จอ.สหัสขันธ์ ขานรับนโยบาย “บวชสร้างสุข” พร้อมแจง ถึงเวลาสังคายนาพิธีกรรมงานบวชแล้ว คนอยากบวชสร้างสุขแต่การสื่อสารเข้าไม่ถึง

ค่านิยมการจัดงานบวชในสังคมไทยปัจจุบัน ส่งผลให้ชาวพุทธไทยสูญค่าใช้จ่ายหลักล้าน คนไม่มีเงิน ทุนน้อย ไม่กล้าบวช  ซ้ำร้ายการจัดงานใหญ่โต เลี้ยงฉลองน้ำเมา ทำให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงและอุบัติเหตุในงานบวช มากกว่า 11 ครั้ง/ปี (95 ครั้ง จากผลสำรวจในปี 2559 – ก.ค. 2567) บาดเจ็บกว่า 23 ราย/ปี เสียชีวิตกว่า 7 ราย/ปี

เมื่อวันจันทร์ที่ 23 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา คณะสงฆ์จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้จัดเวทีเสวนา ถอดบทเรียนงานบวชสร้างสุข อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ พื้นที่ต้นแบบที่ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะบวชสร้างสุข ภายใต้แนวคิด ประหยัด เรียบง่าย ยึดหลักพระธรรมวินัย โดยพระสงฆ์เป็นผู้นำในการสื่อสารกับ ชุมชนเจ้าภาพในการจัดงานบวชแบบเรียบง่าย เพื่อสร้างต้นแบบ ของการจัดงานบวช ต้านทานกระแสสังคมนิยม ที่มีค่านิยมการจัดงานบวชใหญ่โต แข่งขันฐานะ หน้าตาในสังคม อันส่งผลกระทบต่อพระพุทธศาสนา และสุขภาวะของชุมชน    

พระครูจันทธรรมานุวัตร รองเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ องค์ประธานในเวทีเสวนา ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานที่ผ่านมาที่ทางคณะสงฆ์เองได้มุ่งมั่นตั้งใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระเดชพระคุณ พระเมธีวัชราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้สนับสนุนอย่างเต็มที่นโยบายบวชสร้างสุข  ดังนั้น รูปแบบที่จะบวชแก่บุคคลแบบสร้างสุขเข้ามาในพระพุทธศาสนา ให้กับคนในสังคม มีการยกย่องเชิดชูผู้ที่บวช ให้รู้สึกภาคภูมิใจ ในสิ่งที่ตนทำและเป็นแบบอย่างให้กับสังคม ในเวทีครั้งนี้เองก็จะมาร่วมกันสะท้อนบทเรียน ที่เราร่วมกันขับเคลื่อนมา เราได้มีการเก็บข้อมูลสถิติ จำนวน นาค หรือเจ้าภาพที่จัดงานบวชเข้ามาแบบเรียบง่าย ตามสิ่งที่เรารณรงค์

สิ่งสำคัญในการแลกเปลี่ยนเสวนาครั้งนี้ อยากจะฝากกับทุกท่าน ที่เป็นเจ้าคณะ พระสังฆาธิการ โดยเฉพาะพระอุปัชฌาย์ เราควรที่จะร่วมกันส่งเสริมให้มีการบวชฟรี ตามวาระโครงการ จะทำให้ผู้ที่สนใจจะบวช เข้ามาบวชเยอะ สิ่งที่พวกเราทำตรงนี้ถือว่าเป็นต้นทาง กลางทางคือการที่ผู้บวชเข้ามาแล้วเราช่วยอบรมบ่มนิสัย ฝึกปฏิบัติ ปลายทางเมื่อเขาลาสิกขาออกไป หากมีการติดตามได้ก็จะเป็นการดี ว่าการที่เขาเข้ามาบวชในโครงการบวชสร้างสุข แล้วเมื่อลาสิกขาไปนั้นเป็นอย่างไร มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นผู้มีอาชีพสุจริตดี ดำรงตนดีหรือ ไม่ก็จะเป็นการดี จากการขับเคลื่อนงานในส่วนของอำเภอเมืองเอง คณะสงฆ์เราเองก็มองเห็นว่า เป็นโครงการที่ดี ควรค่าแก่การรักษา และทำอย่างต่อเนื่อง มีการขยายผลไปยังพื้นที่อำเภออื่น ๆ ต่อไป

พระครูปริยัติพุทธิคุณ (ฐิตคุโณ) เจ้าอาวาสวัดใต้โพธิ์ค้ำ ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางวัดไม่ได้สนับสนุนแนวคิดเรื่องการแห่นาคเสียงดัง และมีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากๆ ในการจัดงานบวชโดยได้ให้แนวคิดว่าใครอยากได้บุญเยอะก็ให้จัดแบบเรียบง่าย ถ้ามีขบวนแห่นาคเสียงดังๆ ก็ให้แห่ได้จากบ้านมาแต่ไม่อนุญาตให้เข้ามาแห่ภายในวัด เมื่อมีนโยบายงานบวชสร้างสุขของอำเภอเมืองก็ได้เปิดทางเลือกให้ญาติโยมผู้ที่จะบวชลูกหลาน ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเยอะมีแพ็คเกจเลือก 10,000 บาททางวัดจัดการอำนวยความสะดวกให้ครบจนเสร็จสิ้นงาน มีสถานที่ จัดตั้งกองบวชให้ ข้าวปลาอาหารเลี้ยงพระได้ทั้งวัด และที่สำคัญปัจจัย 10,000 บาทได้ถวายพระภิกษุสามเณรที่เป็นนักเรียนนักศึกษาภายในวัดด้วย

ในส่วนของบทเรียนการขับเคลื่อนงานบวชสร้างสุขของอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ เจ้าอธิการแดง ปญฺญาวโร เจ้าคณะตำบลบึงวิชัย วัดป่าชัยมงคล ได้กล่าวรายงานและนำเสนอในที่ประชุมว่า คณะสงฆ์อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ได้ขับเคลื่อนงานโครงการบวชสร้างสุขโดยใช้เครื่องมือของ บันทึกความร่วมมือ (MOU) สร้างความเข้าใจและความร่วมมือของคณะสงฆ์ในอำเภอเมือง ทุกตำบล แลกเปลี่ยนและสร้างแนวทางร่วมกัน และได้มีการติดตามผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นพบว่า

1. เกิดรูปธรรมต้นแบบงานบวชสร้างสุขในอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ โดยมีเจ้าภาพให้ความสนใจร่วมจัดงานภายใต้แนวคิด งานบวชวิถีใหม่ เรียบง่าย เหมาะสม ลดปัจจัยเสี่ยง เลี่ยงโควิดยึดพระธรรมวินัย มากกว่า 30 งาน มีพระที่ผ่านกระบวนการบวชสร้างสุข ไม่ต่ำกว่า 59 รูป ซึ่งสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดงานจัดงาน โดยคิดเฉลี่ยงานละ 100,000 บาท x 59 นาค/รูป กว่า 5,900,000

2. เกิดนวัตกรรมการเชิดชูผู้ที่บวชสร้างสุข ผ่านการมอบใบประกาศเกียรติคุณ ให้กับผู้ที่ผ่านกระบวนการบวชสร้างสุข และยังเป็นการสื่อสารไปยังผู้ที่ตัดสินใจจะบวชในอนาคตอีกด้วย ทั้งนี้ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ถือเป็นต้นแบบขยายไปสู่ ภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศ และถือว่าเป็นการประทับตราว่า การบวชแบบเรียบง่ายคือการจัดงานบวชที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย แก่ชาวพุทธ

3. เกิดการสร้างการสื่อสาร รณรงค์ งานบวชสร้างสุขใบหลายรูปแบบ วัดต่าง ๆ ของอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ได้มีการติดป้ายรณรงค์ ภายในพื้นที่ และการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์อีกหลากหลายช่องทาง เช่น มีการ    ไลฟ์สด ผ่าน Facebook มีการสร้างคอนเทนต์ผ่าน TikTok  ในการรณรงค์ เชิญชวนให้บวชสร้างสุข เป็นต้น

4. เกิดการประสานความร่วมมือการขับเคลื่อนงานบวชสร้างสุข ระหว่าง วัด บ้าน ราชการ

ด้าน พระครูสิริพัฒนนิเทศก์ เจ้าคณะอำเภอสหัสหัสขันธ์ ขานรับนโยบาย “บวชสร้างสุข” นำมาขยายผลต่อร่วมกับคณะสงฆ์ในอำเภอ ในทุกตำบล พร้อมกับให้สัมภาษณ์ว่า ในฐานะเจ้าคณะอำเภอสหัสขันธ์ ซึ่งเป็นอำเภอเล็ก ๆ ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมในโครงการบวชสร้างสุขมาก่อน แต่ก็ได้ศึกษาข้อมูลในส่วนพื้นที่ ที่ดำเนินการแล้วก็เล็งเห็นว่า เป็นนวัตกรรมเป็นแนวความคิด เป็นความพยายามของหลากหลายฝ่ายที่อยากจะให้ การบวช เป็นบุญพิธีที่เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนจริง ๆ แล้วที่สำคัญ คือพื้นฐานการบวชในพื้นที่อำเภอสหัสขันธ์ ก็คล้ายกับพื้นที่อื่นทั่วไป ที่มีค่านิยมไปตามกระแสความนิยมของทางโลก เพราะฉะนั้น เราก็พบปัญหานี้มายาวนานพอสมควร เราก็เล็งเห็นว่าโครงการนี้เป็นการสร้างความเข้าใจ สร้างค่านิยมและทิศทางที่ถูกต้อง  อย่างน้อยที่สุด ก็จะทำให้เห็นว่าการบวชไม่ใช่เรื่องที่จะยุ่งยากต้องเสียเงินทองอะไรมากมาย

เรายอมรับว่าสถานการณ์พระพุทธศาสนาในปัจจุบัน เฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบวชเ เราก็เห็นว่ามันเปลี่ยนไปมากพอสมควรอย่าง เช่นว่าการบวช คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตส่วนตัว แล้วก็ครอบครัว รวมไปถึงสร้างเครดิตในสังคมหมายความว่าคนได้บวชก็หมายถึงคนที่ผ่านกระบวนการพัฒนาตัวเองทางด้านจริยธรรม เราพบว่าทั้ง 3 ด้าน ทั้งในระดับส่วนตัว ครอบครัว และสังคม มันเปลี่ยนไปพอสมควร กลายเป็นการบวชตามเงื่อนไข การบวชตามพิธีกรรม หรือการบวชตามคำแนะนำของผู้ใหญ่ แต่ไม่ได้เกิดจากแรงบันดาลใจภายใน ส่วนหนึ่งเกิดจากคนรุ่นใหม่ ที่มีการเรียนรู้ มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร จากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ทำให้เขาเข้าใจว่า แต่ละยุคแต่ละสมัยมีพิธีกรรมที่ไม่เหมือนกัน กลับไปยึดเอาหลักการของสังคมสมัยใหม่ ที่ไม่ได้ถูกต้องถูกหลักตามพระธรรมวินัยในสมัยพุทธกาลเลย เราจึงมองว่ามันถึงเวลาแล้วที่คณะสงฆ์เราจะต้องสังคายนา พิธีกรรมงานบวช อย่างน้อยที่สุดก็ขอให้สอดคล้องกับพระธรรมวินัย เราเชื่อว่า ถ้าเราทำได้อย่างนั้นจริง ๆ ก็จะเป็นการตอบโจทย์ เป้าหมายของโครงการบวชสร้างสุขแน่นอน

จากการถอดบทเรียนการดำเนินงานครั้งนี้ คณะสงฆ์ได้สะท้อนข้อมูล ค่านิยมความเชื่อของคนในพื้นที่ และผลสำเร็จที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาที่สำคัญ

1) ระดับนโยบาย เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และยังปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างด้วย

2) การมีส่วนร่วมของคณะสงฆ์และให้ความร่วมมือ มีการประชุมระดมความคิด ออกแบบร่วมในการทำงาน และร่วมแสดงผลข้อมูลการดำเนินงาน นาคมาบวชแบบสร้างสุขกี่งาน บวชตามปกติกี่งานอย่างชัดเจน

3) ข้อมูลชาวบ้านส่วนใหญ่มีความต้องการที่จะบวชแบบสร้างสุขเรียบง่าย แต่ขาดผู้นำ ขาดวัดที่มีความชัดเจนในทางปฏิบัติ อยากบวชแต่ประหนึ่งว่าวัดเข้ายากทั้งที่เปิดประตูไว้

4) ต้องผลักดันแนวคิดบวชสร้างสุข ให้มีกระบวนการเรียนรู้ ทำความเข้าใจในการอบรมพระอุปัชฌาย์ในระดับจังหวัด

5) ปัญหาอุปสรรคที่สำคัญ คือ การสื่อสารรูปแบบ ของการบวชสร้างสุข ต้องทำอย่างไร บวชที่วัดไหน ยังไม่มากพอ และยังไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายชาวบ้านได้อย่างทั่วถึง

แนวทางการดำเนินงานต่อไปที่ประชุมเห็นร่วมกัน 

1) ต้องทำให้เกิดเครือข่ายร่วมขับเคลื่อน วัด บ้าน ราชการ จัดงานบวชสร้างสุข

2) สนับสนุนกระบวนการพูดคุย ทั้งคณะสงฆ์ ฆราวาส หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พระสงฆ์ สำนักงานพระพุทธศาสนา วัฒนธรรม แต่ละพื้นที่ หมู่บ้าน ตำบล

3) พัฒนาช่องทางการสื่อสาร รูปแบบการสื่อสาร ให้มีการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง ถึงคุณค่าการบวชที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย ลดผลกระทบจากการจัดงานบวชที่นอกกรอบพระพุทธศาสนา รูปแบบดำเนินการ มีวัดไหนอย่างไร ที่หลากหลาย 

4) ผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะ ข้อตกลงร่วมกัน ที่เห็นประโยชน์ ในระดับต่างๆ จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน


ชัยณรงค์ คำแดง

ดิษณุลักษณ์ ไพฑูรย์