้นไม่เลิกเหล้าก็คงไม่มีแบบวันนี้ ซึ่งมีที่มาจากการที่เป็นคนโดนตราหน้าว่าขี้เมา จะทำอะไรก็ไม่มีใครยอมรับ จนหักดิบเลิกเหล้ากลายเป็นคนใหม่ มีงานทำ ชาวบ้านให้การยอมรับ จนกลายเป็นตัวอย่างของการเลิกเหล้ากับหลายๆคนในชุมชน รวมทั้งยังเป็นที่ปรึกษาให้กับคนติดเหล้า ชาคริต เล่าให้ฟังถึงการเลิกดื่มเหล้านั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีผลกระทบต่อตนเอง ต้องแลกกับความไม่สบายกาย ไม่สบายอารมณ์ในช่วงที่หักดิบเลิกเหล้า

จุดเริ่มต้นของ “ขี้เหล้าหลวง”

ชาคริต เล่าประสบการณ์ว่า ตัวเองจะถูกเรียกชื่อเล่นจากคนในหมู่บ้านว่า “ไอ้คริต” ขี้เหล้าหลวง เมาแบบหัวราน้ำ โดยจุดเริ่มต้นนั้นมาจากที่ ตนเองเริ่มดื่มมาตั้งแต่ อายุ 20 ปี ซึ่งตอนนั้นกฎหมาย พรบ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังไม่ออกมาจำกัดอายุของคนที่สามารถซื้อขาย ตอนนั้นพ่อจะเป็นคนซื้อมาให้ ประมาณวันละครึ่งขวด เพราะไม่อยากให้มีการดื่มมากไป โดยดื่มกับเพื่อน ๆ  จากที่พ่อซื้อมาให้ครึ่งขวด ในความเป็นจริง เมื่อดื่มทุกวัน แค่ครึ่งขวด มันไม่เพียงพอ หลังเลิกงานตอนเย็นก็จะมีการดื่มตลอดจนมาวันหนึ่งเกิดอาการหน้ามืดเป็นลมลงไปรู้สักตัวอีกทีคือนอนอยู่ที่โรงพยาบาลแล้ว เพราะตัวเองไม่สามารถคิดอะไรได้แล้ว

ตัดสินใจเลิกเหล้า

ชาคริต เล่าอีกว่า ตอนที่ยังดื่มก็มีคนว่า “ขี้เหล้าหลวง” แต่ก็ทำตัวเหมือนไม่ได้ยินบ้างเพราะเราดื่มอยู่แล้ว เวลาไปไหนมาไหนช่าวบ้านก็จะบอกว่า “ขี้เหล้ามาแหมแล้ว” หมายถึง ขี้เมามาอีกแล้ว เพราะไม่ค่อยมีคนไว้ใจ และไม่ชอบเท่าไหร่นัก ทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับของคนในหมู่บ้าน และในสังคม จนกระทั่งกลับมาคิดว่าจะเลิกดื่มเหล้าแบบจริงจัง ทั้งเรื่องไม่เป็นที่ยอมรับ และเรื่องของครอบครัวด้วย จึงกลับมาคิดว่าควรจะเลิกดื่มเหล้าแบบจริงจัง ก็เลย ตัดสินใจ “หักดิบ” เลิกเหล้า ในระยะเวลาสามเดือนมันจะมีอาการอะไรบ้างช่างมัน อาการเมื่อหักดิบตอนที่หยุดดื่มเหล้า ในช่วงที่หยุดดื่ม ช่วงแรกก็จะมีอาการสั่น อาการนอนไม่หลับ และจะไม่เข้าไปยุ่งกับมันอีก จนสามารถเลิกดื่มเหล้าได้ ซึ่งต้องบอกเลยว่า การหักดิบนั้นอาจจะไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้ ตัวของชาคริตเองหลังจากนั้นก็อยู่ภายใต้ความดูแลของหมอและพยาบาลที่ให้คำแนะนำหลังจากการหักดิบเลิกเหล้า ก็อาศัยการกินข้าวให้อิ่ม ทำเกษตรกรรมเลี้ยงไก่ หากิจกรรมทำเพื่อไม่ให้อยากดื่ม ซึ่งหลังจากสามเดือนที่เลิก ก็รู้สึกด้วยตนเองว่าสุขภาพดีขึ้น สามารถนอนหลับได้อย่างสบาย ร่างกายได้พักผ่อน ไม่มีโรคอะไรตามมาเหมือนตอนที่ยังดื่ม ที่มักจะมีภาะแทรกซ้อนจากโรคและเจ็บไข้ได้ป่วยที่ต้องไปพบหมอ

“ความสุขกายและความสุขใจ”

คือ สิ่งที่ชาคริตได้รับกลับคืนมาจากการเลิกดื่ม การใช้ชีวิตแบบมีความสุขเริ่มกลับมามากกว่าเดิม จากที่ต้องทรมานร่างกายเจ็บป่วยต้องพึ่งพาเหล้าจนติดเป็นเรื้อรัง สุขภาพร่างกายดีขึ้นก็ได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งกระบวนการคนหัวใจเพชร เครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) ร่วมกับโครงการขับเคลื่อนการดูแลผู้มีปัญหาสุราและสุขภาวะโดยชุมชน จากสมาคมฮักชุมชน ซึ่งอยู่ภายใต้การสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จนกระทั่งกลายเป็นที่ยอมรับในสังคม จากที่เคยโดนว่า ขี้เหล้าหลวง ตอนนี้ก็มีแต่คนรักคนชอบ และได้รับการเปิดโอกาสให้เราเข้ามาช่วยงานสังคม

ชาวบ้านก็ทักทายว่า “ผ่อเล๊าะ ไอ่นี้มันเลิกเหล้า แต่ก่อนไอ่คริต บ่อไจ๋คนจะอี้ ผ่อล่อตอนนี้เป็นคนใหม่แล้ว” แปลว่า ดูสิ ไอ้นี่เลิกเหล้าแล้ว เมื่อก่อนไม่ใช่คนแบบนี้ ตอนนี้เปลี่ยนเป็นคนใหม่แล้ว โดยหมายถึงว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นคนใหม่จากคนเดิมที่เคยเห็นเมื่อก่อนนั้น แทบจะมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง คำพูดเหล่านี้เปลี่ยนเป็นกำลังใจอย่างไม่รู้ตัว

ชาคริต สมัยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน (คนซ้ายสุด)

ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะได้มาเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 8 บ้านเกาะกลาง น้อยคนนักที่คนจะเคารพนับถือคนเมา หลังจากเลิกเหล้า ก็ได้มาเป็นอาสา ชรบ.หมู่บ้าน และตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งขณะนั้นมีคุณยุพิน ตนมิตร หรือแม่หลวงยุพิน ที่ชาวบ้านทางภาคเหนือจะเรียกผู้ใหญ่บ้านว่าพ่อหลวงหรือแม่หลวง ก็ได้ให้โอกาส และยังฝึกอาชีพร่วมกับคนในชุมชน คือการเพาะเห็ดนางฟ้าบ้านเกาะกลาง ปลูกผักสวนครัวแปลงเกษตรอินทรีย์ โดยดำเนินการภายใต้ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านเกาะกลาง และดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการสร้างอาชีพเพาะเห็ดเป็นสร้างรายได้ให้กับชุมชนเป็นอย่างมาก

ลาที “ขี้เหล้าหลวง”

ตลอดระยะเวลาที่เลิกเหล้าได้ 9 ปี (พ.ศ.2567) นอกจากนี้ ชาคริต ยังทำกิจกรรมสังคมเป็นตัวอย่างให้กับคนในชุมชน โดยสิ่งไหนที่ไม่ดีเราก็ต้องบอกเตือนคนอื่น เพราะเคยมีประสบการณ์ โดยตรง ซึ่งหากใครยังเลิกไม่ได้ ผมจะใช้วิธีบอกให้เพลา ๆ ลง ลดการดื่ม ลงมา หากมีความอยากที่จะดื่ม ก็ให้กินข้าวแทน เพราะพอเรากินข้าว เสร็จจะรู้สึกอิ่ม พอเห็นเหล้าก็แค่เหล้าเฉย ๆ ความอยากก็จะหายไป พอเห็นคนชวนดื่มเหล้าก็ให้ตอบกลับไปว่าดื่มเลย กินข้าวมาแล้ว ซึ่งการช่วยให้คนอื่นได้ลดละเลิกเหล้า ถือเป็นสิ่งที่ทำเพื่อช่วยเหลือให้คนอื่นได้ กลับมามีความสุขเหมือนตนเองในตอนนี้

ปัจจุบัน (พ.ศ.2567) ชาคริต จินะคำปัน หมดวาระตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแล้ว ได้ทำงานเป็นพนักงานอัตราจ้างที่เทศบาลตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยความที่สุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่ได้ไปโรงพยาบาลบ่อยเหมือนเมื่อก่อน หลังจากที่เลิกเหล้า ได้กลับไปที่โรงพยาบาลที่เคยรับการรักษาตอนที่เลิกเหล้า พยาบาลคนเดิมก็แปลกใจ จำไม่ได้ โดยไม่คิดว่าชาคริตจะเปลี่ยนไปขนาดนี้ กลายเป็นคนที่มีหน้าตาสดใสมากขึ้น และมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง

นอกจากนี้ ยังสามารถเก็บเงิน และมีออมเงิน ช่วยน้องสร้างบ้านหลังใหม่ที่ตนเองอาศัยอยู่อยู่กับน้องและแม่ จากหลังเดิมมีสภาพทรุดโทรม และการที่มีเงินเก็บจากการเลิกเหล้านั้น ยังทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น คนที่เห็นว่าชีวิตตัวเราดีขึ้น มีบ้านหลังใหม่ ก็เริ่มมีความมั่นใจ เชื่อถือว่าทำได้จริง และไม่มีใครต้องมาแบกรับปัญหาของตนเหมือนกับสมัยที่ยังติดเหล้า หรือสมัยยังเป็นขี้เหล้าหลวง

สำหรับคนที่อยากลด ละ เลิก หรือหยุดดื่มเหล้า ชาคริต จินะคำปัน ซึ่งเคยผ่านประสบการณ์การติดเหล้ามาก่อนและสามารถเลิกได้สำเร็จ ได้กล่าวว่า “การเลิกเหล้าเป็นการสร้างความสุขให้กับตัวเอง เพราะทำให้สุขภาพร่างกายและจิตใจดีขึ้น ได้รับการยอมรับจากสังคมอีกครั้ง และยังสร้างความสุขให้ครอบครัว เพราะหลายครอบครัวประสบปัญหาจากการดื่มเหล้า ผมจะยังคงสนับสนุนและเชิญชวนให้คนอื่นเลิกดื่มต่อไป จากประสบการณ์ของผมแสดงให้เห็นว่าการเลิกเหล้าทำให้ชีวิตดีขึ้นจริงๆ และเป็นกำลังใจให้กับทุกคนครับ”

นักสื่อสารสุขภาวะดิจิทัล และ Data Journalism