โค้ชด้วง: จากนักกายภาพบำบัดสู่โค้ชผู้สร้างทีมฟุตซอล

เรื่อง: THE COACH เรียบเรียง: ศุภกิตติ์ คุณา

ช่วงที่ผ่านมา กระแสกีฬาโต๊ะเล็ก อย่างฟุตซอลได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ไม่แพ้กีฬาชนิดอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเยาวชน การจัดการแข่งขันในรายการต่างๆ สำหรับหลากหลายรุ่นอายุได้เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้เข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อพัฒนาทักษะและสานฝันสู่การเป็นนักกีฬาระดับชาติ

หนึ่งในเวทีที่เปิดโอกาสเหล่านี้คือ SDN Futsal No L ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นสนามฝึกฝนสำหรับนักกีฬารุ่นเยาว์เท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่สำหรับค้นหาและพัฒนาบุคลากรที่มีใจรักในกีฬาฟุตซอลอีกด้วย

จังหวัดชุมพร เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่กีฬาฟุตซอลได้รับความนิยมสูง ด้วยสภาพภูมิอากาศที่มีฝนตกชุกตลอดทั้งปี ทำให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่มักฝึกซ้อมในร่มมากกว่ากลางแจ้ง ส่งผลให้ฟุตซอลกลายเป็นอีกทางเลือกกีฬายอดนิยมของจังหวัด

นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างชุมชนและบุคลากรทางการแพทย์ในท้องถิ่นยังมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนและพัฒนากีฬาชนิดนี้ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและเยาวชน

ในโลกของกีฬา มีเรื่องราวมากมายที่สร้างแรงบันดาลใจ แต่น้อยครั้งที่เราจะได้ยินเรื่องราวของผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการฟุตซอล กีฬาที่กำลังได้รับความนิยมในประเทศไทย

บทความในตอนนี้ ชวนมารู้จักโค้ช เปรมนัช นิลน้อย หรือที่รู้จักกันในนาม “โค้ชด้วง” ผู้ปลุกเยาวชนในจังหวัดชุมพร จากนักกายภาพบำบัดสู่โค้ชฟุตซอล ปัจจุบัน (พ.ศ.2567) โค้ชด้วงทำงานเป็นนักกายภาพบำบัด ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการรักษาอาการบาดเจ็บของกระดูกและกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังเปิดยิมฟื้นฟูร่างกาย ซึ่งเป็นการต่อยอดจากความรู้และประสบการณ์ในวิชาชีพหลักของโค้ชด้วง

“ความสนุกช่วงวัยเรียน”
จุดเริ่มต้นของการมาทำงานเป็นนักกายภาพบำบัด

จุดเริ่มต้นของการมาทำงานเป็นนักกายภาพบำบัด มาจากที่โค้ชด้วงเป็นคนจังหวัดชุมพร เติบโตในครอบครัวที่เป็นข้าราชการ โดยแม่ทำงานมีอาชีพเป็นพยาบาล ซึ่งทำให้โค้ชด้วงคลุกคลีอยู่กับเรื่องทางการแพทย์และชื่นชอบกีฬามาตั้งแต่เด็ก แม้ว่าตนเองนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จในฐานะการเป็นนักกีฬาก็ตาม

ช่วงที่เรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย สมัยนั้นเรียกการสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะเป็นช่วงเอนทรานซ์ ด้วยความที่คลุกคลีกับแม่ที่เป็นพยาบาล ก็รู้ว่าสนใจแผนกกายภาพบำบัด ซึ่งเป้นแผนกหนึ่งที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาล ทำให้ตัดสินใจเรียนต่อสอบติดในคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา ที่มหาวิทยาลัยรังสิตในระดับอุดมศึกษา

โค้ชด้วง เล่าถึงช่วงที่ได้เข้าไปเรียน มันไม่ได้ง่ายเหมือนที่เราคิดเลย เพราะว่ามันคือศาสตร์หนึ่งของแพทย์ แต่ไม่ได้เรียนหนักเท่าแพทย์ ก็คงคิดว่าจะเรียนสบาย ๆ แต่ก็ไม่ใด้สบายอย่างที่คิดเลย พอเข้าปีที่ 3 ยิ่งการเรียนเหมือนแพทย์เลยก็ว่าได้ มีการเรียนกับอาจารย์ใหญ่ ซึ่งเป็นวิชาที่เราตกไม่ได้ เพราะว่าหากวิชานี้ไม่ผ่าน ก็ไม่สามารถที่จะไปไปอีกสาขาหนึ่งได้ มันเป็นวิชาพื้นฐานที่ต้องผ่านก่อน

ตอนนั้นยอมรับว่าเราไม่เคยคุ้นชินกับการเรียนที่มันหนักหน่วงขนาดนั้น ซึ่งในความคิดเด็กต่างจังหวัดสำหรับโค้ชด้วงนั้น ก็คิดว่ายากมาก แต่ก็พยายามที่จะที่จะเรียนให้ผ่าน ๆ และจริง ๆ แล้วก็ได้เอาความรู้มามาใช้ แต่ตอนนั้นยังมองภาพไม่ออกว่ากายภาพบำบัดมันสามารถแตกสาขาแตกแขนงไปได้หลายที่ ตอนนั้นมองแค่ว่าต้องทำงานกับโรงพยาบาลอย่างเดียว จากนั้นหลังจากเรียนจบก็สอบใบประกอบโรคศิลป์ และบรรจุเป็นข้าราชการ

ดูกีฬาในมุมมองนักกายภาพบำบัด

สำหรับในสายตาการดูกีฬาของผม อาจจะไม่เหมือนคนทั่วไป ด้วยที่เป็นคนชอบกีฬาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเวลามีนักกีฬาที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บทางกระดูกและกล้ามเนื้อ หรือถ้าเป็นคนไข้ที่บาดเจ็บจากการกีฬามารักษา ผมจะมีความรู้สึกตื่นเต้น ที่จะรักษาเขาให้หายแล้วก็กลับไปแข่งขันได้อีกครั้ง

ในตัวผมเองชอบดูการแข่งขันกีฬา ไม่ว่าจะเป็นถ่ายทอดสดหรือไปในสนามจริงทุกประเภทกีฬา เราจะมองต่างจากคนอื่นชมกีฬา ซึ่งเราจะมองในมุมมองของนักกายภาพบำบัด เช่น คนนี้บาดเจ็บเพราะอะไร เขาวิ่งไม่ได้เพราะอะไร แล้วเขากลับมาเล่นต่อได้อย่างไร ซึ่งนี่คือมุมมองของผม มันเหมือนกับถ่านไฟที่มันคุกรุ่นอยู่ แต่เพียงว่าในลักษณะการทำงานในโรงพยาบาล เราไม่สามารถจะออกมาออกมาทำในสายกีฬาได้ค่อนข้างจะชัดเจน

จุดเปลี่ยนจากนักกายภาพบำบัดสู่โค้ชกีฬา

ย้อนไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว หรือปี พ.ศ.2560 จังหวัดชุมพรได้รับเกียรติเป็นเป็นจังหวัดที่แข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 33 ชุมพร-ระนองเกมส์ ตอนนั้นทางเรามีนักกีฬากลุ่มเยาวชนได้สมัครแข่งฟุตซอล

ตอนนั้นมี “โค้ชยีนส์ คงฤทธิ์ สุนทรมณีโชติ” เป็นโค้ชที่เรียกได้ว่าเปิดโลกทัศน์ให้ผม ตอนนั้นโค้ชยีนส์พานักกีฬามาหาผม จากเหตุการณ์ที่มีนักกีฬาฟุตซอลของจังหวัดชุมพร บาดเจ็บ 7 คน ซึ่งหนึ่งทีมจะสามารถส่งรายชื่อได้ 14 คน แต่ได้รับบาดเจ็บแล้ว 7 คน เรียกได้ว่าบาดเจ็บไปแล้วครึ่งทีม ผมก็รู้สึกว่าจะรักษาอย่างไรดี

หลังจากรักษาเสร็จ ช่วงวันที่ผมเลิกงานจากโรงพยาบาล ก็ไปที่สนามซ้อมการแข่งขันเพื่อดูด้วยตัวเองว่า นักกีฬาบาดเจ็บเพราะอะไร เราถึงได้เห็นและรู้ว่า นักกีฬาเขาซ้อมแล้ว พบว่านักกีฬาหลายคนขาดการเตรียมพร้อมในเรื่องของประสิทธิภาพของการเคลื่อนไหว การหายใจ และความเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บในการแข่งขันฟุตซอล

เราทราบว่ากีฬาฟุตซอลเป็นอะไรที่ต้องใช้ความเร็ว และมีการปะทะกันระหว่างเล่น เพราะฉะนั้นโอกาสบาดเจ็บของนักกีฬาจะสูง ทำให้วันผมรู้สึกว่าผมจะต้องทำอะไรบางอย่าง เลยเข้าไปคุยกับโค้ชยีนส์ว่า ขอเป็นตัวแทนบุคลากรทำหน้าที่เข้าไปประจำทีม ซึ่งเห็นผลจากการรักษาในเฉพาะหน้าด้วย แล้วก็ในสนามด้วย ทำให้ผมรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ผมตามหามานานเพราะความรู้ความสามารถของเราสามารถเอาไปใช้กับนักกีฬาได้จริงๆ ซึ่งนั่นคือคือ จุดเริ่มต้นของการเข้าวงการกีฬา

หลังจากนั้น โค้ชยีนส์ก็จะมาปรึกษากับผม และเมื่อมีแมตช์การแข่งขันกีฬาอะไรไม่ว่าจะเป็นระดับนานาชาติ หรือระดับประเทศ ผมก็พยายามที่เข้าไปชม ทำให้ผมเองได้เห็นว่ากีฬาฟุตซอลนั้นเป็นกีฬาที่แบบมันใช้ไหวพริบมาก และใช้ความสามารถเฉพาะตัวบวกกับความสามารถของคนร่วมกันเป็นทีม ทำให้จึงตัดสินใจเลยว่า เราเองเป็นนักกายภาพบำบัดรักษาอย่างเดียวไม่พอแล้ว จะต้องไปศึกษาเรื่องของโค้ชด้วย

การปรับตัวจากวงการแพทย์สู่วงการกีฬา

เรื่องของการปรับตัวของผม ผมมักจะพูดเปรียบกับเรื่องนี้ประจำว่า การก้าวจากวิชาชีพทางการแพทย์สู่การเป็นโค้ชกีฬานั้นเปรียบเสมือนการสร้างบ้านหลังหนึ่ง ในกระบวนการสร้างบ้านทั่วไป เราต้องอาศัยความเชี่ยวชาญจากหลายฝ่าย ทั้งสถาปนิกที่ออกแบบ วิศวกรที่ควบคุมการก่อสร้าง และบางครั้งอาจรวมถึงซินแสที่ให้คำแนะนำด้านฮวงจุ้ย แต่ละขั้นตอนอาจนำมาซึ่งความไม่ลงรอยกันได้ หากบุคคลเหล่านี้เป็นคนเดียวกัน ย่อมจะทำให้กระบวนการราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในบริบทของการกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาฟุตซอล การบูรณาการความรู้ทางการแพทย์เข้ากับความเข้าใจในกีฬานั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อนักกีฬาเกิดการบาดเจ็บ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องไปหาบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรักษา ไม่ว่าจะเป็นแพทย์นักกายภาพบำบัด หากไม่มีความรู้เรื่องกีฬา โดยเฉพาะกีฬาฟุตซอลเขาก็จะรักษาหรือทรีสนักกีฬาเราแบบคนไข้ทั่วไป

และหากว่าสถานการณ์มันจะต้องรีบย้อนกลับไป เพื่อจะไปแข่งขันอีกสองสัปดาห์ หน้าที่ของเราเองก็จะต้องรักษาให้เขาหายอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีประสิทธิภาพร่างกายกลับมาเล่นได้ค่อนข้างสมบูรณ์ ซึ่งแบบนี้ในบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกีฬา ก็จะไม่เข้าใจในเชิงลึก เขาก็จะบอกว่าคุณเจ็บมา หยุดเล่นนะ พักสองอาทิตย์ ในความเป็นจริงแล้วนั้นมันหยุดไม่ได้ พอไม่ได้ก็หมายความว่า เราต้องสูญเสียนักกีฬาผู้เล่นในทีมไปหนึ่งคน ถ้าเป็นตัวสำคัญของทีมก็จะทำให้มีผลต่อการแข่งขันได้

เมื่อมองย้อนกับไปตั้งคำถามกับตัวเองว่า ตอนนี้เราเป็นใคร และเมื่อหาคำตอบได้แล้วนั้น เราเป็นนักกายภาพบำบัด เราเป็นเทรนเนอร์ที่มีความรู้เรื่องการออกกำลังกาย แต่เรายังไม่เข้าใจเรื่องศาสตร์ของกีฬาฟุตซอล ถ้าเปรียบเทียบจากสิ่งที่เกริ่นไป ผมไม่ได้เป็นซินแส ผมเป็นแค่สถาปนิกและเป็นแค่วิศวกร แต่ในที่นี้ก็คือเรายังไม่เรายังไม่รู้ว่าศัพท์เทคนิคของฟุตซอลเป็นอย่างไร เพาเวอร์เพลย์ (Power Play) มันคืออะไร จึงคิดตัดสินใจเลยว่าจะต้องไปเรียนโค้ช ตอนนั้นไปอบรมที่จังหวัดชลบุรี เขาเปิดอบรมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งตอนนั้นมีทั้งอาจารย์มานะ ชื่นเอี่ยม เป็นผู้มาอบรม โดยโค้ชยีนส์ให้การก็สนับสนุน

สำหรับในรูปแบบการทำงานของผมแล้วนั้น มันเป็นสิ่งที่ยากมากที่จะลาไปเรียน แต่ผมคิดว่าถ้าเราได้ไปเรียนในส่วนนี้ จะได้องค์ประกอบทั้งหมด แต่เราก็เป็นคนที่ไม่ได้เล่นกีฬา หรือไม่เก่งกีฬา คิดว่าเราตั้งใจมาเอาความรู้ทั้งหมด เพื่อให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เช่น ถ้าบาดเจ็บก็ทำการรักษา รักษาเสร็จก็มีการเทรนให้แข็งแรง ถ้าร่างกายแข็งแรงก็ขึ้นแผนการเล่นได้ ทุกครั้งที่เราเข้าไปดูเกมการแข่งขัน เราจะเข้าใจหมดทุกอย่างว่านักกีฬาคนนี้เขาไม่เก่งอะไร เราควรจะเสริมเขาด้านไหน หรือนักกีฬาคนนี้เก่งอยู่แล้ว เขาควรจะเพิ่มอะไรบ้าง ซึ่งมันทำให้การทำงานมันมีหลายมิติมากขึ้น โดยผมก็ได้นำเอามาใช้กับนักกีฬาของโค้ชยีนส์

ความท้าทายการอบรมโค้ชนักกีฬาเป็นอย่างไร

ความท้าทายในการเรียนรู้เริ่มต้นตั้งแต่วันแรกของการอบรม โดยเฉพาะในหลักสูตร FA Thailand Introductory Course ซึ่งผมแทบไม่มีพื้นฐานความรู้มาก่อนเลย การนั่งหน้าชั้นเรียนและจดบันทึกอย่างละเอียดทุกคำพูดของอาจารย์ รวมถึงการพยายามทำความเข้าใจศัพท์เทคนิคภาษาอังกฤษต่างๆ เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ความมุ่งมั่นที่จะนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ประโยชน์กับนักกีฬาเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ผมพยายามเรียนรู้อย่างเต็มที่

การบูรณาการความรู้จากการอบรมเข้ากับประสบการณ์ทางการแพทย์ที่มีอยู่เดิม ทำให้ผมสามารถดูแลนักกีฬาได้อย่างครอบคลุมในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาการบาดเจ็บ การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ไปจนถึงการวางแผนการเล่นที่เหมาะสมกับศักยภาพของนักกีฬาแต่ละคน การมองเห็นภาพรวมของการพัฒนานักกีฬาทั้งในด้านร่างกายและทักษะการเล่น ช่วยให้สามารถวางแผนการฝึกซ้อมและการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โค้ชด้วง แถวหน้าสุดคนที่ 1 จากซ้ายไปขวา

ประสบการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องในวงการกีฬา การผสมผสานความรู้จากหลากหลายสาขาไม่เพียงแต่เพิ่มพูนความเชี่ยวชาญของผู้ฝึกสอนเท่านั้น แต่ยังส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพและความสำเร็จของนักกีฬาและทีม การก้าวข้ามขอบเขตของความเชี่ยวชาญดั้งเดิมสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญแบบองค์รวมจึงเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับวงการกีฬาไทยสู่มาตรฐานสากล

การพัฒนาทักษะการวิ่งในกีฬาฟุตซอล

ในฐานะโค้ชฟุตซอล โค้ชด้วงยกตัวอย่างบางส่วนที่ได้เข้ามาพัฒนาในมุมของวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่มีโอกาสได้สังเกตและพัฒนาทักษะการวิ่งของนักกีฬาเยาวชนหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของเด็กคนหนึ่งที่มีลักษณะการวิ่งที่ไม่สวยงาม เนื่องจากไม่มีการแกว่งแขนขณะวิ่ง เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ผมได้ใช้วิธีการสอนแบบมีส่วนร่วม โดยเริ่มจากการบันทึกวิดีโอการวิ่งของเด็กคนนี้ และให้เพื่อนๆ ของเขาวิเคราะห์ท่าทางการวิ่ง จากนั้นผมได้ถามคำถามนำเกี่ยวกับการใช้กล้ามเนื้อในการวิ่ง ซึ่งช่วยให้เด็กๆ เริ่มคิดวิเคราะห์มากขึ้น

ผมได้อธิบายว่าการวิ่งไม่ได้ใช้เพียงขาเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยแรงเหวี่ยงของแขนด้วย การแกว่งแขนอย่างถูกต้องจะช่วยส่งแรงไปยังขา ทำให้วิ่งได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้เด็กเข้าใจความสำคัญของการใช้แขนในการวิ่ง ผมได้ให้พวกเขาทดลองวิ่งโดยมัดแขนไว้กับลำตัว ซึ่งทำให้พวกเขารู้สึกถึงความยากลำบากในการวิ่งและความเร็วที่ลดลง

เมื่อเด็กๆ เข้าใจความสำคัญของการใช้แขนในการวิ่งแล้ว ผมได้เริ่มสอนเทคนิคการวิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญสำหรับกีฬาฟุตซอล ผลลัพธ์ที่ได้นั้นน่าประหลาดใจ เด็กๆ เริ่มสนใจและพยายามเรียนรู้วิธีการวิ่งที่สวยงามและมีประสิทธิภาพ พวกเขาเริ่มสังเกตและเลียนแบบท่าทางการวิ่งของนักกีฬาที่มีทักษะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ในการฝึกฝน ผมได้แนะนำให้เด็กๆ สังเกตท่าทางการวิ่งของนักกีฬาระดับโลก เช่น คริสเตียโน โรนัลโด โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาแกนกลางลำตัวให้นิ่งขณะวิ่ง ซึ่งช่วยในการส่งแรงจากแขนไปยังขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ผมยังได้ยกตัวอย่างทีมฟุตซอลระดับชาติที่มีการวิ่งที่สวยงามและมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาที่มีรูปร่างใหญ่หรือเล็ก

การฝึกฝนทักษะการวิ่งที่ถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้นนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยพัฒนาการเคลื่อนไหวของนักกีฬาให้ดีขึ้นอย่างมาก ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพในการเล่นฟุตซอล นอกจากทักษะการวิ่งแล้ว การดูแลร่างกายระหว่างการแข่งขันก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ในการแข่งขันระดับชาติหรือระดับโลก เราจะเห็นว่ามีทีมงานวิทยาศาสตร์การกีฬา จะเข้ามาคอยดูแลนักกีฬาในช่วงพักครึ่ง โดยมีการประคบน้ำเย็นและนวดเพื่อช่วยให้นักกีฬารู้สึกสดชื่นและฟื้นฟูร่างกายอย่างรวดเร็ว

กีฬาฟุตซอลเป็นกีฬาที่ต้องใช้ประสาทสัมผัสและการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว นอกจากความเร็วแล้ว ยังต้องอาศัยการเล่นเป็นทีมและการปฏิบัติตามแผนการเล่นของโค้ช อย่างไรก็ตาม เมื่อนักกีฬาเหนื่อยล้า ประสิทธิภาพในการเล่นจะลดลง ทั้งการได้ยิน การมองเห็น และการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ความเครียดก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการเล่น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีความกดดันสูง นักกีฬาบางคนอาจไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้ดี ส่งผลให้การแข่งขันออกมาไม่ดีเท่าที่ควร

ด้วยเหตุนี้ การฝึกฝนทักษะการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจอย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกว่า รีคัฟเวอรี่ (Recovery) จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เราต้องพยายามเรียนรู้และพัฒนาวิธีการที่จะช่วยให้นักกีฬาสามารถกลับมาอยู่ในสภาพที่พร้อมแข่งขันได้อย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ การพัฒนาทักษะการวิ่งที่ถูกต้อง ควบคู่ไปกับการดูแลร่างกายและจิตใจอย่างเหมาะสม จะช่วยยกระดับความสามารถของนักกีฬาฟุตซอลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาสู่การเป็นนักกีฬาระดับสูงต่อไป

การจำลองสถานการณ์ผลกระทบด้านอบายมุข

ในปัจจุบันสถานการณ์ทางสังคมก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เยาวชนและนักกีฬาของเราเองนั้นได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเกี่ยวกับผลกระทบของการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ ผมเองก็มีการจำลองสถานการณ์ที่เข้าใจง่ายให้เด็ก ๆ เห็นและเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบของแอลกอฮอล์ต่อการเล่นกีฬา

วิธีการสาธิตผลกระทบของแอลกอฮอล์อย่างง่ายของผม คือ จัดกิจกรรมให้เยาวชนแบ่งเป็นสองกลุ่ม โดยให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มหมุนรอบตัวเอง 10 รอบ แล้วพยายามเตะลูกฟุตบอลให้เข้าประตูที่ทำจากกรวยสีส้ม ผลปรากฏว่าไม่มีใครสามารถเตะลูกบอลเข้าประตูได้ แม้จะพยายามหลายครั้ง

โค้ชด้วง อธิบายว่า นี่คือการจำลองผลกระทบของแอลกอฮอล์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะระบบประสาทและกล้ามเนื้อ หรือที่เรียกว่า “ระบบนิวโรมัสคูลา (Neuromuscular System)” แอลกอฮอล์จะไปกดการทำงานของต่อมใต้สมอง ส่งผลให้สูญเสียความจำและการควบคุมการเคลื่อนไหว นอกจากนี้ยังทำให้พูดเร็ว อารมณ์แปรปรวน และสูญเสียการทรงตัว ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการเล่นกีฬา

โค้ชด้วงยังเน้นย้ำว่า การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากและต่อเนื่องเป็นเวลานานจะส่งผลให้สมองถูกทำลายอย่างถาวร และเมื่อมีคำถามว่าทำไมบางคนดื่มแล้วยังสามารถเล่นกีฬาได้ โค้ชด้วงอธิบายว่า แม้จะดูเหมือนไม่มีผลกระทบในทันที แต่ในความเป็นจริงแล้ว นักกีฬาที่ดื่มแอลกอฮอล์มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากร่างกายไม่ได้พักผ่อนเพียงพอ และระบบประสาทกับกล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน

วิธีการสอนแบบจำลองสถานการณ์นี้ช่วยให้เยาวชนเข้าใจผลกระทบของแอลกอฮอล์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น พวกเขาสามารถเปรียบเทียบประสบการณ์จริงกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสมองถูกรบกวนการทำงาน ทำให้เห็นภาพว่าแม้จะเห็นลูกบอลอยู่ตรงหน้า แต่ก็ไม่สามารถเตะให้ตรงเป้าหมายได้

ไม่แค่เป็นเพียงการจำลองเหตุการณ์ที่มีผลต่อสุขภาพ ไม่เพียงแค่โภชนาการ จิตวิทยา เทคโนโลยี ในเรื่องของวิทยาศาสตร์การกีฬาบางส่วนที่ยกมาเล่า แต่สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ ความสำคัญในการฟื้นฟูรักษาและพัฒนาประสิทธิภาพผู้เล่นด้านกีฬา ทำให้เด็ก ๆ มีเวลาเหลือจากการฝึกซ้อมที่จะไปเรียนในเชิงวิชาการด้วย

Passion ใครว่าไม่สำคัญ

นอกจากการพัฒนาทีม และวิทยาศาสตร์การกีฬาแล้ว โค้ชด้วงและโค้ชยีนส์ ยังให้ความสำคัญกับ “แพชชั่น” หรือความหลงใหลเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะพูดกับใคร ทั้งนักกีฬา เพื่อนร่วมงาน หรือบุคคลทั่วไป มักจะเน้นย้ำถึงความสำคัญของแพชชั่น ซึ่งหมายถึงความเป็นนักสู้และความมุ่งมั่นตั้งใจ

เหตุผลที่โค้ชด้วงเชื่อว่าแพชชั่นเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนานักกีฬานั้น เริ่มจากแนวคิดที่ว่าชัยชนะในการแข่งขันไม่ได้เกิดจากความสามารถของคนใดคนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกีฬาฟุตซอล ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนในทีม เปรียบเสมือนการรวมชัยชนะเล็ก ๆ ของแต่ละคนเข้าด้วยกันจนกลายเป็นชัยชนะของทีม

นักกีฬาที่มีแพชชั่น คือผู้ที่มีแรงบันดาลใจในการเอาชนะและไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ สิ่งนี้ไม่เพียงส่งผลต่อตัวนักกีฬาเองเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงเพื่อนร่วมทีม ผู้ชม และแม้แต่โค้ช เมื่อเห็นนักกีฬาที่มีแพชชั่นลุกขึ้นสู้ แม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ก็สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นได้

โค้ชด้วงเปรียบเทียบแพชชั่นกับยางรถของเฟอร์รารี่ ถึงแม้รถจะมีเครื่องยนต์สมรรถนะสูงเพียงใด แต่หากไม่มียางที่ดีก็ไม่สามารถวิ่งได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แพชชั่นจึงเป็นเสมือนความพร้อมและความสมบูรณ์ที่ทำให้นักกีฬาสามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ ซึ่งมีเหตุการณ์หนึ่ง โค้ชด้วงได้ยกตัวอย่างการแข่งขันครั้งหนึ่งที่ประทับใจ ซึ่งทีมของเขาค่อนข้างเสียเปรียบด้านอายุและประสบการณ์ แต่ด้วยแพชชั่นของผู้รักษาประตูที่แม้จะตัวเล็กผอม แต่มีความมุ่งมั่นสูง ทำให้สามารถป้องกันประตูได้อย่างยอดเยี่ยม จนนำไปสู่ชัยชนะในนาทีสุดท้าย เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงพลังของแพชชั่นที่สามารถเอาชนะข้อจำกัดทางกายภาพได้

การสร้างแพชชั่นในทีมเป็นสิ่งที่โค้ชด้วงให้ความสำคัญ มีการจัดการฝึกซ้อมที่หนักหน่วงเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเน้นให้นักกีฬาแต่ละคนมีน้ำใจและ สนับสนุนให้กำลังใจซึ่งกันและกัน การฝึกซ้อมแบบนี้จะช่วยสร้างบรรยากาศของความเป็นทีมและแพชชั่นร่วมกัน นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้นักกีฬาแสดงออกถึงความดีใจและความมุ่งมั่นอย่างเปิดเผย ทั้งในการฝึกซ้อมและการแข่งขันจริง เพื่อสร้างพลังบวกและแรงกระตุ้นภายในทีม วิธีการนี้ช่วยให้นักกีฬาพัฒนาคาแรกเตอร์ของตนเองและทีม ซึ่งจะติดตัวไปจนถึงการแข่งขันจริง

ความภาคภูมิใจ

แม้ว่าในรายการแข่งขัน SDN Futsal No L ที่ผ่านมา จะไม่ได้เข้ารอบสุดท้าย ผลจากการได้มาอยู่กับเด็ก ๆ ปัจจุบันโค้ชด้วงยังมีความทุ่มเทอย่างมากในการพัฒนาวงการฟุตซอลในจังหวัดชุมพร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนนักเรียนโรงเรียนเทศบาล ๑ (บ้านท่าตะเภา) กับโค้ชยีนส์ ทำให้การทำงานอย่างไม่ย่อท้อของโค้ชและทีมงานในการสร้างโอกาสและพัฒนาเยาวชนนั้น ได้ส่งผลให้ทีมได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในอคาเดมี่ของสโมสรฟุตซอลบลูเวฟชลบุรี ซึ่งถือเป็นความสำเร็จอันน่าภาคภูมิใจ

ความสำเร็จนี้เป็นผลมาจากการทำงานอย่างหนักและทุ่มเทตลอดระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา จากจุดเริ่มต้นที่เพียงแค่ส่งต่อเด็กไปยังโรงเรียนขนาดใหญ่หรือสร้างโอกาสที่ดีในอนาคต มาถึงวันนี้ที่ทีมฟุตซอลเทศบาลเมืองชุมพรได้รับการยอมรับในระดับประเทศ

แต่สิ่งที่น่าประทับใจยิ่งกว่านั้น คือ ความทุ่มเทของโค้ชด้วง โค้ชยีนส์ ทีมงาน รวมถึงผู้ปกครองของเด็ก ๆ ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเยาวชนและวงการฟุตซอลในท้องถิ่น โดยไม่หวังผลตอบแทน แต่มุ่งเน้นที่การสร้างโอกาสและพัฒนาศักยภาพของเด็กๆ เรื่องราวของโค้ชด้วงแสดงให้เห็นถึงพลังของการศึกษาและกีฬาในการพัฒนาเยาวชน ตลอดจนความสำคัญของการมีผู้ฝึกสอนที่ทุ่มเทและมีวิสัยทัศน์ในการสร้างโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ ความสำเร็จของทีมฟุตซอลโรงเรียนเทศบาล ๑ (บ้านท่าตะเภา) ไม่เพียงแต่เป็นความภาคภูมิใจของท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับชุมชนอื่นๆ ในการพัฒนาเยาวชนผ่านกีฬาและการศึกษาอีกด้วย

นักสื่อสารสุขภาวะดิจิทัล และ Data Journalism