ภาคประชาสังคม ไทย – เวียดนาม แลกเปลี่ยนแนวคิด “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา และ ปลูกพลังบวกฯ”

ภาคประชาสังคม ไทย – เวียดนาม

แลกเปลี่ยนแนวคิด “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา และ ปลูกพลังบวกฯ” จับมือเรียนรู้รณรงค์แก้ปัญหาแอลกอฮอล์ หวังปกป้องเด็กเยาวชนและสังคมให้มีความปลอดภัย

สคล. ได้รับเชิญจาก Vietnam Non-Communicable Diseases Prevention and Control Alliance (NCDs-VN) ให้เข้าร่วมการประชุมผ่านแอพพลิเคชั่นซูม เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการควบคุมและป้องกันผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอออล์ (Experience sharing in alcohol harm prevention and control) และผลกระทบจาก NCD

ทั้งนี้ นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ได้นำเสนอในวันที่ 22 ธันวาคม 2565 เรื่องการขับเคลื่อนงานของ สคล. และ โมเดลสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ซึ่งเป็นโมเดลในการขับเคลื่อนประเด็นเรื่องปัจจัยเสี่ยงของประเทศไทย ซึ่งทั้งประเทศไทยและเวียดนาม มีสถานการณ์ปัญหาแอลกอฮอล์คล้ายๆ กันโดยประเทศเวียดนามมีอัตราการดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จนเทียบเท่าสถิติประเทศไทย (รายงาน World status report on Alcohol and Health, WHO) โดยการนำเสนอนี้ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมชาวเวียดนาม ที่ซักถามถึงแนวทางการทำงานร่วมกันของภาคนโยบาย ภาควิชาการและภาคประชาสังคม โดยเฉพาะในบทบาทของภาคประชาสังคม เช่น บทบาทของ สคล. ที่ต้องเป็นปฏิบัติในพื้นที่ ด้วยการนำความรู้ต่างๆ ไปใช้เพื่อสร้างความตระหนักและสร้างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน ขณะเดียวกัน สคล. ก็มีบทบาทในการรวบรวมข้อมูลเพื่อส่งสัญญาณให้แก่ภาคนโยบายให้ปกป้องประชาชนจากผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น 

ผู้เข้าร่วมการประชุมยังให้ความสนใจต่อการนำภาษีสุราและบุหรี่มาใช้เพื่อรณรงค์สร้างเสริมสุขภาพ และปัญหา NCD ของประเทศไทย ซึ่งเวียดนามเห็นว่าเวียดนามมีกองทุนจากภาษีบุหรี่เป็นหลัก ควรมีกองทุนที่มีขอบเขตเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพมากขึ้น คุณธีระ วัชรปราณี กล่าวว่านอกจากกองทุนจาก สสส. แล้ว ควรทำงานร่วมกับภาคอื่นๆ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีงบประมาณสนับสนุนการทำงานของภาคประชาสังคม

นอกจากนี้ นางมาลัย  มินศรี ผู้จัดการโครงการปลูกพลังบวกเพื่อสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) สำหรับเด็กปฐมวัย ได้นำเสนอในที่ประชุมในวันที่ 27 ธันวาคม 2565 ที่ผ่ามมา โดยผู้เข้าร่วมประชุมวียดนามได้ให้ความชื่นชม โดยเฉพาะความร่วมมือทางนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการทำให้เกิดการขยายของโครงการจาก 4 จังหวัดต้นแบบ เป็น 35 จังหวัดและมี 1,415 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ โครงการได้เริ่มดำเนินการในปี 2559 หลังจากนี้ 3 ปีถึงประสบผลสำเร็จในการผลักดันสู่นโยบายของกระทรวงศึกษา ซึ่งคุณมาลัยกล่าวว่าเทคนิคที่สำคัญคือ การจัดทำเครื่องมือหรือคู่มือครู คู่มือของผู้บริหารสถานศึกษา คู่มือของผู้ปกครองและชุมชนให้พร้อม รวมถึงต้องจัดทำข้อมูลความสำเร็จของโครงการเพื่อนำไปเสนอต่อกระทรวงศึกษา

นอกจากนี้ปัจจัยความสำเร็จของโครงการยังอยู่ที่การทำงานร่วมกันแบบเครือข่าย ทั้งส่วนกลางที่มีหน้าที่ผลิตชุดความรู้ ระดับจังหวัดจะมีหน้าที่ในการพัฒนาศักยภาพของครูรวมถึงติดตามและนิเทศงาน สำหรับโรงเรียนจะเป็นผู้ปฏิบัติด้วยการปรับหลักคู่มือต่างๆ ให้เหมาะสมกับบริบทของผู้เรียน พร้อมกับเชื่อมประสานงานผู้ปกครองและชุมชนให้มีส่วนร่วมในการปกป้องเยาวชนจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยผู้ปกครองร้อยละ 94 พึงพอใจต่อการดำเนินงานของโครงการ

นายธีระ วัชรปราณี กล่าวเสริมว่า ความรู้เรื่องแอลกอฮอล์และบุหรี่ทำลายการเติบโตของสมองเด็กเล็ก จะทำให้ผู้กำหนดนโยบายทั้งระดับชาติและท้องถิ่นต้องใส่ใจต่อปัญหานี้แน่นอน เพราะเป็นเรื่องเชิงบวกที่ไม่มีใครไม่เห็นด้วย และการปลูกฝังตั้งแต่อายุยังน้อยทำให้เกิดภูมิคุ้มกันในระยะยาว เป็นต้น นอกจากนี้ การนำเสนอบทเรียนจากประเทศไทยที่ได้แลกเปลี่ยนดังกล่าว ทำให้ สคล. ได้เรียนรู้ในหลายๆ ประเด็น เช่น การนำงานวิจัยหรืองานวิชาการไปพัฒนาการทำโครงการ โดยเฉพาะการประเมินผลโครงการให้ถึงในระดับการสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับต่างๆ เช่น ระดับบุคคลหรือสังคม เป็นต้น  ซึ่งในการร่วมมือของเครือข่ายงดเหล้า NCDs-VN ครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการเรียนรู้กันและกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีแผนในการร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกันต่อไป