เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาภาคใต้บน ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะบวชสร้างสุขนำร่องสู่ความยั่งยืน

วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน 2565 พระสิริคณาจารย์  เจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ นางเรืองอุไร บุญช่วยชูพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้แก่ พระครูสุวรรณโพธิวรธรรม ประธานกรรมการมูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม, นายสุเทพ แก้วประดิษฐ์ นายอำเภอเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช, นางพัทยา ทองเสภี ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครศรีธรรมราช, นางกฤตษญา ตระบันพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช, นายชัยณรงค์ คำแดง ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ผู้จัดการโครงการฯ, และพระสงฆ์ที่เป็นผู้แทนจากวัดทั้ง 3 จังหวัด จำนวน 15 วัด และศูนย์ประสานงานประชาคมงดเหล้าภาคใต้บน หน่วยงานข้าราชการ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นสักขีพยาน พร้อมที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะงานบวชสร้างสุขในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนให้เกิดเป็นรูปธรรม อย่างยั่งยืน

เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาสังฆะเพื่อสังคมภาคใต้บนโดยมี พระมหาบวร ปวรธมฺโม ประธานและผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะงานบวชสร้างสุขภาคใต้ตอนบน ได้กล่าวรายงานโครงการต่อประธานในพิธีว่า ด้วยค่านิยมเรื่องการจัดงานบวชในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก ก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีมหรสพดนตรีฉลอง เต้นยั่วยุ กระตุ้นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จนก่อให้เกิดปัญหาการทะเลาะวิวาท ปัญหาความรุนแรง ฆ่ากันตายในงานบวช สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายต่อชุมชน ระหว่างชุมชนและสังคมได้มีค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาลในการจัดงานบวชแต่ละครั้ง ทำให้เจ้าภาพที่จัดงานบวชแบบเรียบง่าย ประหยัด ถูกต้องตามพระธรรมวินัย กลับถูกมองว่ายากจน ซึ่งถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงพุทธศาสนาของชาวพุทธในระยะยาว และส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมอันดีของการบวชในประเทศไทย เพื่อเป็นการสืบทอพระพุทธศาสนาในวิถีที่เรียบง่าย ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัยในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดชุมพร จึงได้มีการดำเนินโครงการบวชสร้างสุขภาคใต้ตอนบนภายใต้แนวคิด “บวชวิธีใหม่ ยึดพระธรรมวินัย ห่างไกลอบายมุข ชุมชนอุ่นใจ เรียบง่าย ประหยัด ปลอดภัย ห่างไกลโควิด”

ซึ่งมีวัดเข้าร่วมโครงการ จังหวัดละ 5 วัด รวมวัดนำร่องในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนจำนวน 15 วัด ภายใต้การสนับสนุน ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) มูลนิธิ สังฆะเพื่อสังคม และเครือข่ายต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งได้มีการเปิดเวทีทำความเข้าใจวัดที่เข้าร่วมโครงการและมีการดำเนินโครงการไปแล้ว เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะงานบวชสร้างสุขมีความยั่งยืนเป็นรูปธรรม เกิดการบูรณาการกับส่วนงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จึงนำมาสู่การบันทึกข้อตกลงร่วมกันในวันนี้

ด้านนางเรืองอุไร บุญช่วยชูพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวให้การสนับสนุน ในโครงการว่า ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ทางคณะสงฆ์จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกันกับภาคราชการ ในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ งานบวชสร้างสุข ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน โดยการร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง ครั้งนี้ จากการกล่าวรายงานของท่านประธานโครงการ ทำให้ทราบว่า ค่านิยมของการจัดงานบวชในปัจจุบันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จนทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา หลายประการ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาทางด้านสังคม และปัญหาด้านอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งการบวช เป็นการถือครองเพศบรรพชิต ฝึกฝนอบรมตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือที่เรียกกันว่า บวชเรียน นี่เป็นหลักการของการบวชและเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา แต่ที่ผ่านมา ค่านิยมความเชื่อ และมายาคติ ได้ทำให้การบวชได้เปลี่ยนรูปลักษณ์ และแนวปฏิบัติไปเป็นอย่างเห็นได้ชัด เช่น มีการจัดงานใหญ่โต ซึ่งบางครั้งนำไปสู่ปัจจัยเสี่ยง จากการที่ได้รับฟังมาแล้วในข้างต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดีที่ทางมหาเถรสมาคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และภาคส่วนต่าง ๆ ได้ให้ความสำคัญ ในโครงการบวชสร้างสุข ในนามของหน่วยงานราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ยินดีที่จะลงนามในบันทึกความร่วมมือ ในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะงานบวชสร้างสุข พื้นที่ภาคใต้ตอนบน และจะให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าว ให้ประสบผลสำเร็จ เพื่อประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา และสังคมสืบต่อไป

สุดท้ายพระเดชพระคุณ พระสิริคณาจารย์  เจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ให้โอวาสและให้กำลังใจ โดยสรุปใจความสำคัญ ดังนี้

“ สังคมไทยทุกวันนี้ เป็นสังคมที่ย่อหย่อนทางวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก เพราะสังคมไทยเราที่เป็นสังคมพุทธนี้ดูถูกวัฒนธรรมของตัวเอง การบวช เป็นอีกหนึ่งในการดูถูกเหยียดหยามวัฒนธรรมของตัวเอง คือ มีการไปต่อยอด เอาสิ่งที่มันไม่เกี่ยวข้อง สิ่งที่ไม่ดีงามเข้ามาในงานบวช นี่คือปัญหาของประเทศชาติบ้านเมือง ไม่ใช่เฉพาะปัญหาของพระสงฆ์ หรือ ปัญหาของพุทธศาสนา แต่มันเป็นปัญหาสังคม พระสงฆ์เองเป็นเพียง สถาบันเล็กๆ ทางศาสนา ที่เกิดจากสังคม ฉะนั้นแล้วจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ ที่มีบทบาทสำคัญในการวางกรอบกติกา ในการเป็นไปของสังคม จึงจำเป็นที่จะต้องเข้ามาช่วยกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ ซึ่งการขับเคลื่อน งานบวชสร้างสุขนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ยาก เพราะมันเป็นเรื่องที่ทวนกระแสสังคม เราเองจึงเปรียบได้เหมือนกับเม็ดทราย เม็ดเล็ก ๆ ที่จะเข้าไปก่อตัวเพื่อต้านทานกระแสของสังคม แต่ถ้าเม็ดทรายรวมกันหลายๆเม็ด ค่อยๆก่อตัว ค่อยๆขับเคลื่อนไปทีละนิด มันก็จะเป็นทรายกองโตได้ ฉะนั้น จึงขอให้กำลังใจทุกคนทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ให้ขับเคลื่อนงานไปข้างหน้าได้อย่างราบรื่น จงพลันสำเร็จ และขออนุโมทนากับทุกท่านทุกคนที่ทำงานเพื่อพุทธศาสนา เพื่อสังคมประเทศชาติของเรา ”

ข้อตกลงร่วมกัน 5 ข้อที่จะร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้น ดังนี้

ข้อ 1 ให้มีการส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันการขับเคลื่อนงานบวชสร้างสุข “บวชวิถีใหม่ ยึดพระธรรมวินัย ห่างไกลอบายมุข ชุมชนอุ่นใจ เรียบง่าย ประหยัด ปลอดภัย ไกลโควิด” ให้มี ผลเป็นรูปธรรม เกิดงานบวชสร้างสุขปลอดเหล้า ต้นแบบในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดชุมพร

ข้อ 2 ร่วมกันรณรงค์ ส่งเสริม และสร้างการสื่อสารให้ประชาชนได้รับรู้ และเข้าใจในการขับเคลื่อนงานบวชสร้างสุข” บวชวิถีใหม่ ยึดพระธรรมวินัย ห่างไกลอบายมุข ชุมชนอุ่นใจ เรียบง่าย ประหยัด ปลอดภัย ใกลโควิด” ในวงกว้าง

ข้อ 3 ร่วมกันส่งเสริม และสนับสนุนให้ทุกวัดในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดชุมพร เป็นวัดเขตปลอดเหล้า บุหรี่ พนัน ตามกฎหมาย โดยยึดหลักพุทธธรรม

ข้อ 4 ร่วมกันจัดหา บุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือ งบประมาณ ให้เพียงพอต่อการขับเคลื่อนนโยบายโครงการฯ หรือกิจกรรมงานบวชสร้างสุข

ข้อ 5 ให้ความร่วมมือในงานวิจัย งานวิชาการ หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวกับงานบวชสร้างสุข อย่างเต็มที่เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดงานบชสร้างสุขอย่างแท้จริง

ภาพบรรยากาศ