รันลัดโต้ง งานวิ่งที่กระตุ้นสุขภาพคนในชุมชนสันป่าตอง

ก่อนสถานการณ์โควิด-19 เทรนการรักสุขภาพได้รับความนิยมกันมากขึ้น โดยเฉพาะกิจกรรมการวิ่ง ซึ่งเป็นต้นทุนที่สวมรองเท้าผ้าใบก็สามารถออกไปเดินวิ่งได้ทันที

ขึ้นเหนือส่งท้ายฤดูฝนที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ พาไปวิ่งในงาน “รันลัดโต้ง” คือ งานวิ่งที่จัดขึ้นมาเพื่อตอบสนองชุมชนเป็นหลัก โดยเป็นตัวกระตุ้นการรักสุขภาพคนในชุมชน และคนนอกพื้นที่ให้เขามามีส่วนร่วมในชุมชน และชมความงามของเส้นทางวิ่งในอำเภอสันป่าตอง แม้จะถูกพักช่วงโควิด-19 ไป การกลับมาในปี 2565 ของรันลัดโต้ง ถือว่าเป็นงานที่กระตุ้นการออกกำลังกายของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

“รันลัดโต้ง” ชื่องานบ่งบอกถึงความชนบทผสมสากล รัน (Run) มาจากภาษาอังกฤษ แปลว่า วิ่ง ส่วน ลัดโต้ง ก็คือ ลัดผ่านทุ่งนา โดยรวมก็คือวิ่งผ่านทุ่งนานั่นเอง รูปแบบของงานนั้นถูกออกแบบและวางแผนผสมผสานงานศิลปะ เพื่อให้สอดคล้องกับชุมชน ในพื้นที่ และความเป็นทุ่งนาที่เป็นจุดขายของงาน

ทุ่งนา หลายร้อยไร่ ในตำบลสันกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ กลายเป็นแรงกระตุ้นให้คนนอกพื้นที่ เข้ามาออกกำลังกายชมความสวยงาม และส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ผ่านกิจกรรมรันลัดโต้งได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังทำให้หลงไหล กับบรรยากาศงานวิ่งที่ไม่เหมือนที่อื่น

แนวคิดของงานนี้จุดเริ่มต้นมาจากคุณประยูร หงษาธร หรือพี่เด่น สำนักพิมพ์ปล่อย ที่ย้ายมาอยู่เฮือนชมออน ร่วมกับพี่เก่ง เกียรติมงคล เรือนสุข เจ้าบ้านเฮือนชมออน ที่ชวนกันเริ่มต้นคิดกิจกรรมขึ้นมาในชุมชน ด้วยความที่ตัวเองนั้นชอบกิจกรรมการวิ่งอยู่แล้ว จึงวางแผนชวนกันทำงานวิ่ง รันลัดโต้งขึ้นมา โดยเริ่มชักชวนเพื่อนๆกลุ่มนักวิ่งในพื้นที่ด้วยกันมาทำงานวิ่งสนุกๆกัน ซึ่งในปี พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นการจัดครั้งแรก ซึ่งในปีนั้นกิจกรรมยังไม่กว้างขวางหรือเป็นที่รู้จักมากนัก

งานศิลปะกับการออกแบบเหรียญรางวัลงานวิ่ง

เหรียญรางวัล และ ถ้วยรางวัล ที่เป็นศิลปะมาจากเซรามิก ผลงานของศิลปิน คุณภูริดล พิมสาน แห่ง Have A Hug Studio ที่ชื่นชอบในเรื่องของการวิ่ง ได้ถูกชักชวนเข้ามาร่วมงานกันตั้งแต่ครั้งแรก โดยเหรียญรางวัลนั้นจะออกแบบเป็นรูปสัตว์ ซึ่งถือว่าอยู่ในแนวคิดของ รันลัดโต้ง

เหรียญรางวัลเซเรามิก รันลัดโต้ง

“พอดีว่ามีเพื่อนเป็นคนจัดงานวิ่ง รันลัดโต้ง เลยเข้ามาเสนอทำเหรียญรางวัลให้ โดยใช้ดินปั้นเป็นเหรียญ ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน แล้วเอาเงินไปบริจาคให้กับโรงพยาบาลชุมชน ผมพบว่าจริงๆ แล้วคนเขาเข้าใจนะ เลยเป็นที่มาของงานที่ผมจัดเอง Art Run To The Wild #วิ่งควายควาย ด้วยผมเป็นคนชอบวิ่งและคนทำงานศิลปะ เลยเกิดความคิดว่า จะทำอย่างไรให้คนทำงานศิลปะ หันมาดูแลสุขภาพ มันคนละขั้วกันเลยนะ คนทำงานศิลปะจะกินเหล้า สูบบุหรี่ นอนดึก ผมเลยเอา Art ไปรวมกับ Run คราวนั้นผมก็ปั้นเหรียญปั้นถ้วยรางวัลเองด้วย มีคนมาวิ่งตั้งหนึ่งพันห้าร้อยคน”

ภูริดล พิมสาน ในบทสัมภาษณ์ The Cloud

จุดเริ่มต้นจากรันลัดโต้ง ถ้วยรางวัลเซรามิก เริ่มมีชื่อเสียงขยายออกไปในวงการวิ่ง ภูริดลมีโอกาสทำถ้วยและเหรียญรางวัลให้กับงานวิ่งระดับประเทศหลายงาน เช่น The Mall Korat Marathon 2022, กระบี่มาราธอน 2020, กระบี่เทรล 2020 จันทบุรีซีนิคฮาร์ฟมาราธอน 2020, วิ่งพักตับ จ.พะเยา ฯลฯ

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพในท้องถิ่น ต่อยอดให้คนชุมชนออกกำลังกาย

กิจกรรมวิ่งในแต่ละปี รันลัดโต้ง จะหักค่าใช้จ่าย และมอบให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านห้วยส้ม อ.สันป่าตอง ซึ่งเป็นหน่วยสาธารณสุขในพื้นที่การจัดงาน เพื่อสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับประชาชนในพื้นที่ โดยในปี 2563 กิจกรรมเริ่มขยายเป็นวงกว้าง เริ่มรู้จักมากขึ้น หลายหน่วยงานเริ่มเข้ามาสนับสนุนการจัดงานทั้งภาครัฐและเอกชน

นางพวงเพชร กองแก้ว นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านห้วยส้ม ร่วมกับชุมชนในเขตรับผิดชอบ และ อสม. ในพื้นที่ ได้นำกิจกรรม รันลัดโต้ง เป็นกิจกรรมกระตุ้นให้คนในชุมชนหันมารักษาสุขภาพกันอีกครั้ง หลังจากที่พักเว้นช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยจัดกิจกรรม รันลัดโต้ง ครั้งที่ 4 นอกจากกระตุ้นคนในชุมชนแล้ว ยังจัดเพื่อหางบประมาณ สมทบทุนสร้างคลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ (ARI Clinic) เพื่อให้บริการแก่ประชาชนชาวตำบลสันกลาง และประชาชนบริเวณใกล้เคียง

การที่เห็นคนในพื้นที่ ต่างตื่นตัวกับการจัดงานวิ่งครั้งนี้ ต่างคนก็ออกซ้อมกันทุกๆเย็นของวัน ก่อนงานจะเริ่ม แม้ไม่ใช่งานใหญ่โตแต่การมีส่วนร่วมของชุมชนถือว่าเข้มแข็งเลยทีเดียว โดยเฉพาะ อสม. ในแต่ละหมู่บ้าน คอยเชื่อม และกระตุ้นการออกกำลังกาย กลายเป็นกระแสระดับอำเภอ และในจังหวัด

งานจบ แต่วิ่งยังไม่จบ

แม้ว่ากิจกรรมรันลัดโต้ง ครั้งที่ 4 จะจบลงไปแล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนหลังจากนี้ คือ คนในชุมชนสวมเสื้องาน ออกกำลังกาย ทั้งเดินและวิ่ง ตามเส้นทางของกิจกรรม ถือเป็นความสำเร็จที่เกิดความต่อเนื่องการออกกำลังกายของคนในชุมชน และขยายผลไปยังคนในพื้นที่ข้างเคียงหันมาออกกำลังกายมากขึ้น

ภาคีและเครือข่าย

กลายเป็นงานประจำปีเลยก็ว่าได้ หากรันลัดโต้ง คือจุดมุ่งหมายเดียวกัน และการเติบโตของงานวิ่งที่เป็นขวัญใจของนักวิ่ง ทั้งรูปแบบการจัดงาน วิวทิวทัศน์ทุ่งนาเส้นทางวิ่งที่สวยงาม รวมถึงการมีส่วนร่วมในชุมชนที่เข้มแข็ง การตอบรับของภาคีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยแต่ละหน่วยงานสนับสนุนตามความถนัดขององค์กร เพื่อหนุนเสริมการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน

อาหารสำหรับนักวิ่ง จากชุมชน
ชุมชนช่วยกัน ทำความสะอาด ตัดหญ้า เส้นทางวิ่ง

อีกทั้งต้องขอขอบคุณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคเหนือตอนบน, สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย, องค์การบริหารส่วนตำบลสันกลาง, ฝ่ายปกครอง-ทีมกู้ภัย อบต.สันกลาง, อสม.รพ.สต.บ้านห้วยส้ม, สาธารณสุขอำเภอสันป่าตอง, เฮือนชมออน, เสื้อสวยๆจาก ร้านเสื้อจิปาถะ (JPT Sport), Have a Hug Studio, กราฟิกสวยๆจากทีมเพจ SANPATONG CLUB, ชาวบ้านแม่กุ้งบก รวมถึงภาคีอื่นๆ ที่ร่วมกันทำให้กิจกรรมครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

ทีมงาน รันลัดโต้ง

นักสื่อสารสุขภาวะดิจิทัล