เครือข่ายงดเหล้าภาคอีสานตอนบน หนุนงานลอยกระทงปลอดเหล้า ปลอดภัย ปี 2565

พื้นที่รณรงค์งานลอยกระทงปลอดเหล้า ภาคอีสานตอนบน

พื้นที่จัดงานลอยกระทงปลอดเหล้า ปลอดภัย ใน 11 จังหวัดภาคอีสานตอนบน

อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม , ตำบลดงบัง จังหวัดมหาสารคาม , เทศบาลเมืองมหาสารคาม , เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด , แก่งดอนกลาง อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ , กุดน้ำกิม อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ , สวนสาธารณะกุดป่อง อำเภอเมืองเลย , อำเภอเมืองหนองบัวลำภู , อำเภอโนนสัง หนองบัวลำภู , อำเภอหนองหาน อุดรธานี , หนองประจักษ์ อุดรธานี , มหาวิทยาลัยขอนแก่น , อำเภอกระนวน ขอนแก่น , เทศบาลตำบลบึงโขงหลง บึงกาฬ , เทศบาลนครสกลนคร , บึงพลาญชัย เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด

หลายพื้นที่ของเครือข่ายงดเหล้าภาคอีสานตอนบน ร่วมขับเคลื่อน รณรงค์สร้างสรรค์ และเฝ้าระวังในงานประเพณีลอยกระทง ประจำปี 2565 ที่เคยดำเนินงานร่วมกับเจ้าภาพเรื่อยมาและได้หยุดจัดงานไปในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ในปีนี้ หลายพื้นที่ได้เข้าจับมือต่อกับพื้นที่ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย สำหรับงานประเพณีที่งดงาม อย่างงานประเพณี “ลอยกระทง” ให้เกิดความปลอดภัย ปลอดเหล้า และปลอดจากความเสี่ยงต่างๆ

การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้สำหรับเยาวชนได้ออกมาจัดกิจกรรม และมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์พื้นที่ตัวเองให้ปลอดภัย มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในงาน ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่หลายจังหวัดเข้าไปหนุนเสริม และให้ความสำคัญกับเยาวชนเหล่านี้ ได้ป้องกันตัวเองจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อเอาเวลามาทำกิจกรรมดีๆ เป็นเยาวชนต้นแบบ นอกจากจะเป็นสิ่งที่ดีต่อตัวของเขาเองในการทำสิ่งดีๆแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ได้พัฒนา ต่อยอด สร้างสรรค์ หรือค้นหาตัวเองอีกด้วย

นอกจากนี้ ในส่วนของหน่วยงาน ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ก็ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง ในการปกป้องพื้นที่ ให้มีความปลอดภัย มากไปกว่าการจัดงานเพียงเพื่อความสนุกสนาน แต่ยังคำนึงถึงความปลอดภัยรอบด้าน จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด อาวุธ ประทัด อันตรายทางน้ำ อุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท

การร่วมไม้ร่วมมือกันจากหลายหน่วยงาน ทำให้พื้นที่งานบุญประเพณีน่าเที่ยวมากขึ้น และในปีนี้ เสียงสะท้อนจากประชาคมงดเหล้าหลายจังหวัดเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า มีคนออกมาเที่ยวงานลอยกระทงกันอย่างคึกคัก งานจัดใหญ่และมีคนออกมาร่วมกิจกรรมเยอะมาก แต่ในขณะเดียวกัน พื้นที่ที่มีการเข้มงวดเฝ้าระวังที่ร่วมทำงานด้วย กลับเป็นไปด้วยความเรียบร้อย พบการดื่ม จำหน่ายแอลกอฮอล์น้อยมาก การประชาสัมพันธ์จากเจ้าภาพจัดงานก็ช่วยกระตุ้นให้คนที่มาเที่ยวงานได้รับรู้ว่าเป็น “งานปลอดเหล้า ปลอดภัย”

การเดินหน้าขับเคลื่อนงานต่อ การถอดบทเรียนการทำงานพูดคุยกันต่อจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่แต่ละจังหวัดจะกลับไปสะท้อนภาพการจัดงานร่วมกับหลายหน่วยงานในพื้นที่ ว่าประโยชน์ของการจัดงานปลอดเหล้านั้น มีผลดีอย่างมาก และควรดำเนินการต่อ รวมไปถึงการขยายสู่งานอื่นและพื้นที่อื่นๆอีกด้วย

ภาพ/ข่าว : แผนงานนโยบานสาธารณะ เครือข่ายงดเหล้าภาคอีสานตอนบน

จนท.แผนงานนโยบายสาธารณะและสื่อสารองค์กร เครือข่ายงดเหล้าภาคอีสานตอนบน