เรื่องโดย : ศุภกิตติ์ คุณา นักสื่อสารสุขภาวะชุมชน
บ้านแพะพัฒนา หมู่ที่ 1 ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลเขื่อนผาก ซึ่งตำบลเขื่อนผากนั้นเดิมตั้งชื่อตามบ้านเขื่อนผาก หมู่ที่ 2 โดยจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่า ผู้แก่ในหมู่บ้านที่เล่าสืบต่อกันมา แต่เดิมบ้านเขื่อนผากมีลำน้ำแม่งัดเป็นแหล่งชุมชนในหมู่บ้าน คนในหมู่บ้านจะใช้น้ำแม่งัดแห่งนี้ประกอบอาชีพกสิกรรมทุกด้านและเป็นแหล่งน้ำที่มีสัตว์น้ำมากพอที่จะให้คนในหมู่บ้านจับมาเป็นอาหาร ในครั้งนั้น ชาวบ้านได้ทำการฝึกช้างเพื่อไว้ใช้งานทำเขื่อน (กำแพงไม้) ซึ่งคำว่าเขื่อนคือทำนบสำหรับกักน้ำไว้ใช้ แล้วในความหมายของคนในชุมชนนี้ เขื่อนยังหมายถึงกำแพงและประตูอีกด้วย ในสมัยก่อน ก่อนที่จะหลับนอนในตอนกลางคืน ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวจะถามลูกหลานว่า ปิดเขื่อนบ้านแล้วหรือยัง ซึ่งก็หมายความว่า ปิดประตูบ้านแล้วหรือยังนั้นเอง การฝึกช้างของชาวบ้านในครั้งนั้นก็มีการสร้างเขื่อนกั้นล้อมรอบไปตามแนวฝึ่งแม่น้ำด้านทิศตะวันตก ส่วนฝั่งแม่น้ำด้านทิศตะวันออกนั้นก็มีการสร้างเขื่อนล้อมรอบไว้ ต่อมามีคนเข้ามาสร้างบ้านอยู่ตามแนวฝั่งของลำน้ำแม่งัดด้านทิศตะวันตกประมาณ 30 ครอบครัว ชาวบ้านได้พร้อมในกันตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านเขื่อนผาก แต่ไม่มีหลักฐานปรากฎชัดว่าผู้คนที่เข้ามาสร้างบ้านอยู่นั้นเข้ามาเมื่อปี พ.ศ.ใด และอพยพจากถิ่นฐานใดเข้ามาอยู่
ในหมู่บ้านมีทั้งหมด 267 ครัวเรือน มีประชากรรวม (พ.ศ.2565) 468 คน แยกเป็นชาย 224 และหญิง 244 คน มีบุญประเพณีสำคัญที่ร่วมกับกลุ่มชุมชนในตำบลเขื่อนผากที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นงานประเพณีสงกรานต์ งานประเพณีลอยกระทง งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา งานประเพณีทำบุญถ้ำผาปูน, พระธาตุสบแหวน งานประเพณีทำบุญพระธาตุศรีบุญฤทธิ์ งานประเพณีปีใหม่ม้ง งานประเพณีเดินขึ้นดอยเวียนเทียน วัดห้วยบง วันวิสาขบูชา งานประเพณีตักบาตรเทโวเนื่องในวันออกพรรษา งานประเพณีแห่ไม้ค้ำ ซึ่งในงานบุญประเพณีเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นแหล่งที่มาของการดื่มสุราในชุมชน
เริ่มต้นการลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแพะ ตำบลเขื่อนผาก เป็นหน่วยงานสาธารณสุขที่ตั้งอยู่ในชุมชน ร่วมกับชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลเขื่อนผาก ได้มีความพยายามที่จะทำให้ประชาชนตำบลเขื่อนผากลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยตั้งแต่ปี 2552 มีกิจกรรมต่างๆเกิดขึ้นในพื้นที่ตำบลเขื่อนผาก เช่น กิจกรรมปฏิญาณตนงดเหล้าเข้าพรรษาทั้งตำบล งานศพปลอดเหล้าทั้งตำบล งานสลากภัตต์ปลอดเหล้า งานกฐินปลอดเหล้า รวมถึงงานบุญปลอดเหล้า หรืองานที่มีการอาราธนาศีลจะไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งถือว่ามีการผิดศีลข้อที่ 5 และในส่วนบุคคลก็มีความพยายามให้ผู้ที่ดื่มเหล้ามีการเลิกเหล้าตลอดชีวิตโดยเริ่มตั้งแต่การตั้งชมรมคนหัวใจหินในปี 2561 ซึ่งการงดเหล้าในช่วงเวลา 3 เดือนในช่วงเข้าพรรษา โดยหากพ้น 3 เดือนไป ก็กลับไปดื่มสุรา ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวลดจำนวนนักดื่มสุราเป็นระยะเวลาหนึ่ง และชมรมคนหัวใจเพชร เป็นบุคคลที่มีการงดเหล้าตั้งแต่ 2-3 ปีขึ้นไปและเลิกถาวร ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวลดจำนวนนักดื่มสุราถาวร ในปี 2562 โดยมีเป้าหมายให้ชมรมคนหัวใจเพชรตำบลเขื่อนผากมีสมาชิกที่มาจากนักดื่มในตำบลเขื่อนผาก เกิดแรงจูงใจในการเลิกดื่มและเข้ามาเป็นสมาชิกชมรมคนหัวใจเพชรให้มากที่สุด
ธรรมนูญสุขภาวะตำบลเขื่อนผาก
การดำเนินงานโครงการจะครอบคลุม การรณรงค์เพื่อสร้างการรับรู้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดประชุมคณะทำงานตำบลอย่างต่อเนื่อง คณะทำงานระดับหมู่บ้านนำเข้าสู่การประชุมประจำเดือนของหมู่บ้านทุกครั้งที่มีโอกาส มีกิจกรรมที่เกี่ยวกับการลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่อย่างต่อเนื่อง เช่น กิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา กิจกรรมงานศพปลอดเหล้า กิจกรรมไม่ขายไม่ดื่มเหล้าวันพระ กิจกรรมงานบุญปลอดเหล้า มีประชุมเจ้าของร้านขายของชำในตำบลอย่างน้อยปีละ1ครั้ง เพื่อเน้นย้ำเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ และข้อตกลงของตำบลเขื่อนผาก เรื่องการขอความร่วมมืองดขายเหล้าทุกวันพระ เพิ่มกิจกรรมใหม่ๆให้มีผลในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่ กิจกรรมงานบุญปลอดเหล้า ไม่เลี้ยงเหล้าในงานที่มีการอาราธนาศีล มีการติดตามกลุ่มเป้าหมายในหมู่บ้าน/ตำบลอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ คนที่ดื่มเหล้าตลอดทั้งวัน คนที่ดื่มเหล้าตอนเย็นทุกวัน คนที่ดื่มเหล้าเป็นบางครั้งเพื่อเตือนสติเขาให้รู้ว่าสุราเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเชิญชวนเขาให้เลิกดื่มทุกครั้งที่มีโฮกาส เชิญเข้าร่วมชมรมคนหัวใจหิน/ชมรมคนหัวใจเพชร ตลอดจนการเยี่ยมให้กำลังใจเขาอย่างต่อเนื่องทุกคน ทบทวน “ธรรมนูญสุขภาวะตำบลเขื่อนผาก” อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ติดป้ายประชาสัมพันธ์ ป้ายรณรงค์เกี่ยวกับเหล้าและบุหรี่อย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเตือนประชาชน ช่วยเหลือชุมชนในภาวะที่ชุมชนต้องเผชิญปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 จนต้องปรับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ทั้งหมดโดยให้ชุมชนมีความมั่นคงทางด้านอาหารยึดหลักความพอเพียง พึ่งพิงปัจจัยภายนอกให้น้อยที่สุด นอกจากนั้นก็ต้องให้ชุมชนมีความมั่นคงทางยาด้วย คือยาสมุนไพรพื้นบ้าน รักษาและส่งเสริมการใช้พืชสมุนไพรพื้นบ้านที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
นอกจากนี้ยังมีการดำเนินงานด้านการช่วยบำบัด ที่มีการสร้างแรงบันดาลใจในการบำบัด เช่นการเลิกเหล้าเพื่ออะไร/ทำเพื่อใคร ให้มีเป้าหมายชัดเจน บางคนทำเพื่อครอบครัว บางคนทำเพื่อลูก หรือบางคนก็ทำเพื่อตนเอง เน้นย้ำเพื่อการมีสุขภาพที่ดีในอนาคต มีชีวิตอยู่ได้นานๆโดยไม่อยู่แบบทรมาน หลีกเลี่ยงในการเป็นผู้ป่วยติดเตียง ลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะเส้นเลือดในสมองแตก ตีบ หรือตัน จนเป็นผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก หรือเป็นมะเร็งตับ มะเร็งปอด ช่วงที่บำบัดอยู่ให้หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นที่จะทำให้เขากลับไปดื่มเหล้า เช่น เพื่อนที่เคยดื่มด้วยกัน หลีกเลี่ยงงานสังคม ให้อยู่กับครอบครัวตลอดในช่วงที่มีการบำบัดอยู่ มีการเยี่ยมติดตามให้กำลังใจอย่างต่อเนื่องในชุมชน ผู้บำบัดบางคนต้องได้รับยาช่วยบ้าง เช่น ยานอนหลับ ยาวิตามินบำรุงร่างกาย ประสาน รพ.สต.ใกล้บ้านเพื่อการช่วยเหลือเขาทันที มีการกระตุ้นให้เกิดพลัง เช่น ใส่เสื้อ สติ เสื้อเครือข่ายองค์กรงดเหล้า เสื้อ สสส. เหล่านี้ มีผลทางด้านจิตใจช่วยได้ดี การประกาศเกียรติคุณ ยกย่อง เชิดชูเกียรติ จะทำให้เขารู้สึกเป็นคนที่มีคุณค่าของสังคม
การดำเนินงานของคณะทำงานที่อยู่บนพื้นฐานของความเชื่อพื้นฐานที่ว่าไม่มีใครคนใดคนหนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะสามารถจัดการปัญหาได้เองเพียงลำพัง คณะทำงานจึงได้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายการดำเนินงาน โดยเริ่มจากเครือข่ายในชุมชนเอง เช่นองค์กรที่ให้ความร่วมมือหรือให้ความสำคัญเรื่องนี้น้อย พยายามประสานงานให้องค์กรนั้นๆเห็นความสำคัญมากขึ้น และให้ความร่วมมือมากขึ้น เช่นตำบลเขื่อนผากมีองค์กรพระสงฆ์ องค์การบริหารส่วนตำบล และสภาเด็กและเยาวชนยังให้ความร่วมมือน้อย ขยายเครือข่ายหมู่บ้าน/ตำบลใกล้เคียง โดยการชักชวนให้เกิดกิจกรรมเพื่อสุขภาพของคนในตำบล มีการประสานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหนุนเสริมกิจกรรม เช่น เครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคเหนือตอนบน,สสส. ควบคู่กันนั้นชุมชนก็มีการดำเนินงานที่มีการบังคับใช้กฎหมาย ผ่านการให้ความรู้เรื่องเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551และ พ.ร.บ.คุมครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 ให้แก่นักเรียนทุกโรงเรียนในตำบล ผู้ประกอบการร้านค้า/ร้านขายของชำในตำบล กลุ่ม อสม.ในตำบลทุกคน กลุ่มผู้นำชุมชน กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน/แพทย์ประจำตำบล/สารวัตรกำนัน มีการติดป้าย,ติดสติกเกอร์ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายให้ประชาชนรับทราบ เช่นในร้านค้า ร้านขายของชำ ร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/บุหรี่ มีการติดป้าย,ติดสติ๊กเกอร์ในสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย เช่น สถานที่ราชการ วัด โรงเรียน ที่สาธารณะต่างๆ
ปี 2564 ได้เกิดโครงการลูกหลานชวนพ่อแม่เลิกเหล้า เป็นโครงการที่จัดโดย นายสังวาลย์ จันทร์ติ๊บ ผอ.รพ.สต.บ้านแพะ ร่วมกับทางโรงเรียนในตำบลเขื่อนผาก โดยมีกิจกรรมก่อนเข้าพรรษาให้เด็กนักเรียนเขียนเรียงความเรื่อง โทษของสุรายาเสพติด และให้นักเรียนเขียนจดหมายถึงพ่อ หรือแม่ที่ดื่มสุราโดยขอร้องให้เลิกดื่มสุรา หรืออย่างน้อยให้เลิกดื่มตลอดพรรษา และให้แนบใบเขียนเรียงความของตนเองส่งให้ พ่อ แม่ ด้วย
ปัจจุบันในระดับชุมชน มีข้อตกลงร่วมที่จะไม่ขายสุราและสิ่งเสพติดแก่เด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปีขายสุราในเวลาที่กฎหมายกำหนด ไม่ขายสุราให้กับคนที่เมาจนขาดสติ ไม่ขายสุราในวันพระ ผ่านกระบวนการการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาวะตำบลเขื่อนผาก “ธรรมนูญสุขภาวะตำบลเขื่อนผาก” หมวดที่ 2 ข้อ 22 คนตำบลเขื่อนผาก ลด ละ เลิกอบายมุข ไม่ขาย ไม่ดื่มเหล้าวันพระ ไม่เลี้ยงเหล้าในงานที่มีการอาราชธนาศีล ผู้นำศาสนาทุกระดับไม่ดื่มเหล้า ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด และประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 โดยนายทรงศักดิ์ วลัยใจ นายอำเภอพร้าว ทำให้ลดการใช้เด็กในการกระทำความผิดและลดจำนวนการเสพสิ่งเสพติดในชุมชน ลดโอกาสในการดื่มให้น้อยลง มีคนเข้าร่วมเป็นสมาชิก คนหัวใจหิน คนหัวใจเพชร เพิ่มมากขึ้น อันเนื่องจากมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 10 กว่าปี เป็นที่ยอมรับของประชาชนในตำบล มีกำลังใจที่ดี การดำเนินงานของโครงการทำให้ประชาชนตำบลเขื่อนผากให้การยอมรับและยึดถือเป็นกฎกติกาของชุมชนร่วมกัน เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข ประชาชนตำบลเขื่อนผาก ยอมรับในผลเสียของการดื่มสุราและการสูบบุหรี่มากขึ้น เช่นกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน,กลุ่มผู้ป่วยความดันโลหิตสูง กลุ่มผู้ป่วยถุงลมโป่งพอง ทำให้ลูกๆตลอดจนญาติๆของผู้ป่วยเหล่านั้นช่วยกันเชียร์ และชวนให้เลิกดื่มสุราและเลิกสูบบุหรี่เพื่อสุขภาพ และให้ความร่วมมือกับคณะทำงานมากขึ้น กิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษาคนที่เข้าร่วมกิจกรรมมีเฉพาะผู้ที่ดื่มสุราเท่านั้นซึ่งแต่เดิมมีคนนอกกลุ่มเป้าหมายแสดงตนเข้าร่วมโครงการด้วย และคนที่เข้าร่วมกิจกรรมก็ช่วยเหลือและให้กำลังใจกันและกันให้เลิกดื่มได้ตลอดพรรษาหลังออกพรรษาก็ชวนให้เลิกดื่มตลอดชีวิตได้หลายคน กิจกรรมงานศพปลอดเหล้าหลายหมู่บ้านไม่จำเป็นต้องติดป้าย “งานศพปลอดเหล้า” แล้วเพราะชุมชนถือปฏิบัติมานานจนเป็นกติกาของชุมชนไปแล้ว ชุมชนเริ่มตื่นตัวในการพึ่งตนเอง พยายามให้ครอบครัวตนเองดำรงชีวิตอยู่โดยไม่พึ่งพิงตลาดหรือปัจจัยภายนอกครัวเรือน ในยามที่เจ็บป่วยมีสมุนไพรพื้นบ้านช่วยดูแล เช่นฟ้าทะลายโจร กระชาย ฯลฯ ชุมชนเกิดการแบ่งปัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากขึ้น ทั้งนี้การดำเนินงานของชุมชนได้รับการหนุนเสริมอย่างดีและต่อเนื่องจากเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคเหนือตอนบน
อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง คณะทำงานจึงร่วมกันกำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนงานโดยมุ่งเป้าไปที่การตั้งโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้ คนตำบลเขื่อนผากมองว่า “เหล้าเป็นสิ่งที่ทำลายสุขภาพและทำลายสังคม” ประชาชนตำบลเขื่อนผากทุกคน ทุกภาคส่วนมีความตื่นตัว และมีความพร้อมที่จะลุกขึ้นมาป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ใช้ต้นทุนทางสังคมที่มีอยู่ เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนงานและกิจกรรมที่สร้างสรรค์ สร้าง “ชุมชนปลอดเหล้า” อย่างถาวร ซึ่งนับว่าเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายเป็นอย่างสูงแต่ชุมชนก็พร้อมที่จะขับเคลื่อน