รวมพลังเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา อีสานล่าง ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะงานบวชสร้างสุข มุ่งส่งเสริมให้บวชตามพระธรรมวินัย เรียบง่าย ลดปัจจัยเสี่ยง

ครั้งหนึ่งในชีวิต ได้มีโอกาสบวชลูกบวชหลาน ถือเป็นโอกาสในการสร้างบุญใหญ่ของตนเองและครอบครัว จะต้องเต็มที่ให้ถึงที่สุด จัดงานฉลองบุญยิ่งใหญ่ เชิญหมู่ญาติสนิทมิตรสหายที่รู้จักมาร่วมอนุโมทนาด้วย เพื่อความเป็นมงคล และได้ทำบุญร่วมกันหลายคน ในความคิดของคนไทยส่วนใหญ่เป็นเช่นนี้ รวมถึงคนอีสานด้วยเช่นกัน การจัดงานบวชที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า จะบวชแต่ละครั้งต้องลงทุนมหาศาล ต้องจัดโต๊ะเลี้ยงแขก มีมหรสพดนตรีฉลอง มีการเสพติดความสนุกสนานจนเกินเลย มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำต่อกันมาจนกลายเป็นค่านิยม ทำให้การเข้าถึงศาสนาเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้น เพราะจะต้องมีทุนพอสมควร

ปัญหาไม่ได้มีเพียงเท่านี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในงานบวช ที่พบเห็นอยู่บ่อยครั้งตามสื่อสังคมออนไลน์ และสื่อสาธารณะพบว่า งานบวชหลายงาน มีการทะเลาะวิวาท การฆ่ากันได้ในงาน เมื่อสืบสวนหามูลเหตุแล้ว ล้วนมีมีต้นตอมาจาก ความเมา ที่งานบวชมีการปล่อยให้มีการดื่มเหล้ากันภายในงาน และด้วยมีมหรสพดนตรีรถแห่มาช่วยกระตุ้น เกิดความคึกคะนอง สร้างปัญหาให้กับกับสังคม และสร้างความเสื่อมเสียให้กับพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก

เมื่อวันเสาร์มี่ 16 กรกฎาคม 2565 ณ ศาลา วัดโพนขวาว ต.จิกดู่ อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา สังฆะเพื่อสังคมภาคอีสานล่าง โดยการประสานงานของ พระอธิการโสภณ ปิยธมฺโม เจ้าอาวาสวัดโพนขวาว จังหวัดอำนาจเจริญ ได้เปิดเวทีสร้างความเข้าใจ พร้อมหารือแนวทางร่วมในการผลักดันแนวคิด การบวชสร้างสุข ให้เป็นนโยบายสาธารณะ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงค่านิยมของการบวชในสังคมปัจจุบัน ให้หันกลับมามองความถูกต้อง ความเหมาะสม โดยการบวชแบบเรียบง่าย ยึดพระธรรมวินัย ประหยัด ปลอดเหล้า ปลอดภัย ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาตามมา ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) โดยมีจุดเริ่มต้นเพื่อสร้างต้นแบบงานบวชสร้างสุข ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และยโสธร

และได้มีการเซ็นสัญญาเพื่อรับการสนับสนุนงบประมาณในการขับเคลื่อนงานสร้างความเข้าใจ และสร้างข้อตกลงกับชุมชนในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด โดยมีเป้าหมาย คือ ผลักดันรูปแบบการบวชสร้างสุข ให้เป็นนโยบายสาธารณะ ในพื้นที่ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ระดับท้องถิ่น ชุมชน กับวัด พร้อมกับการสร้างกระแส รูปแบบการบวชแบบเรียบง่าย เพื่อทวนกับกระแส กับการบวชแบบสิ้นเปลือง และเต็มไปด้วยอบายมุข หวังเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่น ๆ ได้ตระหนักและร่วมกันเปลี่ยนแปลงค่านิยมการบวชแบบใหม่ ที่ถูกต้องและดีงามอย่างยั่งยืน ต่อไป