วันที่ 4 มีนาคม 2566 สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) สสส. ร่วมกับ จังหวัดแม่ฮ่องสอน สภาวัฒนธรรมจังหวัดฯ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน และภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชนจังหวัดแม่ฮ่องสอนจัดเวทีแลกเปลี่ยนนโยบายสาธารณะชาติพันธุ์ ด้านงานบุญประเพณี เทศกาลและการลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยมีผู้ร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน จาก 20 ชาติพันธุ์ 27 กลุ่มพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนการดำเนินงานงดเหล้าและส่งเสริมสุขภาวะในกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มีบริบท มีการออกแบบกิจกรรมและความสำเร็จที่แตกต่างกัน ภายในงานมีกิจกรรมเสวนาการขับเคลื่อนสุขภาวะของกลุ่มชาติพันธ์ผ่านกลไกของ สภาชาติพันธุ์ และการขับเคลื่อนประเด็นเรื่องเหล้าของกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยนายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน มอบหมายให้นายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานในกิจกรรมครั้งนี้ ณ โรงแรมอิมพีเรียล อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
นายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดใหญ่อันดับ 8 ของประเทศไทย แต่มีประชากรเบาบาง มีกลุ่มชาติพันธุ์มากถึง 9 ชาติพันธุ์ 13 กลุ่ม โดยจังหวัดแม่ฮ่องสอนแม้ว่าเป็นจังหวัดที่มีกลุ่มชาติพันธ์มากที่สุด การที่สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการผลักดันประเด็น การสร้างคุณค่าในงานประเพณีวัฒนธรรม ปลอดเครื่องดื่มแอลกอออล์ ซึ่งทางจังหวัดมีความยินดีและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับเต็มที่ ซึ่งจะเกิดเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาการดำเนินงานต่อไป
อาจารย์ประเสริฐ ประดิษฐ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า การจัดเวทีครั้งนี้น่าจะเป็นการรวมของพี่น้องชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดจากเครือข่ายทั่วประเทศ ถึง 27 กลุ่ม ได้แก่ (1) กะเหรี่ยงแดงกะยันกะยอ (2) ไทใหญ่ (จังหวัดแม่ฮ่องสอน) (3) ลีซู (4) ลาหู่ (5) ลเวือะ (6) ปะโอ (7) ไทใหญ่ (8) ม้ง (9) ปกาเกอญอ (จังหวัดแม่ฮ่องสอน) (10) ปกาเกอญอ (จังหวัดเชียงใหม่) (11) โผล่ง (กะเหรี่ยงโปว์) (12) ไทยญวน (น่าน) (13) ไทใหญ่ (แม่สอด) (14) ไทยวน (ลพบุรี) (15) ไทเบิ้ง (16) ลาวแง้ว/ลาวหลวง (17) ไทพวน (18) ผู้ไทกุดหว้า กาฬสินธุ์ (19) ไทยทรงดำ (20) ไทย-รามัญ (มอญ) (21) ลาวเวียง (22) ไทย-กระเหรี่ยง (23) ไทย-ยวน (ราชบุรี) (24) กูย (25) เขมร (26) ลาว และ (27) ภูไท ซึ่งผมขอต้อนรับทุกท่านสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ด้วยความยินดีอย่างยิ่ง (ฮับโหมโจมต้อนข้า)
เราเตรียมสถานที่ดูงานต้อนรับท่าน 3 แห่ง สามประสบการณ์เรียนรู้ แห่งแรกคือบ้านห้วยขานซึ่งโดดเด่นเรื่องการขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีลห้าและการเป็นหมู่บ้านเครือข่ายงานบุญประเพณีปลอดเหล้า แห่งที่สองเป็นการดูงานบ้านผาบ่อง(ผาบ่องโมเดล)ของท่านนายกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งโดดเด่นเรื่องการขับเคลื่อนงานบุญประเพณีปลอดเหล้าในระดับตำบล หมู่บ้านนวัตวิถี ไทใหญ่ทาวส์ และชุมชนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สถานที่สุดท้ายเป็นการดูการจัดงานสังคมเมือง จากชุมชนป๊อกกาดเก่า ส่วนชุมชนต้นแบบการขับเคลื่อนงานปอยส่างลองปลอดเหล้า และงานบุญประเพณีปลอดเหล้าทั้งหมดของตำบลจองคำ
ด้านนายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงาน สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้ากล่าวว่า เมื่อปี 2554 จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีอัตราการดื่ม ติด 10 อันดับแรงของประเทศ ทำให้ สคล.เข้าดำเนินงานรณรงค์งดเหล้าในชุมชน,งานบุญประเพณีและเทศกาลต่างๆ เมื่อปี 2560 อยู่ในอันดับที่ 37 และปี 2564 อยู่ในอันดับที่ 39 ซึ่งลดลงตามลำดับ ส่วนหนึ่ง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการมีการรณรงค์ของภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ช่วยกันขับเคลื่อนงาน ทั้งนี้ทำให้มีพื้นที่ต้นแบบหลายพื้นที่ อาทิ งานปอยสางลอง(ปลอดเหล้า) อ.ปางมะผ้า ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่กฎระเบียบในชุมชน เช่น เจ้าภาพห้ามเลี้ยงเหล้าในงาน ถ้าเจ้าภาพเลี้ยงเหล้าชาวบ้านจะไม่ไปช่วยงาน ห้ามดื่มและนำสุราเข้าไปในสถานที่สำคัญทางศาสนา ห้ามนำสุราเข้าไปในงานศพและงานบุญ รวมถึงงานบุญ ประเพณีห้ามเลี้ยงสุรา เป็นต้น
ความสำเร็จของพื้นที่ต่างๆ ในการลดการดื่มของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เป็นต้นแบบที่ดีที่จะขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ การจัด “เวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การขับเคลื่อนงานบุญประเพณีและค่านิยมในการลดปัจจัยเสี่ยงและส่งเสริมสุขภาวะในพี่น้องชาติพันธุ์” ซึ่งจะมีพี่น้องชาติพันธุ์จาก 20 ชาติพันธุ์ 27 กลุ่ม จากพื้นที่ทั่วประเทศ มาแลกเปลี่ยนบทเรียนและประสบการณ์การทำงานรณรงค์งดเหล้า ซึ่งจะได้นำบทเรียนที่ได้มายกระดับและพัฒนาการทำงานรณรงค์ โดยร่วมกันค้นหาแนวทางและข้อเสนอในการขับเคลื่อนร่วมกัน ทั้งในภาพรวมและในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีกลุ่มชาติพันธุ์มากที่สุด จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งจะให้เกิดการพัฒนาการดำเนินงานในพื้นที่ต้นแบบ รวมถึงเป็นการขยายเรื่องเล่ากระบวนการดำเนินงานและความสำเร็จที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต้นแบบไปสู่กลุ่มชาติพื้นอื่นๆ ในที่ต่างๆ อีกด้วย