รดา ไชยวรรณ – แม่ครูช่างฟ้อนหน้อย
การฟ้อนเล็บ เป็นศิลปะและวัฒนธรรมการแสดงของล้านนา ที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตและจิตวิญญาณผ่านลีลาท่าฟ้อนอันอ่อยช้อยงดงาม โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้ “จ้างฟ้อน” หรือ “ช่างฟ้อน” จะสวมเล็บทองเหลืองยาวทั้ง 8 นิ้ว ยกเว้นนิ้วโป้ง ทำการฟ้อนตามจังหวะการแห่กลองตึงโนงหรือกลองแอว เป็นความงดงามและเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะการฟ้อนเล็บซึ่งถือเป็นศิลปะการแสดงที่มีรากฐานมาจากประเพณีและวัฒนธรรมของชาวล้านนา ปัจจุบันเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ ภาคีที่ทำงานด้านสุขภาวะ ได้รื้อฟื้นศิลปะการฟ้อนเล็บผ่านกิจกรรมการเรียนการสอนผ่านครูภูมิปัญญาท้องถิ่น เปิดโอกาสให้เยาวชนและผู้สนใจได้เรียนรู้และสืบสานศิลปะการแสดงได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ทั้งสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และมูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านกิจกรรมสำคัญอย่าง “ยอสวยไหว้สา พระญามังราย” และ “ต๋ามผางปะตี๊ดส่องฟ้าฮักษาเมือง” ในช่วงเทศกาลยี่เป็งของจังหวัดเชียงใหม่ การฟ้อนเล็บจึงไม่เพียงเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงผู้คนในชุมชน สร้างความภาคภูมิใจในรากเหง้าวัฒนธรรม และปลูกฝังคุณค่าอันงดงามของศิลปะการแสดงพื้นบ้านให้แก่คนรุ่นใหม่ได้สืบสานต่อไป
แม่ครูช่างฟ้อนหน้อย
การที่จะให้วัฒนธรรมเข้าถึงคนรุ่นใหม่หรือเยาวชนในสมัยนี้ค่อนข้างที่จะเข้าถึงยาก นอกจากคนที่มีทุนทรัพย์ที่พอจะหาไปเรียนด้วยตนเองตามสถาบันการเรียนรู้หรือศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งทำให้เด็กและเยาวชนบางคนอาจจะขาดโอกาสในการเข้าถึง ทางเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่มองว่ากิจกรรมหรืองานประเพณีที่จัดโดยชุมชน ก็จะมีความผูกพันและผูกโยงเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอยู่แล้ว
“แม่ครูหน้อย” เป็นชื่อเปรียบความสามารถของ น้องรดา ไชยวรรณ เยาวชนที่ใช้เวลาในช่วงปิดภาคเรียน มีความสนใจเข้ามาเรียนรู้เรื่องของศิลปะวัฒนธรรมล้านนา ซึ่งเป็นผลผลิตทางกิจกรรมที่ส่งต่อต้นทุนวัฒนธรรมสู่เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ จนปัจจุบันน้องรดา เป็นรุ่นพี่ของเด็กๆและเยาวชนที่เข้ามาเรียนฟ้อนเล็บกับเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ จนเชี่ยวชาญและก้าวขึ้นมาเป็นผู้ช่วยครูสอนฟ้อนให้น้องๆ รุ่นใหม่ จึงได้รับการเปรียบว่าเป็นแม่ครูหน้อยหรือแม่ครูช่างฟ้อนหน้อย ซึ่งคำว่า “หน้อย” นอกจากจะแปลว่า “เล็ก” แล้ว ยังหมายถึง “รุ่นเยาว์” เป็นการเรียกที่สื่อถึงรุ่นเยาว์ ก็คือ แม่ครูรุ่นเยาว์อายุยังน้อยนั่นเอง
พามารู้จักเด็กและเยาวชนคนเก่งอย่างน้อง รดา ไชยวรรณ ปัจจุบัน (พ.ศ.2568) อายุ 16 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวชิรวิทย์เชียงใหม่ และล่าสุดได้รับรางวัลเด็กและเยาวชนดีเด่น ประจำปี 2568 เนื่องในวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2568 เป็นเยาวชนที่มีความสามารถหลายด้าน และได้รับรางวัลมากมาย หนึ่งในความโดดเด่นของน้องรดา คือ การสืบสานวัฒนธรรม เป็นเยาวชนที่มีความสนใจในการฟ้อนพื้นเมืองที่ได้ศึกษาและฝึกฝนตนเองให้มีความรู้ ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้มาจากแม่ครูภูมิปัญญาที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับ และยังสามารถถ่ายทอดการสอนฟ้อนเล็บให้กับเยาวชนรุ่นน้อง จนได้รับนามว่า “แม่ครูหน้อย” ซึ่งเป็นนักเรียนต้นแบบผู้นำการฟ้อนล้านนาของเยาวชนคนรุ่นใหม่ เป็นผู้ถ่ายทอดวัฒนธรรมด้านการฟ้อนของท้องถิ่นเหนือให้แก่ผู้อื่น และยังได้ร่วมแสดงในงานสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่และระดับประเทศมาแล้ว
จุดเริ่มต้นของศิลปะการฟ้อน
ถ้าจุดเริ่มต้นจริงๆของการฟ้อนนั้น ต้องย้อนกลับไปในวันที่แม่พาไปเที่ยว และได้เห็นการรับสมัครเรียนช่างฟ้อนจากเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ จึงลองเข้าไปสมัคร โดยช่วงแรกน้องรดาเล่าว่า “ไม่รู้ว่าเป็นท่าอะไรเลยค่ะ แค่ทำตามที่แม่ครูสอน เห็นท่าไหนก็จำและทำตาม แต่พอโตขึ้นมา กลับกลายเป็นว่าหนูได้มาเป็นคนสอนคนอื่นบ้างแล้ว มันเป็นความรู้สึกที่แตกต่างมาก เพราะตอนนี้เราเริ่มเข้าใจความหมายของแต่ละท่าฟ้อน ซาบซึ้งว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นคือการสืบทอดวัฒนธรรมล้านนาที่มีคุณค่า”
ในแต่ละปี น้องรดาจะมาเข้าร่วมกับเครือข่ายชุมชนเมืองฯ มีคิวการฟ้อนที่สำคัญอยู่สองงานใหญ่ งานแรกคือการฟ้อนเล็บในงาน ยอสวยไหว้สาพญามังราย ตรงกับวันที่ 12 เดือนเมษายนของทุกปี และการฟ้อนเทียนในงานยี่เป็งช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งแต่ละงานก็มีเสน่ห์ไม่เหมือนกัน โดยฟ้อนเล็บจะแสดงตอนกลางวัน ส่วนฟ้อนเทียนจะแสดงตอนค่ำ ซึ่งแต่ละการแสดงมีความพิเศษในตัวเองที่แตกต่างกัน แต่ก็ยังเป็นการสืบสานต่อ
ความหลากหลายวัย
ถ้าใครเคยชมการฟ้อนเล็บในงานยอสวยไหว้สา พระยามังราย และงานต๋ามผางปะตี๊ดส่องฟ้าฮักษาเมือง คงจะเห็นภาพที่น่าประทับใจ โดยเฉพาะช่างฟ้อนหลากหลายวัยที่มารวมตัวกัน ตั้งแต่เด็กอายุ 4 ขวบ ไปจนถึงผู้สูงอายุ กิจกรรมการฟ้อนเล็บคล้ายกับสะพานเชื่อมคนทุกช่วงวัยเข้าด้วยกัน ความรู้สึกของน้องรดามองว่า วัฒนธรรมเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่าย ไม่ว่าจะเด็กเล็กแค่ไหน หรือผู้ใหญ่แล้วก็ตาม ทุกคนสามารถมาร่วมกันได้ โดยเฉพาะบรรยากาศในการเรียนฟ้อน ซ้อมฟ้อน พอได้มาเจอแม่ครูที่เก่งๆ ก็อดคิดไม่ได้ว่าอยากเป็นแบบแม่ครูเขาบ้าง ช่างฟ้อนมีความสวยงดงาม ทำให้เรามีแรงบันดาลใจอยากพัฒนาตัวเองขึ้นไปอีก
จากประสบการณ์มากกว่า 5 ปี ในการฟ้อนเล็บของน้องรดา ทำให้ได้เห็นการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านของผู้คน ทุกปีจะมีน้องๆ หน้าใหม่เข้ามา และบางคนก็แยกย้ายกันไป แต่สิ่งที่ยังคงอยู่คือมิตรภาพที่มีต่อกัน ทุกครั้งที่มีการฟ้อน จะเห็นภาพของการถ่ายทอดวิธีการจากแม่ครูรุ่นพี่ จะคอยสอนคนใหม่ๆที่เข้ามาเรียน และน้องรดาเองก็จะช่วยดูแลเด็กๆ ที่เล็กกว่า และเชื่อมระหว่างวัยผู้ใหญ่ขึ้นมา
“ตอนนี้กลายมาเป็นพี่ที่สอนน้องๆ บ้างแล้ว มันเป็นความรู้สึกที่พิเศษมาก ที่ได้ส่งต่อสิ่งที่เราเรียนรู้มาให้กับคนรุ่นต่อไป”
การฟ้อนเล็บในเครือข่ายฯจึงไม่ใช่แค่การแสดงทางวัฒนธรรม แต่เป็นพื้นที่ที่ทำให้คนต่างวัยได้มาพบกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ พื้นที่สร้างสรรค์และสร้างความทรงจำดีๆ ร่วมกันเหมือนเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีทั้งพี่ น้อง และเพื่อน ทุกคนมาอยู่รวมกันด้วยความรักและสนใจในศิลปะการฟ้อน ซึ่งเป็นมนต์เสน่ห์ของวัฒนธรรมที่สามารถเชื่อมร้อยผู้คนต่างวัยเข้าด้วยกันได้อย่างงดงาม
ความท้าทาย ช่างฟ้อนรุ่นใหม่
การก้าวขึ้นมาเป็นช่างฟ้อนที่ได้รับการยอมรับ ไม่ใช่เรื่องง่าย น้องรดาเล่าว่า ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการแข่งกับตัวเองและมักจะถามตัวเองเสมอว่า ทำยังไงให้วันนี้ดีกว่าเมื่อวาน แต่ก็ไม่ได้กดดันตัวเองมากเกินไป เพราะเชื่อว่าการพัฒนาต้องค่อยเป็นค่อยไป
การจัดสรรเวลาระหว่างการเรียนและการฝึกซ้อมเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย วันจันทร์ถึงศุกร์ ส่วนใหญ่จะให้เวลากับการเรียนเต็มที่ ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ ก็จะมาซ้อมฟ้อนและซ้อมดนตรี บางครั้งช่วงหลังเลิกเรียนก็อาจต้องมาซ้อมเพิ่มซึ่งจะเป็นการซ้อมรวมกันทั้งหมดเหมือนการแสดงจริง โดยเฉพาะช่วงใกล้การจัดงาน แต่ก็พยายามจัดสรรเวลาให้ไม่กระทบกับการเรียน
นอกจากการฝึกฝนทักษะการฟ้อนแล้ว การเข้าใจความหมายและคุณค่าของศิลปะก็สำคัญไม่แพ้กัน อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ตอนเด็กๆ หนูแค่จำท่าฟ้อนและทำตามแค่นั้น แต่พอโตขึ้น เริ่มเข้าใจว่าแต่ละท่ามีความหมาย มีที่มาที่ไป ทำให้การฟ้อนมีชีวิตชีวามากขึ้น”
ความท้าทายอีกอย่างคือการรักษาสมดุลระหว่างการสืบสานวัฒนธรรมกับการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย หนูอยากให้คนรุ่นใหม่เห็นว่าศิลปะการฟ้อนไม่ใช่เรื่องล้าสมัย แต่เป็นสิ่งสวยงามที่ควรค่าแก่การสืบสานและส่งต่อ บางครั้งหนูก็ลองถ่ายคลิปสั้นๆท่าทางฟ้อนแบบง่ายๆลงโซเชียล ลง TikTok ทำให้การฟ้อนดูเข้าถึงและทันสมัยขึ้น แต่ก็ยังคงท่าทางการฟ้อนแบบดั้งเดิมไว้
ช่างฟ้อนในโลกดิจิทัล
สังคมยุคนี้ใช้โซเชียลมีเดียกันเยอะมาก โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ หนูเลยคิดว่า ทำไมเราไม่ลองเอาความสวยงามของศิลปะการฟ้อนมาแชร์ในโลกออนไลน์ดู ตอนช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 กิจกรรมกลางแจ้งก็ถูกงด จึงได้เริ่มลองถ่ายคลิปสั้นๆ ความยาว 2-3 นาที นำเสนอท่าฟ้อนในรูปแบบที่เข้าถึงง่าย มีการฟ้อนเล็บเป็นหลัก บางทีก็เป็นฟ้อนเทียน หรือฟ้อนสาวไหม อะไรก็ได้ที่เป็นวัฒนธรรมไทย พอลงในโซเชียล โดยเฉพาะ TikTok คนที่ไม่เคยสนใจเรื่องพวกนี้ก็เริ่มแวะเข้ามาดู เพื่อที่จะได้เข้าถึงในสังคมออนไลน์ได้มากขึ้น และเมื่อในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งคลิปวิดีโอที่เล่าเรื่องวัฒนธรรมไทยทั้งของภาคเหนือเข้าประกวด และคว้ารางวัลอันดับ 3 ของประเทศจากกระทรวงวัฒนธรรม
ความฝันและเป้าหมาย
ถ้าหาก ณ ตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าตัวเองว่าโตขึ้นจะเป็นอะไร แต่รู้อย่างหนึ่งแน่ๆ ว่าจะไม่ทิ้งการสื่อสารเรื่องวัฒนธรรมไทยแน่นอน แต่หนูเคยคิดอยากเป็นแอร์โฮสเตส แต่ไม่ใช่แค่แอร์โฮสเตสธรรมดานะคะ หนูอยากเป็นแอร์โฮสเตสที่รำสวยที่สุดและร้องเพลงได้
ในอนาคตหนูอยากแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับต่างประเทศให้มากขึ้น น่าจะมีโอกาสได้เผยแพร่ความงดงามของวัฒนธรรมล้านนาและวัฒนธรรมไทยให้ชาวต่างชาติ และในขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของเขาด้วย
นอกจากความฝันแล้ว ยังมีความหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในวงการวัฒนธรรมไทย อยากให้การเข้าถึงศิลปวัฒนธรรมเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน ไม่ใช่แค่กลุ่มเล็กๆ เท่านั้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่สนใจและเข้ามามีส่วนร่วมในการสืบสานวัฒนธรรมมากขึ้นและหลากหลายขึ้น ไม่ว่าอนาคตจะเติบโตไปทางไหน น้องรดากล่าวทิ้งท้ายว่ายังคงเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาและสืบสานวัฒนธรรมอันงดงามนี้ให้คงอยู่ต่อไป
อยากเห็นวันเด็กเป็นอย่างไร
ทุกครั้งที่ถึงวันเด็ก มันทำให้หนูย้อนนึกถึงความทรงจำดีๆ ในวัยเด็ก มันเหมือนเป็นเทศกาลย้อนวัย ที่ทำให้เราได้กลับไปสัมผัสความรู้สึกเป็นเด็กอีกครั้ง ตอนนั้นในวันเด็ก หนูเคยได้รับรางวัลเด็กดีเด่น จากการแสดงในงานวันเด็กด้วยค่ะ แต่ความประทับใจที่สุดกลับเป็นปีที่หนูไม่ได้แสดง เป็นปีที่คุณพ่อพาไปเที่ยวงาน วันนั้นหนูได้เล่นของเล่นทั้งวันเลย ไม่ต้องกังวลเรื่องการแสดง ได้สนุกเต็มที่เหมือนเด็กทั่วไป
วันเด็กในมุมมองของน้องรดา มองว่าวันเด็กมีความสำคัญมากกว่าที่หลายคนคิด มันไม่ใช่แค่วันที่จัดขึ้นมาเพื่อให้เด็กๆ ได้สนุก แต่มันเป็นโอกาสที่เด็กๆ จะได้สร้างความทรงจำดีๆ ร่วมกัน “ถ้าไม่มีวันเด็ก เด็กๆ อาจจะพลาดโอกาสที่จะมีความทรงจำพิเศษในวัยเด็กไป”
ในมุมมองแม่ครูช่างฟ้อนหน้อย ก็มีความหวังอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในอนาคต อยากให้เด็กรุ่นใหม่เข้าถึงศิลปวัฒนธรรมได้ง่ายขึ้น เพราะทุกวันนี้โอกาสในการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม ยังจำกัดอยู่ในวงแคบ อยากเห็นการเปิดกว้างให้ทุกคนได้มีโอกาสเรียนรู้และสืบสานวัฒนธรรมของเรามากขึ้น วันเด็กจึงเป็นโอกาสในการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่ได้เห็นคุณค่าและความงดงามของวัฒนธรรมไทย ผ่านกิจกรรมและการแสดงที่สร้างความประทับใจในช่วงของชีวิต
นอกจากกิจกรรมทางด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นแล้ว น้องรดา ยังมีความสามารถทางด้านดนตรีสากลไม่แพ้กัน โดยเป็นหนึ่งในสมาชิกวงดนตรี La Musica Band ของโรงเรียนวชิรวิทย์เชียงใหม่ ที่ไปคว้าแชมป์การประกวด STOP DRINK MUSIC AWARDS 2024 ที่จัดโดยมูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม เครือข่ายองค์กรงดเหล้า และสามย่านมิตรทาวน์ รวมถึงการได้คว้ารางวัลอื่นๆอีกมากมาย สามารถติดตามรับชมผลงานได้ทาง Youtube ด้านล่างนี้