ชมรมคนหัวใจเพชร “บ่าวงดเหล้า-สาวพักตับ”

ตำบลนาข้าวเสีย อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ตั้งอยู่ทิศใต้ของที่ว่าการอำเภอนาโยง ห่างจากตัวอำเภอนาโยง ประมาณ 6 กิโลเมตร นางอารี ขวัญศรีสุทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาข้าวเสีย เล่าถึงเรื่องราวที่มาของชื่อดังกล่าว มาจากการย่อคำตามวัฒนธรรมคนภาคใต้ โดยคำเต็มคือ พื้นที่ทำนาสำหรับปลูกข้าวไว้เสียภาษีจ่ายอากรให้รัฐ โดยพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวหลวงไว้เพื่อส่งให้ทางราชการไว้ค้าขาย โดยมีการริเริ่มหักป่าถางที่เพื่อทำนาในบริเวณดังกล่าวมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ข้าวที่ได้จะนำส่งขึ้นรถไฟโดยจะไปรวบรวมกับข้าวเปลือกและสิ่งของอื่น ๆ ที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนส่งไปยังที่อื่น ๆ ทั่วประเทศอีกครั้ง

ย่านโลกาภิวัฒน์ทางการค้าของสยาม ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

นาข้าวเสีย และการปลูกข้าวของพื้นที่นี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัฒน์ทางการค้าของสยามมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ผู้คนในพื้นที่คุ้นชินกับการทำการเกษตรเพื่อค้าขายส่งออกนอกพื้นที่มาตั้งแต่ดังเดิม โดยนางสาวอภิชญา โออินทร์ ได้ให้ภาพความทรงจำของตัวเองเอาไว้ว่า ประมาณ พ.ศ. 2530 คนที่นี่ยังคงรวมตัวกันดำนา ปลูกข้าว และเป็นแบบนี้มาจนถึงทุกวันนี้ โดยชาวนาที่นี่จะมีที่ดินเป็นของตัวเอง น้อยคนมาก ๆ ที่จะเป็นชาวนาเช่าที่ และสำหรับคนที่ไม่มีที่ดิน หรือมีที่ดินไม่พอกิน ก็มักจะไปรับจ้างกรีดยางซึ่งจะมีรายได้สม่ำเสมอมากกว่าการทำนา ชาวนาที่นี่เองจึงไม่ใช่ชาวนาชนิดที่ยากจนข้นแค้นนัก และส่วนใหญ่ก็เห็นความสำคัญของการให้การศึกษาบุตรหลาน จึงมักส่งลูกเข้าไปเรียนในเมือง ซึ่งใช้เวลาการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงสำหรับรถสองแถว ปัจจุบันคนนาข้าวเสียที่มีอายุประมาณ 30-4 ปี ซึ่งถือเป็นคนรุ่นใหม่ กำลังทยอยกลับมาพัฒนาบ้านเกิดโดยใช้ฐานทรัพยากรเดิมของพื้นที่ เช่น ความพยายามในการรวมหมู่กันทำนาข้าวอินทรีย์ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ที่มาจากพันธ์ข้าวพื้นเมืองของตรัง เป็นต้น

ด้วยความเป็นชุมชนเกษตรกรรมในพื้นที่ชนบทนี่เอง ทำให้สภาพความสัมพันธ์ของผู้คนมีความแนบแน่นกัน กล่าวได้ว่า ผู้คนในตำบลนาข้าวเสียนั้นสามารถที่จะ “สาวย่านนับญาติ” กันได้ทุกคน เพราะเป็นสังคมพี่น้อง-เครือญาติที่ต่างพึ่งพากันมานาน แม้จะมีคนภายนอกเข้ามาบ้าง แต่ก็ได้รับการโอบอุ้มจากคนดั้งเดิมของพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่เรียกตนเองว่า “เขยนอก” ที่หมายถึงกลุ่มชายที่เข้ามาแต่งงานกับผู้หญิงในนาข้าวเสีย ก็จะมีบทบาทสำคัญในการทำสาธารณะประโยชน์ต่าง ๆ ในชุมชน เช่นการรวมกลุ่มกันพัฒนาหมู่บ้าน การเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาในนามกลุ่ม “เขยนอก” ทั้งงานศพ งานบวช งานแต่ง งานทอดกฐินลากพระ เป็นต้น ในด้านมิติทางวัฒนธรรม แต่เดิมที่ตำบลนาข้าวเสียเคยมีประเพณีที่สำคัญอย่าง “ลาซัง” และ “แย่งพระ” ในขณะที่ต้นทุนอย่างหนึ่งที่ส่งผลดีต่อการรณรงค์งดเหล้าคือ การตั้งจิตอธิษฐานกล่าวปาราวณาเข้าพรรษา ที่จะมีการกล่าวคำสัญญาว่าจะงดเว้นการทำผิดศีลหรือทำประพฤติในทางอบาย หรือตั้งใจว่าจะทำสิ่งดีใด ๆ สักอย่างตลอดช่วง ๓ เดือนของการเข้าพรรษา สิ่งเหล่านี้ปฏิบัติต่อเนื่องมาเนิ่นนานก่อนการเข้ามารณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาของประชาคมงดเหล้าจังหวัดตรัง แต่ทำกันไม่กว้างขวาง และมีการดื่มก่อนและหลังเข้าพรรษาเพื่อชดเชยช่วงงดเหล้าด้วย

ชุมชนนาข้าวเสียเป็นชุมชนชาวพุทธทั้งหมด และเป็นแหล่งเกษตรกรรมทำนามาแต่เดิม พื้นที่นี้สามารถทำนาได้อย่างอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปีและมีวัฒนธรรมการรวมหมู่ทำงาน ทำให้มีการร่วมกันกินอาหารและพักผ่อนหลังร่วมกันทำงานเสร็จด้วย ในอดีตชุมชนบริเวณนี้ทั้งหมดจึงมีโรงต้มเหล้าถูกกฎหมายกระจายอยู่ทั่วทั้งตำบล รวมถึงพื้นที่รอบ ๆ ด้วย จนกระทั่ง พ.ศ. 2493 รัฐบาลเมื่อมีกฎหมายไม่อนุญาตให้ประชาชนต้มเหล้าบริโภคเอง กิจการโรงเหล้าต่าง ๆ จึงทยอยยุติลง แต่ก็มีการแอบต้มเหล้ากันอยู่บ้าง ไม่มากนัก โดยเรียกเหล้าที่ต้มและกลั่นเองเหล้านี้ว่าเหล้าเถื่อน โดยนางศรีรัตน์ โออินทร์ ได้ให้ข้อมูลว่า การต้มเหล้าเถื่อนในพื้นที่เพิ่งหายไปในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ ตามคนรุ่นก่อนที่ตายจากไป ในเรื่องการของการดื่มเหล้านั้น แต่ก่อนการดื่มเหล้าถือเป็นเรื่องปกติ เป็นส่วนหนึ่งของการเข้าสังคมของผู้ชาย หย่อมบ้านแต่ละหย่อม หย่อมหนึ่งอาจจะมีบ้านราว 5 ถึง 10 ครอบครัวที่ตั้งอยู่ใกล้กัน ก็จะมีบ้านสักหลังที่เหมือนเป็นบ้านกลางสำหรับการพบปะพูดคุย รวมทั้งกินข้าวและดื่มเหล้าที่ต้มขึ้นเอง และในปัจจุบันก็กลายมาเป็นเหล้าแดง เหล้าขาว เบียร์ที่ซื้อจากร้านในชุมชนในปัจจุบันด้วย โดยส่วนใหญ่จะไม่มีการดื่มหนักขนาดเมามายก่อปัญหาสังคม แต่คนแก่หลายคนก็ตายก่อนวัยด้วยโรคที่น่าจะเกี่ยวกับสุรา ซึ่งคนในครอบของนางศรีรัตน์ โออินทร์ ก็เป็นผู้ประสบโรคร้ายจากการดื่มสุราด้วย โดยสามีซึ่งมีพฤติกรรมดื่มเหล้าเป็นประจำได้ป่วยเป็นเส้นเลือดในสมองแตก อย่างไรก็ดี ในระยะสิบปีที่ผ่านมาการดื่มเหล้าในลักษณะดังกล่าวเริ่มน้อยลง กลายเป็นการนัดพบเพื่อนเป็นครั้งคราวที่ร้านอาหารหรือร้านค้าในชุมชนแทนการมีบ้านกลางไว้พบปะ กินข้าว และดื่มเหล้า

นอกจากการดื่มเหล้าในชีวิตประจำวันแล้ว จะมีการเลี้ยงเหล้าหลังการรวมตัวการดำนา เกี่ยวข้าว ซึ่งถือเป็นการเลี้ยงขอบคุณคนที่มา “ช่วยงาน” คำว่าช่วยงานนี้ ยังถูกใช้กับการร่วมงานบุญประเพณีต่าง ๆ เช่น งานศพ งานแต่งงาน และงานบวชด้วย ความหมายของการ “ช่วยงาน” นี้ นอกจากจะเป็นการมาออกแรงทำงานให้ เช่น การมาร่วมกันดำนา เกี่ยวข้าว ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับการลงแขกทำนาของภาคกลางแล้ว ยังขยายความไปถึงการมาช่วยงานในงานบุญประเพณี ทั้งในลักษณะการมาลงแรงเตรียมงานต่าง ๆ และการให้เกียรติมาเป็นแขกของงานซึ่งมักจะมีการ “ใส่ซองช่วยงาน” ซึ่งหมายถึงการมอบเงินช่วยงานให้กับเจ้าภาพงานด้วย นางพะยอม หนูนุ่ม ได้ให้ข้อมูลว่า ในงานศพประมาณ 7 วัน จะใช้เหล้า/เบียร์ประมาณ 1 รถกระบะ คิดเป็นเงินค่าใช้จ่ายเรื่องเหล้าประมาณ 80,000 บาท ซึ่งกรณีนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุด แต่โดยปกติค่าใช้จ่ายเรื่องการเลี้ยงเหล้าจะอยู่ที่ 20,000 บาทต่องาน ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงเหล้าขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินและสังคมของเจ้าภาพด้วย และในทางเดียวกัน การใส่ซองช่วยงานของคนในตำบลเองก็จะขึ้นอยู่กับสถานะของเจ้าภาพด้วย คือ ถ้าเจ้าภาพมีฐานะดี ก็จะเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่มรวมถึงสุราอย่างเต็มที่ การใส่ซองช่วยงานจะมีมาตรฐานขั้นต่ำอยู่ที่ 500 บาทเป็นเบื้องต้น ในขณะที่งานที่เจ้าภาพเป็นคนฐานะปานกลาง ไม่ร่ำรวย ไม่เลี้ยงเหล้าเลย หรือเลี้ยงไม่เต็มที่ การใส่ซองช่วยงานจะมีมาตรฐานขั้นต่ำอยู่ที่ 300 บาท เป็นต้น

ในแง่ของเพศสภาวะกับการบริโภคผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ จากการสัมภาษณ์พบว่า เพศชายเป็นผู้บริโภคหลักและเป็นผู้ตัดสินใจซื้อด้วย ส่วนเพศหญิงนั้น หากเป็นปัจเจกบุคคลจะไม่สนใจบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ แต่ถ้าเป็นครอบครัว หากฝ่ายชายชักขวนก็มักจะดื่มด้วย แต่หากฝ่ายชายไม่อนุญาตก็จะไม่ได้ดื่ม ในส่วนของเด็กและเยาวชน จะใช้โอกาสในการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากการเข้าวงสังสรรค์กับเพื่อน และมักจะเลือกใช้บ้านเพื่อนทั้งในเมืองและในพื้นที่เป็นที่ดื่มสุราครั้งแรก

ด้วยสภาพทั่วไปเช่นนี้ อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า การดื่มเหล้าในบริบทสังคมวัฒนธรรมเดิมของพื้นที่ตำบลนาข้าวเสีย เป็นเรื่องปกติที่ทำได้ในลักษณะการพบปะสังสรรค์และการรับเลี้ยงในงานบุญประเพณี จนกระทั่งมีการดำเนินงาน “รณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา” โดยคณะทำงานประชาคมงดเหล้าจังหวัดตรัง นำโดยคุณไพรัช รัตนกุล ในปี 2557

ใน  พ.ศ. 2557 คุณไพรัช วัฒนกุล ได้เข้าร่วมกิจกรรมถวายเทียนพรรษา และได้เริ่มพูดคุยถึงความเป็นไปการจัดกิจกรรม “งดเหล้าเข้าพรรษา” ในพื้นที่ตำบลนาข้าวเสีย กับคุณพะยอม หนูนุ่ม

ต่อมา ใน พ.ศ.2558 นางไพรัช  วัฒนกุล  ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดตรัง  ได้ประสานความร่วมมือ นางอารีย์  ขวัญศรีสุทธิ์  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาข้าวเสีย เพื่อจัดกระบวนการชุมชน “งดเหล้าเข้าพรรษา” เป็นครั้งแรก โดยในครั้งนั้น “นายกอารีย์” ได้มอบหมายให้  นางพยอม  หนูนุ่ม  เจ้าหน้าที่งานคลังของ อบต. ซึ่งเป็นที่รู้จักของ “พี่เล็ก” คุณไพรัช วัฒนกุล ให้เป็นผู้ที่ประสานหาแกนนำจากชุมชนมาช่วยกันชวนคนงดเหล้าในปีนั้น โดยมีวิธีการง่าย ๆ คือ ให้เริ่มชวนจากคนใกล้ตัวก่อน ให้ภรรยาชวนสามี พ่อชวนลูก พี่ชวนน้อง เป็นต้น ปรากฎว่าในปีดังกล่าว ทางตำบลนาข้าวเสียได้มีแกนนำชักชวนคนงดเหล้าขึ้นมาเป็นครั้งแรกจำนวน 5 คน โดยทั้งหมดเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อย่อว่า อสม. โดยคนที่ชักชวนได้ทั้งหมดมาจากคนใน หมู่ที่ 4 จึงกล่าวได้ว่า งานงดเหล้าของนาข้าวเสีย ได้นำร่องขึ้นในหมู่ที่ ๔ เป็นพื้นที่แรกผ และเมื่อครบพรรษาก็ได้มีคนประกาศงดเหล้าตลอดชีวิตเป็นคนแรก คือ นายวุฒิวัฒน์ ดับพันธ์

ใน พ.ศ. 2559  หลังจากสรุปบทเรียนการทำงาน จึงได้ขยายพื้นที่ดำเนินการไปยังหมู่ที่ 7 และ หมู่ที่ 8 รวมกับที่ทำอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 4 เดิม รวมเป็น 4 หมู่บ้าน เกิดแกนนำชวนคนงดเหล้าเป็น 20 คน และได้ร่วมกิจกรรมรณรงค์ที่ใช้ชื่อว่า “งดเหล้าถวายในหลวง” ทำให้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และในปีนี้ ได้มีคนประกาศตนงดเหล้าตลอดชีวิตอีก 2 คน คือ ผู้ใหญ่ทวี หนูนุ่ม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 และผู้ช่วยแป้น นุ้ยผุด ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10

“บ่าวงดเหล้า สาวพักตับ”

หลังจากผ่านการทำงานอย่างต่อเนื่องมาจนถึง พ.ศ. 2560 ในปีนี้เองที่ได้ขยายการชวนคนเลิกเหล้าไปทั้งพื้นที่ตำบล ครบทั้ง 10 หมู่บ้าน  โดยมี อสม.ที่มาร่วมเป็นแกนนำ 50 คน และได้เริ่มใช้ชื่อ “สาวพักตับ” และใช้กระบวนการ ชวน ช่วย ชมเชียร์ ในการรณรงค์ โดยในปีนี้สาวพักตับนอกจากจะชวนคนงดเหล้าเข้าพรรษาแล้วยังได้ชวนคนในครอบครัวงดเหล้าเข้าพรรษาด้วย  จึงได้เกิดเป็นที่มีของคำว่า “คู่รักพักตับ” เพิ่มขึ้น นับเป็นปีที่การทำงานอย่างต่อเนื่องได้ส่งผลระเบิดจากภายใน และทำให้ชื่อเสียงของ “นักรณรงค์” ชวนคนเลิกเหล้า “บ่าวงดเหล้าสาวพักตับ” ชุมชนคนสู้เหล้า เริ่มเป็นที่รู้จักในระดับอำเภอและจังหวัดมากขึ้น โดยมีนายณรงค์ศักดิ์ สงสุวรรณ์ สามีของนางญาณี สงสุวรรณ์ ซึ่งเป็นนักรรณรงค์ชวนคนงดเหล้าได้ประกาศตนงดเหล้าตลอดชีวิต ซึ่งถือเป็นคู่รักพักตับคู่แรกอีกด้วย

ใน พ.ศ.2561 ได้มีการต่อยอดรูปแบบการรณรงค์ที่ใช้ความสัมพันธ์และความปรารถนาดีของภรรยาที่มีต่อสามี เป็นความรักของแม่สู่คนในครอบครัว เกิดเป็นปรากฎการณ์เลิกเหล้ากันทั้งบ้าน ตั้งแต่พ่อแม่ลูก และกลายเป็นต้นแบบครอบครัวนักรณรงค์ตามมา และทำให้ตำบลนาข้าวเสียกลายเป็นชุมชนงดเหล้าในระดับตำบล ร้านค้าที่ขายเหล้าเบียร์เริ่มต้องปรับตัวเพราะลูกค้าเริ่มน้อยลง และเศรษฐกิจครัวเรือนเริ่มดีและมีเงินออมมากขึ้น ในขณะที่ภาษีสรรพาสามิตสุราในพื้นที่เริ่มลดลง ทั้งนี้เป็นเพราะคนงดเหล้ามากขึ้นแล้วนำเวลาที่เคยใช้ไปในการดื่มเหล้าไปใช้ในการทำอาชีพเสริมต่าง ๆ เช่น ทำไซดักปลา ปลูกถั่วเขียว เพาะเลี้ยงปลากะชัง เป็นต้น

พ.ศ.2563 รูปแบบการรณรงค์ที่ใช้ชื่อว่า “สาวพักตับ” “คู่รักพักตับ” เริ่มเป็นที่รู้จักทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ จนได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเข้าทำข่าว และได้เริ่มมีแนวคิดในการจัดตั้ง “ชมรมคนหัวใจเพชร” เพื่อดำเนินงานรณรงค์งดเหล้า บุหรี่ และงานส่งเสริมสุขภาวะต่าง ๆ ให้มั่นคงต่อไป

พ.ศ.2563-2564 เกิดวิกฤติสุขภาพจากการระบาดของ “โควิด-19” การทำงานรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษายังคงดำเนินต่อไป รวมถึงการชวนคนงดเหล้าตลอดชีวิต แต่เพิ่มเติมด้วยการใช้พลังของชมรมคนหัวใจเพชรมาช่วยกันดูแลช่วยเหลือคนในตำบลนาข้าวเสียที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด เช่น การระดมทุนจัดซื้อหน้ากากอนามัย การแลกเปลี่ยนวัตถุดิบในประกอบอาหารเพื่อทำครัวกลาง การจัดระบบส่งอาหารและเวชภัณฑ์ให้ผู้ที่ต้องกักตัว การทำแอลกอฮอล์ล้างมือ รวมถึงการใช้ทุนศักยภาพของชุมชนที่มีเป็นแหล่งอาหารที่มั่นคง ในการประคองอาชีพและรายได้ไว้ ควบคู่ไปกับการรณรงค์งดเหล้า และกำลังก้าวสู่การร่วมมือทำนาอินทรีย์ไว้เป็นอาหารปลอดภัย ทั้งเพื่อการบริโภคภายในและเพื่อการจัดจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงในช่วงโควิดด้วย

จุดเปลี่ยนในการมารณรงค์ลดละเลิกเหล้าของชุมชน

เมื่อสภาพชุมชนเปลี่ยน การดื่มเหล้ากลายเป็นวิถีการบริโภคทั่วไป จึงได้สร้างผลกระทบกับชุมชนหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ สุขภาพที่ทรุดโทรมเสื่อมถอยจากการดื่มหนัก การทะเลาะวิวาทระหว่างคนเมาด้วยกันและกับคนอื่น โดยเฉพาะกับคนในครอบครัวที่ทำให้เกิดปัญหาทั้งระดับการทะเลาะเบาะแว้งและการทำร้ายร่างกายด้วย ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์การเก็บภาษีสรรสามิตที่ค่อย ๆ ทะยานขึ้น จนมียอดสูงสุดถึงกว่าหกแสนบาทต่อปี

สำหรับพื้นที่ตำบลนาข้าวเสีย ปัจจัยปัญหาพื้นฐานที่นำมาสู่การสร้างจุดเปลี่ยนในการทำงานชุมชนปลอดเหล้าของตำบลนาข้าวเสียคือ ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวที่มีสาเหตุมาจากการดื่มเหล้า

นายณรงศักดิ์ – นางญาณี สงสุวรรณ์ คู่สามีภรรยาที่เป็น “คู่รักพักตับ” เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดสำหรับการเรียนรู้จุดเปลี่ยนในการรณรงค์งดเหล้า ที่ยกระดับจากการทำงานชวนคนมางดเหล้าในช่วงเข้าพรรษามาสู่การงดเหล้าอย่างยั่งยืน

นางญาณี สงสุวรรณ์ เป็นสาวพักตับ  ได้ร่วมชวนคนงดเหล้าเข้าพรรษาและรณรงค์ ในพื้นที่มาตั้งแต่แรก  ส่วนนายณรงค์ สามี  จะเป็นคนที่ดื่มเหล้ามาก  เวลาเมาจะทะเลาะกันตลอด  รุนแรงถึงขนาดตบตีกัน  ซึ่งชาวบ้านก็เห็นมาโดยตลอด  จนวันหนึ่งได้ยินชาวบ้านพูดว่า “ชวนคนอื่นงดเหล้าได้ แต่ไม่เคยชวนสามีตัวเองได้เลย” จึงมีความคิดที่จะชวนสามีเลิกเหล้า  ส่วนสามีเวลาภรรยาออกไปชวนคนงดเหล้าหรือออกไปรณรงค์ในชุมชน  ก็เกิดความไม่พอใจ หึงหวง จะโทรตามและกลับมาก็จะทะเลาะกันทุกครั้ง  นางญาณี จึงมีความคิดที่จะพาสามีไปร่วมกิจกรรมด้วย  เลยชวนสามีไปร่วมกิจกรรมทุกครั้ง  จนสามีเห็นภรรยาทำงานชวนคนงดเหล้า รณรงค์งานต่าง ๆ ก็เลยตัดสินใจเข้าร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ปัจจุบันเลิกเหล้ามา 2 ปีกว่าแล้ว กำลังจะเป็นคนหัวใจเพชร นางญาณี บอกว่า  เหมือนได้สามีใหม่ ปัจจุบันครอบครัวมีความสุขมาก  ได้ใช้เวลาที่สามีไม่ดื่มเหล้าร่วมกันทำขนมส่ง  และร่วมรณรงค์งานต่าง ๆ ร่วมกัน

กระบวนการที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากเป็นความสัมพันธ์และความตั้งใจที่จะเลิกเหล้าระหว่างสามีและภรรยาแล้ว เบื้องหลังที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการเอื้อให้เกิดการเลิกเหล้าให้สำเร็จที่มีผู้คอยช่วยคือ นางไพรัช วัฒนกุล กล่าวคือ

ปัญหาสำคัญคือการทะเลาะวิวาทในครอบครัวที่เกิดจากฝ่ายสามียังคงดื่มสุราอย่างหนักและเมื่อเห็นภรรยาออกจากบ้านทุกวันก็ยิ่งเกิดความหึงหวง ทำให้เกิดการวางแผนให้นางญาณีผู้เป็นภรรยาชักชวนสามีไปร่วมกิจกรรมรณรงค์ต่าง ๆ ซึ่งนอกจากจะทำให้นายณรงค์ศักดิ์ผู้เป็นสามีได้เห็นว่าภรรยาได้ทำอะไรบ้าง ได้มีรายได้จากค่าเดินทางที่จัดสรรให้เล็ก ๆ น้อย ทำให้การเดินทางมาร่วมกิจกรรมไม่เป็นภาระ สิ่งที่สำคัญคือ ได้ดึงตัวสามีออกจากวงเหล้าในชุมชนเป็นการชั่วคราว

เมื่อสามีเกิดความตระหนักว่าตัวเองและภรรยาเป็นกลุ่มคนที่กำลังปฏิบัติภารกิจชวนคนงดเหล้าเข้าพรรษา ก็เริ่มมีความตั้งใจอยากสร้างความดีด้วยการงดเหล้าในช่วงเข้าพรรษาบ้าง อย่างไรก็ดี เนื่องจากเพื่อนในชุมชนยังคงดื่มเหล้าอยู่เป็นปกติ ในช่วงแรกนายณรงค์ศักดิ์จึงยังขอเข้าร่วมกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษาเท่านั้น ส่วนอีก 9 เดือนที่เหลือก็เริ่มลดการดื่มลง

แต่ก้าวแรกของความสำเร็จเล็ก ๆ มักนำมาสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่หากยังเพียรทำอยู่ต่อเนื่อง ท้ายที่สุด หลังผ่านการงดเหล้าเข้าพรรษามา 2 ปี ปัจจุบันนายณรงค์ศักดิ์ได้ประกาศตนเป็นผู้เลิกเหล้าตลอดชีวิตแล้ว

ศุภกิตติ์ คุณา นักสื่อสารสุขภาวะดิจิทัล