
ปฏิทินล้านนากับความเชื่อในประเพณีปี๋ใหม่เมือง

“ฮีตฮอย” หรือ “สืบฮีต สานฮอย” เป็นแนวคิดสำคัญของชาวล้านนาและอีสาน ที่แสดงถึงการสืบสานและส่งต่อประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน คำว่า “ฮีต” หมายถึง จารีตประเพณี หรือสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ส่วน “ฮอย” หมายถึง ร่องรอย หรือแนวทางที่บรรพบุรุษได้วางไว้ การสืบฮีตสานฮอยจึงเป็นการรักษาคุณค่าและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่หล่อหลอมวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นไว้เข้าด้วยกัน
ในบรรดาประเพณีต่าง ๆ ของล้านนา “ประเพณีปี๋ใหม่เมือง” หรือเทศกาลสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีสำคัญที่สะท้อนภูมิปัญญาและความเชื่อของชาวล้านนาได้อย่างชัดเจน ดังที่พระครูพิพิธพัฒนโกวิท เจ้าอาวาสวัดทุ่งพร้าว อ.พาน จ.เชียงราย ได้กล่าวว่า “ปี๋ใหม่เมืองมิใช่เพียงการเฉลิมฉลองการขึ้นปีใหม่เท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างดุลยภาพระหว่างโลกมนุษย์กับจักรวาล ผ่านพิธีกรรมและความเชื่อที่สอดคล้องกับวงจรของธรรมชาติ”

ความเชื่อของปักกะตืนปี๋ใหม่เมือง
ปักกะตืนปี๋ใหม่เมือง หรือ “ปฏิทินล้านนา” เป็นเอกสารสำคัญที่คนเหนือล้านนา ใช้ในการทำนายเหตุการณ์ประจำปี โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผู้คนที่เติบโตในยุค 90 คงคุ้นเคยกับเหตุการณ์ พ่ออุ้ยแม่อุ้ย หรือพ่อแม่ ที่สมัยก่อนนั้นจะออกไปหาซื้อหรือรับแจกปฏิทินปี๋ใหม่เมืองในช่วงเทศกาล
อ.ภาณุเดช อาภิชัย หรือ อ.แทนคุณ ผู้เชี่ยวชาญด้านประเพณีพิธีกรรมล้านนา หรือทางภาคเหนือจะเรียกว่า พ่ออาจารย์ ได้ให้ข้อมูลถึงลักษณะของปฏิทินปี๋ใหม่เมืองว่า ปฏิทินมีลักษณะเป็นกระดาษแผ่นเดียว ประกอบด้วยภาพเทวดารูปผู้ชายและผู้หญิงที่อยู่บนหลังสัตว์ต่าง ๆ ในแต่ละปีจะมีอิริยาบถและสัตว์พาหนะที่แตกต่างกันไป สิ่งเหล่านี้ล้วนมีความหมายในการทำนายเหตุการณ์ประจำปี โดยการตีความปฏิทินปี๋ใหม่เมือง ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยผู้รู้ที่เรียกว่า “ปู่จ๋าน” หรือ “พ่ออาจารย์” จะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้นี้สืบต่อกันมา
การทำนายจากปฏิทินปี๋ใหม่เมือง ใช้ในการทำนายเหตุการณ์ทั้งระดับบ้านเมือง การเกษตร ฝนฟ้า และความอุดมสมบูรณ์ในปีนั้น ๆ โดยชาวล้านนาให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ของ “คุณสังขานต์” ซึ่งมีเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ และอิริยาบถที่แตกต่างกันในแต่ละปี สิ่งสำคัญที่ต้องสังเกต คือ การสวมเสื้อผ้าอาภรณ์ของคุณสังขานต์ จำนวนแขนของคุณสังขานต์ (อาจมี 2 หรือ 4 แขน) สิ่งที่แต่ละแขนถือไว้ เช่น จักร ดอกบัว ลูกประคำ หรือแม้แต่ปืน สิ่งเหล่านี้ล้วนมีความหมายในการทำนาย เช่น ทำนายว่าในปีนั้นใครจะประสบเหตุเภทภัย ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ พระสงฆ์ หรือประชาชนทั่วไป ปฏิทินยังทำนายเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของกล้าข้าว จำนวนนาคที่จะให้ฝน และพื้นที่ที่ฝนจะตกในโลกมนุษย์ เป็นต้น
นอกจากการทำนายเหตุการณ์ของบ้านเมืองแล้ว ปฏิทินปี๋ใหม่เมืองยังมีการทำนายชะตาชีวิตของคนในแต่ละช่วงอายุด้วยว่า ในปีนั้น ๆ แต่ละคนจะประสบเหตุการณ์อะไรบ้าง พร้อมทั้งวิธีแก้ไขเคล็ดต่าง ๆ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ปฏิทินปี๋ใหม่เมืองจะระบุว่าเสนียดจัญไร กาลกิณี อยู่ที่ส่วนใดของร่างกาย ซึ่งต้องใช้น้ำขมิ้นส้มป่อยเช็ดทิ้ง และระบุว่าตำแหน่งใดของร่างกายเป็นมงคล เป็นสิริ หรือเป็นเดชของตนเอง ซึ่งต้องใช้น้ำอบน้ำหอมประพรมเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ประเพณีของทางภาคเหนือจึงมีความละเอียดซับซ้อนในการปฏิบัติต่อประเพณีปี๋ใหม่เมือง

ประวัติการคำนวณปฏิทินปี๋ใหม่เมือง
ในอดีตการคำนวณปฏิทินปี๋ใหม่เมืองหรือสงกรานต์ อาศัยตำราโหราศาสตร์หรือตำราสุริยยาตร์ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดมาจากอินเดียผ่านพม่าและมาสู่ประเทศไทย การคำนวณนี้ตรงกับโหราศาสตร์พระราชวัง ทำให้วันสงกรานต์ในอดีตจะตกอยู่ที่วันที่ 13, 14, 15 เมษายน โดยแทบไม่เคลื่อนย้าย
ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการกำหนดให้วันที่ 13, 14, 15 เมษายน เป็นวันหยุดราชการไทยในเทศกาลสงกรานต์ และได้มีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ไทยให้ตรงกับสากล เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติปฏิทินแห่งชาติ วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2483 กำหนดให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามสากล แทนวันสงกรานต์ซึ่งเคยเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยแต่เดิม แต่ยังคงรักษาประเพณีสงกรานต์ไว้
แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงปฏิทินให้เข้ากับระบบสากล แต่วันหยุดราชการช่วงสงกรานต์ยังคงเป็นวันที่ 13, 14, 15 เมษายน ในขณะที่ตามหลักการคำนวณทางโหราศาสตร์ในปัจจุบัน เนื่องจากการเคลื่อนย้ายของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ทำให้วันสงกรานต์ที่แท้จริงเคลื่อนมาอยู่ที่วันที่ 14, 15, 16 เมษายน แต่วันหยุดราชการไทยยังคงกำหนดให้วันที่ 13-15 เมษายน เป็นวันสงกรานต์ ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนระหว่างประเพณีตามหลักโหราศาสตร์กับวันหยุดราชการที่กำหนดโดยรัฐ
ปัจจุบัน มีข้อเสนอจากนักวิชาการด้านวัฒนธรรมล้านนาและองค์กรทางวัฒนธรรม เช่น สภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ (2564) ให้พิจารณาปรับวันหยุดราชการช่วงสงกรานต์ให้สอดคล้องกับปฏิทินโหราศาสตร์ที่ถูกต้อง คือวันที่ 14-16 เมษายน เพื่อการอนุรักษ์และสืบสานประเพณีอย่างถูกต้องตามหลักโหราศาสตร์ล้านนา ทั้งนี้ปฏิทินล้านนาก็มีหลายสำนัก อาทิ ปฏิทินล้านนา ฉบับวัดธาตุคำ ฉบับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปี๋ใหม่เมือง: เสน่ห์ประเพณีสงกรานต์ล้านนา
หากพูดถึงประเพณีสงกรานต์ เราต่างคุ้นเคยกับความสนุกสนานและการกลับไปเจอครอบครอบคัว แต่สำหรับชาวล้านนาแล้ว ประเพณีสงกรานต์ เป็นช่วงเวลาสำคัญที่เต็มไปด้วยประเพณีวัฒนธรรม พิธีกรรมต่าง ๆ สะท้อนถึงความเชื่อ ความผูกพันทางครอบครัว และศรัทธาอันแน่นแฟ้นของผู้คนในภาคเหนือ ประเพณีนี้เรียกกันว่า “ปี๋ใหม่เมือง” ประเพณีปี๋ใหม่เมือง ถือว่า เป็นวันเริ่มต้นขึ้นปีใหม่ และเป็นวันปีใหม่ของชาวล้านนาเช่นกัน ซึ่งตามปฏิทินของทางโหราศาสตร์ ปฏิทินของทางเหนือจะตรงกัน
สำหรับปีพุทธศักราช 2568 นี้ ปฏิทินสงกรานต์หรือปี๋ใหม่เมืองตรงกับวันที่ 14, 15, 16 เมษายน โดยวันที่ 14 เมษายน เรียกว่า “วันสังขานต์ล่อง” วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า “วันเนา วันเนาว์ หรือบางที่ก็เรียกว่า วันเน่า” วันที่ 16 เมษายน เรียกว่า “วันพญาวัน”

ภาพ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ มช.
วันสังขานต์ล่อง (14 เมษายน)
วันแรกของปี๋ใหม่เมือง เรียกว่า “วันสังขานต์ล่อง” หรือ “วันมหาสงกรานต์” ในภาคกลางนั้น ถือเป็นวันส่งท้ายปีเก่า คำว่า “สังขานต์” คือ คำเดียวกับ “สงกรานต์” ในภาษาสันสกฤต แปลว่า “ก้าวล่วงแล้ว ดังนั้นในวันปี๋ใหม่เมือง คำว่า สังขานต์ล่อง ก็คือการสิ้นสุดของปีนั้น ๆ ถ้าหากเป็นการเข้าใจง่ายก็คือการส่งท้ายปีเก่า “สังขานต์” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงร่างกาย แต่หมายถึงสิ่งที่ไม่ดี เคราะห์กรรม หรือสิ่งไม่บริสุทธิ์ที่สะสมมาตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ในวันนี้ชาวล้านนาจะตื่นแต่เช้าตรู่ จุดสะโป้ก ประทัด เพื่อขับไล่เสนียด จัญไร ไหลล่องไปกับ “ปู่สังขานต์ ย่าสังขานต์” ซึ่งจะแบกรับเอาสิ่งที่ไม่ดีไม่งามในชีวิตไปเททิ้งที่มหาสมุทร การไล่สังขานต์ด้วยเสียงประทัดที่ดังแต่เช้าตรู่ จึงทำให้ทุกคนตื่นขึ้นมาเพื่อทำความสะอาด บ้านเรือน ซักที่นอน หมอนมุ้ง แล้วอาบน้ำชำระล้างร่างกายด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อย เพื่อชำระสิ่งไม่ดีให้ออกไปจากชีวิต เป็นการเตรียมพร้อมต้อนรับสิริมงคลแห่งปีใหม่ที่จะมาถึง
วันเนา หรือ วันเน่า (15 เมษายน)
วันที่สองคือ “วันเนา” หรือที่เรียกว่า “วันเน่า” มีความหมายโดยนัยคือ วันที่อยู่ระหว่างปีเก่ากับปีใหม่ ยังไม่ถือว่าเป็นวันปีใหม่ เป็นช่วงที่พระอาทิตย์ยังเนาอยู่ระหว่างราศีมีนกับราศีเมษ ในแง่โหราศาสตร์ถือเป็นวันไม่ดี ไม่ส่งเสริมมงคลและเชื่อว่าหากใครด่าทอ ทะเลาะ วิวาทกัน จะทำให้เป็นอัปมงคลตลอดทั้งปี ดังนั้นวันนี้จะไม่ดุด่า พูดส่อเสียด ว่าร้ายให้แก่กัน และงดกระทำสิ่งที่เป็นอกุศลต่าง ๆ เพื่อเตรียมใจรับสิ่งดีงามที่จะเกิดขึ้นในวันปีใหม่ ในวันนี้ชาวล้านนาจะแบ่งหน้าที่เตรียมสิ่งของต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในประเพณีปีใหม่เมือง เด็ก ๆ จะช่วยผู้ใหญ่ทำอาหาร ทำขนมพื้นเมืองไว้ถวายพระในวันรุ่งขึ้น ผู้ใหญ่กลุ่มหนุ่มสาว ก็จะพากันไปขนทรายที่แม่น้ำเข้าวัด เพื่อก่อเป็นเจดีย์ทราย ทำความสะอาดวัด ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่จะตัดช่อ ตัดตุง ซึ่งใช้ประดับในวันรุ่งขึ้น
วันพญาวัน (16 เมษายน)
วันที่สาม เรียกว่า “วันพญาวัน” หรือ “วันเถลิงศก” เปลี่ยนศักราช เริ่มต้นปีใหม่ วันนี้ชาวล้านนาจะตื่นแต่เช้าไปทำบุญที่วัด ถวายข้าวปลาอาหารและขนมต่าง ๆ เพื่ออุทิศให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ รวมถึงถวายตุงและก่อเจดีย์ทราย เชื่อกันว่า การถวายทรายจะได้อานิสงส์ช่วยค้ำจุนชีวิตให้มั่นคงแข็งแรง นอกจากนี้ ยังมีการรดน้ำดำหัว ขอขมาผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพรัก เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที และขอพรเพื่อเป็นศิริมงคลในการดำเนินชีวิตของปีใหม่ นอกจากนี้ยังมีประเพณีสำคัญในวันพญาวัน คือ พิธีไหว้ครู สำหรับผู้ที่มีความเชื่อหรือศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อเสริมบารมี และเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ให้กับตัวเอง ตามความเชื่อที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ในหลายพื้นที่ยังมีกิจกรรมแห่ไม้ค้ำศรี หรือไม้ค้ำโพธิ์ เพื่อสืบต่ออายุพระศาสนาและค้ำชูอุดหนุนให้แก่ชีวิตเจริญรุ่งเรือง
วันปากปี๋ (17 เมษายน)
“วันปากปี” หรือ “วันปากปี๋” แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในสามวันหลัก แต่ถือว่าเป็นวันสำคัญในประเพณีปีใหม่เมือง เป็นวันที่สี่ของเทศกาลและเป็นวันแรกของปีใหม่ล้านนา ในวันนี้ชาวล้านนาทุกครอบครัวจะรับประทานแกงขนุน ด้วยความเชื่อว่า จะช่วยหนุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ช่วงสายของวัน ชาวบ้านจะมารวมตัวกันที่ใจ๋บ้าน หรือศูนย์กลางของหมู่บ้าน พื่อร่วมทำบุญเสาใจบ้านหรือประกอบพิธีส่งเคราะห์บ้าน ในบางพื้นที่อาจมีการจัดพิธีสืบชะตาหมู่บ้านและชาวบ้านจะพากันไปขอขมาคารวะและรดน้ำดำหัวผู้อาวุโสประจำหมู่บ้าน เมื่อถึงช่วงค่ำจะมีการประกอบพิธีบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ และรับโชค เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัว กิจกรรมทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อและประเพณีอันดีงามที่สืบทอดกันมาของชาวล้านนา

สัญลักษณ์ความเชื่อในประเพณีปี๋ใหม่เมือง
ในช่วงเทศกาลปี๋ใหม่เมือง ชาวล้านนาทั้งคนหนุ่มสาวและผู้สูงอายุจะไปที่วัดในวันพญาวัน ทำบุญในวันขึ้นปีใหม่เมือง เพื่ออุทิศให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ รวมถึงถวายตุงและก่อเจดีย์ทราย
ความเชื่อเกี่ยวกับการก่อเจดีย์ทรายนี้มีรากฐานมาจากคัมภีร์ทางพุทธศาสนาที่เรียกว่า “อานิสงส์การถวายเจดีย์ทราย” ซึ่งบอกเล่าถึงเรื่องราวของชายยากจนคนหนึ่งที่ชื่อว่า “มหาทุคตะ” แม้เขาจะยากจนแต่มีจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยบุญกุศลและศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ด้วยความปรารถนาที่จะถวายเจดีย์เพื่อบูชาคุณของพระพุทธศาสนา แต่ด้วยความยากจนจึงไม่สามารถสร้างเจดีย์อย่างสวยงามที่ทำจากอิฐและปูนได้ วันหนึ่งมหาทุคตะได้เดินทางไปยังริมแม่น้ำ และด้วยความศรัทธาอันแรงกล้า เขาได้ก่อเจดีย์ทรายขึ้นอย่างประณีตบรรจง จากนั้นได้นำชายเสื้อของตนเองมาทำเป็นตุงหรือธง ปักลงบนยอดเจดีย์ทราย พร้อมกับอธิษฐานขอพรด้วยจิตที่บริสุทธิ์ ตามความเชื่อแล้ว ด้วยอานิสงส์แห่งการกระทำอันเปี่ยมไปด้วยศรัทธานี้ ในชาติต่อมามหาทุคตะได้เกิดใหม่เป็นบุตรชายในตระกูลที่ร่ำรวย เพียบพร้อมด้วยข้าวของเงินทอง และประสบความสำเร็จในทุกด้านของชีวิต เรื่องราวนี้ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวล้านนา ยึดถือและปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีความเชื่อว่าการก่อเจดีย์ทรายและการถวายตุงจะนำมาซึ่งความสุขความเจริญทั้งในชาตินี้และชาติหน้า

- ตุงนักษัตร
ตุงประเภทแรกคือตุงที่ใช้สำหรับบูชาตามปีนักษัตรที่ตนเองเกิด ในวัฒนธรรมล้านนาโบราณ การนับอายุไม่ได้นับตามปีปฏิทินทั่วไป แต่นับตามปีนักษัตรที่บุคคลนั้นเกิด คนที่เกิดปีนักษัตรเดียวกันจะถือว่ามีอายุเท่ากัน ไม่ว่าจะเกิดในปีปฏิทินใดก็ตาม ในการถวายตุงนักษัตร ผู้คนจะเขียนชื่อ วันเดือนปีเกิด ลงบนตุงที่ตรงกับสัญลักษณ์ของปีนักษัตรของตน จากนั้นจึงนำไปถวายไว้ที่วัด เพื่อเป็นการส่งเสริมดวงชะตาของตนเองในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่ปีใหม่ ความเชื่อนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างชีวิตมนุษย์กับจักรวาลและดวงดาวในโลกทัศน์ของชาวล้านนา

- ตุงไส้หมู
ตุงประเภทที่สองเรียกว่า “ตุงไส้หมู” มีลักษณะเด่นคือมีเส้นสายที่ยาวและใหญ่ห้อยลงมา รูปร่างคล้ายจอมแห ตามคำอธิบายของอาจารย์สนั่น ธรรมธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมล้านนา ตุงไส้หมูนี้เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงเยื่อใยหรือสายใยที่เชื่อมโยงระหว่างโลกมนุษย์และโลกหลังความตาย ความหมายแรกของตุงไส้หมูคือการแสดงถึงเยื่อใยที่จะช่วยให้ผู้คนได้กลับมาเกิดใหม่อีกครั้ง เปรียบเสมือนเส้นทางหรือสะพานที่เชื่อมระหว่างภพภูมิ นอกจากนี้ ยังสื่อถึงสายใยความผูกพันระหว่างญาติพี่น้องและคนในครอบครัว ซึ่งแม้กายจะแยกจากกันไปแต่จิตวิญญาณยังคงผูกพันกันด้วยสายใยแห่งความรักและความผูกพัน อีกความหมายหนึ่งของตุงไส้หมูคือการสร้างอานิสงส์ในการถวายแด่พระพุทธศาสนา โดยมีความเชื่อว่าผู้ที่ถวายตุงไส้หมูในช่วงปี๋ใหม่เมืองจะได้รับอานิสงส์ให้ได้เกิดเป็นมนุษย์ที่มีความบริบูรณ์พูนสุขในชาติหน้า มีความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สินเงินทอง

- ตุงช่อ
ตุงประเภทที่สามคือ “ตุงช่อ” ซึ่งมีลักษณะเป็นช่อหรือพู่ ตุงช่อนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะและความสำเร็จในชีวิต เมื่อผู้คนเข้าสู่ปีใหม่ พวกเขาต่างก็มีความปรารถนาที่จะประสบความสำเร็จและมีชัยชนะเหนืออุปสรรคต่าง ๆ ในปีที่กำลังจะมาถึง การถวายตุงช่อจึงเป็นการแสดงออกถึงความปรารถนานี้ และเป็นการขอพรให้ชีวิตในปีใหม่เต็มไปด้วยความสำเร็จและการเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น ตุงช่อมักถูกทำให้มีสีสันสดใสและมีรูปทรงที่สวยงาม เพื่อสื่อถึงความรุ่งเรืองและความสดใสของชีวิตที่กำลังจะมาถึง
การใช้งานของตุงในเทศกาลปี๋ใหม่เมืองมีความหลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ของภาคเหนือ ในบางพื้นที่ ชาวบ้านจะนำตุงไปติดกับต้นไม้ที่เรียกว่า “ต้นเขื่องทาง” ในภาคกลางเรียกว่า “ต้นเต่าร้าง” ซึ่งเป็นต้นไม้ที่มีความเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์และสามารถเชื่อมโยงระหว่างโลกมนุษย์กับโลกของเทวดาและบรรพบุรุษได้

- ไม้ค้ำโพธิ์
ความเชื่อเรื่องไม้ค้ำโพธิ์เป็นอีกหนึ่งประเพณีสำคัญของชาวล้าานาในประเพณีปี๋ใหม่เมือง โดยเฉพาะในช่วงวันสังขารล่อง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านร่วมกันทำความสะอาดบ้านเรือนและจัดบริเวณโดยรอบให้เรียบร้อย ในช่วงนี้ชาวบ้านจะมีการตัดแต่งต้นไม้และกิ่งไม้ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อบ้านเรือน เนื่องจากหลังจากเดือนเมษายนจะเป็นช่วงที่มีพายุฤดูร้อนพัดเข้ามา กิ่งไม้ที่มีลักษณะเป็นง่ามจะถูกนำมาใช้เป็น “ไม้ค้ำ”
ความเชื่อของคนเหนือเกี่ยวกับไม้ค้ำโพธิ์มีหลายความหมาย เชื่อว่าการนำไม้ไปค้ำต้นโพธิ์เป็นการค้ำดวงชะตาของตนเอง และถือเป็นการค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง นอกจากนี้ ในแง่ปฏิบัติ ยังเป็นการค้ำกิ่งไม้ที่เปราะบางให้พ้นจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงพายุฤดูร้อนอีกด้วย

- แกงขนุน
ชาวล้านนาทุกครัวเรือนจะประกอบอาหารแกงขนุนในวันปากปี๋ เนื่องจากเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตเกิดความรุ่งโรจน์ เพราะมีสิ่งคอยค้ำหนุนจุนเจือ ถือเป็นเคล็ดตามชื่อ “หนุน” ค้ำชูอุดหนุนไปตลอดทั้งปี จะทำการทำงานต่าง ๆ ก็จะมีคนเกื้อหนุน ซึ่งได้ทำสืบทอดกันมา เพื่อให้ชีวิตไม่ตกต่ำตลอดปีใหม่ที่กำลังเริ่มต้น
ปักกะตืนปี๋ใหม่เมือง หรือ ปฏิทินปี๋ใหม่เมือง เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดวันสำคัญและคำพยากรณ์ประจำปี อดีตการคำนวณวันสงกรานต์ใช้ตำราโหราศาสตร์หรือสุริยยาตร์ แม้ปัจจุบันจะมีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ให้ตรงตามสากล แต่ประเพณีปี๋ใหม่เมืองยังคงได้รับการอนุรักษ์และสืบสานอย่างต่อเนื่อง ผู้สนใจสามารถศึกษาและเข้าถึงปฏิทินล้านนาได้จากสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้จัดทำและเผยแพร่ในรูปแบบดิจิทัล การสืบฮีตสานฮอยประเพณีปี๋ใหม่เมืองของชาวล้านนา กิจกรรมในประเพณีปี๋ใหม่เมือง ถือเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาและคุณค่าอันล้ำค่าที่สะท้อนวิถีชีวิต ความเชื่อ และจิตวิญญาณของชาวล้านนา ให้ดำรงอยู่ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และซึมซับคุณค่าแห่งรากเหง้าทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองสืบไป
ข้อมูลอ้างอิง
- ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (ม.ป.ป.). หนังสือปีใหม่เมืองล้านนา พ.ศ. 2568 ฉบับสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ มช. สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2568, จาก https://accl.cmu.ac.th/News/detail/3182
- สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่. (ม.ป.ป.). วันปากปี. สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2568, จาก https://www.finearts.go.th/chiangmaimuseum/view/26144-วันปากปี