
PM 2.5 ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ภัยร้ายใกล้ตัว

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 กลายเป็นวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศไทยและทั่วโลก ที่เริ่มถูกกล่าวถึงมากขึ้น แต่สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดจิ๋วนี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นความท้าทายเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไข
หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า PM2.5 ผ่านข่าวสารตามสำนักข่าว ตามโซเซียลมีเดีย หรือการรายงานคุณภาพอากาศ แต่รู้หรือไม่ว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่านี้ มีความอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด เนื่องจากสามารถแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายได้ลึกกว่าฝุ่นทั่วไป และมักพ่วงมากับสารพิษอื่นๆ อีกมากมาย
การทำความเข้าใจเกี่ยวกับ PM2.5 จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนอกจากเป็นละอองขนาดเล็กจนไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าแล้วนั้น ทำให้เราหันมาใส่ใจสุขภาพของตนเองและคนรอบข้างได้
PM คืออะไร?
PM หรือ Particulate Matters คือคำเรียกมาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลักตามขนาดของอนุภาค ได้แก่ PM10 และ PM2.5
PM10 คือ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น จมูก ปาก คอ หลอดลม ขนจมูกสามารถกรองได้บางส่วน มักเกิดจากการจราจร การก่อสร้าง และการเผาในที่โล่ง
PM2.5 ชื่อเต็มคือ Particulate Matter with diameter of less than 2.5 micron เป็นฝุ่นละอองขนาดจิ๋วที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เป็น 1 ใน 8 ตัววัดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ หากลองนึกภาพตาม PM2.5 มีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ มีขนาดที่เล็กมากจนขนจมูกไม่สามารถกรองได้ โดยสามารถแทรกซึมเข้าสู่ถุงลมปอดและกระแสเลือด แพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย ที่สำคัญคือฝุ่นชนิดนี้ยังเป็นพาหะนำพาสารอันตรายอื่นๆ เช่น โลหะหนัก สารก่อมะเร็ง เข้าสู่ร่างกายด้วย

ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สามารถแขวนลอยอยู่ในอากาศได้นาน และสามารถเดินทางไกลถึง 1,000 กิโลเมตร เนื่องจากมีน้ำหนักเบาและขนาดเล็กมาก ทำให้เกิดมลพิษข้ามพรมแดนได้ อีกทั้งยังเป็นพาหะนำพาสารพิษต่างๆ ที่เกาะติดมากับอนุภาคฝุ่น เมื่อมีการสะสมในปริมาณมาก จะสังเกตเห็นได้จากท้องฟ้าที่มีสีขุ่น หม่นหมองผิดปกติหรือปรากฏเป็นหมอกควันปกคลุมในอากาศสามารถเดินทางไปได้ไกลตามกระแสลม ทำให้เกิดมลพิษข้ามพรมแดนได้ แต่เมื่อมีปริมาณมากจะรวมตัวกัน เป็นหมอกควันปกคลุมท้องฟ้า และมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน
(PM2.5) ในประเทศไทย
ปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศไทย และเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งจากผลการติดตามคุณภาพอากาศโดยสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศอัตโนมัติของกรมควบคุมมลพิษ ระหว่างปี พ.ศ. 2560-2562 พบว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5)เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานเฉพาะในช่วงต้นปี (เดือนมกราคมถึงเมษายน) และปลายปี (เดือนตุลาคมถึงธันวาคม) ซึ่งพื้นที่ที่มีปัญหามลพิษทางอากาศส่วนใหญ่ จะเป็นพื้นที่เขตเมืองที่มีการจราจรและการขนส่งหนาแน่น โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พื้นที่ที่มีการเผาในที่โล่ง เช่น พื้นที่ภาคเหนือตอนบน และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากหมอกควันข้ามพรมแดน ที่เห็นได้ชัดเจน เช่น พื้นที่ภาคใต้ เป็นต้น

แหล่งกำเนิดฝุ่นละออง ในประเทศไทย
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กคือ กิจกรรมของมนุษย์ กิจกรรมเหล่านี้รวมถึงการเผาในที่โล่ง เช่น การเผาเศษวัสดุทางการเกษตรและขยะ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่ชนบทและภาคเกษตรกรรม การจราจรในเมืองใหญ่ที่มีปริมาณยานพาหนะหนาแน่น โดยเฉพาะรถยนต์ที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงไม่สมบูรณ์ก็เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นที่สำคัญ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การก่อสร้างอาคารที่ก่อให้เกิดฝุ่น รวมถึงกิจกรรมในชีวิตประจำวันอย่างการใช้เตาถ่านและการสูบบุหรี่ ล้วนเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่สามารถควบคุมได้หากมีมาตรการที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยบางอย่างที่อยู่นอกเหนือการควบคุม เช่น สภาพอุตุนิยมวิทยา ที่ส่งผลต่อการกระจายตัวของฝุ่นละออง อากาศเย็นและแห้งในช่วงฤดูหนาว รวมถึงความกดอากาศสูง ทำให้ฝุ่นละอองลอยตัวอยู่ในบรรยากาศเป็นเวลานานโดยไม่สามารถกระจายออกไปได้ นอกจากนี้ ในบางช่วงที่สภาพอากาศปิด ฝุ่นละอองขนาดเล็กจะสะสมในปริมาณมาก ส่งผลให้คุณภาพอากาศเลวร้ายลงและกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

ลักษณะของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยแตกต่างกันไป ในภาคเหนือ ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการเผาป่าและการลักลอบเผาในที่โล่ง เช่น การเผาเศษวัชพืชและเศษวัสดุการเกษตร ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะและมีภูเขาล้อมรอบ ทำให้อากาศไม่สามารถถ่ายเทได้ดี โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวของภาคเหนือนั้น นอกจากไม่มีฝนแล้ว อากาศแห้งและมีความกดอากาศสูง ทำให้อากาศไม่ลอยตัว ส่งผลให้ฝุ่นสะสมอยู่ในพื้นที่เป็นเวลานาน ปัญหาฝุ่นละอองจึงรุนแรงขึ้น
สำหรับเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเมืองหลักในภูมิภาคต่าง ๆ แหล่งกำเนิดฝุ่นละอองหลักมาจากยานพาหนะบนท้องถนน ไอเสียรถยนต์ ซึ่งปล่อยก๊าซมลพิษและฝุ่นควันออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีการจราจรหนาแน่นและติดขัด นอกจากนี้ เครื่องยนต์ที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ยังปล่อยก๊าซอันตราย เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO₂) และออกไซด์ของไนโตรเจน (NOₓ) ซึ่งสามารถทำปฏิกิริยากับสารอื่น ๆ ในอากาศและก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กได้อีกด้วย
นอกจากปัจจัยจากการจราจรแล้ว ยังมีแหล่งกำเนิดมลพิษจากกิจกรรมชุมชนภายในเมือง เช่น การใช้เตาถ่าน การปิ้งย่างอาหาร ซึ่งทำให้เกิดการสะสมของสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) และก่อให้เกิดมลพิษในอากาศในปริมาณสูง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ไม่มีลมช่วยกระจายมลพิษออกไป ปัจจัยเหล่านี้ทำให้คุณภาพอากาศในเมืองแย่ลงอย่างต่อเนื่อง และเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ผลกระทบต่อสุขภาพ
จากการศึกษาวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับผลกระทบของฝุ่น PM2.5 ต่อสุขภาพ พบว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้ส่งผลต่อความผิดปกติของร่างกายตั้งแต่ระดับเซลล์ แม้ในระยะที่ยังไม่แสดงอาการ ไปจนถึงการเกิดความผิดปกติของปอด การแสดงอาการของโรคทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง จนถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลและอาจนำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร แม้ว่าทุกคนที่สัมผัสฝุ่น PM2.5 จะมีความเสี่ยงต่อผลกระทบทางสุขภาพ แต่บางกลุ่มมีความเสี่ยงสูงเป็นพิเศษ ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง เช่น ตำรวจจราจร พนักงานทำความสะอาดถนน คนขับรถสามล้อเครื่อง คนขับรถจักรยานยนต์ และแม่ค้าหาบเร่แผงลอย ผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ 1).ผลกระทบเฉียบพลัน ได้แก่ การเกิดอาการแพ้ การระคายเคืองผิวหนังและเยื่อบุต่างๆ โดยเฉพาะตา จมูก การกำเริบของโรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันหรืออัมพาต และ 2).ผลกระทบเรื้อรัง มีการศึกษาทางระบาดวิทยาที่แสดงว่าฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus: DM) โรคมะเร็งปอด และโรคสมองเสื่อม นอกจากนี้ยังส่งผลต่อทารกในครรภ์ โดยอาจทำให้เด็กเติบโตช้า คลอดก่อนกำหนด และเพิ่มอัตราการเสียชีวิตในช่วงปริกำเนิด

การเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อม
การเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ
การเฝ้าระวังทางด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ถือเป็นกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ประกอบด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล การแปลผล และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปยังผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การวางแผนควบคุมและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม การเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมครอบคลุมการเก็บข้อมูลใน 2 ส่วนหลัก ได้แก่ การตรวจวัดและติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อม (Environmental Monitoring) และการติดตามผลกระทบทางชีวภาพ (Biological Monitoring)
การเฝ้าระวังฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) สำหรับประชาชน สามารถติดตามได้จากดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index: AQI) ซึ่งเป็นการรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อแจ้งสถานการณ์มลพิษทางอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพในแต่ละพื้นที่ โดยดัชนีคุณภาพอากาศเป็นมาตรฐานสากลที่ใช้แพร่หลายในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และประเทศไทย สำหรับประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศโดยเทียบกับมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไปของสารมลพิษ 6 ประเภท ได้แก่: ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง, ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง, ก๊าซโอโซน (O3) เฉลี่ย 8 ชั่วโมงต่อเนื่อง, ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) เฉลี่ย 8 ชั่วโมงต่อเนื่อง, ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เฉลี่ย 1 ชั่วโมง, ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เฉลี่ย 1 ชั่วโมง
ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยแบ่งเป็น 5 ระดับ ตั้งแต่ 0 ถึง 201 ขึ้นไป โดยใช้สีเป็นสัญลักษณ์แสดงระดับผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งนี้ ค่าดัชนีคุณภาพอากาศที่ 100 เทียบเท่ากับค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป หากค่าดัชนีสูงเกิน 100 แสดงว่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐานและเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

การติดตามตรวจสอบค่ามลพิษทางอากาศด้วยสื่อออนไลน์
ในปัจจุบันการเข้าถึงข้อมูลและข่าวสารเกี่ยวกับการตรวจสอบมลพิษทางอากาศนั้น เข้าถึงได้อย่างง่ายดายมากขึ้น โดยเฉพาะการบริการข้อมูลผ่านเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันต่าง ๆ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เป็นข้อมูลในการตัดสินใจในการป้องกันตนเองจากการได้รับสัมผัสมลพิษอากาศ โดยทางรัฐบาลได้มีนโยบายให้ใช้ข้อมูลค่ามลพิษอากาศจาก Air4Thai ซึ่งจัดทำขึ้นโดยกรมควบคุมมลพิษ สามารถเข้าใช้งานได้ที่ เว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษ (http://air4thai.pcd.go.th) หรือ แอปพลิเคชัน Air4Thai, แอปพลิเคชัน IQAir AirVisual ที่สามารถติดตามค่าอากาศผ่านอุปกรณ์ได้ทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชันอื่น ๆ ที่ถูกพัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญคนไทยอีกมากมาย

คำแนะนำการดูแลสุขภาพสำหรับประชาชนทั่วไป
คำแนะนำสำหรับประชาชนเบื้องต้น มาตรการดำเนินการตามคำแนะนำการดูแลสุขภาพ เมื่อเกิดปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) โดยเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติงานกลางแจ้งและกลุ่มเปราะบางทางสุขภาพ จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
- ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่ผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน เช่น Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ
- การป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากาก N95 เมื่อต้องอยู่ในพื้นที่ที่มี PM2.5 ระดับสีส้มหรือแดง (มากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) สำหรับกลุ่มเสี่ยง (ผู้สูงอายุ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้มีโรคระบบทางเดินหายใจ) ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่เสี่ยง และในพื้นที่ที่มีค่า PM2.5 ต่ำกว่าระดับสีส้ม สามารถใช้หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าที่มีทิชชูสอดด้านในได้
- การปฏิบัติในที่พักอาศัย สามารถทำได้โดยการปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองเข้ามาภายในบ้าน ทำความสะอาดด้วยผ้าชุบน้ำแทนการกวาด ใช้เครื่องปรับอากาศแบบหมุนเวียน หรือเครื่องฟอกอากาศกรองฝุ่น PM2.5 โดยภายในและติดตั้งแผ่นกรองอากาศประสิทธิภาพสูง HEPA (High-Efficiency Particulate Air) และจัดห้องให้สะอาดอยู่สม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น เช่น งดการจุดธูป เผากระดาษ เผาขยะ หรือวัสดุการเกษตร ลดการใช้เตาถ่านที่ก่อให้เกิดควัน รวมถึงหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งที่ใช้เวลานาน
- การจัดการยานพาหนะในบ้าน ไม่จอดรถติดเครื่องยนต์เป็นเวลานาน ตรวจสอบและบำรุงรักษารถยนต์ตามกำหนด ตรวจสอบไส้กรองอากาศและควันดำอย่างสม่ำเสมอ
- ในกรณีที่เหตุการณ์มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อสุขภาพสูง และหน่วยงานราชการประกาศให้อพยพควรปฏิบัติตามขั้นตอนการอพยพที่หน่วยงานราชการกำหนด
- ดื่มน้ำสะอาด 8-10 แก้วต่อวัน งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และพฤติกรรมการสูบบุหรี่รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า หากมีอาการข้างเคียงจากผลกระทบต่อสุขภาพควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย

ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยคุณสมบัติที่มีขนาดเล็กกว่า 1 ใน 25 ของเส้นผมมนุษย์ ทำให้สามารถแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายได้ลึกถึงกระแสเลือด และเป็นพาหะนำพาสารอันตรายอื่นๆ เข้าสู่ร่างกายจนเกิดเป็นโรคต่าง ๆ อย่างมะเร็งปอด
แม้ว่าแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 จะมาจากทั้งกิจกรรมของมนุษย์และปัจจัยทางธรรมชาติ แต่เราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการลดปัญหานี้ได้ เริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดมลพิษ และดูแลป้องกันสุขภาพของตนเองและคนรอบข้างอย่างเหมาะสม รวมถึงการติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศอย่างสม่ำเสมอ
การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อลดการปล่อยมลพิษ เพราะอากาศสะอาดคือสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน
ข้อมูลอ้างอิง
- กรมควบคุมมลพิษ. (2567). ข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI). จาก http://air4thai.pcd.go.th/webV3/#/AQIInfo
- กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. (2564). แนวทางการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในพื้นที่เสี่ยง. จาก https://ddc.moph.go.th/uploads/publish/1202520211213111057.pdf
- คลินิกมลพิษ สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. (2567). ฝุ่นละออง (Particulate Matter) คืออะไร?. จาก https://www.pollutionclinic.com/home/faq/faq1-1.html