จากบุญประเพณีปลอดเหล้า สู่นักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข

นักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข

“ออกมาแล้ววววว….”

เสียงนักพากย์เรือดังกึกก้องไปทั่วริมสองฝั่งคุ้งแม่น้ำ ท่ามกลางสายตาที่จับจ้องมองเรือยาวและฝีพายกลางแม่น้ำ ที่กำลังเร่งฝีพายแข่งขันชิงชัยกัน แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สะกดหูและสะกดสายตาของประชาชนที่มารอชมการแข่งขันเรือยาว เห็นจะเป็นเจ้าของเสียงพากย์เรือที่เร่งจังหวะพากย์อย่างเมามันส์ตามจังหวะจ้วงน้ำของฝีพาย

นักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข

การพากย์เรือยาวของเยาวชน เป็นอีกหนึ่งกิจกรรม ที่เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเยาวชนตัวน้อย มีที่ความสามารถ และคนที่อยากท้าทายตัวเอง มาสู่การเป็นนักพากย์เรือเยาวชน ที่ทำบทบาทสำคัญในงานแข่งเรือสนามต่างๆ เป็นคนส่งเสียงอันทรงพลัง ที่สร้างความสนุกสนาน สร้างควาสุข สร้างความฮึกเหิมให้กับฝีพายที่อยู่บนเรือ

อาจารย์มานพ แย้มอุทัย (ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.)

“ออกมาแล้วววว เชิญชวนเยาวชนออกมาพากย์เรือ”

ธรรมชาติของการแข่งเรืออยู่ในทุกภูมิภาคของเมืองไทย ซึ่งเป็นกีฬาที่สนุกสนาน แต่ระยะหลังพบว่า คนพากย์เรือคือหัวใจของงานที่จะทำงานให้งานสนุก หรือเป็นสีสันของงาน ที่จะดึงดูดคนมาร่วมงาน นักพากย์เรือยังสามารถสอดแทรกแนวคิดเรื่องวัฒนธรรม และร่วมรณรงค์ในปัจจัยเสียงได้ ซึ่งทำให้ สสส. ให้การสนับสนุนนักพากย์เรือ เพื่อให้เป็นนักสื่อสารสุขภาวะในงานแข่งเรือ

อาจารย์มานพ แย้มอุทัย กล่าวต่ออีกว่า

นักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุขเป็นแนวคิดของ สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ในการส่งเสริมให้เยาวชนออกมาพากย์เรือ เพราะแต่ก่อนมีการส่งเสริมให้มีการแข่งขันเรือยาวปลอดเหล้าแล้ว แต่ยังขาดการมีส่วนร่วมของเยาวชน นักพากย์เรือเยาวชนเป็นการส่งเสริมพื้นที่สร้างสรรค์ให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการรณรงค์เรื่องเหล้า และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เราจับความสำคัญได้ว่านักพากย์เรือ คือตัวชูกีฬาแข่งขันเรือยาว สร้างสีสัน มีความสำคัญอย่างมาก ทำให้คนอยากดูนักพากย์เรือ ส่วนเรือก็กันแข่งไป คนที่ได้ยินจากคุ้งน้ำ เขาฟังนักพากย์ เพราะเขาไม่สามารถมองเห็นเรือแข่งได้จากจุดสตาร์ หรือทั้งหมดของสนามแข่งเรือ เลยต้องฟังเสียงจากนักพากย์ ความสำคัญคือไฮไลท์ พอนักพากย์เรือสำคัญ เราก็สามารถที่จะใส่แมสเสจเข้าไปให้ชุมชน ประชาชน นักท่องเที่ยว ได้รับทราบข้อมูลต่างๆ ส่งต่อเรื่องราวภูมิปัญญาบ้าง เรื่องสื่อสารความรู้ หรือแม้แต่การรณรงค์ปลอดเหล้าในงานที่เราร่วมสร้างสรรกันมา

นายวิษณุ ศรีทะวงศ์

ทำไมจึงต้องสนับสนุนให้มีนักพากย์เรือเยาวชน

นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ กล่าวว่า

เนื่องจากต้องการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เยาวชนได้แสดงความสามารถ โดยเป็นการต่อยอดจากการส่งเสริมงานบุญประเพณีแข่งขันเรือยาวปลอดเหล้า เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและส่งมอบวัฒนธรรมที่ดีจากผู้ใหญ่ส่งต่อสู่เด็ก เป็นการเริ่มต้นของการส่งเสริมการพากย์เรือเยาวชน ทั้งนี้ตัวเยาวชนเองยังได้เรียนรู้การพากย์เรือจากผู้ใหญ่ ซึ่งคิดว่าเยาวชนจะต่อ ยอดและพัฒนาสไตล์การพากย์เรือในแบบเฉพาะของตัวเองในอนาคต เพื่อให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ นอกจากนี้น้องๆหลายคนที่เข้ามาเรียนรู้การพากย์เรือ ก็เป็นการเปิดทางไปสู่อาชีพอื่นๆ เช่น ดีเจ พิธีกร ยูทูเปอร์ นักแคสเกม เป็นต้น ซึ่งเป็นการพัฒนาไปสู่เส้นสายอาชีพที่ชอบ

คุณค่าของงานแข่งเรือ นักพากย์เรือก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่จะสามารถพูด สื่อสาร สืบต่อ สามารถพูดถึงเรื่องราวดีๆได้ การที่เราได้ผลักดันให้เยาวชนนักพากย์เรือได้อยู่ในจุดนี้ ก็ทำให้เราผลักดันเรื่องป้องกันการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากการสื่อสารของเด็กๆได้

นอกจากนี้ยังพบว่า เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงด้านวิถีการจัดงานบุญประเพณีแข่งเรือ เช่น เครื่องเซ่นไหว้ของเรือก็เริ่มไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และตัวอย่างจุดประสงค์ของการแข่งเรือของจังหวัดน่าน คือ การทำบุญ เน้นงานบุญ งานสืบสานประเพณี ซึ่งการแข่งเรือแบบปลอดเหล้า เป็นการทำบุญที่แท้จริงเพราะลดอุบัติเหตุ ลดความรุนแรง เป็นต้น

นายสุรเชษฐ์ โพธิ์อ่อน

การส่งเสริมและฝึกสอนนักพากย์เรือเยาวชน

นายสุรเชษฐ์ โพธิ์อ่อน ครูผู้ฝึกสอนนักพากย์เรือเยาวชนจากภาคกลาง กล่าวว่า

เรื่องการพากย์เรือเป็นภูมิปัญญาที่ไม่มีตำรา ซึ่งเราต้องศึกษารูปแบบการพากย์จากครู นักพากย์รุ่นใหญ่เช่นกัน แล้วมาสอนเด็กให้มีรูปแบบ มีตัวตนในการพากย์แบบของเขา คิดคำพูด คิดวิธีการพูดของตนเอง และสไตล์ของตัวเอง ซึ่งยากมากและท้าทายกับเด็กๆ ที่ไม่เคยดูการแข่งเรือ ไม่เคยนั่งเรือ ไม่เคยดูการแข่งขันพากย์เรือ

ลูกศิษย์ที่ผมสอนมา และเคยพาเข้าร่วมการแข่งขันนักพากย์เรือเยาวชนรุ่นที่ 1 กับ สคล. ตอนนี้มีสองคน ซึ่งหลังจากกลับไป เด็กได้ใช้ความรู้ในการเป็นนักพากย์ฟุตบอลและพากย์กีฬาต่างๆต่ออีกด้วย 

สนามการแข่งขันเรือยาวทุกวันนี้น้อยลง และเป็นเชิงธุรกิจ ผู้พากย์เรือก็เป็นเชิงธุรกิจ ไม่ได้สืบทอดทักษะไปสู่เยาวชน ผมจึงอยากถ่ายทอดให้เยาวชนได้สืบทอดการเป็นนักพากย์เรือให้คงอยู่ และให้เด็กมีโอกาสเข้ามาลอง มาพัฒนาศักยภาพตัวเอง

มีลูกศิษย์ที่เคยได้รับรางวัลที่ท่าตูม รางวัลรองชนะเลิศประเภททีม ปี 2561 ผมรู้สึกดีใจมาก เพราะมีเวลาเตรียมตัวน้อยเพียงแค่สองเดือน เป็นความท้าทายทั้งของตัวเองและเด็กตัวแทนของภาคกลาง พอเด็กๆทำได้ ก็รู้สึกภาคภูมิใจมาก

        

นายภูพิพัฒน์ กิตินันท์ (น้องภูผา) นักพากย์เรือเยาวชนจังหวัดน่าน

“ออกมาแล้ว ออกมาเป็นนักพากย์เรือ”

การเข้าร่วมกิจกรรมนักพากย์เรือเยาวชนปลอดเหล้า ทำให้น้องภูผาได้เข้าค่ายอบรม ได้พัฒนาตนเอง และมีสนามให้ลองพากย์เรือ รวมถึงได้เข้ามาทำงานอื่นๆ ของ YSDN ของสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ซึ่งเป็นการเปิดโลกทัศน์ของน้อง การเป็นนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข นอกจากจะทำให้น้องเป็นที่รู้จักแล้ว ยังเป็นการฝึกความรับผิดชอบ ในการต้องหาข้อมูลและเตรียมตัวในการพากย์เรือให้ออกมาดีที่สุด รวมถึงต้องบริหารจัดการเวลาในการเรียนให้ดีที่สุดเช่นกัน

นายภูพิพัฒน์ กิตินันท์ เล่าว่า

” ชอบครับ ชอบหัวเรือ พ่อเป็นโค้ช (บอกฝีพายว่าต้องพายอย่างไร) เคยเห็นอาจารย์สง่ามาพากย์เรือที่ตำบล และเห็นรุ่นพี่นักพากย์ เลยกลับมาลองเล่นกับเพื่อน พ่อเลยทำไม้พายเรือจำลองให้ มีคนมาถ่ายคลิป ในช่วง 8 ขวบ เลยได้ลองพากย์เรือที่ตำบลผาตอ อำเภอท่าวังผา เป็นการแข่งขันในช่วงสงกรานต์ ตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้นมาก แต่พอได้พากย์ถึงสนามที่ 3 แล้วก็หายตื่นเต้น ประกอบกับได้พากย์กับอาจารย์สง่าและเพื่อนอีก 4 คน ทำให้คนรู้จักมากขึ้น จากนั้นก็พัฒนามาเรื่อยๆ ได้พากย์เรือของจังหวัดน่าน พอ สสส. มีอบรมนักพากย์เรือ ได้เข้าร่วมอบรมและคัดเลือก ก็ติดหนึ่งใน 6 คนที่ได้ไปพากย์เรือ ได้ไปประกวดนักพากย์เรือสร้างสุขของ สคล. ปีแรก ที่สนามอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ปี 2562 ได้รางวัลชนะเลิศประเภททีม, และในปี 2565 ได้รางวัลชะเลิศประเภทดี่ยว ในงานแข่งขันเรือยาวจังหวัดน่าน วันที่ 22-23 ตุลาคม ปี 2565 ที่ผ่านมาด้วยครับ”

การเป็นนักพากย์เรือของน้องภูผา ทำให้น้องได้สืบทอดวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ และทำให้ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของการแข่งเรือ การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ การบริหารจัดการเวลาเพื่อไม่ให้ส่งผลต่อการเรียน เป็นการฝึกทักษะการใช้ชีวิตเบื้องต้นเลยก็ว่าได้ นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือ การที่น้องได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ และพาตัวเองให้ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆนั่นเอง

เสียงของน้องๆนักพากย์เยาวชนสร้างสุข สะท้อนให้เห็นถึงพลังและความมุ่งมั่น ในการค้นหาตัวเอง ไปพร้อมๆกับการส่งต่อ สืบทอดไว้ซึ่งอาชีพนักพากย์เรือ ซึ่งทุกวันนี้มีไม่มากเท่าไหร่ น้องๆเหล่านี้ เป็นกำลังสำคัญ ที่จะสืบทอดวัฒนธรรมเหล่านี้ไว้ เพื่อเป็นต้นแบบ เป็นแรงบันดาลใจ และส่งต่ออีกรุ่น

นอกจากนี้ น้องๆยังสามารถ “สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สร้างสรรค์อนาคตใหม่ๆ ที่ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง เป็นนักสื่อสารเรื่องราวที่ดี ผ่านไมค์และเสียงอันทรงพลัง” ในงานประเพณีแข่งเรือที่ต่างๆ ให้คนได้รับรู้พิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกด้วย มากกว่าแค่การพากย์เรือให้สนุกสนานธรรมดา แต่สามารถเป็นพลังที่บอกต่อถึงการป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ให้ผู้ที่มารอฟังเสียงพากย์เรือของน้องๆเหล่านี้ด้วยเช่นกัน การส่งต่อทั้งสิ่งดีๆ และความสนุกสนานเฮฮา นี่แหละ เราจึงได้เรียกพวกเขาเหล่านี้ว่า “นักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข”

ภาพ : นาฎชฎา แจ้งพรมมา

บทสัมภาษณ์/บทความ : แผนงานนโยบายสาธารณะ

จนท.แผนงานนโยบายสาธารณะและสื่อสารองค์กร เครือข่ายงดเหล้าภาคอีสานตอนบน