
เมื่อโฆษณาเหล้า-เบียร์ถูกควบคุม

การโฆษณาในประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมมาอย่างยาวนาน เป็นเครื่องมือหลักที่ช่วยสร้างการรับรู้ กระตุ้นการบริโภค และพัฒนาแบรนด์ให้เติบโต นอกจากนี้ยังสะท้อนวัฒนธรรม ค่านิยม และวิถีชีวิตของคนไทยในแต่ละยุคสมัยได้อย่างชัดเจน
โฆษณาไทยมีเอกลักษณ์โดดเด่นในการสร้างการรับรู้ผ่านอารมณ์ความรู้สึกและคุณค่าทางจิตใจ โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับความกตัญญู ความรักครอบครัว และน้ำใจไมตรี ซึ่งเป็นค่านิยมหลักในสังคมไทย มีการสร้างจุดจดจำผ่านเพลงโฆษณาที่ติดหู สโลแกนที่กินใจ หรือตัวละครที่มีเอกลักษณ์ รวมถึงการใช้อารมณ์ขันแบบไทยๆ ที่ช่วยให้โฆษณาเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วิวัฒนาการของการโฆษณาในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จากยุคเริ่มต้นที่เน้นสื่อสิ่งพิมพ์และวิทยุ สู่ยุคทีวีที่โฆษณามีสีสันและเล่าเรื่องราวน่าสนใจมากขึ้น ต่อมาในช่วงปี 2530-2545 โฆษณาไทยเริ่มคิดนอกกรอบและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ก่อนเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมหน้าวงการโฆษณาอย่างสิ้นเชิง
ปัจจุบันการโฆษณาในประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ มีการใช้อินฟลูเอนเซอร์ คอนเทนต์สั้นบนแพลตฟอร์มอย่าง TikTok, Facebook และ Instagram รวมถึงการตลาดที่ใช้ AI และ Big Data ในการนำเสนอโฆษณาที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายรายบุคคลได้แม่นยำ มีการนำแนวคิด OmniChannel มาใช้เพื่อรวมทุกช่องทางการสื่อสารกับลูกค้าเข้าไว้ในที่เดียว ทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์เดียวกันแบบไร้รอยต่อไม่ว่าจะติดต่อผ่านช่องทางใด
เหตุผลที่ต้องควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เคยเป็นเรื่องปกติทั่วไปที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันในสมัยที่ยังไม่มี พรบ. ทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ และป้ายโฆษณาตามสถานที่ต่างๆ โดยยังมีสโลแกนที่สามารถเข้าถึงและรับรู้ได้ทุกเพศทุกวัย แม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายควบคุมแล้ว แต่หลายคนยังจดจำสโลแกนโฆษณาในสมัยก่อนได้จนถึงทุกวันนี้ เหตุผลสำคัญที่ต้องควบคุมโฆษณาที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ก่อให้เกิดปัญหา ด้านสุขภาพ ครอบครัว อุบัติเหตุและอาชญากรรม ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ สมควรกําหนดมาตรการต่าง ๆ ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการบําบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพ ผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยลดปัญหาและผลกระทบทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ช่วยสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนโดยให้ตระหนักถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนมิให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่อเยาวชน ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเริ่มดื่มตั้งแต่อายุน้อย ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพและสังคม กฎหมายจึงห้ามโฆษณาในสื่อที่เยาวชนเข้าถึงได้ง่าย มีงานวิจัยจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา หรือ ศวส. ยืนยันว่าโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลกระทบโดยตรงต่อพฤติกรรมการดื่ม โดยเฉพาะการเพิ่มโอกาสการเริ่มดื่มและการดื่มหนักในกลุ่มเยาวชนและผู้บริโภคเดิม การพบเห็นโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มโอกาสการดื่มขึ้น 16% และเพิ่มโอกาสการดื่มหนักขึ้นถึง 35% การควบคุมโฆษณา เป็นมาตรการหนึ่งในการลดปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การขาดสติ การสูญเสียจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับ ความรุนแรง และโรคเรื้อรัง
นอกจากนี้ยังป้องกันการอวดอ้างสรรพคุณว่าการดื่มทำให้สุขภาพดี หรือชักชวนให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงการใช้ตราสัญลักษณ์ แสดงชื่อหรือตราเสมือนที่ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโฆษณาแอลกอฮอล์ ในปัจจุบันพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์มีผลต่อการตัดสินใจให้ประชาชน หันมาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันมากขึ้น ซึ่งมีผลการวิจัยที่ออกมายืนยันสาเหตุที่ทำให้ประชาชนเริ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ง่ายขึ้นนั้น ร้อยละ 30 มาจากภาพของบุคคลมีชื่อเสียง ดารา นักแสดง หรือแม้แต่เน็ตไอดอลที่ประชาชนชื่นชอบ มีการโพสต์ภาพคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเชิงการชักชวน
การควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความรับผิดชอบต่อการบริโภคของผู้ดื่มและผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น

ความสำคัญของการควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยมีแนวคิดในการกำหนดนโยบายเพื่อควบคุมปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2504 โดยเป็น นโยบายเพื่อควบคุมปัญหาในเบื้องต้น ซึ่งยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาในทุก ๆ ด้าน ปี พ.ศ. 2544 เริ่มมีแนวคิดในการกำหนดนโยบายควบคุมปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ด้าน สุขภาพของประชาชนและสังคมโดยรวม มีการออกกฎหมาย นโยบายและมาตรการต่าง ๆ หลาย มาตรการในระยะเวลาอันสั้น ได้แก่
- มาตรการควบคุมการโฆษณา – คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2546 ห้ามการเผยแพร่สปอตโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และห้ามโฆษณาในช่วงเวลา 05:00-22:00 น.
- มาตรการควบคุมการเข้าถึงและหาซื้อ – จำกัดอายุผู้ซื้อและดื่มสุราไม่ให้ต่ำกว่า 18 ปี และห้ามจำหน่ายในสถานศึกษาและศาสนสถาน
- มาตรการรณรงค์ – กำหนดให้มีข้อความคำเตือนต่างๆ บนบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังคงก่อให้เกิดปัญหาทั้งด้านสุขภาพ ครอบครัว อุบัติเหตุและอาชญากรรม จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ขึ้นมา
โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
อย่างไร ผิดกฎหมาย?
ในยุคที่การสื่อสารและการตลาดสามารถเข้าถึงผู้คนได้ทุกเพศทุกวัย การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงกลายเป็นเรื่องที่ต้องควบคุมอย่างเข้มงวดให้สอดคล้องกัน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 32 มีข้อกำหนดที่ชัดเจนว่า “ห้ามโฆษณาในลักษณะที่จูงใจให้บริโภคหรือสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ซึ่งการกระทำต่อไปนี้ถือว่ามีความผิดกฎหมาย
- อวดอ้างสรรพคุณ กล่าวอ้างว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วยทำให้สุขภาพดี มีชีวิตดีขึ้น หรือประสบความสำเร็จในชีวิต
- ใช้นักแสดง ดารา นักกีฬา ที่มีชื่อเสียง หรือเด็กต่ำกว่า 20 ปี การใช้บุคคลมีชื่อเสียงหรือเยาวชนมาเป็นพรีเซนเตอร์ส่งผลต่อการเลียนแบบพฤติกรรมในสังคม
- แสดงภาพสินค้า หรือบรรจุภัณฑ์ การเห็นโลโก้ ขวด หรือบรรจุภัณฑ์แม้เพียงบางส่วนก็ถือว่าผิดกฎหมาย
- ชักจูงให้ซื้อ เช่น การใช้ข้อความว่า ดีที่สุด, คุ้มค่า, ซื้อตอนนี้เลย, ดื่มเพื่อเข้าสังคม
- ให้รางวัล ลด แลก แจก แถม หรือจัดโปรโมชั่น การจัดกิจกรรมชิงโชค แลกของแถม หรือแจกของเมื่อซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถือเป็นการจูงใจให้บริโภค
- ใช้ภาพการ์ตูน โดยเฉพาะภาพที่ดูน่ารัก หรือมีลักษณะข้อความชวนดื่มขายที่สื่อถึงกลุ่มเด็กและเยาวชน
- ห้ามโฆษณาในช่วงเวลา 05:00-22:00 น. แม้ในปัจจุบันจะเป็นช่องทางออนไลน์ หากเผยแพร่เนื้อหาช่วงเวลาดังกล่าว ก็อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย
จากกรณีที่เคยเป็นประเด็นข่าวการโพสต์รูปคู่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น นพ.สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อธิบายว่า หากเป็นบุคคลทั่วไป ไม่ได้เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงไม่ถือว่าผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ทั้งนี้ ในมาตรา 32 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ดังนั้นในกรณีคนดัง จึงเข้าข่าย เนื่องจากคนดัง ดารา นักร้องนักแสดง พวกเซเลบ หรือเน็ตไอดอลต่างๆ นั้น ถือเป็นบุคคลสาธารณะที่มีประชาชนติดตาม โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและวัยรุ่น เคยมีการศึกษาหลายครั้งว่า เด็กและวัยรุ่นนิยมชมชอบดาราศิลปินที่ตนเองชื่นชอบ และมีโอกาสเกิดการเลียนแบบได้ แม้กระทั่งเน็ตไอดอลที่มีคนติดตามเยอะๆ เป็นหมื่นๆ คน หากพบว่ามีการโพสต์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็จะเข้าข่ายต้องถูกเรียกมาสอบถามหาข้อเท็จจริง
สำหรับโทษปรับ จากมาตรา 32 หากโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยโทษความผิดฐานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นโทษตามกฎหมาย คือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าเป็นการโฆษณาของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าจะปรับ 500,000 บาท โดยมีการกำหนดอัตราการเปรียบเทียบปรับไว้ด้วย
มาตรการควบคุมโฆษณา
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย
พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 กำหนดมาตรการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทุกสื่อเพื่อป้องกันการส่งเสริมการบริโภคที่มากเกินไป โดยกฎหมายนี้ไม่ได้ห้ามการขายหรือการบริโภค แต่เน้นควบคุมการโฆษณาเพื่อยับยั้งการบริโภคที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและสังคม
มาตรา 32 ของพระราชบัญญัติฯ ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม” โดยมีคำนิยามที่สำคัญ ดังนี้:
- “โฆษณา” หมายถึงการกระทำไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็น ได้ยินหรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงการสื่อสารการตลาด
- “การสื่อสารการตลาด” หมายถึงการกระทำกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขายสินค้า บริการหรือภาพลักษณ์ การประชาสัมพันธ์ การเผยแพร่ข่าวสาร การส่งเสริมการขาย และการตลาดแบบตรง
- “ข้อความ” หมายรวมถึงการกระทำให้ปรากฏด้วยตัวอักษร ภาพ ภาพยนตร์ แสง เสียง เครื่องหมายหรือการกระทำอย่างใดๆ ที่ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจความหมายได้
กฎกระทรวงกำหนดให้การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ของผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องเป็นไปเพื่อการให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เว้นแต่เป็นการปรากฏของภาพสัญลักษณ์เท่านั้น
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการแสดงข้อความคำเตือนในขณะที่มีการแสดงภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยข้อความคำเตือนมี 3 ข้อความ ได้แก่ “สุราเป็นเหตุก่อมะเร็งได้” “สุราเป็นเหตุให้สมองเสื่อมได้” และ “สุราเป็นเหตุให้พิการได้”
มาตรการควบคุมโฆษณา
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของต่างประเทศ
นอกจากประเทศไทยแล้ว หลายประเทศมีมาตรการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่น่าสนใจ:
1. ประเทศฝรั่งเศส มาตรการควบคุมบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายสาธารณสุข โดยห้ามการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ยกเว้นกรณีตามที่กฎหมายกำหนด การโฆษณาจะกระทำได้เฉพาะสื่อตามประเภทและลักษณะที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น โดยเนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือผู้ประกอบการมากกว่าจะเป็นการโฆษณาเพื่อจูงใจ
2. ประเทศอังกฤษ ประมวลกฎหมายว่าด้วยการโฆษณา การส่งเสริมการขายและการตลาดแบบตรง กำหนดประเภทของสื่อที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย และกำหนดว่าเนื้อหาของการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะต้องไม่ชักจูงให้มีการบริโภคและต้องไม่พุ่งเป้าไปที่เด็กหรือเยาวชน
3. ประเทศออสเตรเลีย การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องปฏิบัติตาม Australian Association of National Advertisers (AANA) Advertiser Code of Ethics และประมวลหลักการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งครอบคลุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่อทุกประเภท รวมถึงทางอินเทอร์เน็ต บางมลรัฐยังมีกฎหมายเฉพาะเพื่อควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
4. ประเทศโปแลนด์ กฎหมายหลักที่ใช้ควบคุมคือ Act on Upbringing in Sobriety and Counteracting Alcoholism โดยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ณ จุดขายต้องมีการปิดผนึกและมีข้อมูลเฉพาะชื่อของผู้ผลิตและชนิดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น ข้อมูลเกี่ยวกับโทษและพิษภัยต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ณ จุดขายและจุดบริการ มีข้อยกเว้นให้โฆษณาเบียร์ได้แต่เนื้อหาต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
แนวโน้มและทิศทาง
การควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
หลังจากที่มาตรการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยมีผลบังคับใช้ พบว่ามีความไม่ชัดเจนในการตีความกฎหมายระหว่างหน่วยงานของรัฐ ผู้ประกอบการ นักวิชาการ และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งยังไม่เพียงพอและไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง
มาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดหลายปี เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ออกมาตั้งแต่ปี 2551 ทำให้โทษค่าปรับที่พ่วงตามมาคือ 50,000 บาท แต่ในปัจจุบัน นิยามของ “สื่อ” และการสื่อสารเปลี่ยนไป ทำให้ความผิดจากการขึ้นบิลบอร์ดโฆษณากับการเขียนรีวิวเครื่องดื่มลงโซเชียลมีเดียมีค่าปรับเท่ากัน
ที่สำคัญคือ 80% ของค่าปรับ 50,000 บาท ถูกคิดเป็นรางวัลนำจับ เป็นช่องทางให้มีผู้หาหลักฐานความผิดเพื่อหารายได้เป็นอาชีพ ทำให้มีผู้ค้ารายย่อยจำนวนมากประสบภัยจากมาตรา 32 เช่น ร้านลาบที่มีโปสเตอร์ ร้านอาหารที่มีรูปในเมนู หรือร้านคราฟต์เบียร์ที่รีวิวสินค้า
ล่าสุดในวันที่ 19 มีนาคม 2568 มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อแก้ไขมาตรา 32 ซึ่งสามารถผ่านสภา โดยสาระสำคัญของการแก้ไขอยู่ที่การใช้นิยามอย่างกว้างของคำว่า “ประชาสัมพันธ์” เพื่อไม่ให้มีการตีกรอบเรื่องการโฆษณาหรือกล่าวถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเด็นอื่นๆ ให้ตายตัวมากเกินไป โดยบุคคลทั่วไปสามารถแสดงผลิตภัณฑ์ได้หากไม่มีเจตนาเพื่อการค้า และผู้ประกอบการสามารถประชาสัมพันธ์ชื่อและรายละเอียดสินค้าได้มากขึ้น แต่ต้องไม่เป็นการเชิญชวนให้ดื่ม
ต้องติดตามต่อไปว่าการปลดล็อกให้โฆษณาประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นี้จะมีทิศทางการควบคุมโฆษณาและสื่อไปในทิศทางไหนในยุคที่อัลกอลิทึมอย่าง AI เข้ามามีบทบาทมากขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง
- Alcohol Study Thailand. (2563). ผลกระทบของการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อพฤติกรรมการดื่ม. กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัย.
- กรมควบคุมโรค. (2564). รายงานผลการดำเนินงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์. กรุงเทพฯ: กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข.
- กองบรรณาธิการไทยรัฐพลัส. (2568, 20 มีนาคม). มาตรา 32 กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์: จากการห้ามโฆษณาถึงวันปลดล็อกพูดถึงเหล้าเบียร์อย่างเสรีชน. ไทยรัฐพลัส. สืบค้นจาก https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/105284
- ประชาชาติธุรกิจ. (2561, 18 ตุลาคม). โพสต์รูป คู่เครื่องดื่มเมา ผิด-ถูก ดูที่ “เจตนา”. ประชาชาติธุรกิจ. สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/general/news-9374
- ราชกิจจานุเบกษา. (2551, 12 กุมภาพันธ์). พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551. เล่ม 125 ตอนที่ 33 ก. สืบค้นจาก https://ddc.moph.go.th/uploads/ckeditor/c74d97b01eae257e44aa9d5bade97baf/files/lawalc/001_1alc.PDF
- ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา. (2564). รายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย พ.ศ. 2564. กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา.
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). (2564). รายงานผลสำรวจพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์. กรุงเทพฯ: สสส.
- สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2567). การสำรวจสถานการณ์การสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ของประชากร พ.ศ. 2567. กรุงเทพฯ: สำนักงานสถิติแห่งชาติ. สืบค้นจาก https://www.nso.go.th/nsoweb/storage/survey_detail/2025/20250401100215_15169.pdf
- วารสารสาธารณสุขศาสตร์. (2563). การทบทวนองค์ความรู้การห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์. วารสารสาธารณสุขศาสตร์, 52(2), 123–135.
- Hfocus. (2564). เหตุผลต้องมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์. สืบค้นจาก https://www.hfocus.org/content/2021/08/23456