ชุมชนผู้ไทบ้านกุดหว้า จังหวัดกาฬสินธุ์ ยังคงสืบสานงานประเพณีบุญบั้งไฟตะไลล้าน “ปลอดเหล้า ปลอดภัยปลอดการพนัน ห่างไกลโควิด”

ชุมชนผู้ไทบ้านกุดหว้า จังหวัดกาฬสินธุ์ ยังคงสืบสานงานประเพณีบุญบั้งไฟตะไลล้าน “ปลอดเหล้า ปลอดภัยปลอดการพนัน ห่างไกลโควิด” เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็กเยาวชน เป็นตัวอย่างของงานบุญปลอดเหล้าระดับประเทศที่ทำได้สำเร็จ โดยความร่วมมือของชุมชนและหน่วยงานต่างๆ

งานประเพณีบุญบั้งไฟตะไลล้านปลอดเหล้าปลอดภัยปลอดการพนัน ของเทศบาลตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ปีนี้จัดระหว่างวันที่ 21 – 22 พฤษภาคม 2565 โดยมี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) วัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ศูนย์ขอนแก่นเทศบาลตำบลกุดหว้า และชุมชนผู้ไทชาวกุดหว้า  โดยไฮไลท์ของงานในปีนี้ภายใต้มาตรการควบคุมดูแลโควิด นอกจากการจุดบั้งไฟตะไล 10 ล้านแล้ว ยังมีเอกลักษณ์ของขบวนแห่ที่มีการรณรงค์สื่อสารประชาสัมพันธ์ค่านิยมปลอดเหล้า ปลอดภัยปลอดการพนันโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายอำเภอกุฉินารายณ์ พี่น้องสื่อมวลชน และนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศร่วมเป็นสักขีพยานกว่า 10,000 คน จากการสำรวจแบบสอบถามความคิดเห็นของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมงาน

พบว่า ผู้มาร่วมงานร้อยละ 95.59 เห็นว่าการจัดงานบุญบั้งไฟแบบปลอดเหล้า ปลอดภัย และปลอดการพนัน ที่บ้านกุดหว้าทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 93.40 เห็นว่างานแบบปลอดเหล้าทำให้คนกุดหว้าสามารถรักษาประเพณีบุญบั้งไฟที่ดีงานไว้ได้ ซึ่งสอดคล้องกับผู้มาร่วมงานร้อยละ 96.52 ที่เห็นว่าการจัดงานบุญบั้งไฟแบบปลอดเหล้า ปลอดภัยและปลอดการพนันนี้ช่วยส่งเสริมให้การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสำเร็จมากขึ้น นอกจากนี้ผู้ร่วมงานร้อยละ 96.75 เห็นว่าการจัดงานบุญบั้งไฟปลอดเหล้าช่วยลดโอกาสที่ลูกหลานจะหัดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงาน ร้อยละ 95.36 ยังเห็นว่าการจัดงานแบบปลอดเหล้าช่วยลดอุบัติเหตุระหว่างการเดินทาง ทั้งนี้ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 95.59 รู้สึกภาคภูมิใจที่งานบุญบั้งไฟตะไลล้านของชาวกุดหว้าเป็นต้นแบบการรณรงค์ปลอดเหล้า ปลอดภัยและปลอดการพนัน 

ขณะที่คณะทำงานเฝ้าระวังและควบคุมปัจจัยเสี่ยงในงานบุญประเพณี สุ่มสำรวจพบว่ามีการดื่มในพื้นที่ร้อยละ 1 ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างถิ่นที่ไม่ทราบธรรมเนียมปฏิบัติของคนพื้นที่ และบางส่วนเป็นกลุ่มเยาวชนนักดื่มขาโจ๋ในพื้นที่ ซึ่งเป็นความท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลงค่านิยมทางสังคมในอนาคต โดย สสส. และเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจะร่วมกันกับเจ้าภาพในพื้นที่ หาวิธีปรับเปลี่ยนค่านิยมทางสังคมในระยะยาว ด้วยการขยายไปยังงานบุญ อื่นๆ ทั้งงานเข้าพรรษา งานบุญงานศพ รวมทั้งเปิดพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กเยาวชน และต่อยอดไปสู่งานท่องเที่ยวชุมชนปลอดภัย เพื่อสร้างจุดขายกระตุ้น ให้เกิด เศรษฐกิจสร้างสรรค์ วิธีวัฒนธรรมผู้ไทยในระยะยาว

กองบรรณาธิการ SDNThailand