
ค่าใช้จ่ายในงานศพ จากเรื่องคนตาย กลายเป็นเรื่องคนเป็น

ในสังคมไทยตั้งแต่การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ล้วนแล้วแต่มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งนั้น และจากกระแสที่พูดถึงในสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในงานศพในภาคอีสานนั้น มีการใช้จ่ายหมดไปหลายแสนบาท ในประเด็นงานศพนั้น ไม่เพียงแต่เป็นพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือนการแสดงความกตัญญูและความเคารพต่อผู้ที่จากไป เป็นโอกาสสุดท้ายที่ลูกหลาน ญาติมิตร และผู้เคารพนับถือจะได้ร่วมแสดงความอาลัยและส่งผู้เสียชีวิตสู่สัมปรายภพอย่างสมเกียรติ
ประเพณีงานศพในประเทศไทย จะมีการจัดการตามประเพณีความเชื่อ ตามศาสนา ที่แตกต่างกันไป ส่วนใหญ่จะมีรากฐานจากความเชื่อทางพุทธศาสนา ที่ว่าด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิตจะช่วยให้ดวงวิญญาณได้ไปสู่สุคติภพ จึงทำให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตพยายามจัดงานศพอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้จะต้องใช้เงินจำนวนมากก็ตาม
ในปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพในประเทศไทย มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคอีสานและภาคเหนือ ที่มีความเชื่อเรื่องพิธีกรรมการจัดงานศพในชุมชนที่สืบทอดกันมา โดยค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยของการจัดงานศพในประเทศไทยอยู่ระหว่าง 80,000 ถึง 200,000 บาท ซึ่งนับว่าเป็นภาระทางการเงินที่หนักหน่วงสำหรับครอบครัวส่วนใหญ่ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ครอบคลุมตั้งแต่ค่าโลงศพ ค่าเช่าศาลาวัด ค่าพิธีกรรมทางศาสนา ค่าดอกไม้ ค่าอาหารเลี้ยงแขก ไปจนถึงค่าใช้จ่ายในการฌาปนกิจ ซึ่งมีมูลค่าต่างกันไปตามความต้องการและฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามความเชื่อในแต่ละภาคหรือตามแนวทางปฏิบัติที่สืบทอดต่อกันมา

ความเชื่อการจัดงานศพ
พูดถึงความเชื่อการจัดงานศพนั้น บทความนี้ผู้เขียนเอง อาจจะยกประเด็นข้อมูลเกี่ยวกับความเชื่อทางภาคเหนือและภาคอีสานมาเป็นประเด็นหลัก ซึ่งเป็นภาคที่ถูกพูดถึงเรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพที่สูง โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนชนบท ที่ฐานะเศรษฐกิจของครอบครัวไม่ค่อยดีนัก
- ความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกรรมงานศพของชาวพุทธล้านนา
การศึกษาแนวคิดเชิงวัฒนธรรมในการสร้างปราสาทศพของชาวพุทธล้านนาโดยพระมหาจรัญ กันธิมา (2558) แสดงให้เห็นว่า ชาวพุทธล้านนามีรูปแบบพิธีการจัดงานศพแบ่งเป็น 2 ประเภทตามลักษณะการตาย คือ ตายดี (ตายตามธรรมชาติ) จะจัดการศพด้วยวิธีการเผาโดยมีขั้นตอนพิธีกรรมอย่างพิถีพิถัน ส่วน ตายร้าย หรือ ตายโหง จะใช้วิธีการฝัง โดยไม่มีพิธีกรรมทางศาสนาครบถ้วนเหมือนงานศพของคนตายดี
ปราสาทศพล้านนามีที่มาจากความเชื่อผสมผสานระหว่างพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นแกนกลางของจักรวาลตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ขณะที่พระพุทธศาสนามีส่วนในเรื่องพิธีกรรมของสงฆ์ แม้ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเริ่มทำปราสาทศพขึ้นเมื่อใด แต่พงศาวดารโยนกบันทึกว่า การใช้วิมานหรือบุษบก ซึ่งเป็นต้นแบบของปราสาทศพในปัจจุบัน มีมาตั้งแต่ปลายสมัยราชวงศ์มังรายที่ครองเมืองเชียงใหม่

แนวคิดเชิงวัฒนธรรมในการจัดงานศพของชาวล้านนาเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จากเดิมที่เป็นกิจกรรมของเครือญาติ หมู่บ้านและชุมชน กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจขายโลง ขายปราสาทศพ ขายพวงหรีด ธุรกิจของกลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ และกิจกรรมซื้อขายการจัดการพิธีกรรม อย่างไรก็ตาม พัฒนาการงานศพของชาวล้านนาในสังคมสมัยใหม่ยังคงมีแนวโน้มการพัฒนารูปแบบการท้าทาย การประชันขันแข่ง การย่อส่วน และไม่กล้าปฏิเสธบรรทัดฐานหรือประเพณีดั้งเดิม ทั้งยังรักษาค่านิยมการใช้ปราสาทศพ การลากปราสาทศพในพิธีปลงศพ รวมถึงประเพณีการตานตูบ หรือ ตานเฮือนผี ให้แก่ผู้ตายสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ความเชื่อเชิงวัฒนธรรมในการสร้างปราสาทศพของชาวพุทธล้านนาเป็นมรดกทางภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน สะท้อนด้านความกตัญญูกตเวที ชาวพุทธล้านนามีคติความเชื่อว่าการสร้างปราสาทศพให้แก่ผู้วายชนม์เป็นการแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทิตาธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา รวมถึงเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็แสดงความกตัญญูต่อบรรพชน ครั้นล่วงลับดับสังขารก็ยกย่องเชิดชูเกียรติผ่านพิธีกรรม
วัฒนธรรมของคนล้านนาเกี่ยวกับพิธีศพเป็นความเชื่อที่ฝังรากลึกในวิถีชีวิตของคนเมืองมานานนับร้อยปี เมื่อมีผู้เสียชีวิตจะต้องจัดงานศพเพื่อไว้อาลัยอย่างสมเกียรติ ลักษณะเด่นที่แตกต่างจากพิธีศพภาคอื่นคือ การจัดแต่งปราสาทใส่ศพประดับประดาด้วยดอกไม้สดหรือดอกไม้แห้งให้สวยงาม เพื่อยกย่องผู้ตายให้ได้ขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์ชั้นฟ้า
- ความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกรรมงานศพของชาวพุทธภาคอีสาน
พิธีศพของชาวพุทธภาคอีสาน จากการศึกษาวิเคราะห์ปรัชญาในงานศพของชาวพุทธจังหวัดร้อยเอ็ด โดย พระครูปลัดรังสรรค์ คุณสาโร (ตุ้มม่วง), พระครูภาวนาโพธิคุณ, จรัส ลีกา, พระมหาประทีป อภิวฑฺฒโน และ พระมหาจิณกมล อภิรตโน (เป็นสุข) ได้กล่าวไว้ว่า ตามประเพณีที่ทำสืบต่อกันมาคือ เมื่อมีคนตายลงญาติจะต้องอาบน้ำศพ แต่งตัวให้ศพ และมัดตราสังตามประเพณีจากนั้นนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีกรรมทางพุทธศาสนาด้วยการชักอนิจจา ซึ่งเหมือนกับพิธีบังสุกุลของภาคกลาง ระหว่างนั้นต้องหาไม้มาทำโลงศพ ต้องทำพิธี เซ่น โลงด้วยเครื่องเลี้ยงผี เป็นต้น ซึ่งการกระทำเช่นนี้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติที่ทำสืบต่อกันมาของคนอีสาน แต่ขั้นตอนบางอย่างอาจมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเพณีของแต่ละท้องถิ่น
ส่วนการรักษาศพตามประเพณีของคนอีสานในสมัยก่อน ไม่นิยมเก็บศพไว้บ้านนาน เพราะจะทำให้ศพเน่าส่งกลิ่นเหม็นเนื่องจากในสมัยนั้นไม่มียาฉีดกันเน่า น้ำแข็งก็ไม่มีชาวบ้านจึงใช้แต่ปูนขาว และยาสูบรองศพ หรือโปรยไว้ข้างศพ ถ้าหาหมอมนต์ได้ก็ขอให้หมอมาเป่ามนต์กันเน่าให้คนที่ฐานะดีอาจเก็บศพไว้สามวันหรือห้าวัน ซึ่งถ้าเก็บไว้นานถึงขนาดนี้กลิ่นศพจะแรงขึ้นตามลำดับ ทนกันแทบไม่ไหว แต่ชาวบ้านก็ไปช่วยงานกันเต็มบ้าน เพราะเห็นแก่คนตายหรือเจ้าภาพ ส่วนคนจนอาจเก็บศพไว้ที่บ้านพอให้ข้ามคืน เสร็จแล้วยกศพไปป่าผีหลอกหรือป่าช้าก็จะเผาเลย
สำหรับคนที่ตายเป็นผีตายโหง หรือผีตายทั้งกลม และเป็นผีทารกคนอีสานไม่นิยมเผาผีทารกใส่ลงหม้อฝังดินได้เลย ส่วนผีตายโหงกับผีตายทั้งกลมจะฝังดินไว้นานนับสิบปีถึงจะขุดขึ้นมาเผาเชื่อว่าถ้าเผาแล้วลูกหลานอาจตายด้วยเหตุเดียวกัน ในระหว่างที่เก็บศพไว้ที่บ้าน จะมีการ“งันเรือนดี” คือชาวบ้านจะมาอยู่เป็นเพื่อนเจ้าของบ้านแต่สำหรับคนยากคนจน อาจทำงันเรือนดีเพียงคืนเดียว ทั้งนี้สุดแท้แล้วแต่เจ้าภาพหรือญาติผู้ตาย เมื่อเผาศพเสร็จแล้วก็จะต้องเก็บกระดูก มีขั้นตอนไม่แตกต่างจากภาคกลางมากนักต้องนิมนต์พระสงฆ์ไปชักอนิจจา ใช้ไม้เขี่ยกระดูกให้เป็นรูปคน หันศีรษะไปทางทิศตะวันตกก่อน แล้วเซ่นไหว้เวลาเขี่ยกระดูกต้องระมัดระวังไม่ให้สัมผัสกระดูก เชื่อว่าถ้าโดนเข้าไปจะกลายเป็นคนมือร้อน ปลูกอะไรไม่ขึ้น หลังจากนั้น ใช้ไม้เขี่ยกระดูกให้เป็นรูปคน หันศีรษะไปทางทิศตะวันออกเซ่นไหว้อีกครั้ง แล้วเอากระดูกใส่หม้อดินนำไปฝากไว้ที่วัด โดยส่วนใหญ่จะเอาหม้อดินนั้นฝังดิน นำเสาต้นเล็กๆ ปักตรงที่วางหม้อ ให้เสาโผล่พ้นดินสูงประมาณเอว บางคนก็นำหม้อดินนี้ไปฝากพระสงฆ์ที่สนิท พระท่านก็เก็บไว้บนกุฏิบ้าง เก็บไปบนศาลาวัดบ้าง นานไปหาญาติไม่พบ พระท่านก็เอาไปวางไว้ตามโคนต้นโพธิ์หรือฝังดินให้สำหรับเถ้าถ่าน และกระดูกส่วนอื่นที่ไม่ต้องการก็นำฝังดิน เวลาฝังต้องเอาด้ายขาวโยงจากก้นหลุม ให้โผล่พ้นขึ้นมาเหมือนกับการฝังศพ บางคนนำไม้ไผ่ปักบนหลุม หรือนำธงที่ทำด้วยกระดาษปักติดไว้ด้วยเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้จำง่ายขึ้น

จากเรื่องของคนตาย
จึงกลายเป็นเรื่องของคนเป็น
เรื่องของคนเป็นที่ว่า ก็คือเรื่องค่าใช้จ่าย ดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้วนั้น จากประเด็นที่เป็นกระแสในสังคมออนไลน์ กรณีมีผู้ใช้เฟซบุ๊กหญิงรายหนึ่ง ภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.ศรีสะเกษ ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2568 โดยเล่าถึงเรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพกว่า 300,000 บาท ขณะที่ได้รับเงินใส่ซองช่วยเหลือสำหรับงานดังกล่าวประมาณ 36,746 บาท ชาวบ้านมาร่วมทำบุญหลักสิบถึงหลักร้อยบาท แต่เจ้าภาพต้องจัดเตรียมอาหารเครื่องดื่มมาคอยดูแลแบบจัดเต็ม ตั้งแต่ที่มารดาเสียชีวิต ก็มีการล้มหมู ซื้อเหล้า ขอเงินเติมน้ำมันเพื่อไปขนเต็นท์ โต๊ะ และจิปาถะ หลังเสร็จงานศพทำให้ต้องเป็นหนี้กว่า 50,000 บาท ยังไม่พอ ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมายังมีญาติมาสอบถามถึงการจัดทำบุญอุทิศส่วนกุศลอีกครั้ง (เดลินิวส์:https://www.dailynews.co.th/news/4653152) นอกจากนี้ยังมี รีวิว “รายจ่าย” งานศพภาคอีสาน หมดไป 3 แสน (ข่าวสด: https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_9320918)
ต้นทุนการจัดงานศพ
การเตรียมหาเงินเพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายในงานศพแต่ละครั้ง จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก โดยเฉพาะการบำเพ็ญกุศลศพที่วัดใหญ่ในเมืองต่างๆ เมื่อมีการตายเกิดขึ้น ญาติพี่น้องต้องหาเงินมาใช้จ่ายล่วงหน้า แต่ได้เงินจากการช่วยงานของเพื่อนพ้องมาช่วยงานศพเพียงเล็กน้อย ไม่เพียงพอต่อการจัดพิธีบำเพ็ญกุศลศพ
สำนักข่าวอิศรา (2559) กล่าวถึงค่าใช้จ่ายในงานศพว่า “งานศพจะมีหลายราคา ตั้งแต่หลักหมื่นต้นๆ ไปจนถึงหลักแสนก็มี คนเขาเยอะ พอคนเยอะเขาใช้ของเยอะ ส่วนหนึ่งดูที่แขก หรือสวดนานวัน บางคนสวด 5 คืน 7 คืน ค่าใช้จ่ายก็จะเยอะขึ้น ทั้งเรื่องอาหาร ค่าแรง ส่วนการฝากศพวัดจะมีโกดัง ฝากไว้ร้อยวันก็ได้ เสร็จแล้วก็บริจาคตามศรัทธา ตรงนี้วัดไม่ได้กำหนดราคาว่าต้องจ่ายเท่าไหร่” เป็นการมองต้นทุนการจัดงานศพในแต่ละครั้ง หากเป็นวัดในต่างจังหวัด หรือนอกเมือง ลูกหลาน หรือญาติพี่น้อง หรือเพื่อนบ้านมาช่วยกันจัดงานบำเพ็ญกุศลศพเป็นแผนกต่างๆ ตามธรรมเนียมประเพณีนิยมตามความชำนาญ
โดยชาวบ้านในภาคเหนือและภาคอีสาน ถือว่ายังมีความเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน แต่การจัดพิธีบำเพ็ญกุศลศพก็ยังใช้จ่ายสูง จึงนำมาสู่การสร้างค่านิยมใหม่ในสังคมอีสานว่า “ทำไมพ่อแม่ต้องมาเตรียมตัวก่อนตาย” ถือเป็นคำตอบเชิงสังคมวัฒนธรรมสมัยใหม่ เพื่อมิให้ลูกหลานต้องมาลำบากกับพิธีกรรมหลังความตายแห่งตนเอง
สิ่งของเครื่องใช้ประกอบพิธีกรรมงานศพ
เมื่อมีการตาย หรือสูญเสียชีวิตเกิดขึ้นในครอบครัวแล้ว ย่อมยังความโศกเศร้าเสียใจมาสู่ลูกหลาน หากตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่บ้านเรือน ลูกหลานหรือญาติพี่น้องจะต้องช่วยกันจัดหาสิ่งของเครื่องใช้มาประกอบพิธีกรรมงานศพ
ในภาคเหนือและภาคอีสาน ครอบครัวอาจจะใช้สิ่งของพิธีกรรมจากทางวัดทั้งหมด เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพ เพียงแต่จัดหาซื้อโลงศพสำเร็จมาใส่ หรืออาจจะซื้อไม้อัดและไม้นิ้วมาต่อโลงศพกันเอง แต่ในปัจจุบันนิยมซื้อโลงสำเร็จมาใช้ใส่ศพกันมากที่สุด ยกเว้นครอบครัวที่มีฐานะยากจนสุด จึงจะไปขอรับบริจาคโรงศพจากทางวัด หรือสมาคมการกุศลต่างๆ
ในปัจจุบันภาคอีสาน บุคคลที่มีฐานะทางเศรษฐกิจครอบครัวดี ลูกหลานมักนิยมจ้างเหมาร้านรับทำโลงศพ หรือร้านรับจัดตกแต่งงานศพมาเป็นชุดเฉพาะงาน ส่วนมากนิยมตั้งศพบำเพ็ญกุศล 2-3 คืน หากจัดบำเพ็ญกุศลศพเกิน 3 คืน ค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้นไปอีก
ในภาคเหนือและภาคอีสาน ทางร้านที่รับจัดงานศพตั้งราคาสิ่งของเครื่องใช้ประกอบพิธีกรรมงานศพอยู่ 3 ชุด/ต่องาน ได้แก่ สิ่งของเครื่องใช้ชุดใหญ่ราคา 20,000 บาท สิ่งของเครื่องใช้ชุดกลางราคา 7,000 บาท และสิ่งของเครื่องใช้ชุดเล็กราคา 3,000-4,000 บาท ซึ่งสิ่งของเครื่องใช้ในพิธีบำเพ็ญกุศลศพ ประกอบด้วย โลงศพ ปราสาทศพ(ในภาคเหนือ) ดอกไม้ประดับ ดอกไม้จันทน์ ของชำร่วย และพลุ หรือประทัด (จุดตั้งแต่บ้านถึงเผาศพ) พร้อมทั้งรถขนศพสู่เมรุด้วย
ทั้งในภาคเหนือและภาคอีสาน หากเจ้าภาพต้องการสิ่งของในพิธีกรรมมากกว่านี้ เช่น ดอกไม้สด ทางร้านจะคิดอีกราคาหนึ่ง ขึ้นอยู่กับกลไกการตลาดและราคาดอกไม้ในแต่ละช่วงฤดูกาล ซึ่งสิ่งของเครื่องใช้ในพิธีบำเพ็ญกุศลศพนี้ ยังไม่รวมชุดสังฆภัณฑ์ที่จะนำมาถวายพระสงฆ์อีกที่เจ้าภาพจะต้องจัดหามาใช้ประกอบพิธีกรรมเอง ลักษณะดังกล่าวเป็นการจัดพิธีกรรมงานศพที่พบเห็นได้ทั่วไปในชุมชนภาคเหนือและภาคอีสานในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังไม่รวมค่าจัดไฟ เครื่องเสียง รวมถึงมหรสพการแสดงต่างๆ
อาหารการกินที่เลี้ยงดูแขกในงาน
เมื่อมีคนตายเกิดขึ้นในครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง ก็จะมีแขกญาติมิตร หรือเพื่อนบ้านเข้ามาร่วมงานพิธีบำเพ็ญกุศลศพ หรือมาร่วมแสดงความไว้อาลัยแก่ผู้ตาย หรือวายชนม์ หรือมาเพราะความใกล้ชิด หรือเพื่อนพ้องที่สนิทกับผู้ตาย หรือกับญาติของผู้ตาย ถือเป็นหน้าที่ของเจ้าภาพจะต้องจัดเตรียมหาอาหารมาเลี้ยงแขกประจำวัน
ในภาคเหนือและภาคอีสาน หากเป็นพื้นที่ในตัวเมือง ค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารของเจ้าภาพก็จะสามารถควบคุมได้ แต่ถ้าหากเป็นหมู่บ้าน หรือชุมชนนอกตัวเมือง เจ้าภาพไม่สามารถควบคุมเรื่องอาหารเลี้ยงแขกได้ ถือเป็นปัญหาทางสังคม โดยเฉพาะภาคอีสาน เกี่ยวกับเรื่องชีวิตหลังความตายนำมาสู่คำว่า “คนตายขายคนเป็น”
อาหารเลี้ยงแขกในปัจจุบัน มีทั้งอาหารหวานคาวถวายพระสงฆ์ อาหารเลี้ยงแขกในงานประจำวัน และอาหารเลี้ยงแขกหลังการสวดพระอภิธรรม ยิ่งเจ้าภาพตั้งศพบำเพ็ญกุศลศพหลายวันค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารยิ่งสูงมาก มีทั้งค่าเนื้อหมู เครื่องปรุง ผัก ผลไม้ น้ำอัดลม น้ำเปล่า เหล้า เป็นต้น
บางครั้งจัดงานบำเพ็ญกุศลศพเสร็จแล้วเจ้าภาพ หรือลูกหลานยังไม่สามารถหาเงินมาใช้จ่ายหนี้สินจัดงานศพได้หมดก็มี ถือเป็นผลสะท้อนชีวิตหลังความตาย ที่พ่อแม่ต้องเตรียมจัดหาเงินทุนไว้ใช้จ่ายชีวิตหลังความตายเพื่อการจัดงานศพตนเอง เพื่อมิให้สังคมเพื่อนบ้านด้วยกันมาวิภาษณ์ได้ว่า แม้แต่ตายแล้วลูกหลานยังไม่มีเงินจัดงานศพให้ได้ ตอนยังมีชีวิตอยู่ทำไมไม่รีบหาสะสมเงินทองไว้
ข้อมูลจาก สกว. การวิจัยท้องถิ่นประเด็นเรื่องการจัดการหนี้สิน โดยนายชาญ อุทธิยะ กล่าวถึงประเด็นเรื่องหนี้สิน และการนำเครื่องมือวิจัยมาใช้ คือ เรื่องของบัญชีครัวเรือน ที่ต้องจดบันทึกทุกอย่างที่จ่ายออกไป จากข้อมูลของเครื่องมือพบว่า หนึ่งในเงื่อนไขของการก่อเกิดหนี้สิน คือ สินค้าที่ไม่มีความจำเป็น หรือสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เหล้า เบียร์ และบุหรี่ โดยมีข้อมูลวิจัยไปจัดทำแก้ไขจัดระเบียบสังคม ด้วยการงดเหล้าในงานศพ ที่หมู่บ้านดง ตำบลนายาง อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง เริ่มดำเนินการครั้งแรกในจังหวัดลำปาง ในปี พ.ศ. 2551
การมอบทุนหรือการสนับสนุน
กับองค์กรหรือหน่วยงานในท้องถิ่น
ผู้เขียนเองเคยไปร่วมพิธีงานศพในภาคเหนือและภาคอีสาน นอกจากค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพตามที่กล่าวมาแล้ว ยังมีประเพณีการมอบทุนหรือการสนับสนุนให้กับองค์กรหรือหน่วยงานในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับงานศพอีกด้วย
ในชุมชนภาคเหนือและภาคอีสาน ก่อนการฌาปนกิจศพที่สุสาน เจ้าภาพมักจะต้องมีการมอบทุนหรือบริจาคทรัพย์สินให้กับองค์กรสาธารณประโยชน์ในท้องถิ่น เช่น โรงเรียน กลุ่มแม่บ้าน หรือกลุ่มต่างๆ โดยเงินบริจาคนี้จะถูกใช้ในการบำรุงกลุ่ม เป็นทุนการศึกษา พิธี หรือเป็นค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการจัดงาน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ เพื่อเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้วายชนม์ ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายอีกส่วนหนึ่งที่เจ้าภาพต้องคำนึงถึงในการจัดงานศพ ซึ่งทางเจ้าภาพเองมีสิทธิ์ที่จะทำในส่วนนี้หรือไม่ทำก็ได้ ในมุมมองที่ถูกสะท้อนถึงบ้างก็มองว่าเป็นการเอาภาพลักษณ์แล้วแต่เจตนาและฐานะของเจ้าภาพอีกที
นอกจากนี้ ในหลายชุมชนของภาคเหนือและภาคอีสาน ยังมีการตั้งกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ หรือกองทุนสวัสดิการชุมชน ที่เจ้าภาพจะต้องมีการมอบทุนสนับสนุนตามกฎระเบียบที่ตั้งไว้ เช่น การบริจาคเงินเข้ากองทุนช่วยเหลือผู้ยากไร้ในหมู่บ้าน หรือกองทุนสงเคราะห์ผู้สูงอายุ การมอบทุนหรือสนับสนุนองค์กรในท้องถิ่นเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการจัดงานศพในภาคเหนือและภาคอีสานที่มีการปฏิบัติส่งต่อมาอย่างยาวนาน ซึ่งแม้จะเป็นภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับเจ้าภาพ ในปัจจุบันมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นการแสดงถึงความกตัญญูต่อผู้ล่วงลับและเป็นการสร้างบุญกุศลแก่ผู้ตาย ตามความเชื่อของท้องถิ่น
การถวายพระสงฆ์
ในสังคมไทย ความเชื่อชีวิตหลังความตาย “ทำบุญกับพระถึงจะได้บุญ ญาติผู้ตายถึงจะรับส่วนกุศลได้” ค่านิยมการบำเพ็ญกุศลศพเจ้าภาพ หรือลูกหลานจะต้องนิมนต์พระสงฆ์ให้ได้จำนวนมากที่สุดเท่าที่จะหาได้ ปัจจุบันนิยมถวายปัจจัยไทยธรรมในเทศนาธรรมหน้าศพ หรือสวดพระอภิธรรม หรือสวดสังคหะหรือสวดมาติกาบังสุกุล ธรรมเนียมพิธีกรรมบำเพ็ญกุศลศพเหล่านี้ลูกหลาน หรือญาติพี่น้อง พยายามจะจัดงานศพให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขึ้นอยู่ที่ฐานะครอบครัวเป็นสำคัญ
ในวัฒนธรรมของภาคเหนือและภาคอีสาน ค่าใช้จ่ายถวายพระสงฆ์ก็ไม่ได้น้อยไปกว่าค่าใช้จ่ายอื่นๆ อย่างที่เข้าใจกัน เป็นหน้าที่ของเจ้าภาพจะต้องจัดหาเงินและสังฆทานมาถวายพระสงฆ์ ทั้งค่าใช้จ่ายมัคนายก พ่อหนาน (ผู้นำทางพิธีกรรม) และค่าสัปเหร่อ (ผู้ทำพิธีเผาศพ) รวมทั้งค่าบำรุงเมรุเผาศพ หรือบางพื้นที่มีการจุดประทัด ไฟฟู่ที่ใช้ในงานพิธีกรรมเผาศพ ถือเป็นค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ไม่ต่างจากสิ่งของเครื่องใช้ในพิธีกรรมงานศพต่างๆ เช่นกัน

ความตายเป็นธุรกิจ
ความตายในความเชื่อหลังความตายของชาวล้านนาและชาวอีสาน หรือชาวไทยพุทธ เป็นเรื่องของโลกอุดมคติว่า ผู้ตายจะไปสวรรค์ หรือไปนรก เป็นหน้าที่ของลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่จะต้องช่วยกันทำพิธีบำเพ็ญกุศลศพไปให้แก่พ่อแม่ หรือญาติที่ตายไปแล้ว หากครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งในสังคมเหนือและอีสาน มีลูกหลานมาก มีความสามัคคี มีทรัพย์สมบัติมาก เป็นโอกาสอันดีแก่ผู้ตาย หรือผู้วายชนม์ไม่ต้องทุกข์ใจในการเตรียมหาเงินไว้ใช้จ่ายจัดพิธีบำเพ็ญกุศลศพมาก เพราะครอบครัวมีเงินทองเหลือใช้จ่ายอยู่แล้ว หากตายหรือเสียชีวิตลงก็มีเงินบำเพ็ญกุศลศพทันที
“ความตายเป็นธุรกิจ” เป็นการวิเคราะห์ถึงค่าใช้จ่ายที่ลูกหลานจะต้องเตรียมจัดหามาใช้ในพิธีกรรมบำเพ็ญกุศลศพได้แก่ โลงศพ สิ่งของประกอบพิธีกรรม อาหารและเครื่องดื่ม (การเกิดรายได้เริ่มตั้งแต่ร้านจำหน่ายโลงศพ ร้านสังฆภัณฑ์ ร้านชำในชุมชน ผู้เลี้ยงหมู และตลาดสด) รวมทั้งโต๊ะเก้าอี้สิ่งของถวายพระสงฆ์ ถือเป็นหน้าที่ของลูกหลาน หรือญาติพี่น้องต้องพูดคุยกันว่า “จะตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ สถานที่ใด และบำเพ็ญกุศลศพกันกี่วัน” ยังถามลึกลงไปอีกว่า “คุณพ่อคุณแม่ทำประกันชีวิตไว้กี่กลุ่มหรือลูกหลานใครคนไหนได้ทำประกันชีวิตไว้ให้ท่านบ้างไหม”
ในภาคเหนือและภาคอีสาน ถือเป็นกระแสนิยมเพื่อการเตรียมชีวิตหลังความตาย บางครั้งมีบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหลาน แต่พอมีเงินทองเพียงพอที่จะทำประกันชีวิต หรือจ่ายค่าทำศพกลุ่มได้ขออนุญาตคนแก่ไปทำประกันชีวิตชุมชนกับกลุ่มต่างๆ ไว้เมื่อบุคคลนั้นตายลงหรือสิ้นชีวิตลง ผู้ที่ทำประกันชีวิตชุมชนกลุ่มไว้สามารถนำสำเนาใบมรณะบัตรไปขอรับเงินประกันชีวิตนั้นได้ทันที จักนำเงินมาช่วยงานบำเพ็ญกุศลศพเท่าไรก็ได้ “ชีวิตหลังความตายถือเป็นธุรกิจ หรือชีวิตหลังความตายเป็นวิถีสังคมอีสาน”
วัฒนธรรมการทำประกันชีวิตเพื่อความตาย หรือจัดงานศพแบบใหม่ ถือเป็นการเตรียมชีวิตหลังความตายที่ชาวเหนือและชาวอีสานนิยมทำคล้ายกันมากขึ้น ได้แก่ สมาชิกฌาปนกิจสงเคราะห์ (ในภาคเหนือ) ประกันชีวิตหมู่บ้าน ประกันชีวิตกลุ่ม ธกส. ประกันชีวิตบริษัทเอกชน ประกันชีวิตกองทุนหมู่บ้าน (เงินล้าน) ประกันชีวิตกำนันผู้ใหญ่บ้าน ประกันชีวิตกลุ่มสตรี ประกันชีวิตเงินออมวันละบาท เป็นต้น เพื่อให้ความช่วยเหลือเงิน และหวังผลกำไรจากการจัดพิธีบำเพ็ญกุศลศพและเงินประกันชีวิตกลุ่ม มาแบ่งค่าใช้จ่าย
เพราะความหยุดนิ่งทางสังคมวัฒนธรรมทางความเชื่อ และความเติบโตทางเศรษฐกิจก่อให้เกิดการช็อกตัวทางวัฒนธรรมสังคมความเชื่อเรื่องการบำเพ็ญกุศลศพ หรือการทำบุญฉลองอัฐิธาตุน้อยลง ถือเป็นความหยุดนิ่งทางวัฒนธรรมสังคมความเชื่อชาวอีสาน โดยมองชีวิตหลังความตายเป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง เพื่อพิธีบำเพ็ญกุศลศพพ่อแม่ หรือญาติผู้วายชนม์ ทิ้งร่างกายเอาไว้ให้ลูกหลานได้ต่อชีวิตครอบครัว
หากเป็นยุคสมัยก่อนที่การแพทย์ยังไม่เจริญก้าวหน้า เมื่อมีผู้เสียชีวิตลงลูกหลานจะรีบทำการชำระล้างศพและปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณีทันที เมื่อการแพทย์ก้าวหน้าการตายน้อยลง และคนมีอายุยืน เมื่อถึงวัยชรามักได้รับการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล และเสียชีวิตในโรงพยาบาล ทำให้ลูกหลานเข้าใจเรื่องเตรียมชีวิตหลังความตายน้อยลง เน้นการบำเพ็ญกุศลศพอย่างประหยัดเพื่อให้เหลือเงินประกันชีวิตต่างๆ และมอบหน้าที่จัดงานค่าใช้จ่ายจัดพิธีบำเพ็ญกุศลศพให้กับลูกหลาน หรือญาติคนที่อาศัยอยู่ด้วยกับผู้ตายเป็นหลัก

การจัดงานศพ ไม่ใช่แค่พิธีกรรมส่งผู้ตายเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการแสดงให้เห็นเรื่องสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวข้องกัน การจัดงานในสมัยก่อนมีการเปลี่ยนมาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจในงานศพ ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบันการจัดงานศพ อาจจะต้องใช้เงินถึงหลักแสน หากไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายหลักได้ วาทะกรรม “คนตายขายคนเป็น” ที่ลูกหลานต้องเป็นหนี้หลังงานศพก็ไม่เกินจริง ผู้คนจึงเริ่มปรับตัว มีทั้งการเตรียมตัวก่อนตาย การทำประกันชีวิต สมัครฌาปนกิจสงเคราะห์ และเก็บเงินไว้ใช้ในงานศพตัวเอง บางชุมชนรณรงค์ลดสิ่งฟุ่มเฟือย เช่น งดเหล้า หรือจัดงานเล็กลง
หรือแม้แต่ เมื่อสังคมเปลี่ยนตามกาลเวลา ทำให้ความตายกลายเป็นธุรกิจมากขึ้น แม้จะปรับพิธีกรรมให้ทันสมัยและประหยัด แต่ยังคงความเชื่อเรื่องทำบุญให้ผู้ตายไปสู่สุคติ เป็นการผสมระหว่างวัฒนธรรมเก่ากับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ท้ายที่สุดเรื่องค่าใช้จ่ายงานศพไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่บอกถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงการปรับตัว โดยเฉพาะพิธีกรรมในภาคเหนือและอีสาน การหาจุดพอดีระหว่างรักษาประเพณีกับการใช้ชีวิตอย่างประหยัด เป็นความท้าทายของสังคมไทยในอนาคต เพราะความเชื่อนำไปสู่พิธีกรรมงานศพ จากเรื่องของคนตาย จึงกลายเป็นเรื่องของคนเป็น
ข้อมูลอ้างอิง
- กรมศิลปากร. (2565). ทุ่งกุลาร้องไห้ – จุดบรรจบของโลกหลังความตาย. สืบค้นจาก https://www.finearts.go.th/promotion/view/19055
- จรัญ กันธิมา, พระมหา. (2558). แนวคิดเชิงวัฒนธรรมในการสร้างปราสาทศพของชาวพุทธล้านนา. วารสารสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 41(1), 157-171.
- ชาญ อุทธิยะ. (2552). การจัดการหนี้สิน. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว).
- ศุภกิตติ์ คุณา. (2564). งดเหล้าในงานศพ. เครือข่ายสุขภาวะแอลกอฮอล์. สืบค้นจาก https://sdnthailand.com/sdnblog/24537
- สำนักข่าวอิศรา. (2559). ค่าทำศพแพงขึ้นทุกปี ฌาปนกิจฯจุดเริ่มต้นช่วยลดปัญหาภาระค่าใช้จ่าย. สืบค้นจาก https://www.isranews.org/content-page/item/52659-repoopppp.html
- ศิลปวัฒนธรรม. (2562). พิธีไหว้ศพเจ้าสัว. สืบค้นจาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_52004
- เดลินิวส์. (2568, 21 เมษายน). สุดช้ำ! เผยค่างานศพแม่ 3 แสน แต่ซองทำบุญได้แค่ 3 หมื่น. สืบค้นจาก https://www.dailynews.co.th/news/4653152
- รังสรรค์ คุณสาโร (ตุ้มม่วง), พระครูปลัด, พระครูภาวนาโพธิคุณ, จรัส ลีกา, พระมหาประทีป อภิวฑฺฒโน, & พระมหาจิณกมล อภิรตโน (เป็นสุข). (2564). การวิเคราะห์ปรัชญาในงานศพของชาวพุทธจังหวัดร้อยเอ็ด. วารสารบัณฑิตศึกษามหาจุฬาขอนแก่น, 8(1), 302-313. สืบค้นจาก https://so06.tci-thaijo.org/index.php/Vanam_434/article/view/247714