“ไชยปราการ” ข้อมูลจาก อบต.ศรีดงเย็น ระบุว่า ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เมืองไชยปราการเคยเป็นราชธานีของ อาณาจักรโยนกเชียงแสน (ล้านนา) มาก่อน ตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าพรหมกุมาร หรือพระเจ้าพรหมมหาราชพระองค์ได้ทรงโปรดให้สร้างเมืองขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 1599 ตรงบริเวณลำแม่น้ำฝาง ฝากฝั่งด้านทิศตะวันออก ได้ขนานนามเมืองว่า “นครเวียงไชยปราการราชธานี” และพระเจ้าพรหมราชกุมาร ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติ เมื่อปี พ.ศ. 1600 เมืองไชยปราการนี้อยู่ห่างเมืองโยนกเชียงแสน หรือเมืองเวียงไชยบุรี-ศรีเชียงแสน เป็นระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร (คือเมืองเชียงแสนกับเมืองฝางในปัจจุบัน)
เมืองไชยปราการที่กล่าวถึงนี้ ศาสตราจารย์แคมแมน นักสำรวจโบราณวัตถุแห่ง มหาวิทยาลัยมลรัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา ได้ให้ข้อสันนิษฐานว่า เมืองไชยปราการที่พระเจ้าพรหม มหาราชทรงสร้างขึ้นนั้น มิใช่ตัวเมืองฝางในปัจจุบัน แต่เป็นริมแม่น้ำฝางด้านทิศตะวันออกอยู่ในพื้นที่ตำบลแม่ข่า ทางทิศใต้ของอำเภอฝาง (เขตติดต่ออำเภอฝาง-อำเภอไชยปราการ) เมืองไชยปราการตั้งอยู่ห่าง อำเภอฝาง เป็นระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร มีลักษณะคล้ายหัวใจ เมืองไชยปราการเป็นเมืองร้างซึ่ง ปรากฏซากกำแพงเมือง ซุ้มประตู และซากพระราชวังอยู่โดยชัดแจ้ง ส่วนตัวเมืองฝางนั้น เป็นเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ภายหลัง
ต่อมาเมืองไชยปราการได้เสื่อมอำนาจลงเมื่อปี พ.ศ. 1702 พระยามังราย (พ่อขุนเม็งราย) ผู้สร้างเมืองเชียงราย ได้ขยายอำนาจ และสร้างเมืองใหม่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1893 ตรงบริเวณลุ่มแม่น้ำปิง(ระมิงค์) เป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีความมั่นคงแข็งแรงกว่าเมืองอื่น ๆ และพระองค์ได้ขนานเมืองว่า เมืองเชียงใหม่ ดังนั้น เมืองไชยปราการจึงได้ถูกรวมเข้ากับเมืองฝางและอยู่ในเขตอำเภอฝาง
ชมรมคนหัวใจเพชร อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่
จุดเริ่มต้นมาจากศูนย์บ้านสันทราย ซึ่งบ้านสันทรายนั้น มีประวัติเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านตั้งแต่ปี พ.ศ 2480 ตั้งอยู่ตำบลศรีดงเย็น สมัยนั้นมีการต้มเหล้าเสรีเกิดขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ 2485 โดยการต้มเหล้าเกิดขึ้นมานานและได้รับผลกระทบจากหมู่บ้านใกล้เคียง จากที่ชุมชนนี้ไม่เคยดื่มเหล้า ได้หันมาดื่มกันมากขึ้น เนื่องจากมีเทศกาลงานบุญเข้ามาเกี่ยวข้อง การสังสรรค์ การเริ่มรู้จักผู้คนต่างถิ่น การที่เห็นว่าเครื่องดื่มมีราคาถูก หาซื้อได้ง่าย รวมไปถึงสภาพแวดล้อมในบ้าน พฤติกรรมการดื่มของพ่อแม่ จึงเอื้อต่อการดื่มมากขึ้น
ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ชุมชนจึงเริ่มมีผลกระทบเกิดขึ้น ทำให้ครอบครัวเกิดการทะเลาะวิวาท ปัญหาชู้สาว ครอบครัวแตกแยก ชุมชนเริ่มสร้างข้อตกลง กติกาชุมชนขึ้น รวมทั้งการงดเหล้าเข้าพรรษาครั้งแรกคือปี พ.ศ.2554 จึงทำให้เกิดการงดเหล้าตามงานบุญต่างๆ ภายในชุมชน ส่งผลกระทบให้ปัญหาต่างๆภายในชุมชนลดลงอย่างชัดเจน ในปี พ.ศ.2556 และก็ได้ร่วมงานกับหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการรณรงค์งดเหล้า จนเกิดผลมีผู้ที่สามารถงดเหล้าครบพรรษา และพัฒนามาเป็นผู้เลิกเหล้าตลอดชีวิต จนเกิดการก่อตั้งชมรมคนหัวใจเพชรขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2559 โดยรับรองการจัดตั้งชมรมโดย พระครูวรสุตเขต เจ้าอาวาสวัดสันทราย และนายสายชน จันทร์สม ผู้ใหญ่บ้าน บ้านสันทราย
ภาระกิจและกิจกรรมของชมรมฯ
มีกระบวนการที่สร้างการโน้มน้าวจิตใจ ชวน ช่วย เชียร์ ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ ของทางชมรมฯที่จัดขึ้น งดเหล้าและลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง สร้างกิจกรรมให้ความช่วยเหลือ เยี่ยมให้กำลังใจกิจกรรมกับคนแวดล้อม สิ่งแวดล้อม และมาตรการชุมชนการผลักดันให้มีนโยบายงดเหล้าเข้าพรรษาในพื้นที่ อาทิ กิจกรรมวิ่งพักตับ รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือส่วนราชการ หน่วยงาน และสถานประกอบการในอำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่
ปัจจุบัน ชมรมคนหัวใจเพชรอำเภอไชยปราการ มีนายหมื่น ไชยวงค์ เป็นประธานชมรมฯ ซึ่งเป็นบุคคลหัวใจเพชรต้นแบบในการเลิกเหล้า และประสบความสำเร็จในการเป็นแบบอย่างที่ปฏิบัติตนได้จริง
นอกจากนี้ทางชมรมฯ ยังหนุนก่อเกิดให้เกิดการประกอบอาชีพที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมให้เกิดรายได้ อาทิ การปั้นหม้อ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาในหมู่บ้านสันทรายที่มีประวัติการปั้นหม้อมาอย่างยาวนาน รวมถึงอาชีพจักรสาน การเลี้ยงโคนม การเลี้ยงจิ้งหรีด และกลุ่มทำยาหอมคนหัวใจเพชร
ข้อมูล สมควร ทะนะ
เรียบเรียง ศุภกิตติ์ คุณา
ข้อมูลอ้างอิง https://www.sridongyen.go.th/history.php