ออกพรรษาลาเหล้า..เข้าสู่ชีวิตใหม่

สสส.และเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ถอดบทเรียนงดเหล้าเข้าพรรษา..สู่ออกพรรษาลาเหล้า กรณีศึกษา พบเลิกเหล้าเข้าสู่ชีวิตใหม่ ชมรมคนหัวใจเพชร และชุมชนปรับตัวรับสถานการณ์โควิด “ชุมชนสู้เหล้า เข้าใจโควิด”  พร้อมแนะชุมชนเตรียมรับการคลายล็อกประเทศ

(10.00 น.) วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564  สสส.และครือข่ายงดเหล้า จัดเวทีออนไลน์ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ “ออกพรรษาลาเหล้า..เข้าสู่ชีวิตใหม่” อาจารย์วิเชษฐ์ พิชัยรัตน์  กรรมการกำกับทิศทางแผนงานรณรงค์เพื่อควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงแนวทางรณรงค์ฯในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตในรูปแบบวิถีใหม่ว่า สสส. มีแนวทางในการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ให้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการ เน้นการพัฒนาศักยภาพชุมชน และขยายผลการดำเนินงานของชุมชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในด้านการลดปัจจัยเสี่ยงมี “ชุมชนคนสู้เหล้า” ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องมา 5 ปี ทำให้เกิดรูปธรรม สามารถพัฒนาเป็นกลุ่มชมรมคนหัวใจเพชร คนเลิกเหล้าที่มาช่วยรณรงค์ต่อในชุมชน และต่อเนื่องการพึ่งตนเองเรื่องอาชีพรายได้ และในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ชุมชนสู้เหล้าก็มีส่วนมาดูแลตนเอง พึ่งตนเอง แบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งการถอดบทเรียนครั้งนี้ จะได้นำไปขยายผลต่อเนื่องต่อไป

นายวิเชษฐ์ กล่าวต่อว่า การถอดบทเรียนการทำงานชุมชนสู้เหล้า จะมีโมเดล 3 ช. คือ ชวน ช่วย เชียร์ เนื่องจากเป็นสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดในชุมชนสามารถดำเนินการได้ โดยดำเนินการไปพร้อมกัน คือ “ชุมชนสู้เหล้า เข้าใจโควิด” ซึ่งผู้ที่สมัครเข้าร่วมโครงการในปีนี้ เห็นว่า ทำให้สุขภาพกาย ใจที่ดี และมีเงินเหลือในภาวะที่เศรษฐกิจหยุดชะงัก อีกทั้ง การอยู่ร่วมกันในครอบครัวมีความสุข รู้สึกปลอดภัย นอกจากนั้น ชมรมคนหัวใจเพชร ซึ่งเป็นแกนนำในการชวน ช่วย เชียร์ ยังได้ทำความเข้าใจชาวบ้านให้รู้จักป้องกันตนเอง และช่วยกันดูแลผู้ป่วยอย่างเข้าใจ ไม่สร้างความรังเกียจ แต่ทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ ช่วยเหลือดูแลกันและกันในชุมชน รวมทั้ง มีการส่งเสริมอาชีพ เช่น ทำรถพุ่มพวง ปลูกพืชสมุนไพร เพราะคนที่เลิกเหล้าทุกคนมีฝีมืออยู่แล้ว แต่เพราะดื่มเหล้าติดเหล้าจึงไม่ได้ใช้ฝีมือทำงาน

เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวในกิจกรรมครั้งนี้ว่า สำหรับงานประเพณีออกพรรษาที่จัดขึ้นในท้องถิ่นต่างๆ พร้อมๆกับการเปิดประเทศครั้งนี้ อาจควรต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก ด้วยสถานการณ์โรคระบาดฯ อาจมีความเสี่ยงจากการตั้งวงดื่มเหล้า การเล่นการพนัน อาจนำมาสู่ คลัสเตอร์โควิดได้ เนื่องจากวิถีชีวิตในปัจจุบัน ยังต้องเว้นระยะห่าง ซึ่งการดื่มมีส่วนทำให้ภูมิต้านทานในร่างกายลดลงไป อีกทั้งสถานที่ต่างๆอาจจะมีแพร่การกระจายของเชื่อโรคได้อีกด้วย จึงขอรณรงค์ให้ประชาชนทุกท่าน ยังคงใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาทและใช้ความระมัดระวัง คนที่งดเหล้าเข้าพรรษาได้แล้ว ขอเชิญชวนให้ใช้โอกาส “ออกพรรษา ลาเหล้า” ต่อไป

ด้านนายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการ สคล. เปิดเผยถึงการสนับสนุนการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาปี 2564 ที่ผ่านมาว่า เครือข่ายงดเหล้าและ สสส. ได้ดำเนินงานในพื้นที่ ground war ใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสถานศึกษา และกลุ่มชุมชน ภายใต้แนวคิด “สื่อรักให้พักเหล้า” โดยมีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการกว่า 2,000 แห่ง และในชุมชนกว่า 513 แห่ง พบว่า มีคนร่วมงดเหล้าครบ 3 เดือน จำนวน 16,651 คน สามารถประหยัดเงินได้ 56 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้มีการทำงานร่วมกับ นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคธุรกิจ โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ รัฐวิสาหกิจ อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยหรือ (อสค.) เป็นต้น

คุณผจญ แก้วเพชร อายุ 45 ปี  เครือข่ายนักบิดจิตอาสา จ.สงขลา ที่ผันตัวสู่นักรณรงค์สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนเลิกเหล้า เปิดเผยว่า ผมสมัครใจยกแก้วดื่มครั้งแรกอายุ 16 ปี เพราะอยากได้รับการยอมรับจากรุ่นพี่ แต่อันที่จริงผลเสียของการดื่มในครอบครัวของผมก็มีนะ คุณพ่อผมก็เสียชีวิตเพราะการเมาเหล้าแล้วทำให้เกิดเรื่อง ซึ่งผมต้องเสียเพื่อนเพราะเมาเหล้าก็หลายคน ส่วนตัวผมเองก็ถึงขั้นเงินหมดกระเป๋า  ในระยะหลังผมใช้เวลาว่างขับขี่มอเตอร์ไซค์ท่องเที่ยว และมีโอกาสได้รู้จักกับเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคใต้ตอนล่าง ตั้งใจร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ผมมั่นใจว่าผมหยุดเหล้าได้ คิดว่าจะหยุดไปเรื่อยๆ จากสถานการณ์ covid-19 ระบาด ผมมีโอกาสเห็นคนที่ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งเหยื่อเมาแล้วขับ ไม่อยากมีส่วนในการทำลายอนาคตของใคร และคิดว่าควรจะหยุดทำร้ายร่างกายตัวเอง หันมาสร้างคุณค่าให้กับตัวเองแทนจะดีกว่า ผมคิดว่าจะนำเงินค่าเหล้ามาสร้างประโยชน์ให้กับตนเอง ครอบครัว และยังสามารถมีเวลาทำสิ่งต่างๆหลายๆสิ่ง และได้เปิดประสบการณ์ เปิดมุมมองใหม่ๆให้กับตนเองอีกด้วย

ผู้ใหญ่เกรียงไกร เกียรติมงคล ชุมชนคูหาสวรรค์  อายุ 55 ปี จ.ราชบุรี จากนักดื่ม สู่นักส่งเสริมสุขภาวะคนหัวใจเพชร ให้ข้อมูลว่า ผมดื่มเหล้าและร่วมงดเหล้าเข้าพรรษา มา 3-4 ปีแล้ว เมื่อออกพรรษา จะงดเหล้าต่อ จนกว่างานทอดกฐินเสร็จสิ้นจึงจะเริ่มดื่ม การดื่มแต่ละครั้ง 300-400 บาท และผมจะดื่มอยู่บ้านคนเดียวบ่อยๆ ช่วงหลังๆการดื่มเริ่มลดลงตามวัยที่สูงขึ้น แต่ก็ยังเลิกดื่มไม่ได้ หลวงพ่อชวนมาเป็นกรรมการที่วัด ซึ่งผมปฏิเสฐมาตลอด เพราะคิดว่าผมดื่มเหล้ากลัวจะผิดศีล ตั้งใจเลิกดื่มเพราะผมคิดถึงสุขภาพ พอเพื่อนชวนก็จะบอกเพื่อนว่าขอหยุดพักตับ พอหยุดเหล้าแล้วสามารถลดเรื่องค่าใช้จ่าย และเป็นตัวอย่างดีๆให้กับลูกหลานอีกด้วย ถ้าย้อนกลับไปได้ เงินค่าเหล้าก็เป็นค่ากับข้าวของครอบครัวได้

คุณศิริลักษณ์  ภูลิ้นลาย  อายุ 34 ปี บ้านโคกเครือ จ.กาฬสินธุ์ สาวนักดื่มเข้าสังคม ตัดสินใจเลิกเหล้าเพราะกำลังใจจากลูกและสามี เปิดเผยว่า จากเป็นกองเชียร์งานกีฬา เสร็จงานมีการดื่มกับเพื่อนๆ มีงานหมอลำก็ไปดื่มหน้าเวที  หลังๆมีผลกระทบจากการดื่ม คือสุขภาพร่างกายเวลาดื่มเข้าไปมักจะเจ็บท้องเป็นโรคกระเพาะ ครอบครัวไม่มีความสุข ทะเลาะกันบ่อยๆเพราะสามีก็ดื่มเหล้าเหมือนกัน อ.สคล.มาชวนงดเหล้าเข้าพรรษา จึงตัดสินใจเข้าร่วม มีการมาเยี่ยม ให้กำลังใจ มีการให้เมล็ดพันธุ์ผักมาให้เราปลูกไว้รับประทานเป็นกิจกรรมในครอบครัว เข้าพรรษาตลอด 3 เดือน งดดื่มเหล้ามีการเปลี่ยนแปลงคือ ชีวิตเราดี ครอบครัวก็ดี ร่างกายก็ดีขึ้น เงินก็พอใช้ แทนที่เงินเราจะไปซื้อเหล้า ก็เอาซื้อกับข้าวให้ลูก เหลือก็เก็บไว้ให้ลูกเรียนหนังสือ ลูกก็ภูมิใจ บอกกับเราว่า “ภูมิใจที่แม่เลิกเหล้าได้” และการเลิกเหล้าก็เป็นการเอาชนะใจตัวเอง ซึ่งเราภูมิใจในตัวเองมากที่สุด

นักสื่อสาร องค์กรสุขภาวะ