DRY JANUARY “มกราคมนี้ งดเหล้า ดีต่อใจ ดีต่อสุขภาพ!”
ในช่วงเทศกาลปีใหม่ กิจกรรมหนี่งที่ได้รับความนิยมจนเป็นวัฒนธรรมที่ต้องทำคือการเฉลิมฉลองปีใหม่ ซึ่งเหล้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ ได้กลายเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมที่ต้องมี การดื่มหนักในช่วงปีใหม่ทำให้ร่างกายสะสมของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งตับต้องการเวลาในการกำจัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศสหราชอาณาจักรมีแคมเปญการรณรงค์ “Dry January” หรืองดดื่มเหล้าในช่วงเดือนมกราคม
แคมเปญ “Dry January” เริ่มใน พ.ศ.2554 โดย Emily Robinson ผู้หญิงชาวอังกฤษตัดสินใจงดดื่มแอลกอฮอล์ในเดือนมกราคมเพื่อเตรียมตัวสำหรับการวิ่งฮาล์ฟมาราธอนในเดือนกุมภาพันธ์ ในปี 2555 Emily Robinson ได้เสนอแนวคิด “Dry January” ให้แก่องค์กร Alcohol Concern ในสหราชอาณาจักร และเดือนมกราคม พ.ศ. 2556 Alcohol Concern ก็ได้เปิดตัวแคมเปญ “Dry January” อย่างเป็นทางการ โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้ผู้สนใจหยุดดื่มแอลกอฮอล์เป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งในปีแรกมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 4,000 คน และได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและสาธารณชนอย่างกว้างขวาง
พ.ศ. 2561 Alcohol Concern ได้รวมกับ Alcohol Research UK เพื่อจัดทำแคมเปญ “Dry January” และในปีนี้ Alcohol Change UK ได้เข้ามารับช่วงต่อในการจัดแคมเปญ “Dry January” และตั้งแต่ปี 2562 แคมเปญนี้ได้รับความนิยมในประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย โดยในปี 2563 เฉพาะในประเทศสหราชอาณาจักรมีผู้ร่วมกิจกรรมมากว่า 4 ล้านคน
ผลการวิจัยเรื่องการงดดื่มแอลกอฮอล์ชั่วคราวโดยสมัครใจในช่วง “Dry January” และการบริโภคแอลกอฮอล์ในภายหลัง ของ de Visser, R. O., Robinson, E., & Bond, R. (2016) ชี้ให้เห็นว่า การเข้าร่วมแคมเปญ “Dry January” นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดื่มไปในทิศทางที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น และช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในการปฏิเสธเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้งไม่ก่อให้เกิดผลกระทบย้อนกลับที่ไม่พึงประสงค์ (“rebound effects”) โดยมีเพียงส่วนน้อยมากที่พบว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีการบริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นหลังจากจากจบกิจกรรมนี้
สำหรับประเทศไทยแคมเปญ “Dry January” ยังไม่เป็นที่นิยมกัน แต่จะมีการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา อย่างไรก็ตามแคมเปญ “Dry January” จะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ควรดำเนินการ อย่างน้อยที่สุดคือ ช่วยให้ตับมีเวลาฟื้นตัวหลังจากที่ดื่มหนักในช่วงปีใหม่ และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายหลังจากที่ใช้จ่ายมากในช่วงเทศกาลปีใหม่
การงดเหล้าตามแคมเปญ “Dry January” นอกจากงดดื่มเหล้าแล้ว อาจใช้วิธีการอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น การเข้าไปอยู่ในสังคมของกลุ่มคนที่ไม่ดื่มเหล้า (ทั้งสังคมรอบตัว และสังคมออนไลน์ เช่น กลุ่ม “Sobrink” ใน facebook) การทำกิจกรรมอื่นๆ ทดแทนการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การออกกำลังกาย การทำสวน การทำอาหาร เป็นต้น
ปีใหม่ เป็นช่วงเวลาของการเริ่มต้นสิ่งดีๆ อย่าลืมดูแลสุขภาพของตนเองนะครับ “สุขภาพที่ดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง”
อ้างอิง
de Visser, R. O., Robinson, E., & Bond, R. (2016). Voluntary temporary abstinence from alcohol during “Dry January” and subsequent alcohol use. Health Psychology, 35(3), 281–289. https://doi.org/10.1037/hea0000297