พระสงฆ์ภาคกลาง ถกประเด็นปัจจัยเสี่ยงในงานบวชที่ส่งผลกระทบต่อสังคม พร้อมสนับสนุนพื้นที่ต้นแบบชูค่านิยมใหม่ งานบวชสร้างสุข ประหยัด เรียบง่าย ยึดพระธรรมวินัย

กรณี เจ้าอาวาสวัดเวฬุวัน จ.ปทุมธานี ขึ้นป้าย “ห้ามแตรวง กลองยาว ดนตรีแจ๊ส นางรำ เข้าในลานโบสถ์” เนื่องจาก ทำให้พระอุปัชฌาย์ และคู่สวด พระสงฆ์ต้องมานั่งรอนาน ทำให้ญาติผู้ใหญ่ ที่จะมาบวชลูกหลาน ต้องได้รับความลำบากและคนที่อุ้มผ้าไตรและถือสิ่งของยืนรอนานมาก กว่าจะได้แต่ละรอบ พร้อมขอท่านผู้เจริญแล้ว โปรดรักษา กฎ กติกา อย่าสนุกรื่นเริง ในความทุกข์ของผู้อื่น ที่กำลังเป็นกระแสในสังคม

ประเด็นนำเข้าในเวทีการประชุมของพระสงฆ์นักพัฒนาสังฆะเพื่อสังคม ภาคกลาง/ปริมณฑล ในวันที่ 30 มีนาคม 2566 ณ วัดท่าหลวง จ.ลพบุรี โดยมีพระสงฆ์ในเครือข่าย โซนภาคกลาง/ปริมณฑล เข้าร่วมประชุม กว่า 20 วัด พร้อมผู้นำท้องถิ่นท้องที่ และภาคประชาสังคม เครือข่ายองค์กงงดเล้า (สคล.) มี พระครูภัทรธรรมคุณ,ดร. ประธานเครือข่ายสังฆะเพื่อสังคมภาคกลาง เป็นประธานในพิธี ได้พูดคุยกันในประเด็นของการจัดงานบวชที่มีปัจจัยเสี่ยง ที่ส่งผลกระทบต่อสังคม

จากการประชุมได้ยกกรณีศึกษา จากปัญหาที่เกิดขึ้นของวัดเวฬุวัน จ.ปทุมธานี ที่พระสงฆ์ และญาติผู้ใหญ่ที่ตั้งใจจะบวชลูกบวชหลาน ได้รับความเดือนร้อน จนเจ้าอาวาสต้องขึ้นป้าย ออกกฎระเบียบในการจัดงานบวชที่วัด

โดยผู้สื่อข่าวได้ไปสอบถาม คณะกรรมการวัดเวฬุวัน ทราบว่า ป้ายข้อความนี้ เห็นมาเป็น 10 ปีแล้ว เพราะทางวัดจะต้องมีกฎระเบียบ ถ้าให้แห่วนรอบโบสถ์แล้ว จะทำให้ผู้สูงอายุ ผู้อุ้มผ้าไตร อุ้มบาตร อัฐบริขารหลายๆ อย่าง จะไม่ไหว เพราะบางทีพวกนำหน้านาค ก็จะเมาแล้วมีเรื่องตีกัน จึงทำให้ต้องมีกฎระเบียบ โดยทางเจ้าอาวาสได้ขอให้ลูกศิษย์มาทำป้าย แม้กระทั่งกฎข้อห้ามที่ทางมหาเถรสมาคมสั่งให้ทุกวัดมีป้ายห้ามดื่มสุรา ของมึนเมาภายในวัด ก็มีการติดไว้เช่นกัน

ที่ผ่านมาพระสงฆ์ในเครือข่ายเอง ก็ได้มีการขับเคลื่อนเรื่องนี้มาโดยตลอดที่วัด ในเวทีครั้งนี้ได้มีโอกาสทบทวน ปัญหาของการทำงานที่มา ผลกระทบที่เกิดขึ้นของการจัดงานบวชที่เต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยง อาทิ การลงทุนอย่างมหาศาลในการจัดงานบวช มีการเลี้ยงฉลองน้ำเมา สร้างค่านิยมผิดๆเกิดขึ้นในสังคม กลับกลายเป็นการปิดกั้นการเข้าถึงศาสนา ของคนในสังคมที่มีความต้องการจะบวช แต่ถูกค่านิยมที่ทับถมว่า จะบวชต้องมีเงิน ต้องเลี้ยงแขก ต้องมีมหรสพ ทั้งที่จริงแล้ว สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่หลักใช่แก่นของงานบวชเลย

พระสงฆ์เองได้มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่ก็ยังมีข้อจำกัด และอุปสรรคในหลายๆอย่าง เนื่องจากเรื่องนี้ มีอยู่หลายส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ใช่แค่เจ้าภาพที่จะบวช กับพระสงฆ์ แต่มี สังคมที่เป็นผู้กำหนดค่านิยม มีคนวัด ไวยาวัจกร มรรคนายก ที่ล้วนเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดรูปแบบของการจัดงานบวช ค่านิยมที่ฝังรากลึกมานาน เป็นสิ่งที่ยากที่จะเปลี่ยนแปลง ต้องอาศัยความร่วมมือ จากหลายส่วนในสังคม มาช่วยกันแก้

ในตอนท้าย นายชัยณรงค์ คำแดง ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ผจก.โครงการการขยายผลการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะงานบวชสร้างสุข ได้กล่าวสรุปแนวทาง ในการขับเคลื่อนงานบวชสร้างสุข ตามที่ในเวทีในเวทีได้มีการแลกเปลี่ยนกัน ดังนี้

1. มีต้นแบบ พระ วัด แล้วขยายแนวคิด หาเจ้าภาพต้นแบบ ด้วยความสมัครใจ

2. ไม่หักดิบ ค่อยเป็นค่อยไป โดยหาคนที่มีใจ คนใกล้วัด ใกล้ธรรม

3. ชี้ประโยชน์ แนะนำหลักที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ตามหลักพุทธธรรม บวชสร้างสุข คืออะไร อย่างไร ต้องอธิบายให้ชัดเจน ให้เห็นประโยชน์ร่วม ด้วยความรัก

4. มีกระบวนการทำความเข้าใจจากเจ้าอาวาส คนที่ชาวบ้านนับถือ หรือทีม คณะทำงาน ที่จะทำหน้าที่สื่อสาร แทนพระ และเป็นผู้นำตามธรรมชาติอยู่แล้ว เช่น มัดทายก ไวยาวัจกร อุบาสก อุบาสิกา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

5. ต้องมีการสื่อสารเชิงบวก ทำความเข้าใจ ไม่ตำหนิ ยกย่อง เชิดชู ผู้บวช เจ้าภาพ ให้เห็นประจักษ์ เป็นผู้หนักแน่นในธรรม มีศรัทธา มีปัญญา

6. สร้าง กติกา วัด ชุมชน เพื่อเป็นกติกากลาง เป็นภูมิคุ้มกันระดับชุมชน ตำบล อำเภอ เชื่อมถึง พชอ.

7. ประสานแนวคิดบูรณาการ กับ โครงการอื่นๆ ไม่ทำเดี่ยว เช่น วัดประชารัฐ พลัง บวร วัดส่งเสริมสุขภาพ

ในเวทีครั้งนี้ ได้มีการสนับสนุนพื้นที่ต้นแบบ ที่จะไปขับเคลื่อนเรื่องนี้ในระดับพื้นที่ของโซนภาคกลาง/ปริมฑล ต่อไป โดยมี มูลนิธิ สังฆะเพื่อสังคม สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) คอยหนุนเสริม และมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นผู้สนับสนุน