คุย เที่ยว กิน : วิถีถิ่นริมเจ้าพระยา

ท่องเที่ยวชุมชนปลอดภัย ลดปัจจัยเสี่ยง เลี่ยงโควิด

สสส. และเครือข่ายงดเหล้า ร่วมกับภาคีชุมชนกุฎีขาว จัดกิจกรรม คุย เที่ยว กิน : วิถีถิ่นริมเจ้าพระยาสายเก่า ในย่านกะดีจีน ธนบุรี กรุงเทพฯซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่กว่า 200 ปี เป็นกิจกรรมเที่ยวชมความคลาสสิก เยือนถิ่นชาวโปรตุเกส ชมบ้านวินเทจ มัสยิดเก่า และวัดจีน ที่เป็นสถาปัตยกรรมงานปูนปั้นในยุคกรุงธนบุรี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในความหลากหลายทางวัฒนธรรม 3 ศาสนา(พุทธ คริสต์ อิสลาม) 4 ความเชื่อ (พุทธเถรวาท พุทธมหายาน คริสต์ และมุสลิม) ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่ชวนให้ทุกคนอยากมาสัมผัสเที่ยวชมวิถีถิ่น

ชุมชนกุฎีขาว คลองบางหลวง ย่านกะดีจีน เป็นชุมชนย่านประวัติศาสตร์ที่มีความเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยชุมชนเล็กๆ 6 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนวัดกัลยาณ์ ชุมชนกุฎีจีน ชุมชนวัดประยุรวงศ์ ชุมชนบุปผาราม ชุมชนกุฎีขาว และชุมชนโรงคราม และเป็นหนึ่งในชุมชนเก่าแก่ ที่ชาวไทยมุสลิมกลุ่มใหญ่มารวมตัวกันอยู่บริเวณปากคลองบางหลวง (ถนนอรุณอมรินทร์ตัดใหม่) โดยชุมชนมุสลิมที่นี่ได้ก่อร่างสร้างชุมชนมาพร้อมๆกับการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ มีบรรพบุรุษของชาวชุมชนเป็นแขกจาม (ชาวมุสลิมจากอาณาจักรจัมปาในเขมร ที่เข้ามาเป็นกองอาสาจาม) และแขกแพ (ปลูกแพอยู่) ที่อพยพมาจากอยุธยาเมื่อคราวกรุงแตกชุมชนกุฎีขาว(มัสยิดบางหลวง) และอยู่ร่วมกันมาอย่างสันติสุขตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีจวบจนปัจจุบัน

นายธีรนันท์ ช่วงวิชิต ประชาคมย่านกะดจีน-คลองสาน กล่าวว่า จากจุดเริ่มต้นของการท่องเที่ยวโดยชุมชน เกิดจากเป็นพื้นที่ศึกษาดูงานเป็นลักษณะ Case study ในเชิงของพหุวัฒนธรรม เป็นชุมชนที่มีประชาชนอาศัยอยู่หลากหลายศาสนา หลากหลายทางวัฒนธรรม ที่แต่มีความเป็นอยู่อย่างมีความสุข โดยย่านกะดีจีนจะมีจุดเด่นของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนในเขตเมืองใหญ่ อย่างเช่นกรุงเทพฯ  เนื่องจากเป็นวิถีของความเป็นชนบทที่ตั้งอยู่ในเมือง ง่ายต่อการจัดการ มีความร่วมมือกันเพราะชุมชนอยู่ร่วมกันในรูปแบบของความเป็นชนบทมีความเกื้อกูลกัน มีกระบวนการของการเรียนรู้ร่วมกันในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การประชุมกลุ่มย่อย  การพูดคุยอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ การใช้ความสุขเป็นตัวชี้วัดในการจัดการแทนเงินทอง ซึ่งเป็นการอยู่ร่วมกันโดยปราศจากความขัดแย้งของคนในชุมชน

สำหรับมัสยิดบางหลวง เป็นสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบคล้ายพระอุโบสถและพระวิหารทรงไทย “หนึ่งเดียวในโลก” ซึ่งเป็นรูปแบบพระราชนิยมในสมัยนั้น สันนิษฐานกันว่าได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง และสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3  โดยอาคารมีการประยุกต์และเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้สอยรวมถึงการประดับตกแต่งที่เหมาะสมและสอดคล้องกับท้องถิ่น

นางสาวมาลัย มินศรี ผู้ประสานงานวัฒนธรรมสร้างสุขท่องเที่ยวปลอดภัย กล่าวว่า การจัดงาน “คุย กินเที่ยว วิถีถิ่นริมเจ้าพระยา (สายเก่า)” ครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนปลอดภัย ลดปัจจัยเสี่ยง เลี่ยงโควิด เป็นการจัดการท่องเที่ยวการกุศล เพื่อหารายได้เข้าศูนย์จริยธรรมคุณธรรมมัสยิดบางหลวง เป็นการบริหารจัดงานท่องเที่ยว โดยเน้นให้ชุมชนรวมตัวกันจัดการด้วยตนเอง เนื่องจากต้องการเผยแพร่ให้นักท่องเที่ยว เกิดความเข้าใจในวัฒนธรรมของชุมชนต่างๆ และที่ชุมชนกุฎีขาวเป็นชาวมุสลิม ซึ่งจะเป็นการสื่อสารวัฒนธรรมของชาวมุสลิม ซึ่งภายในงานจะมีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย อาทิ กิจกรรมภาพเก่าเล่าเรื่อง ล่องเรือชมสองฝั่งคลองบางหลวง(เจ้าพระยาสายเก่า) ชมนิทรรศการเพื่อการแสวงหาความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมมุสลิม ตั้งแต่เปลนอน จนกระทั่งถึงหลุมฝังศพ มีลานวัฒนธรรมชุมชน Street Art และชมการแสดงลิเกฮูลู กระบี่-กระบอง กลองรำมะนา ลิ้มลองรสชาติของเครื่องดื่ม และอาหารวิถีถิ่น  ทั้งนี้มีการประกวด “ของกินมุสลิมฝั่งธนฯ : ซุปหางโค และยังมีเวทีเสวนา “ศาสตร์/ศิลป์ในแขก” เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ สำหรับมัสยิดบางหลวง เป็นสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบคล้ายพระอุโบสถและพระวิหารทรงไทย หนึ่งเดียวในโลก ซึ่งเป็นรูปแบบพระราชนิยมในสมัยนั้น สันนิษฐานกันว่าได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง และสร้างขึ้นใหม่ โดยอาคารมีการประยุกต์และเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้สอยรวมถึงการประดับตกแต่งที่เหมาะสมและสอดคล้องกับท้องถิ่น ซึ่งยังคงเก็บรักษาไว้เพื่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสืบต่อไป

ซึ่งการเที่ยวชมงานครั้งนี้ ทางผู้จัดมีมาตรการดูแลความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว ผู้มาเที่ยวชมงาน โดยก่อนเข้างานขอให้นักท่องเที่ยงแสดงหลักฐานผ่านการฉีดวัคซีนมาเรียบร้อยแล้ว และลงทะเบียน ไทยชนะ พร้อมกับการวัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ ตามมาตรการทางสาธารณสุขเพื่อความปลอดภัย

นักสื่อสาร องค์กรสุขภาวะ