เรื่องโดย : ศุภกิตติ์ คุณา นักสื่อสารสุขภาวะชุมชน
บ้านเกาะกลาง
ตั้งอยู่ หมู่ 8 ตำบลป่าแดด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีประชากรโดยประมาณ 1,080 คน เป็นชุมชนชนบท ที่มีวัฒนธรรมตามแนวทางประเพณีล้านนา ได้แก่ ประเพณีสงกรานต์, ประเพณีลอยกระทง, ทำบุญกลางบ้าน, แห่ไม้ค้ำและสรงน้ำพระธาตุ
ในช่วงปี พ.ศ.2540 เกิดปัญหาความไม่สงบจาการดื่มสุราในงานเทศกาลต่างๆ ทุกงานบุญจะมีการเลี้ยงและดื่มสุรา ส่งผลให้เกิดปัญหาในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การทะเลาะวิวาทกัน และเริ่มเกิดผลกระทบรุนแรงมาเรื่อย ๆ บางครอบครัวเกิดการทะเลาะวิวาทกันเกิดเหตุการณ์สามีถือมีดไล่ทำร้ายภรรยา จากผลกระทบจากการดื่มสุราในงานบุญประเพณีดังกล่าว ส่งผลให้ นางยุพิน ตนมิตร ผู้ใหญ่บ้านบ้านเกาะกลาง หมู่ที่ 8 ร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้าน และผู้นำกลุ่มพัฒนาต่างๆ ในชุมชน มีแนวคิดในการทำงานกับคนดื่มสุราที่เป็นปัญหาในชุมชน แบ่งช่วงของการดำเนินงานชุมชนคนสู้เหล้าไว้ใน 3 ระยะหลัก
ระยะเริ่มต้นจากปัญหา เพื่อก้าวต่อเป็นแหล่งเรียนรู้ “ชุมชนคนสู้เหล้า”
ช่วงปี พ.ศ. 2550 นางยุพิน ตนมิตร ผู้ใหญ่บ้านบ้านเกาะกลาง หมู่ที่ 8 ได้เห็นถึงผลกระทบจากการดื่มสุราของคนในชุมชนจึงได้มีการชักชวนผู้มีปัญหาการดื่มสุราที่สมัครใจไปบวช เพื่อให้ห่างไกลจากสภาพแวดล้อมเดิม หลังจากนั้นมีการชักชวนให้ทำกิจกรรมช่วยเหลือชุมชน และเริ่มเปลี่ยนแปลงชุมชนให้เป็นชุมชนงดเหล้า จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้คนในชุมชมมาเรียนรู้งานด้านเกษตรและร่วมทำกิจกรรมกัน โครงการชุมชนงดเหล้าสร้างกลุ่มสร้างทางเลือกกิจกรรมเพื่อสุขภาพ
ช่วงปี พ.ศ. 2556 เริ่มมีการรณรงค์อย่างจริงจัง ด้วยความรู้ด้านการดูแลสุขภาพเริ่มต้นด้วยตนเอง มีการจัดตั้งกลุ่มปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพ กลุ่มเยาวชนเพื่อการรวมกลุ่มทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ลดการเป็นนักดื่มหน้าใหม่ โครงการงดเหล้าเข้าพรรษา โครงการ สปสช. ร่วมกับเทศบาลตำบลป่าแดด ให้ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบเรื่องสุรา และนโยบายงดเหล้าภายในงานศพ เกิดคนหัวใจเพชร
ช่วงปี พ.ศ. 2557 ผลกระทบจากปัญหาสุราของบ้านเกาะกลางมีแนวโน้มลดลง จากหลักฐานการที่คนในชุมชนเลี้ยงเหล้าในงานบุญ งานศพปลอดเหล้า ลดการทะเลาะวิวาทในชุมชน อุบัติเหตุในชุมชนลดลง มีผู้เข้าร่วมโครงการเลิกเหล้าและมีบุคคลตนแบบในการเลิกเหล้า ชุมชนเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นในการ ลด ละ เลิก แอลกอฮอล์ มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา 80 คน คนที่สามารถเลิกเหล้าได้และยกระดับเป็นคนหัวใจเพชร 5 คน สามารถลดการดื่มเหล้าได้ 20 คน ร้านค้าปฏิบัติตามข้อตกลงของหมู่บ้านที่สอดคล้องกับ พรบ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด
จากการดำเนินงานชุมชนคนสู้เหล้าไว้ใน 3 ระยะหลัก มีปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ
1.การออกแบบกิจกรรม
1.1 กิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา เป็นกิจกรรมที่สื่อสารและสร้างกระแสให้กับสาธารณะในเรื่องการให้แสดงออกถึงความเคารพศรัทธา ต่อตนเอง และต่อพระพุทธศาสนา เป็นการงดกิจกรรมที่ทำร้ายสุขภาพ ทำลายร่างกาย และกิจกรรมงานศพปลอดเหล้า เป็นกิจกรรมที่สื่อสารถึงการให้เกียรติ ให้ความเคารพกับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว การลดค่าใช้จ่ายในงานศพ
1.2 กิจกรรมปั่นจักรยาน เป็นกิจกรรมที่สร้างทางเลือกในการใช้เวลาว่าง เป็นการจุดประกายแนวคิดการดูแลสุขภาพเริ่มต้นที่ตัวเอง
1.3 กิจกรรมชมรมคนหัวใจเพชร เป็นกิจกรรมรวมพลังของกลุ่มคนที่มุ่งมั่นเลิกดื่มสุรา และ พร้อมสื่อสารบทเรียนการหยุดดื่มของตนเองเพื่อช่วยเพื่อน
2.แกนนำและคณะทำงานในพื้นที่
2.1 แกนนำและคณะทำงานในพื้นที่ มีความเข็มแข็งและหลายหลายจัดตั้งกลุ่ม องค์กรในระดับชุมชน มีสมาชิก แผนงานการดำเนินงานในระยะยาว มีความสามารถในการประเมินปัญหาและออกแบบแนวทางแก้ไข เช่น การจัดตั้งกลุ่มเพาะเห็ดนางฟ้า มีตลาดรองรับ โดยมีกลุ่มสมาชิก อสม.และชมรมคนหัวใจเพชร หรือกลุ่มคนที่กำลังลด ละ เข้ามามีกิจกรรม
2.2 การทำงาน เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชน โดยมีเทศบาลตำบลป่าแดด และ รพ.สต.มาเป็นพี่เลี้ยงให้การสนับสนุน เช่นกองทุนหลักประกันสุขภาพ และเครือข่ายพระสงฆ์ในตำบลป่าแดด
2.3 การกำหนดมาตรการชุมชน /กติกา หรือตำบลที่ชัดเจน เช่น ในชุมชนจะไม่ให้มีการเกม ร้านคาราโอเกะอย่างเด็ดขาด ส่วนร้านค้าชุมชนที่จำหน่ายให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ เน้นย้ำให้เคารพกฎหมาย โดยคณะกรรมการหมู่บ้าน และปกครองออกตรวจเตือนเป็นระยะ
2.4 แกนนำสามารถนำองค์ความรู้ บทเรียนประสบการณ์เผยแพร่ เพื่อขยายผลเกิดกลุ่มก้อนที่ชัดเจนแล้ว ยังมีคนต้นแบบที่เลิกเหล้าเป็นพี่เลี้ยง ชวน ช่วย เชียร์ และขยายไปสู่หมู่บ้านใกล้เคียง
2.5 แกนนำมีความสามารถในการใช้ทุนในพื้นที่ สมทบร่วมในการทำงาน เช่น กองทุนสุขภาพท้องถิ่น กองทุนหมู่บ้าน กองทุนพัฒนา หรือกองทุนอื่น เช่น กองทุนตลาดนัดชุมชน ที่ก่อตั้งขึ้นเป็นต้น
ผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ช่วงปี พ.ศ.2540 เกิดปัญหาความไม่สงบจาการดื่มเหล้าในงานเทศกาลต่าง ๆ ใช้เหล้าเป็นหลักในการจัดงาน ส่งผลให้เกิดการทะเลาะวิวาทกัน หมู่บ้านไม่สงบ และเริ่มเกิดผลกระทบรุนแรงมาเรื่อย ๆ บางครอบครัวเกิดการทะเลาะวิวาทกันเกิดเหตุการณ์สามีถือมีดไล่ทำร้ายภรรยา หลังจากที่เกิดผลกระทบรุนแรงมากขึ้น
จุดเริ่มต้นที่เริ่มรณรงค์และขับเคลื่อนงานสู่รูปธรรม
ช่วงปี พ.ศ.2550 ทางแม่หลวงยุพิน ตนมิตร ได้เห็นถึงผลกระทบจากการดื่มเหล้าของคนในชุมชนจึงได้มีการพาคนที่ติดเหล้าไปเลิกเหล้า โดยการพาคนติดเหล้าไปบวช ชักชวนให้ทำกิจกรรมช่วยเหลือชุมชน และเริ่มเปลี่ยนแปลงชุมชนให้เป็นชุมชนงดเหล้า จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้คนในชุมชมมาเรียนรู้งานด้านเกษตรและร่วมทำกิจกรรมกัน
ช่วงปี พ.ศ. 2556 เริ่มมีการรณรงค์อย่างจริงจัง มีการจัดตั้งกลุ่มปั่นจักรยาน กลุ่มเยาวชน โครงการงดเหล้าเข้าพรรษา โครงการ สปสช. ร่วมกับเทศบาลตำบลป่าแดด และงดเหล้าภายในงานศพ
ชุมชนบ้านเกาะกลาง จังหวัดเชียงใหม่ ถือว่ามีความประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ตั้งแต่พ.ศ.2540 โดยผู้นำชุมชนแม่หลวงยุพิน ตนมิตร ซึ่งมีการขับเคลื่อนชุมชนปลอดเหล้า และตั้งศูนย์พึ่งพาตนเอง พร้อมส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสุขภาพ และสร้างผู้นำชุมชน ช่วยทำงานขับเคลื่อนเพื่อลดการบริโภคแอลกอฮอล์และปัญหาที่เกี่ยวข้อง ทำให้ชุมชนนี้กลายเป็นแบบอย่างสำหรับชุมชนอื่นๆในจังหวัดเชียงใหม่