เครือข่ายงดเหล้า จับมือ 3 หน่วยงานหลักในจังหวัดน่าน ปูพรหมปลูกพลังบวกเด็กปฐมวัยในทุกโรงเรียนทั้งจังหวัด

หวังสร้างภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยงเหล้า บุหรี่ ยาเสพติดเปลี่ยนค่านิยมสังคมใหม่ หลังสถิตินักดื่มของจังหวัดฯ ติดอันดับต้นๆ ของประเทศ

วันที่ 17-20 พฤศจิกายน 2564 ณ​ โรงแรมเวียงแก้ว​ จังหวัดน่าน​  สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าและ สสส. จัดประชุมทำคู่มือนิเทศก์เสริมพลังและพัฒนาหลักสูตร เพื่อพัฒนาวิทยากรแกนนำระดับภูมิภาค ในโครงการปลูกพลังบวกสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า-บุหรี่) สำหรับเด็กปฐมวัย โดย ดร.วีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกียรติเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาหลักสูตรครั้งนี้

ดร.วีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัญหาจากเหล้า บุหรี่ และยาเสพติดเป็นปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อชีวิตและการเรียนรู้ของนักเรียนตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งโครงการปลูกพลังบวกได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว จำเป็นต้องพัฒนาจัดคู่มือนิเทศก์เสริมพลังและพัฒนาหลักสูตรพัฒนาวิทยากรแกนนำระดับภูมิภาค ทางกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้ละเลยเรื่องของการสร้างพลังบวกฯ ของครู  ซึ่งเมื่อครูมีพลังบวกฯ ก็จะมีพลังไปสื่อสารไปยังเด็กและเด็กๆก็สื่อสารไปสู่ผู้ปกครอง ตลอดจนมีการขยายผลไปยังชุมชนที่อยู่โดยรอบสถานศึกษา เพื่อเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ก็จะสามารถช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงและลดปัจจัยเสี่ยงจากเหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนได้

นายวิสุทธิ์ ประกอบความดี ท้องถิ่นจังหวัดน่าน กล่าวว่า สสส.และเครือข่ายงดเหล้า ให้เกียรติจังหวัดน่าน เป็นจังหวัดนำร่อง ขณะนี้มีเข้าร่วมโรงเรียน 22 แห่ง และโรงเรียนท้องถิ่นอีก 9 แห่ง เป็นต้นแบบ ในปี 2564  เรามีแผนขยายผลสู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก(ศพด.)  2 รุ่น (เม.ย.รุ่นที่ 1) (รุ่นที่ 2 ต.ค.)จำนวน  211 แห่ง ซึ่งปี 2565 มีแผนที่จะขยายผล เชื่อมให้ท้องถิ่นจังหวัดน่านจัดอบรมผู้ดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต่อไป โดย เอาผู้อำนวยการกองการศึกษาทุกตำบล ใน 15 อำเภอ ไปนิเทศติดตามแบบเข้มข้น เพื่อให้มีศักยภาพในการพัฒนาเด็กเล็กเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อุบัติเหตุ ในอนาคตนี้ แนวทางในการดำเนินงานของท้องถิ่นจังหวัด จะมีนโยบายให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 211 แห่ง เข้าร่วมโครงการนี้ จะใช้มาตรการเชิงบวก ที่ไหนทำได้ยอดเยี่ยมให้รับรางวัลให้เป็นแหล่งเรียนรู้ หลังเลือกตั้งนายกองค์กรปกครองท้องถิ่น จะมีการปฐมนิเทศนายกท้องถิ่นใหม่ จะให้ความรู้เรื่องโครงการปลูกพลังบวกฯ ใส่ในการประชุมเรื่องนี้เป็นวาระประจำติดตาม เพื่อการดำเนินการปลูกพลังบวกฯ ในจังหวัดน่าน มีนโยบายความรวมมือจาก 3 หน่วยงานจากชัดเจน และจะถ่ายทอดนโยบายลงสู่พื้นที่โดยหน่วยงานการศึกษา​ ศึกษาธิการจังหวัด​ ศึกษาธิการเขต​ สพป.น่านเขต​1 เขต​ 2​ และหน่วยงานสาธารณสุขน่าน และองค์กรท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องในจังหวัดน่าน

ส่วนนพ.พงษ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน กล่าวว่า จังหวัดน่านมีสถิตินักดื่มอันดับต้นๆ ของประเทศ ในอดีตเราเคยอยู่ในอันดับที่หนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม เช่น งานประเพณีต่างๆ จัดเป็นงานปลอดเหล้า เน้นการบังคับใช้กฎหมาย ขอความร่วมมือร้านค้าสถานประกอบการ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะลดค่านิยม และการปลูกฝังค่านิยมปฏิเสธการดื่มเป็นพฤติกรรมส่วนบุคคล ซึ่งจะต้องเริ่มตั้งแต่เล็กมา ผมเป็นหมออยู่โรงพยาบาลน่าน จะเห็นสภาพของผู้พิการที่อายุยังน้อย ที่เป็นภาระของผู้ปกครอง จนเกิดปัญหาครอบครัวแตกแยกจากลูกพิการจากอุบัติเหตุ เมา ทะเลาะ วิวาท แต่ละปีมีจำนวนไม่น้อย ทางหน่วยงานสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามสื่อสารประชาสัมพันธ์ผลกระทบของโรคที่เกิดพฤติกรรม ไม่ออกกำลังกายทานหวานมัน เขาไม่มอง เหล้า บุหรี่ เป็นปัญหา ปัญหานี้ซับซ้อน เราต้องทำร่วมกัน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข องค์กรเอกชนและสสส. ประชาคม ควรทำงานร่วมกันอย่างยิ่งเริ่มที่เด็กปฐมวัยการทำงานในระดับจิตใต้สำนึก จะฝังให้เด็กมีพลังบวก กล้าปฏิเสธสิ่งไม่ดี และมีทักษะชีวิต พร้อมสร้างภูมิคุ้มกันได้

ทางด้าน นางมาลัย มินศรี ผู้จัดการโครงการปลูกพลังบวก กล่าวว่า ทั่วประเทศมีพื้นที่นำร่อง จำนวน 1682 แห่ง  มีจังหวัดที่ร่วมขับเคลื่อนเปลี่ยนทั้งจังหวัด ได้แก่ น่าน ศรีสะเกษ ราชบุรี ชุมพร  โดยความร่วมมือกับ 3 หน่วยงานหลักของจังหวัดน่าน จะทำให้ได้คู่มือการนิเทศน์ติดตามเสริมพลัง และคู่มือการการพัฒนาศักยภาพ ครู ก. ระดับภูมิภาค เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนโครงการปลูกพลังบวก เพื่อสร้างจิตสำนึก ภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยง สำหรับปฐมวัย​ เพื่อแก้ปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์​ บุหรี่​ ​อบายมุข​และสร้างความปลอดภัย​ให้เด็กและเยาวชน​ทุกคน​ในประเทศ โดยใช้จังหวัดน่านเป็นจังหวัด​ต้นแบบ​

นักสื่อสาร องค์กรสุขภาวะ