ภาคใต้ตอนบน เปิดเวทีสร้างความเข้าใจ ในการขับเคลื่อนงาน บวชสร้างสุข พื้นที่ต้นแบบนำร่อง พร้อมมอตาลปัตร สัญลักษณ์ของโครงการฯ

“ บวชสร้างสุข บวชประหยัด ได้ประโยชน์ ได้โปรดสัตว์ ปฏิบัติตามแนวทางพระศาสนา สัตว์ไม่ตาย คนไม่เมา เคล้ากามา ลดตัณหา นำพาสุข พุทธวิธี ”

พระมหาบวร ปวรธมฺโม เจ้าอาวาสวัดบุญนารอบ จ.นครศรีธรรมราช ผู้รับผิดชอบโครงการฯ ภาคใต้ตอนบน

เมื่อวันพุธที่ 11 พฤษภาคม 2565 เวลาประมาณ 09.00 น. คณะทำงานโครงการขยายผลการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะงานบวชสร้างสุข ภาคใต้ตอนบน นำโดย พระมหาบวร ปวรธมฺโม ผู้รับผิดชอบ/ผู้ประสานงานโครงการฯ ได้เปิดเวทีประชุม ทำความเข้าใจ ในโครงการฯ พร้อมวางกรอบแนวทางการขับเคลื่อนงานโครงการ กับ พื้นที่เป้าหมาย ภาคใต้ตอนบน 7 จังหวัด (จังหวัดนครศรีธรรมราช , จังหวัดสุราษฎร์ธานี , จังหวัดกระบี่ , จังหวัดพังงา , จังหวัดระนอง, จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดชุมพร ) ณ วัดวัดศรีพนมพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.)

ภายในเวที ได้มีการนำเสนอหลักการของโครงการ ถึงการจัดงานบวชในพื้นที่ของภาคใต้ตอนบน ที่มีค่านิยมและวัฒนธรรมในการจัดงานบวชที่ถือคติที่ว่า “ต้องจัดยิ่งใหญ่เพื่อแสดงบารมี” โดยการจัดงานบวชที่มีค่านิยมในลักษณะนี้ของภาคใต้ตอนบนแสดงให้เห็นซึ่งฐานะทางสังคมของเจ้าภาพ ซึ่งมีมหรสพ แตรวงรถแห่ โดยค่านิยมดังกล่าวนี้ได้ทำตาม ๆ กันมาเป็นเวลานานจนเกิดเป็นวัฒนธรรมในการจัดงานบวชของคนภาคใต้ตอนบน ซึ่งการจัดงานบวชแต่ละครั้งจะมีค่าใช้จ่ายในการจัดงาน 1 ครั้ง เฉลี่ยหลักแสนบาทและมากสุดที่สำหรับเจ้าภาพที่มีฐานะทางสังคมที่ดีจะใช้งบประมาณในการจัดงานโดยประมาณหนึ่งล้านบาท แต่เจ้าภาพที่มีทุนในการจัดงานน้อยแต่หลีกกระแสสังคมไม่ไหว ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาจัดงานบวช ส่วนมากในการจัดงานบวชแต่ละครั้งที่มีการใช้งบประมาณที่สูงเพราะว่า เป็นค่าอาหาร ค่าโต๊ะจีน ค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ค่าดนตรีมหรสพ ค่ารถแห่ ซึ่งเมื่องานบวชมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้องก็พบปัญหาความรุนแรงตามมาจึงเป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จึงต้องมีการขับเคลื่อนโครงการ บวชสร้างสุข เพื่อแก้ไขปัญหา และสร้างอำนาจในการคานงัดกับค่านิยมที่กดทับสังคมอยู่

ในที่ประชุม ได้ร่วมกันวางกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนงานไว้ 3 แนวทางเบื้องต้น คือ

1. สนับสนุนพื้นที่เป้าหมาย ทั้ง 7 จังหวัด ในการเปิดเวทีสร้างความเข้าใจและผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายสาธารณะ กับวัด เจ้าอาวาส หรือพระอุปัชฌาย์ในพื้นที่

2. ดำเนินการสร้างข้อตกลง (MOU) พื้นที่ต้นแบบในการจัดงานบวชสร้างสุข 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี

3. สร้างเครื่องมือ ในการเก็บข้อมูลเชิงวิชาการ เพื่อทำการวิจัยศึกษาเปรียบเทียบ การจัดงานบวชสร้างสุข กับงานบวชทั่วไป

พร้อมกันนั้น พระมหาบวร ปวรธมฺโม ได้มีการมอบ ตาลปัตร ที่มีสัญลักษณ์ของโครงการ เพื่อใช้ในการประกอบพิธีในการจัดงานบวชสร้างสุขในพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงฆ์เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการอีกช่องทางหนึ่ง