อำเภอนาวัง หนองบัวลำภู “ขับเคลื่อนบูรณาการงานบุญประเพณีปลอดเหล้า”

อำเภอนาวัง หนองบัวลำภู ขับเคลื่อนบูรณาการงานบุญประเพณีปลอดเหล้า ในพื้นที่ทุกตำบล เพื่อสานต่อนโยบายงานบุญประเพณีปลอดเหล้าระดับจังหวัด ขับเคลื่อน 4 ตำบลให้เป็นแบบอย่าง นำไปสู่การต่อยอด การดำเนินการอย่างเข้มแข็ง

30 มีนาคม 2565 เครือข่ายงดเหล้าภาคอีสานตอนบนพร้อมด้วยเครือข่ายงดเหล้าจังหวัดหนองบัวลำภู จัดเวทีแลกเปลี่ยนการดำเนินงานบุญประเพณีปลอดเหล้า โดยมีปลัดอำเภอนาวัง เป็นประธานร่วมหารือแลกเปลี่ยนการดำเนินงาน

ในอำเภอนาวังนั้น การจัดงานบุญ งานศพปลอดเหล้า ในส่วนของตำบลจะมีป้ายสนับสนุนให้ แต่ก็จะมีการพูดคุยกับชาวบ้านก่อนว่าจะทำงานปลอดเหล้าไหม หากเจ้าภาพงานใด ประสงค์ที่จะจัดงานปลอดเหล้า ก็จะมีป้ายสนับสนุนให้ ผู้นำ/อสม. นำป้ายไปติดว่าเป็นงานปลอดเหล้า ส่วนมากจะเป็นงานศพ มีข้อความว่า “งานศพปลอดเหล้า งานเศร้าปลอดการพนัน “

หากย้อนไปแต่ก่อนจะมีการจัดงานปลอดเหล้า ในพื้นที่ของอำเภอนาวังในหลายตำบลนั้น การไปช่วยงานศพกับเจ้าภาพจะเป็นเหมือนประเพณี ที่นิยมทำกันมา คือ ถือน้ำอัดลม 1 ขวด กับ เหล้า 1 ขวด เอาไปช่วยงานศพ ใช้ดื่มกินในงาน เป็นชุมชนจัดงานศพที่มี “การฌาปนกิจเหล้าเบียร์” พอจบงาน เจ้าภาพมีเหล้าเหลือ แต่เงินหมด เลยมีการหารือประชาคมกันใหม่ ตั้งกฎระเบียบ และเกิดการขับเคลื่อนงานมากว่า 12 ปี เพื่อให้การช่วยงาน ใช้เงินแทนเหล้า หลังจากทำได้ การดื่มเหล้าในงานศพ งานบุญ ในชุมชนก็ลดลง การใช้จ่ายในงานก็ลดลง เจ้าภาพก็มีเงินเหลือ การเปลี่ยนแปลงค่อยๆปรับเปลี่ยนมา ได้ประมาน 80 % แล้ว ก็ถือว่าเป็นที่น่าภูมิใจ แต่ก็ยังต้องทำต้อไปอีกเรื่อยๆ

และในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมานั้น พื้นที่ได้มีการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆในหลายด้านไปพร้อมๆกัน โดยมีประเด็นหลักๆ ดังนี้

1. ชุมชนน่าอยู่ รณรงค์ “งานศพปลอดเหล้า งานเศร้าปลอดการพนัน”

2. การรณรงค์เมาไม่ขับ ในช่วงเทศกาลต่างๆ

3. การป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ หนุนกิจกรรมทูบีนัมเบอวัน เพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมให้เด็กและเยาวชน

4. การรักษาและให้คำปรึกษาคนที่อยากเลิกเหล้า บุหรี่ มีกระบวนการบำบัดรักษา และเชื่อมต่อระบบกับทางโรงพยาบาล

ปลัดอำเภอนาวังกล่าว่า สิ่งที่เรายังทำได้ยาก คือ

1. เรายังไม่สามารถขจัดค่านิยมการดื่มในการพบปะสังสรร หรือการดื่มในงานบุญสนุกสนานต่างๆได้

2. ทุกที่สามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายมาก และยังมีบางส่วนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ถือว่าเป็นประเด็นปัญหาที่ต้องขับเคลื่อนต่อให้เข้มกว่าเดิม

การขับเคลื่อนต่อจึงต้องกระทำดังต่อไปนี้

1. มีการขับเคลื่อนระดับชุมชน เชื่อมต่อกับระดับอำเภอ

2. ขับเคลื่อนงานบุญให้ไม่มีเหล้า โดยเฉพาะงานบุญทางศาสนา วันพระใหญ่ งานบุญกฐิน หรืองานใดๆที่จัดในวัด

3. ผลักให้เกิดตำบลต้นแบบ นอกจากตำบลเทพคีรีที่เข้มแข็งแล้ว ต้องชวนตำบลอื่นขับเคลื่อนให้ไปในทิศทางเดียวกันด้วย

4. ชวนทุกตำบลไปศึกษาดูงานที่ตำบลต้นแบบ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนงานในพื้นที่ แล้วเอามาเสริมงานในระดับตำบล ชุมชนของตนเองให้เกิดการขยายพื้นที่และความยั่งยืน