ชุมชนสุขปลอดเหล้า ตำบลถอนสมอ อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี

“ถอนสมอ” เริ่มรณรงค์ด้วยใจ เพราะเห็นภัยของน้ำเมา

กว่า 50 ปี ที่ชุมชนถอนสมอ พื้นที่มีการผลิตน้ำตาลเมา สาโธ อุ กระแช่ และต้มเหล้าเถื่อน ดื่มกันเอง  และจะผลิตปริมาณมากในช่วงเทศกาล หรือมีงานเลี้ยง (งานบวช งานแต่ง ขึ้นบ้านใหม่ ฯ) ซึ่งจะมีคนที่ดื่มประจำหมู่บ้านละ 2-4 คน เป็นการรวมกลุ่มกันดื่มเพื่อผ่อนคลายเล็กๆ น้อยๆ แต่หากเป็นช่วงเทศกาล มีงานเลี้ยง งานรื่นเริง ก็จะดื่มกันมากกว่าปกติ ส่วนใหญ่นักดื่มจะเป็นคนวัยทำงาน พูดได้ว่าการดื่มเหล้าหรือน้ำเมาเป็นวิถีชีวิตปกติที่ยอมรับและดื่มกันทั่วไปในทุกอาชีพ

จาก พ.ศ.2551 จนถึงปัจจุบัน แม้จะไม่มีการผลิตสาโธ กระแช่หรือเหล้าเถื่อนกันแล้ว  แต่กลับพบว่ามีนักดื่มหน้าใหม่ที่เป็นวัยรุ่นและเยาวชนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงคนทำงาน ที่หันมาดื่มเหล้า เบียร์ สปาย เหล้าปั่น และยาดอง หลังเวลาเลิกงานและยามค่ำคืนเป็นประจำ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเทศกาลหรือมีงานเลี้ยงใดๆ

ทั้งนี้ ร้านค้าที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชนก็มีเป็นจำนวนมาก หมู่ที่ 8 มีจำนวน 2 ร้าน, หมู่ที่ 6 มีร้านสะดวกซื้อและร้านค้าทั่วไป 5-6 ร้าน และหมู่ที่ 3 มีจำนวนร้านค้า 2 ร้าน จึงทำให้เข้าถึงได้ง่าย ซื้อขายกันสะดวก ผู้ซื้อและผู้ขายล้วนคุ้นเคยกันดี  ถึงแม้จะมีเจ้าหน้าที่ของสาธารณสุขที่มีหน้าที่กำกับดูแล มาสุ่มตรวจปีละครั้ง แต่แทบไม่ได้ผลอะไร  เพราะกลุ่มเด็กและเยาวชนก็ยังดื่มกันมาก สาเหตุสำคัญอาจเป็นเพราะกฎหมายไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง (เป็นเพียงเสือกระดาษ) อีกทั้งความสัมพันธ์ที่คุ้นเคยของผู้ซื้อและผู้ขายที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์  จึงไม่มีใครอยากเป็นศัตรูกับร้านค้า

จุดเปลี่ยนการรณรงค์งดเหล้าในชุมชนอย่างจริงจัง

เมื่อมีการดื่มกันมากในชุมชน แน่นอนว่าย่อมเกิดผลกระทบมากมายในวงกว้างด้วยเช่นกัน อาทิ ดื่มแล้วขับจนเกิดความสูญเสียทั้งผู้ที่ดื่มและไม่ดื่ม เกิดเหตุทะเลาะวิวาท มีการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ เกิดความเจ็บป่วยจากการดื่ม ตลอดจนการฆ่าตัวตาย เป็นต้น เมื่อการดื่มทำให้เกิดปัญหาทั้งด้านสุขภาพและทางสังคม ทำให้ชุมชนไม่ปลอดภัย ไม่น่าอยู่  จึงมีความเห็นร่วมกันของผู้นำชุมชน (ผู้ใหญ่บ้านนรินทร์ ปาลวัฒน์ ดร.เฉลิมศรี ราชนาจันทร์  ผอ.ประสงค์ สังข์ทอง และท่านพระครูนาคดิตถ์คณาภิรักษ์ เจ้าอาวาสวัดโบสถ์) ว่าต้องรีบรณรงค์ให้ทุกอย่างกลับมาอยู่ในภาวะปกติให้มากที่สุด จึงจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เรื่องโทษภัยจากการดื่มเหล้าแก่ประชาชน (หมู่ที่ 1 จนไม่มีคนติดเหล้า และมีคนเลิกเหล้าได้ตลอดชีวิตหลายคน) เพราะเห็นผลกระทบมากมายที่เกิดขึ้นต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม

ดร.เฉลิมศรี ราชนาจันทร์ (พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้างานสุขภาพจิตและยาเสพติด โรงพยาบาลท่าช้าง) กล่าวว่า

ในฐานะคนทำงาน อะไรทำได้เราต้องทำ  อย่างช่วงสงกรานต์ เราต้องรณรงค์เพราะมีคนเมาแล้วขับมากมาย  ทำให้เกิดอุบัติเหตุ และปัญหาอื่นๆตามมา ทุกหน่วยงานต้องมาช่วยกัน ทั้งพยาบาล ตำรวจ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ให้ทุกคนขับขี่อย่างปลอดภัย แล้วหากดื่มเหล้ากันเยอะ บุหรี่ก็จะเยอะด้วย เกิดเป็นโรคมะเร็งอีก เราก็รณรงค์ไปพร้อมกัน เหล้า-บุหรี่ ซึ่งจะมีกลุ่มเด็กๆจาก TO BE NUMBER ONE (ทูบีนัมเบอร์วัน) มาร่วมรณรงค์ตีกลองยาว ถือป้าย แจกสติกเกอร์ แล้วเขาก็จะไปขอร้องให้พ่อแม่ของพวกเขาเลิกดื่มเหล้า เลิกสูบบุหรี่ ยาเสพติด กิจกรรมนี้ทำมา 3 ปีแล้ว อาทิตย์ละ 2 วันเป็นอย่างน้อย โดยทำเวลานอกราชการ และไปในฐานะเป็นกัลยาณมิตรของครอบครัวและชุมชน เราทำงานด้วยหัวใจค่ะ  เวลาลงพื้นที่ ก็จะชวนคิดชวนคุยเป็นหลัก พอเขาไว้ใจ ก็ค่อยเติมความรู้ แต่ถ้าเขาปฏิเสธก็จะคุยกันบ่อยขึ้น  สุดท้ายถ้าเขาไม่สนใจก็ต้องปล่อย”

ผอ.ประสงค์ สังข์ทอง กล่าวว่า

ผมเริ่มทำงานรณรงค์มาตั้งแต่โครงการโพธิสัตย์น้อยชวนพ่อแม่เลิกเหล้าเข้าพรรษา ก่อนหน้านั้นก็ทำกับเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ ซึ่งท่านเป็นประธานกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียน ท่านได้ให้นโยบายมาให้จัดกิจกรรมเกี่ยวกับศีล 5 โดยตอนเช้าก็จะมีการสวดมนต์หน้าเสาธง วิรัติศีล 5 ก็เลยทำมาตั้งแต่ตอนนั้นและต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ ก็ทำเฉพาะในส่วนของโรงเรียนกับผู้ปกครองนักเรียน ให้เลิกเหล้าเข้าพรรษา ถ้าใครเลิกได้ตลอดชีวิต ท่านพระครูนาคดิตถ์คณาภิรักษ์ เจ้าอาวาสวัดโบสถ์ เจ้าคณะอำเภอท่าช้างท่านก็จะมีรางวัลให้ ซึ่งผมก็ทำมาเรื่อย ๆเพราะเป็นประโยชน์กับส่วนรวม

ก่อนหน้านั้นผมก็ดื่มเหล้าบ้าง เพราะพ่อผมเป็นนักดื่มที่ต้มเหล้ากินเอง ดื่มสังสรรค์กันทุกวัน จนอายุ 59 ปี ก็เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เสียชีวิต  เมื่อเห็นสภาพของพ่อที่ป่วยก็ทำให้ผมเลิกดื่มได้ แล้วยังไปบังคับให้คนอื่นในโรงเรียนไม่ให้ดื่มด้วย ถ้าใครดื่มจะไม่ให้ 2 ขั้น หรือไม่ให้ขั้นพิเศษ ถึงจะมีคนแอบดื่มผมก็ทำเป็นไม่รู้ แล้วก็ชวนเขามารณรงค์ด้วย จากนั้นก็ไม่มีการดื่มเหล้าในโรงเรียนอีกเลย ซึ่งเมื่อก่อนจะดื่มกันจนเมามายกลับบ้านไม่ได้ เมาหมดสภาพความเป็นครู

เมื่อปี 2561 เมื่อเกษียณจากราชการแล้ว คุณประชาญ  มีสีได้ชวนให้มาร่วมงานแบบเต็มตัว ก็คิดว่าน่าสนใจ เลยตัดสินใจมาช่วยงาน เพราะคิดว่าตัวเองมีความสามารถเรื่องการประสานงานกับฝ่ายต่าง ๆ ก็เลยมาช่วยงานตรงนี้”

ดังนั้น เมื่อ สสส.มีการรณรงค์ให้ลด ละ การดื่มเหล้า ชุมชนถอนสมอจึงเข้าร่วมรณรงค์อย่างจริงจัง เมื่อ พ.ศ.2559  โดยมีองค์กรในชุมชนร่วมมือกัน ทั้งบ้าน วัด(วัดโบสถ์) โรงเรียน(โรงเรียนวัดถอนสมอ โรงเรียนท่าช้างวีทยาคาร และส่วนราชการต่างๆ (โรงพยาบาลท่าช้าง สถานีตำรวจ ) ผู้นำชุมชน และผู้นำตามธรรมชาติในชุมชน

แนวทางการรณรงค์อย่างจริงจัง

เมื่อถึงเทศกาลงานบุญ ช่วงเข้าพรรษา กลุ่มเยาวชนจากทูบีนัมเบอร์วัน ก็จะถือป้าย (ของ สคล.) ไปพูดเชิญชวน ให้พี่ ป้า น้า อา ลด เลิก การดื่มเหล้า ซึ่งผู้ปกครองและประชาชนทั่วไปก็เห็นดีด้วย  เพราะตัวเด็กที่มาทำกิจกรรมเป็นภาพที่น่ารักน่าเอ็นดูกับคนที่พบเห็น นอกจากนี้ เด็ก ๆ ทูบีนัมเบอร์วันที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี ก็จะช่วยประชาสัมพันธ์ผ่านเพจ Facebook ให้คนที่สนใจมาลงชื่องดเหล้าฯ แบบออนไลน์ รวมทั้งส่งไปเชิญชวนพ่อแม่และกลุ่มญาติ ๆ ด้วย

นอกจากกลุ่มเยาวชนฯแล้ว พระอสว. (พระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด – ที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสุขภาพในวัดและชุมชน) ที่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี ก็จะทำสื่อบาป-บุญ โดยการบันทึกการแสดงธรรมของเจ้าอาวาส ที่พูดเรื่องโทษภัยของเหล้า แล้วนำออกเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ เช่น Youtube และในกลุ่ม Line ต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด ที่ไม่เหมาะกับการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรม

ซึ่งทุกครั้งที่จัดกิจกรรม ก็จะเป็นการทำงานร่วมกันกับองค์กรต่าง ๆ ในชุมชนเสมอ ทั้ง รพ.สต.ถอนสมอ  โรงพยาบาลท่าช้าง โรงเรียน สถานีตำรวจ ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน วัดโบสถ์ TO BE NUMBER ONE บ้านขุนโลก และผู้นำตามธรรมชาติในชุมชน

ทั้งนี้บทสรุป คือมีการกำหนดพื้นที่ปลอดเหล้า และเวลาจำหน่าย  มีการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ (สร้างสื่อใหม่ ๆ) และการประชาสัมพันธ์ให้ชาวชุมชนรับรู้ (ด้วยการเคาะประตูบ้าน ผ่านหอกระจายข่าว ผ่านเพจสังคมออนไลน์ และการออกเดินรณรงค์ การเทศน์ของพระ) มีการออกมาตรการชุมชน และทำงานกับร้านค้า

จาก 3 เดือนถึง 3 ปี การติดตามหนุนเสริมผู้บวชใจ

ไม่น้อยเลยที่ผ่านเวลามาระยะหนึ่งของตำบลถอนสมอ โดยการดำเนินงานการบูรณาการร่วมกิจกรรมของ บวร บ้าน วัด โรงเรียน และหน่วยงานราชการต่างๆในชุมชม ซึ่งดำเนินงานแบบ “ชวน ช่วย ชม เชียร์ เชิดชู ชวนต่อ” โดยใช้วิธีการสร้างแรงจูงใจ ทั้งเป็นกลุ่มและรายบุคคล โดยให้ครอบครัวและคนใกล้ชิดชื่นชมให้กำลังใจ และชวนต่อให้ดื่มน้อยลงจนถึงสามารถเลิกได้เด็ดขาด รวมถึงในกระบวนการยังใช้การให้สัจจะปฏิญาณตนต่อหน้าเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ และพระรัตนตรัย และเมื่อผู้ที่เข้าร่วมสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายก็จะมีการการกำหนดรางวัลเชิดชูเกียรติผู้ที่ตั้งใจจะเลิกตลอดชีวิต (ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อหลวงพ่อแพ และพระพิมพ์เนื้อผงสมเด็จวัดระฆัง) นอกจากนี้ยังสร้างการรับรู้ด้วยเครื่องมือทุกอย่างที่สามารถเข้าถึงได้ เช่น เคาะประตูบ้าน ส่งเสียงตามสายผ่านหอกระจายข่าว เดินรณรงค์ การพูดคุยแบบรายบุคคล สื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ หรือใช้บุคคลที่ได้รับผลกระทบจากเหล้าเป็นกรณีศึกษาโดยตรง